Skip to main content
sharethis

ระบุตลอดปี 59 ตัวเลขการรับแจ้งเบาะแสยังคงไม่ลด คาดจากหลายปัจจัย การรณรงค์ลดค่านิยมการให้เงินกับเด็กขอทาน  ไม่ถึงระดับให้แทบทุกคนเลิกพฤติกรรมให้เงินได้ หวังปี 60 นโยบายจัดระเบียบทั่วประเทศของ พม. จะยังเดินหน้าต่อและมีความชัดเจนในการปฏิบัติ ป้องกันกลุ่มขอทานข้ามชาติเป็นรูปธรรม

5 ม.ค. 2560 โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ได้เผยแพร่ "รายงานสถานการณ์ปัญหาเด็กขอทานรอบปี 2559" ระบุว่า รอบปี 2559 นั้น สถานการณ์ปัญหาการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทาน ยังคงเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ คล้ายปี 2558 ที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงต้นปี 2559 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังคงเดินหน้านโยบายการจัดระเบียบคนขอทานทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีกิจกรรมการรณรงค์สร้างความตระหนักให้คนในสังคมและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เข้าใจต่อปัญหาเด็กขอทานมากยิ่งขึ้น ภายใต้สโลแกน “ให้ทานอย่างถูกวิธี ลดวิธีการขอทาน” โดยเน้นไปในจังหวัดที่เป็นเมืองเศรษฐกิจ อาทิ กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, ภูเก็ต เป็นต้น

ซึ่งนอกจากการรณรงค์สร้างความตระหนักต่อปัญหาเด็กขอทานแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง พม. ก็มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ “พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559” ก่อนการบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ก.ค. 2559 อีกด้วย  จากผลงานการจัดระเบียบคนขอทานและการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในด้านต่างๆ รวมถึงความพยายามในการผลักดันกฎหมาย ทำให้ท้ายที่สุดสหรัฐอเมริกาก็ได้จัดอันดับรายงานสถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.5 (Tier 2 watch list) แทนที่อันดับ 3 (Tier 3) ซึ่งประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับนี้มา 2 ปี ติดต่อกัน
 
รายงานระบุด้วยว่า หากมองไปที่สถิติการรับแจ้งเบาะแสการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ ของโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ตลอดปี 2559 ก็พบว่าตัวเลขการรับแจ้งเบาะแส ยังคงอยู่ในระดับ 300 ราย ใกล้เคียงกับปี 2558 ที่ผ่านมา โดยเหตุที่ตัวเลขการรับแจ้งเบาะแสเด็กขอทานยังคงไม่ลดลงนั้น โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา วิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น การรณรงค์เพื่อลดค่านิยมต่อการให้เงินกับเด็กขอทาน ยังไม่สามารถแตะถึงระดับ “มวลวิกฤต” (Critical Mass) ที่จะทำให้แทบทุกคนในสังคมไทยเลิกพฤติกรรมการให้เงินกับเด็กขอทานได้ จึงทำให้รายได้จากการขอทานในแต่ละวันไม่ลดลงเท่าที่ควร
 
ปัจจัยต่อมาก็คือมาตรการในการป้องกันกลุ่มขอทานข้ามชาติที่ลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยยังคงทำได้ไม่ดีพอนัก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเด็กขอทานในหลายๆ พื้นที่ แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่ามีกลุ่มขอทานข้ามชาติในลักษณะ “หน้าซ้ำ” “หน้าเดิม” อยู่หลายราย ที่ได้รับการช่วยเหลือและส่งกลับประเทศต้นทางไปแล้ว แต่คล้อยหลังได้ไม่นานก็กลับมาขอทานดังเดิม อย่างในพื้นที่กรุงเทพมหานครก็มีหลายจุดที่มักพบขอทาน “หน้าซ้ำ” “หน้าเดิม” อาทิ เพลินจิต, นานา, อโศกมนตรี, สีลม, สยาม เป็นต้น 
 
แม้ว่า พม. จะมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ องค์กรเฟรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในการพัฒนารูปแบบการส่งกลับกลุ่มขอทานจากประเทศกัมพูชา โดยอาศัยเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศต้นทางให้ช่วยดูแลกลุ่มขอทานภายหลังการส่งกลับไปแล้วก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากรูปแบบดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลองระบบ จึงอาจยังไม่มีกรณีศึกษาที่เป็นรูปธรรมมากนัก ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่า พม. จะมีการยกระดับการป้องกันไม่ให้กลุ่มขอทานข้ามชาติกลับเข้าสู่ประเทศไทยซ้ำได้อย่างไรบ้าง 
 
ปัจจัยที่ 3 ถือเป็นเรื่องที่สำคัญพอสมควรนั่นคือกลไกการช่วยเหลือเด็กขอทานภายหลังการรับแจ้งเหตุจากพลเมืองดีนั้นยังคงมีความล่าช้าอยู่มาก พลเมืองดีบางรายสะท้อนปัญหาว่าเมื่อโทรแจ้งเบาะแสไปยังศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 แล้ว กลับปรากฏผลลัพธ์ว่าไม่มีเจ้าหน้าที่มาดำเนินการช่วยเหลือเด็กแต่อย่างใด ซึ่งกลไกการช่วยเหลือเด็กขอทานที่ยังขาดการบูรณาการและประสิทธิภาพนั้น จะมีผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานในระยะยาวอย่างแน่นอน เนื่องจากว่าในปัจจุบันนี้คนในสังคมบางส่วนเริ่มตระหนักต่อปัญหาเด็กขอทานโดยการหยุดการให้เงินและเปลี่ยนเป็นการแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดพลเมืองดีกลับยังเห็นเด็กขอทานที่ตนเองแจ้งเบาะแส นั่งขอทานอยู่ข้างถนนตามเดิม จึงทำให้เกิดลักษณะของการขาดความเชื่อมั่นกับหน่วยงานภาครัฐ และทำให้ในที่สุดการรณรงค์ให้คนในสังคมหยุดการให้เงินกับเด็กขอทานไม่ได้ผลบรรลุตามเป้าหมาย เพราะพลเมืองดีมองไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของคุณภาพชีวิตเด็ก ภายหลังการแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วนั่นเอง
 
ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของ พม. ด้วยเพราะเป็นปัญหาที่ติดขัดและถูกกล่าวถึงมาตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ และยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมนัก นอกจากนี้ในปี 2559 ประเทศไทยได้เริ่มมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้รับการแก้ไขมาจากพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2484) โดยมีบทบัญญัติที่สำคัญ คือ พฤติกรรมการขอทานถือว่ามีความผิดและมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และผู้แสดงดนตรีหรือความสามารถอื่นใดไม่ถือเป็นการขอทาน แต่ต้องมีการขึ้นทะเบียนรวมถึงการขออนุญาตจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนทำการแสดง 
 
ซึ่งถือเป็นเรื่องดีของกฎหมายฉบับดังกล่าวที่แยกกลุ่มผู้แสดงดนตรีหรือความสามารถออกจากกลุ่มขอทาน เพราะที่ผ่านมาผู้แสดงดนตรีหรือความสามารถมักได้รับผลกระทบจากการกวาดล้างหรือจัดระเบียบคนขอทานมาโดยตลอด อีกทั้งการขึ้นทะเบียนผู้แสดงความสามารถนั้น ก็จะช่วยลดปัญหาการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์หรือกลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงมาทำการแสดง เพื่อนำรายได้ไปใช้ในทางมิชอบได้อีกด้วย และกฎหมายฉบับนี้ก็จะช่วยอุดช่องว่างของกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่บัญญัติถึงปัญหาการนำเด็กมาขอทาน เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546, พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 เป็นต้น ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
 
แต่อย่างไรก็ตามการมีกฎหมายหลายฉบับนั้น โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ก็พบปัญหาว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็เริ่มสับสนว่าจะใช้กฎหมายฉบับใดเป็นหลักในการดำเนินคดีกับผู้ที่พาเด็กมาขอทาน เพราะปัญหาเด็กขอทานมีทั้งกรณีค้ามนุษย์, บุพการีกระทำกับผู้สืบสันดาน (ที่มีทั้งการบังคับและเด็กสมัครใจมาทำการขอทาน), เด็กถูกทอดทิ้ง หรือบางรายก็เป็นเด็กที่มาขอทานเพื่อประทังชีพ ฯลฯ ด้วยเหตุจากความหลากหลายนี้ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางแห่ง ใช้กฎหมายที่มีอัตราโทษที่รุนแรงเกินความจำเป็นมาบังคับใช้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีการดำเนินคดีกับมารดาที่พาบุตรมาทำการขอทานฐานค้ามนุษย์ (ซึ่งตามข้อเท็จจริงมารดาไม่ได้มีการบังคับหรือทำร้ายร่างกายบุตรแต่อย่างใด ในทางปฏิบัติอาจตีความเป็นเรื่องการเลี้ยงดูบุตรอย่างไม่เหมาะสมและใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เพื่อขอแยกเด็กจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมแทนก็ได้) หรือกรณีหนึ่งที่โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา พบเป็นกรณีลุงนำหลานชาย อายุ 17 ปี ซึ่งเป็นเด็กดาวน์ซินโดรมมาทำการขอทาน ซึ่งกรณีนี้เด็กไม่อยู่ในสภาพของการรับรู้หรือแสดงความคิดเห็นได้ว่าตนเองจะสมัครใจมาทำการขอทาน เพราะสภาพจิตที่ไม่ปกติสมบูรณ์ จึงอาจกล่าวได้ว่าเด็กมีลักษณะของการถูกบังคับโดยสภาพ แต่ท้ายที่สุดกรณีนี้เจ้าหน้าที่ที่ทำการช่วยเหลือเด็กกลับใช้การส่งลุงและหลานไปทำการตรวจ DNA ซึ่งเมื่อผลการตรวจออกมาว่าตรงกันก็ส่งกลับประเทศต้นทางโดยไม่มีการดำเนินคดีใดๆ
 
รายงานของมูลนิธิกระจกเงาระบุด้วยว่า จากกรณีศึกษาเหล่านี้จึงพอสะท้อนได้ว่าการดำเนินการเกี่ยวกับกรณีการนำเด็กมาขอทานนั้น อาศัยเพียงดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่ทำการช่วยเหลือเด็กเป็นหลักเท่านั้น หาใช่จากการนำกรณีศึกษาที่ผ่านมา มาทำการวิเคราะห์และกำหนดวิธีการหรือขั้นตอนการปฏิบัติให้ทุกหน่วยงานดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันไม่ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเด็กขอทานทั้งภาครัฐและเอกชน ควรมีการหารือแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อมิให้เกิดการลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมายและมีความเป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้กลุ่มหนึ่งที่ต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 เช่นกัน คือ กลุ่มผู้แสดงดนตรีหรือความสามารถ เนื่องจาก ณ ขณะนี้ กลุ่มผู้แสดงความสามารถบางส่วนมีความเข้าใจในเรื่องของการต้องขึ้นทะเบียนผู้แสดงความสามารถ แต่ยังไม่ทราบว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้างตนเองจึงจะได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตลอดปี 2560 พม. รวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น คงต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่มีความต้องการแสดงดนตรีหรือความสามารถต่างๆ มาขึ้นทะเบียนให้ได้อย่างเป็นลำดับและครบถ้วนต่อไป
 
นอกจากปัญหาเรื่องการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานแล้ว ปัญหาการนำเด็กมาแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ อย่างการขายพวงมาลัยหรือสินค้าต้นทุนต่ำอื่นๆ ก็เป็นปัญหาที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน เพราะด้วยนโยบายการจัดระเบียบคนขอทานนั้น มุ่งเน้นเอาผิดกับผู้ที่มาขอทานโดยประจักษ์เท่านั้น จึงทำให้คนขอทานบางรายใช้การขายสินค้าต้นทุนต่ำ เพื่ออำพรางพฤติกรรมเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วก็มีลักษณะของการแฝงขอทานควบคู่กันไปด้วย หรือบางรายที่เป็นเด็กก็ถูกพามาขายสินค้าในช่วงเวลาหรือสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ต้องมาขายในช่วงกลางดึก, ในร้านหรือสถานบันเทิงยามค่ำคืน หรือ บนพื้นผิวการจราจร เป็นต้น อีกทั้งเด็กบางรายยังมีอายุที่น้อยมากด้วย จึงถือเป็นปัญหาหนึ่งที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเช่นเดียวกับปัญหาเด็กขอทาน
 
นอกจากนี้ในปี 2559 โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา ยังพบกรณีเด็กที่มาทำการขอทานในช่วงเวลากลางคืนและมีความเสี่ยงที่จะถูกชาวต่างชาติซื้อบริการหรือละเมิดทางเพศอีกด้วย โดยในกรณีนี้เด็กให้ข้อมูลว่าช่วงที่ตนเองมาทำการขอทานจะมีชาวต่างชาติมาให้เงินกับตน บางครั้งให้มากถึง 1,000 บาท เลยทีเดียว ในวันต่อๆ มา ชาวต่างชาติคนเดิมก็จะเริ่มพาตนและเพื่อนๆ ไปซื้อสินค้าต่างๆ อาทิ ขนม, เสื้อผ้า หรือ สมาร์ทโฟน เป็นต้น และสุดท้ายก็มีการชักชวนกลุ่มตนไปเที่ยวเล่นในพื้นที่ต่างจังหวัดหรือชักชวนไปยังที่พักของชาวต่างชาติคนนั้นๆ  ซึ่งมีเด็กขอทานหลายรายที่ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน จึงถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มเด็กขอทานซึ่งวิถีชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ที่ต้องวนเวียนอยู่ข้างถนนนั้น มีความเสี่ยงที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในรูปแบบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน 
 
ดังนั้นปัญหาเด็กขอทานตามข้างถนนหน่วยงานภาครัฐจะละเลยหรือมองข้ามว่าเป็นปัญหาที่เล็กน้อยมิได้เลย เพราะเด็กเหล่านี้ล้วนขาดโอกาสทางการศึกษาและใช้ชีวิตแบบปกติ จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกชักจูงหรือก้าวเข้าสู่ปัญหาการค้ามนุษย์อื่นๆ ได้ เมื่อเติบโตขึ้นมา
 
สำหรับในรอบปี 2560 นั้น โครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา คาดว่า นโยบายการจัดระเบียบคนขอทานทั่วประเทศของ พม. น่าจะยังคงเดินหน้าต่อไป และน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องของแนวทางการปฏิบัติหรือดำเนินคดีกับผู้ที่พาเด็กมาขอทานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้มากยิ่งขึ้น  ในส่วนเรื่องที่ต้องจับตามองนั้น มีเรื่องของการขึ้นทะเบียนกลุ่มผู้แสดงดนตรีหรือแสดงความสามารถต่างๆ ว่าจะเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่อย่างไร  และท้ายสุดแนวทางการป้องกันกลุ่มขอทานข้ามชาติที่มักลักลอบกลับเข้าสู่ประเทศไทยซ้ำหลายๆ ครั้งนั้น จะมีแนวทางใดๆ ให้พอเห็นเป็นรูปธรรมได้บ้างในปี 2560 นี้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net