Skip to main content
sharethis

ญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงานในหลายภาคอุตสาหกรรม

ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหลักเกิดจากการเป็นประเทศสังคมสูงวัย จำนวนคนวัยทำงานลดต่ำ โดยธุรกิจโรงแรม ภาคบริการขนส่งโดยสาร งานดูแลคนชรา ธุรกิจร้านอาหาร และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ได้รับผลกระทบมากที่สุด ที่มาภาพประกอบ tpsdave (CC0 Public Domain)

ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหลักเกิดจากการเป็นประเทศสังคมสูงวัย จำนวนคนวัยทำงานลดต่ำ โดยธุรกิจโรงแรม ภาคบริการขนส่งโดยสาร งานดูแลคนชรา ธุรกิจร้านอาหาร และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ได้รับผลกระทบมากที่สุดนอกจากการเป็นประเทศสังคมสูงวัยแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งของปัญหา เกิดจากคนวัยหนุ่มสาวเลือกอาชีพ โดยส่วนใหญ่จะเลือกงานออฟฟิศ และงานที่เหนื่อยน้อยแต่ค่าตอบแทนดี ด้วยปัญหานี้ ผู้ประกอบการธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารขนาดใหญ่ มีสาขาหลายแห่งทั่วประเทศต่างปรับกลยุทธ์เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

หลายบริษัทที่ขาดแคลนบุคลากร ใช้วิธีปรับขึ้นค่าจ้าง เพื่อจูงใจผู้หางาน และมัดใจลูกจ้างที่อยู่ปัจจุบันไม่ให้ลาออก ขณะบางบริษัทใช้วิธีลดเวลาทำงานลง เช่น กลุ่มภัตตาคาร Royal Host ลดเวลาทำงานจาก 24 ชั่วโมงลง 2 สาขา ที่โตเกียวและโอซาก้า มาตรการอีกส่วนหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหา คือทำสัญญาระยะยาวกับลูกจ้าง และจ้างนักศึกษาต่างชาติมาทำงานพาร์ตไทม์ แต่การจ้างนักศึกษาต่างชาติมีข้อจำกัดเนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้ทำงานได้เพียงสัปดาห์ละไม่เกิน 28 ชั่วโมง

ส่วนภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง อัตราการเปิดรับคนงานในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 6 ต่อ 1 หมายถึงผู้หางาน 1 คน มี 6 บริษัทเสนอรับเข้าทำงาน ขณะงานดูแลคนชรา และธุรกิจร้านอาหาร อัตราการเปิดรับบุคลากร 3 ต่อ 1 ตรงกันข้ามกับงานออฟฟิศที่ผู้หางานต้องแย่งตำแหน่งงานกัน จากอัตราการเปิดรับบุคลากรเพียง 0.3 ต่อ 1 ภาคการเกษตรในชนบท ก็ประสบปัญหาเช่นกัน แต่รัฐบาลแก้ด้วยการอนุมัติให้จ้างบุคลากรต่างชาติที่จบปริญญาสาขาเกษตรศาสตร์ได้ โดยให้เข้าไปทำงานในเขตที่กำหนดไว้เป็นพิเศษเท่านั้น

ที่มา: the-japan-news.com, 13/12/2016

ทรัมป์ขู่บริษัทที่จะย้ายโรงงานไปต่างประเทศ อาจเจอกำแพงภาษี 35%

ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เตือนบรรดาบริษัทอเมริกันอีกครั้งว่า หากพวกเขาย้ายโรงงานไปต่างประเทศอาจต้องถูกเก็บภาษีนำเข้า 35% เมื่อส่งสินค้าหลับมาขายในสหรัฐฯ ทรัมป์ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ ระบุว่าเขามีนโยบายลดภาษีและยกเลิกกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับบริษัทในอเมริกา แต่บริษัทใดที่มีแผนจะปลดพนักงานแล้วย้ายโรงงานไปต่างประเทศ เพื่อผลิตสินค้าในต้นทุนต่ำกว่าแล้วส่งสินค้ากลับมาขายในสหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับภาษีนำเข้าที่สูงกว่าเดิมมาก ตั้งแต่ปี 2000 สหรัฐฯ สูญเสียตำแหน่งงานไปแล้ว 5 ล้านตำแหน่ง ส่วนใหญ่เป็นเพราะการย้ายโรงงานไปประเทศอื่นที่ค่าแรงถูกกว่า

ที่มา: voathai.com, 5/12/2016

หมอ-พยาบาลเคนยาหยุดงานประท้วง

แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์และพยาบาลเคนยา ราว 5,000 คน ผละงานประท้วงในวันที่ 5 ธ.ค.หลังการเจรจาระหว่างสหภาพและรัฐบาลเกี่ยวกับการขึ้นค่าจ้างล้มเหลวทางสหภาพเรียกร้องขึ้นค่าจ้างสำหรับแพทย์ 300% และ 25 ถึง 40% สำหรับพยาบาล ตามข้อตกลงในการเจรจาระหว่างฝ่ายลูกจ้างกับฝ่ายนายจ้างเมื่อปี 2013 แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการบังคับใช้ เจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลที่ผละงานประท้วงหลายร้อยคนเดินขบวนไปยังกระทรวงการคลัง สวมชุดห้องปฏิบัติการสีขาว หน้ากากและหมวกอนามัย ก่อนถูกตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม

ที่มา: voanews.com, 5/12/2016    

พม่าระงับส่งแรงงานไปมาเลเซีย หลังมีชุมนุมประท้วง

ทางการพม่าระงับส่งแรงงานไปมาเลเซียอย่างไม่มีกำหนด ตามคำแถลงของกรมแรงงาน หลังเกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้านพม่าในมาเลเซีย โดยพรรคการเมืองและกลุ่มองค์กรทางศาสนาของมาเลเซีย ที่ด้านหน้าสถานทูตพม่า ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการกดดันกิจการภายในของพม่าเกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ซึ่งการระงับส่งแรงงานนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของแรงงานชาวพม่า

ที่มา: elevenmyanmar.com, 7/12/2016

โซเชียลมีเดีย Yik Yak เลิกจ้างพนักงาน 60%

Yik Yak เป็นชื่อของโซเชียลมีเดียที่โด่งดังในหมู่วัยรุ่นวันเรียนของสหรัฐอเมริกาประกาศเลิกจ้างพนักงานแล้วทั้งสิ้น 30 คน จากทั้งหมด 50 คน ซึ่งคิดเป็น 60% ทั้งนี้ในปี 2014 มีนักลงทุนตีมูลค่าของบริษัทเอาไว้ที่ 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว

ที่มา: fortune.com, 10/12/2016

กาตาร์เลิกใช้กฎหมายระบบอุปถัมป์แรงงาน

รัฐบาลกาตาร์ยกเลิกระบบอุปถัมภ์ ‘คาฟาลา’ (kafala) ที่ให้สิทธิ์นายจ้างขัดขวางไม่ให้แรงงานลาออกอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปกฎหมายแรงงานครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อต้อนรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 ทั้งนี้ภายใต้ระบบคาฟาลานี้แรงงานต่างชาติทุกคนจะต้องมีผู้อุปถัมภ์ท้องถิ่น โดยอาจเป็นบุคคลหรือบริษัทก็ได้ และต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้างก่อนจะเปลี่ยนงาน หรือเดินทางออกจากกาตาร์ระบบนี้ถูกวิจารณ์ว่าไม่ต่างจากทาสสมัยใหม่ และทำให้แรงงานเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

ที่มา: BBC, 12/12/2016

IBM ประกาศจ้างพนักงาน 25,000 คนในสหรัฐฯ

ผู้บริหาร IBM ประกาศว่าทางบริษัทฯ จะทำการว่าจ้างพนักงาน 25,000 คนในสหรัฐฯ โดยจะมีการจ้างงาน 6,000 ตำแหน่งในปี 2017 นอกจากนี้บริษัทจะลงทุนเป็นจำนวนเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สำหรับการฝึกอบรมในช่วง 4 ปีข้างหน้า

ที่มา: cnbc.com, 13/12/2016

เผยนโยบายลูก 2 คนของจีนเริ่มมีผล

 

สมาคมโครงการวางแผนครอบครัวจีนระบุว่าในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา นโยบายลูก 2 คนเริ่มมีผลตามที่คาดไว้ ทั้งนี้ระหว่างปี 2016-2020 จีนมีแรงงานจำนวนเพียงพอ สังคมมีภาระค่อนข้างเบา จำนวนสตรีที่อยู่ในวัยตั้งครรภ์ลดลง ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเหมาะสมที่จะดำเนินนโยบายให้มีลูก 2 คน โดยการดำเนินนโยบายลูก 2 คนต้องควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ด้านสุขภาพ การให้คำแนะนำการเลี้ยงลูกที่ดี การช่วยเหลือครอบครัวยากจน การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน และให้ความสนใจกับประชาชนที่ใช้ชีวิตในต่างถิ่นด้วย

ที่มา: cri.cn, 15/12/2017

พนักงานหอไอเฟลของฝรั่งเศสประท้วง

พนักงานหอไอเฟลในกรุงปารีสประท้วงของคนงานเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน โดยสหภาพแรงงานนำการประท้วงของคนงาน 300 คนครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการให้เพิ่มค่าจ้าง แต่ต้องการประท้วงสิ่งที่พวกเขาบอกว่าเป็นข้อตกลงกับฝ่ายบริหารที่ไม่เกิดประโยชน์และไม่โปร่งใส

ที่มา: cbsnews.com, 18/12/2016

เผยมีผู้อพยพ 350,000 คนเข้า EU ในปีนี้

สำนักงานควบคุมชายแดนสหภาพยุโรป (Frontex) ระบุว่าจนถึงขณะนี้มีผู้อพยพจำนวน 350,000 คนเดินทางเข้ากลุ่มประเทศ EU ในปีนี้ โดยประชาชนราว 180,000 คนเดินทางผ่านตุรกีเข้ามาทางตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียน ขณะที่อีก 170,000 คนเดินทางจากลิเบียและอียิปต์มายังภูมิภาคทางตอนกลางของเมดิเตอร์เรเนียน

ที่มา: dw.com, 17/12/2016

บ.ญี่ปุ่นให้ลูกจ้างทำ OT เยอะแต่เบิกค่าล่วงเวลาน้อย ส่งผลต่อเศรษฐกิจ

ภายใต้แรงกดดันจากบริษัทที่มุ่งประหยัดต้นทุน บรรดาลูกจ้างพนักงานในญี่ปุ่นต่างต้องยอมทนทำงานมากกว่าชั่วโมงทำการตามปกติแต่ไม่ได้รับเงินค่าทำงานล่วงเวลา (OT) ถึงแม้รัฐบาลบอกว่าต้องการแก้ไขสภาพเช่นนี้ เพื่อให้ภาคแรงงานมียอดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตขยายตัวได้อีก

 แม้รัฐบาลพยายามที่จะออกระเบียบกฎหมายต่างๆ เพื่อดำเนินการปฏิรูปด้านแรงงาน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของเขาที่จะยุติภาวะอัตราเติบโตชะงักงันและเกิดภาวะเงินฝืดอย่างที่แดนอาทิตย์อุทัยประสบเรื่อยมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ของเขามีดังเช่น มาตรการในการลดชั่วโมงทำงานลงและจำกัดการทำงานล่วงเวลา, การปรับขึ้นค่าจ้างให้แก่พวกแรงงานชั่วคราว, และการอำนวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้นให้แก่การใช้ชีวิตของลูกจ้างพนักงานที่มีบุตร

ข้อมูลตัวเลขของรัฐบาลระบุว่าในรอบระยะเวลา 1 เดือนชาวญี่ปุ่นทำงานล่วงเวลาโดยเฉลี่ยคนละ 14.2 ชั่วโมง ทว่าผู้ตอบคำถามจำนวน 2,000 คนในการสำรวจของสมาพันธ์แรงงานญี่ปุ่น (Japanese Trade Union Confederation) เมื่อเร็วๆ นี้กลับบอกว่า พวกเขาต้องทำ OT โดยเฉลี่ยคนละ 40.3 ชั่วโมงต่อเดือนต่างหาก และได้รับเงินค่าล่วงเวลาเพียง 22.7 ชั่วโมง

ที่มา: japantimes.co.jp, 18/12/2016

แม่บ้านโรงแรมสเปนประท้วงค่าแรงต่ำ

กลุ่มแม่บ้านโรงแรมรวมตัวกันประท้วงการปฏิรูปกฎหมายแรงงานสเปนเมื่อปี 2012 เนื่องจากความพยายามดังกล่าวทำให้ได้รับเงินเดือนต่ำ ถูกไล่ออกจากงานได้ง่าย ทั้งยังเอื้อให้การว่าจ้างแม่บ้านจากบริษัทภายนอกแบบจ้างเหมาช่วงง่ายขึ้นด้วย ทั้งนี้แม่บ้านได้เงินค่าจ้างสำหรับการทำงาน ราว 4-6 ชั่วโมง แต่ต้องทำงานจริงๆ ราว 8-10 ชั่วโมง เพราะนายจ้างบอกว่า ถ้าทำไม่เสร็จก็กลับไม่ได้ นอกจากนี้ยังพบแม่บ้านที่ทำความสะอาดห้องพัก 400 ห้อง เท่ากับว่าได้เงินไม่ถึง 2 ยูโรต่อการทำความสะอาด 1 ห้อง โดยข้อมูลจากสหภาพแรงงานเผยว่าสเปนมีชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวกว่า 68 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทุบสถิติเดิมติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แต่ค่าแรงกลับไม่สะท้อนงานที่เพิ่มขึ้น

ที่มา: thelocal.es, 18/12/2016

คนงานเกาหลีเหนือกว่า 400 คนในโปแลนด์ อยู่ในสภาพเสี่ยงต่ออันตรายจากการทำงาน

หน่วยงานสอดส่องการเอาเปรียบแรงงานของโปแลนด์ รายงานว่าคนงานเกาหลีเหนือกว่า 400 คนในโปแลนด์อยู่ในสภาพเสี่ยงต่ออันตรายจากการทำงาน เจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน Legality of Employment Department ของโปแลนด์ กล่าวว่า จากการเข้าสำรวจ 15 ครั้งในปีนี้ ซึ่งมุ่งเป้าไปที่โรงงานที่จ้างแรงงานเกาหลีเหนือพบว่ามีการละเมิดกฎหมายแรงงานบ่อยครั้ง

การกระทำผิดรวมถึงสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย เช่นการขาดเครื่องมือป้องกันอันตรายจากการทำงานและขาดป้ายเตือนภัยในเขตก่อสร้าง นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังพบว่า แรงงานจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับค่าจ้างพิเศษนอกเวลางานปกติ และนายจ้างไม่จดทะเบียนประกันสังคมสำหรับแรงงานตรงตามเวลาที่ควรจะเป็น

ที่มา: voathai.com, 26/12/2016

ประธาน Dentsu บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ลาออกรับผิดชอบต่อกรณีพนักงานฆ่าตัวตายเนื่องมาจากการทำงานหนักจนเกินไป

นายทาดาชิ อิชิอิ (Tadashi Ishii) ประธานบริษัทโฆษณาขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น 'Dentsu' ประกาศลาออก หลังจากมัตสุริ ทาคาฮาชิ (Matsuri Takahashi) พนักงานหญิงวัย 24 ปีของบริษัทฯ ได้ฆ่าตัวตายเพราะทำงานหนักเกินไปในเดือน ธ.ค. 2015 โดยเธอต้องทำงานล่วงเวลามากถึง 105 ชั่วโมงในเดือน ต.ค. 2015 จนทำให้เธอตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าและนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ขณะที่ทางการเตรียมไต่สวนและควบคุมวัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลาของญี่ปุ่น รวมถึงเตรียมตรวจค้นสำนักงานต่าง ๆ ของบริษัท Dentsu

ที่มา: BBC, 28/12/2016

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net