สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ประวัติศาสตร์คริสต์มาส

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

วันคริสต์มาส หรือวันที่ 25 ธันวาคม นั้น ได้รับการเฉลิมฉลองในฐานะวันสำคัญ และเป็นที่เข้าใจกันว่า การเฉลิมฉลองนี้ สืบเนื่องจากวันสมภพของพระเยซู ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโลกของชาวคริสต์ เป็นวันศักดิ์สิทธิ์และเป็นวันหยุดการทำงาน ในปัจจุบัน แม้แต่ในประเทศที่ประชากรส่วนมากไม่ได้เป็นคริสต์ ก็รับรู้และมีส่วนร่วมในความสำคัญของคริสต์มาสด้วย โดยเฉพาะประเพณีหลายเรื่องที่สืบมาจากคริสต์มาส เช่น เรื่องการอวยพร การให้ของขวัญ การประดับตกแต่งต้นคริสต์มาส ทำให้ประเพณีคริสต์มาสกลายเป็นเรื่องของการฉลองทั่วโลก

ความจริงแล้ว มีความเข้าใจความหมายอันคลาดเคลื่อนอยู่บ้าน เช่น คำว่า “คริสต์มาส” คำในภาษาอังกฤษเก่าคือ Crīstesmæsse หมายถึงการ “มิสซา”หรือ”มหาสนิท”ของชาวคริสต์ แต่คำในภาษาลาติน คือ “festum Natale” มีความหมายเป็นคริสต์สมภพมากกว่า แต่ที่มากกว่านั้น คือ วันที่ 25 ธันวาคม ไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับคริสต์สมภพที่เป็นจริงเลย

ในสมัยจักรวรรดิโรมัน เทศกาลปลายเดือนธันวาคม เรียกว่า “แซตเทอร์นาเลีย” คืองานเฉลิมฉลองบูชาพระเสาร์ ซึ่งเป็นเทพแห่งการเกษตร เทศกาลเริ่มจากช่วงวันที่ 17-23 ธันวาคม ต่อมาตั้งแต่ราวสมัยต้นคริสต์กาล วันที่ 25 ธันวาคม กลายเป็นวันศักดิ์สิทธิ๋เพื่อฉลองวันประสูติของเทพมิธรา ซึ่งเป็นยุวเทพที่เกิดจากหิน เทพมิธราองค์นี้ไม่ได้มาจากตำนานกรีก แต่เป็นอิทธิพลของศาสนาโซโรอัสเตอร์ ที่รับเข้ามาในอาณาจักรโรมันก่อนหน้าศาสนาคริสต์

หลังจากนั้น เมื่อศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแพร่และกลายเป็นศาสนาหลักของจักรวรรดิโรมัน ชาวคริสต์ในระยะแรกก็ยังไม่มีการฉลองคริสต์มาส มีเพียงเทศกาลฉลองอีสเตอร์ คือถือว่าการกลับคืนชีพของพระเยซูเท่านั้นที่มีความสำคัญ จนกระทั่ง คริสต์ศตวรรษที่ 4 ฝ่ายคริสตจักรจึงเห็นว่า เมื่อกำเนิดของพระบุตร คือ พระเยซู มีความสำคัญ จึงควรจะต้องมีการฉลองคริสต์สมภพให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ปัญหามีอยู่ว่า ในพระคัมภีร์ไม่ได้ระบุไว้เลยว่า พระเยซูสมภพในวันที่เท่าไร เพราะไม่เคยมีการให้ความสำคัญแก่วันเกิดของพระเยซู ตามหลักฐานพระเยซูน่าจะประสูติในฤดูที่ไม่ใช่ฤดูหนาวเสียด้วยซ้ำ เพราะมีการกล่าวถึงต้อนแกะในทุ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นในฤดูหนาวไม่ได้ แม้กระทั่งปีเกิดของพระเยซูก็ไม่ได้เป็นที่ระบุชัดเจน การหาปีเกิดพระเยซู ทำโดยบาทหลวงดิโอนีซีอุส อีชิกูอัส ใน ค.ศ.533 และเป็นที่ใช้กันต่อมา ในตามหลักฐานที่วิเคราะห์ปัจจุบัน มีความเป็นไปได้ว่า ศักราชมีความคลาดเคลื่อน พระเยซูไม่น่าจะสมภพในจุดเริ่มของ ค.ศ.1 ตามที่เข้าใจกันในสมัยกลาง

ในกรณีของวันคริสต์สมภพ พระสันตะปาปาจูเลียสที่ 1 (อยู่ในตำแหน่ง ค.ศ.337-352) เป็นผู้เลือกให้ฉลองคริสต์สมภพในวันที่ 25 ธันวาคม ตามวันฉลองใหญ่ของอาณาจักรโรมัน และยังมีการกำหนดวันอีพิฟานี(Epiphany) หรือวันพระคริสต์แสดงองค์ ซึ่งกำหนดเป็นวันที่ 7 มกราคม หลังจากนั้น ประเพณีฉลองคริสต์มาสจึงเผยแพร่ไปทั่วโลกตะวันตก

แต่การฉลองคริสต์มาส เผชิญการท้าทายครั้งสำคัญจากพวกพิวริตัน (Puritans-สำนักบริสุทธิ์) ซึ่งเป็นสำนักโปรเตสแตนต์อังกฤษที่ศรัทธาในความจริงแท้ของพระคัมภีร์ และปฏิเสธสถาบันคาทอลิกทั้งหมด ดังนั้น เมื่อโอลิเวอร์ ครอมเวลส์ยึดอำนาจใน ค.ศ.1645 จึงยกเลิกเทศกาลคริสต์มาสในอังกฤษ ด้วยเหตุผลว่า คริสต์มาสไม่เคยมีในพระคัมภีร์ และในสมัยพระเยซูทรงพระชนม์ ก็ไม่มีการฉลองคริสต์มาส แต่หลังจากที่มีการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์กลับมาในอังกฤษเมื่อ ค.ศ.1660 พระเจ้าชาร์ลที่ 2 ก็รื้อฟื้นเทศกาลคริสต์มาสกลับคืนมา

ดังนั้น เมื่อพวกพิวริตันไปตั้งถิ่นฐานในอเมริกาเหนือตั้งแต่ ค.ศ.1620 จึงไม่มีการฉลองคริสต์มาสในอเมริกาเลย และในบางเมือง เช่น บอสตัน ถือว่าการฉลองคริสต์มาสเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ต้องถูกปรับ และยิ่งต่อมาเมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นเอกราชจากอังกฤษเมื่อ ค.ศ.1776 ประเพณีจากอังกฤษก็ไม่เป็นที่นิยม ประเทศใหม่นี้ก็ไม่มีการฉลองเทศกาลคริสต์มาสอย่างเป็นทางการ เทศกาลที่มีความสำคัญ คือ งานฉลองอิสรภาพ 4 กรกฎาคม และวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) ซึ่งกำหนดเป็น 26 พฤศจิกายน

จนกระทั่ง ค.ศ.1819 วอชิงตัน เออร์วิน นักเขียนอเมริกาคนสำคัญ ได้เขียนชุดรวมเรื่องสั้นเรื่อง The Sketchbook of Geoffrey Crayon, Gent. และกลายเป็นหนังสือขายดีอย่างมาก ในหนังสือชุดนี้ เออร์วินได้เล่าถึง “ตำนานโบราณ” ซึ่งรวมถึงเรื่องการฉลองคริสต์มาสในอังกฤษ ความจริงเออร์วินไม่เคยไปอังกฤษ และไม่เคยเห็นการฉลองคริสต์มาสจริง แต่ได้สร้างจินตภาพคริสต์มาสขึ้นมาใหม่ ให้เป็นวันแห่งครอบครัวและการรวมญาติ เป็นวันเฉลิมฉลองความสุข ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตามแนวคิดนี้ คริสต์มาสไม่มีอะไรเกี่ยวกับศาสนาและคริสต์สมภพเลย แต่ผลกระทบจากเรื่องนี้คือ ทำให้เทศกาลคริสต์มาสเป็นที่สนใจมากขึ้นในสหรัฐฯ

นวนิยายของชาร์ล ดิกเกนส์เรื่อง “ภูติคืนคริสต์มาส (A Christmas Carol)” ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ.1843 และกลายเป็นที่นิยมสูงสุด และทำให้เรื่องวันคริสต์มาสกลายเป็นที่นิยมอย่างสูงในอังกฤษและอเมริกา ในที่สุด รัฐบาลกลางอเมริกาได้ประกาศให้คริสต์มาสเป็นวันหยุดทางการใน ค.ศ.1870

ประเพณีการนำต้นคริสต์มาสมาประดับ ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวกับคริสต์สมภพ แต่น่าจะเป็นประเพณีดั้งเดิมก่อนคริสต์ศาสนา ที่ชาวโรมันนำต้นไม้มาบูชา ส่วนซานตาคลอสเป็นเรื่องของนักบุญนิโคลัสแห่งมีรา ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.270-325 และมีสาวกผู้ศรัทธา ที่จัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลในเดือนธันวาคม โดยการให้ของขวัญกัน ในที่สุด นักบุญนิโคลัสถูกตัดแปลงโดยชาวเยอรมันรวมกับเทพเจ้าโอดิน กลายเป็นชายมีหนวดเครา ขี่ม้าบินมาในวันที่ 6 ธันวาคม จึงสวมชุดหนาเพื่อป้องกันความหนาว คาทอลิกรับเอานักบุญนี้เข้าสู่ประเพณีของตน และย้ายวันเดินทางมาของนักบุญนิโคลัสเป็นวันคริสต์มาส จากนั้น วอชิงตัน เออร์วิน  เป็นผู้ขนานนามนักบุญนิโคลัสเป็น “นักบุญกางเขน” หรือ “ซานตาครอส” (ใช้คำตามภาษาดัชท์) ต่อมา ใน ค.ศ.1822 คลีเมนต์ มัวร์ เขียนบทกวีบรรยายให้นักบุญนิโคลัสมาโดยเลื่อนที่มีกวางเรนเดียร์ 8 ตัว และนำของขวัญมาใส่ในถุงเท้ายาวที่แขวนไว้กับปล่องไฟ ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มของจินตภาพซานตาครอสที่ใช้กันต่อมา

เรื่องภาพของการฉลองคริสต์มาส ต้นคริสต์มาส การให้ของขวัญ และซานตาคลอส ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกนี้ ได้ถูกต่อต้านคัดค้านจากฝ่ายเคร่งศาสนา เพราะเห็นว่าประเพณีเหล่านี้ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคริสต์สมภพเลย กลุ่มนี้จึงต้องการรื้อฟื้นความหมายเดิมของคริสต์มาส คือ การทำเฉพาะเข้าโบสถ์และพิธีทางศาสนาเท่านั้น

แต่ความพยายามนี้ คงไม่ประสบผล เพราะงานฉลองคริสต์มาสทั่วโลกได้กลายเป็นธุรกิจการค้าขนาดมหาศาลในแต่ละปี และนี่จึงเป็นโฉมหน้าอันแท้จริงของตลาดคริสต์มาส

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 597 วันที่ 31 ธันวาคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท