Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




ถึงทุกวันนี้ เชื่อว่าคนไทยจำนวนมากมองเห็นจนเกิดความเข้าใจแล้วว่าวัฒนธรรมชาติมีความสำคัญอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมด้านใดก็ตาม  จนถึงยุคนี้ซึ่งเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ที่วัฒนธรรมข้ามชาติกลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่เห็นในชีวิตประจำวันของเราทุกๆ วัน

ในเมืองไทยนั้น ผมเชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมข้ามชาติอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมอเมริกัน ญี่ปุ่น และยิ่งในตอนหลังสุด คือ วัฒนธรรมเกาหลี ผ่านซีรีส์ หรือผ่านอุปกรณ์โสตทัศน์ต่างๆ  เช่น หนัง(ภาพยนตร์)  ทีวี เป็นต้น รวมถึงระบบอินเตอร์เน็ตที่กลายเป็นเครื่องมือประจำวันไปแล้ว

จากยุคก่อนหน้านี้ที่คนไทยบางกลุ่มเคยหวาดระแวงภัยจากการครอบงำทางวัฒนธรรม เช่น ในยุค “อเมริกันอันตราย” จนเดี๋ยวนี้ เมื่อการส่งผ่านวัฒนธรรมเป็นไปตามธรรมชาติของการสื่อสารมวลชนที่พัฒนาจนก้าวหน้าไปไกลในยุคโลกาภิวัตน์ การตระหนักถึงภัยจากครอบงำทางด้านวัฒนธรรมข้ามชาติก็พลอยลดน้อยลงไปด้วย

สังเกตได้จาก หลังจากยุคอเมริกันอันตรายแล้ว แม้มีญี่ปุ่น มีเกาหลีเข้ามาบุกรุกไทยก็ไม่ถือว่าอันตรายแล้ว โลกาภิวัตน์ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับการสื่อสารแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมข้ามชาติกลายเป็นเรื่องธรรมดา

โดยที่ต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกานั้น หน่วยงานของรัฐในประเทศเหล่านี้หรือคือรัฐบาลของพวกเขา ต่างยังมีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนการเผยแพร่วัฒนธรรมของชาติของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญตลอดมา โดยผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์หรืออินเตอร์เน็ต รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรรมข้ามชาติ

น่าที่นักประวัติศาสตร์ นักวัฒนธรรมวิทยาหรือนักมานุษยวิทยา ควรค้นหาคำตอบหรือหาเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ แม้ในยุคโลกาภิวัตน์ที่อาจกล่าวได้ว่า คนทั่วไปทั้งหลายทั่วโลกกำลังมีทิศทางหรือแนวโน้มค่อนไปทางการสลายความเป็นอัตลักษณ์แห่งตัวในเชิงวัฒนธรรมลง อันเนื่องมาจากแรงดึงดูดของกระแสโลกาภิวัตน์

พิจารณาได้จากบรรษัทสื่อข้ามชาติ ของหลายชาติที่รัฐชาติของประเทศนั้นๆ ให้การสนับ ทั้งการสนับสนุนที่เห็นได้ชัดอย่างเป็นทางการและการสนับสนุนแบบทางอ้อม เห็นได้ไม่ชัดแบบไม่เป็นทางการ

การสนับสนับสนุนแบบเป็นทางการ หมายถึง การให้การสนับสนุน ผ่านงบประมาณของรัฐ เพราะเหตุที่รัฐเห็นความสำคัญของการเผยแพร่วัฒนธรรมชาติ ให้โลกรู้จัก เช่นที่ โทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซามูไร  BBC ได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ หรือแม้แต่ VOA เสียงอเมริกาหรือโทรทัศน์ PBS ต่างได้รับการสนับจากวอชิงตันดีซี ทั้งในส่วนของรัฐบาลกลางและส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติหรือคองเกรส แม้ผ่านยุคสงครามเย็นมานานหลายปี

ถามว่าทำไมรัฐบาลหรือกลไกทางการเมืองของประเทศเหล่านี้จึงยังให้การสนับสนุนการผลิตสื่อข้ามชาติอยู่ แบบไม่เสื่อมคลายลงไปจากเดิมเลย ทั้งบางรัฐบาลยังกลับให้การสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

คำถามดังกล่าว นำมาซึ่งการชี้ให้เห็นว่า แม้ท่ามกลางโลกาภิวัตน์ก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าการรุกล้ำข้ามแดนเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมจะลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด

ผมไม่ทราบว่าการเผยแพร่วัฒนธรรมข้ามชาติด้วยความจงใจจะเรียกว่า เป็น “การพยายามครอบงำทางวัฒนธรรม” ได้หรือไม่? หรือเป็นการพยายามช่วงชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรมได้หรือไม่

ไม่รวมถึงการให้การสนับสนุนทางอ้อมโดยรัฐบาล เช่น ผ่านระบบภาษีหรือการให้สิทธิพิเศษกับเอกชนของชาตินั้นๆ ผู้ผลิตงานด้านวัฒนธรรมเพื่อการส่งออก เช่น ภาพยนตร์ สารคดีทางโทรทัศน์ เป็นต้น ซึ่งดูเหมือนในอเมริกามีฮอลลีวูดเป็นแบบอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนในส่วนของการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยภาครัฐซึ่งกระทำกันมาหลายปีอย่างต่อเนื่อง  ผมไม่ทราบว่าโลกตะวันออกอย่างเกาหลีหรือญี่ปุ่น เป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ ซึ่งหากดูจากพฤติกรรมเลียนแบบก็พออนุมานได้ว่า ไม่น่าจะมีอะไรแตกต่างระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก

โดยที่ในช่วงที่ผ่านมาหลายปี รัฐบาลซามูไรได้ประกาศความสำเร็จในการเผยแพร่วัฒนธรรมแดนปลาดิบลงบนประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศในโลก ทั้งดูเหมือนในช่วง10 ปีมานี้ แดนกิมจิเองก็มีวัตรปฏิบัติที่ไม่แตกต่างจากแดนปลาดิบมากนัก นั่นเป็นช่วงก่อนที่ซีรีส์ เกาหลีจะบูมในเมืองไทยจนแทบกลายเป็นลมหายใจของคนไทยจำนวนมากในเวลาต่อมา

ไม่รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมทุกช่องทางของโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น เช่น ล่าสุดพวกเขาบุกเมืองโฮจิมินห์ของเวียดนาม ร่วมกิจกรรมที่น่าจะเรียกได้ว่า “งานญี่ปุ่นแฟร์” (Japanese Fair) ที่มีสีสันน่าสนใจ เป็นงานหนึ่งที่คนเวียดนามทุกวัยเข้าร่วมจำนวนมาก แน่นอนว่า NHK ไปถ่ายทำกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมอย่างเต็มอิ่ม งานที่มีสีสันความสนใจส่วนหนึ่งอยู่ที่ตัวการ์ตูนญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก ความเป็นมิตร ความอบอุ่นของคนญี่ปุ่นถูกถ่ายทอดลงไปอย่างถึงแก่นในงานดังกล่าว และผ่านสื่อกลางอย่าง NHK ออกไปทั่วโลก ทั้งๆ สถานที่ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ไม่ได้ดีเด่แบบจัดในห้องประชุมติดแอร์อย่างใดเลย หากจัดกันแบบ Outdoor คือจัดกลางแจ้งเสียด้วยซ้ำ

ดูเหมือนทางสถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่นช่องเดียวกันนี้ตั้งเป้ารุกคืบทางวัฒนธรรมไม่เฉพาะแต่เพียงคนเวียดนามเท่านั้น หากยังมีเป้าหมายไปยังประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจกลุ่มอาเซียนอื่นๆ อีกด้วย รวมถึง ลาว พม่า หรือแม้แต่กัมพูชาอีกด้วย ควบคู่ไปกับการรุกเข้าไปทำธุรกิจหรือการเป็นพาร์ทเนอร์ชิพในทางธุรกิจกับประเทศดังกล่าวนี้อีกส่วนหนึ่ง เรียกว่า เป็นการดำเนินการแบบคู่ขนานกันไปสองทาง คือทางวัฒนธรรมและทางธุรกิจ

พูดแบบหยาบๆ ก็คือการกินรวบทั้งสองด้าน

ต้องไม่ลืมว่างานด้านวัฒนธรรมเหมือนซอฟท์แวร์ ขณะที่งานด้านธุรกิจหรืองานค้าขายนั้นเหมือนฮาร์ดแวร์ ทั้งสองฝ่ายต่างสามารถเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี งานทางด้านวัฒนธรรมนั้น ส่วนหนึ่งคือการส่งเสริมหรือการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศหรือคนของประเทศนั้นๆ เป็นน้ำจิ้มขนานเอกให้กับงานด้านธุรกิจ

เมื่อกลับมาดูในส่วนของประเทศไทยก็จะพบว่า เราขาดสำนึกและด้อยประสิทธิภาพในเรื่องการสนับสนุนส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรมมากขนาดไหน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ทั้งที่คุยกันมาตลอดว่า เรามีของดีทางวัฒนธรรมอย่างประมาณค่าไม่ได้

คำถามคือ เราได้นำวัฒนธรรมที่มีคุณค่าแบบประมาณค่ามิได้นี้ไปนำเสนอต่อผู้คนในต่างวัฒนธรรมอย่างดีที่สุดแบบเป็นระบบหรือยัง มีการจัดกระบวนทัพแล้วหรือยัง กระบวนทัพก็ต้องเป็นกระบวนทัพที่ดีมีประสิทธิภาพด้วย

เพราะถ้าหน่วยงานของรัฐ อย่างเช่น กระทรวงวัฒนธรรมฯ ทำได้ก็คงทำไปนานแล้ว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net