Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ปราชญ์ทางพุทธศาสนาไทย อย่างเช่นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พยายามอธิบายว่า พระสงฆ์ไทย “อยู่นอก” และ “อยู่เหนือ” การเมือง เพราะพระสงฆ์ไทยไม่ได้มีตำแหน่งและบทบาทในการบริหารบ้านเมือง และไม่มีสิทธิเลือกตั้ง บทบาทที่ควรจะเป็นของพระสงฆ์ที่อยู่นอกและเหนือการเมืองก็คือ บทบาทในการ “นำการเมือง” นั่นคือ นำการเมืองโดยธรรม หมายถึงสอนให้นักการเมืองใช้คุณธรรมในการปกครอง และสอนให้ประชาชนเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างมีศีลธรรม

การอยู่นอกและเหนือการเมืองในความหมายดังกล่าว ถูกกำหนดโดยเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ คือ เงื่อนไขหลักธรรมวินัยเถรวาท ที่ไม่อนุญาตให้พระสงฆ์มีตำแหน่งบริหารบ้านเมือง และเงื่อนไขอำนาจรัฐที่จำกัดสิทธิทางการเมืองของพระสงฆ์ไว้ไม่ให้สามารถเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้เหมือนฆราวาสทั่วไป (เช่น ไม่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นต้น)

แต่คำถามคือ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ถือเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่มีอำนาจและบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองหรือไม่

คำตอบต้องดูจากโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาที่เป็นมาและเป็นอยู่จริง นั่นคือโครงสร้างที่มีศาสนจักร (มหาเถรสมาคม) ของรัฐ ซึ่งเป็นศาสนจักรที่มีสถานะ อำนาจทางกฎหมาย โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขของศาสนจักร ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักร-ศาสนจักรเช่นนี้ รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์ คุ้มครอง ส่งเสริมการเผยแผ่ศาสนา และศาสนจักรก็มีหน้าที่ตอบสนองนโยบาย อุดมการณ์รัฐ พูดง่ายๆ คือ ศาสนจักรเป็นกลไกหนึ่งของรัฐ

เมื่อศาสนจักรเป็นกลไกของรัฐ ที่มีบทบาทตอบสนองนโยบายและอุดมการณ์รัฐ ตำแหน่งประมุขศาสนจักร จึงไม่ใช่ตำแหน่งที่อยู่นอกหรืออยู่เหนือการเมือง แม้ตามกฎหมายตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไม่ใช่ “ข้าราชการการเมือง” แบบนักการเมือง แต่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็ไม่อาจเป็นอิสระจาก “ความเป็นการเมือง” ทั้งในเรื่องการแต่งตั้งและบทบาทหน้าที่

ดังเราได้เห็นมาตลอดว่า ในช่วงที่จะมีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ก็มักจะมี “แรงกระเพื่อม” ทางการเมืองภายในวงการสงฆ์ว่า วาระตำรงตำแหน่งควรจะเป็นของฝ่ายธรรมยุตหรือมหานิกาย หรือมีหลักเกณฑ์อะไรที่แสดงถึง “ความยุติธรรม” ในการเข้าสู่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชระหว่างสองนิกาย เป็นต้น และแน่นอนว่า เมื่อใครได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช การแสดงบทบาทในฐานะประมุขสงฆ์ก็ต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และตอบสนองต่อนโยบายของรัฐในยุคนั้นๆ

ปัญหาการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่คาราคาซังมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 เช่น ปรากฏการณ์ต่อต้านสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) จนมาถึงการแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 7 ให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็น “พระราชอำนาจ” ที่ตัดขั้นตอนการเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยมติมหาเถรสมาคมออกไป ก็คือตัวอย่างของ “ความเป็นการเมือง” หรือปัญหาการเมืองในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั่นเอง

ในสถานการณ์ปัญหาการเมืองในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช เราได้เห็นปรากฏการณ์และปฏิกิริยาแตกต่างกันไป มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้านพระบางรูปขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีทั้งการใช้กลไกอำนาจรัฐเข้าไปดำเนินการทางกฎหมายกับบางฝ่ายที่มีความเป็นการเมือง จนกระทั่งทำให้ข้อกล่าวหาเรื่องทำผิดกฎหมายปกติ กรณีครอบครองรถหลีกเลี่ยงภาษีของสมเด็จช่วง และข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเรื่องทุจริตของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายไม่สามารถนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ เป็นกลางอย่างที่ควรจะเป็นได้ เพราะภายใต้สภาวะ “ไม่มีมาตรฐาน” ในปัจจุบัน ทำให้แต่ละฝ่ายต่างใช้ “ความเป็นการเมือง” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตัวเอง มากกว่าที่จะบังคับใช้และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา

ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าเราจะมองปัญหาเรื่องแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชว่าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่สำคัญ หรือจะไม่สนใจเลยก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย ที่เกี่ยวพันทับซ้อนระหว่างการเมืองทางโลก-การเมืองสงฆ์ ซึ่งดำเนินไปภายใต้กรอบคิดในการแก้ปัญหาแบบเดียวกัน กล่าวคือ การเมืองทางโลกถูกทำให้เชื่อว่า ปัญหาเกิดจากนักการเมือง พรรคการเมืองคอร์รัปชัน ไม่ได้เกิดจากตัวโครงสร้างหรือตัวระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องใช้วิธีรัฐประหารขจัดนักการเมืองโกง มากกว่าที่จะพัฒนาตัวระบบให้เป็นประชาธิปไตยชัดเจนขึ้น ทำนองเดียวกับการเมืองสงฆ์ แทนที่จะแก้ที่ตัวระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา กลับแก้ปัญหาเรื่องตัวบุคคลมาเรื่อยๆ และก็เกิดปัญหาเดิมๆ เรื่อยๆ ไม่รู้จบ

พูดอีกอย่างคือ คนกลุ่มน้อยที่ผูกขาดอำนาจรัฐ กำหนดโจทย์ผิดๆ ในเรื่องประชาธิปไตยและศาสนาให้สังคมจำต้องเดินตามตลอดมา พวกเขาพยายามกลบเกลื่อนโจทย์ที่แท้จริง คือการสร้างประชาธิปไตย (democratization) หรือการสร้าง/พัฒนาตัวระบบโครงสร้างอำนาจการปกครองและสถานะ อำนาจของสถาบันต่างๆ ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างโจทย์หลอกๆ ว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากนักการเมืองโกง หรือเป็นปัญหาความมั่นคง จึงต้องล้มระบบด้วยการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า พร้อมๆ กับกระชับอำนาจของฝ่ายตนให้เข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ

เช่นเดียวกัน ปัญหาทางศาสนาแทนที่จะแก้จากปัญหาระดับรากฐานที่สุด คือปัญหาโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา โดยทำให้รัฐไทยเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) แยกศาสนจักรจากการเมือง ให้องค์กรทุกศาสนาเป็นเอกชน ไม่มีการใช้ศาสนาใดๆ เป็นเครื่องมือตอบสนองอุดมการณ์ทางการเมือง แต่โจทย์ปัญหาระดับรากฐานเช่นนี้ก็ไม่ถูกพูดถึง เพราะรัฐและคณะสงฆ์ไทยนำโจทย์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาแบบยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มากำหนดให้สังคมถกเถียงและหาทางแก้ไม่จบตลอดมา

พูดอย่างถึงที่สุด การที่สังคมถูกทำให้ยึดติดอยู่กับโจทย์ผิดๆ เดิมๆ ก็คือการที่สังคมถูกทำให้ไม่มีเสรีภาพที่จะตั้งโจทย์ หรือตั้งคำถาม ถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างเต็มที่ต่อปัญหาระดับรากฐานที่สุดในการสร้างประชาธิปไตย และการจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐ

ที่น่าเศร้าก็คือ สังคมเราถูกทำให้ยึดติดหรือ “ติดกับดัก” โจทย์ปัญหาปลอมๆ เดิมๆ บนการผลิตสร้างมายาคติในเรื่อง “อยู่เหนือการเมือง” เช่น พระสงฆ์และพุทธศาสนาอยู่เหนือการเมือง และควรนำการเมือง (เป็นต้น)

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง พระสงฆ์และพุทธศาสนาถูกกำหนดโดยอำนาจรัฐให้อยู่ในการเมือง เป็นกลไกและเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมตลอดมา และไม่มีศักยภาพและความชอบธรรมที่จะ “นำ” การเมืองในบริบทโลกสมัยใหม่ได้อีกแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net