Skip to main content
sharethis
คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมินผลกระทบน้ำท่วมภาคใต้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ โอกาสการลงทุน การสูญเสียรายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว ภาคขนส่งคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมไม่ต่ำ 85,000-123,841 ล้านบาท เสนอรัฐเร่งเยียวยาประชาชนทุ่มเทงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้เต็มที่ โดยชะลอหรือทบทวนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศไปก่อนเนื่องจากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน 
8 ม.ค. 2560 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเปิดเผยว่า จากการประเมินเบื้องต้นผลกระทบน้ำท่วมภาคใต้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ โอกาสการลงทุน การสูญเสียรายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว ภาคขนส่งคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมไม่ต่ำ 85,000-123,841 ล้านบาท กระทบจีดีพีคิดเป็นร้อยละ 0.58-0.84 อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจาก supply shockภาคการบริโภคชะลอตัวลง การว่างงานในภาคใต้เพิ่มขึ้นชัดเจนแต่อัตราการว่างงานทั้งประเทศยังคงต่ำกว่า 2% การสูญเสียรายได้และความเสียหายเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวไม่น่าจะต่ำกว่าสัปดาห์ละ 6,000 – 11,000 ล้านบาท ความเสียหายในภาคเกษตรกรรมไม่น่าจะต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการและนักลงทุน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคใต้ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้น่าจะลดอย่างชัดเจน 
 
ความเสียหายต่อทรัพย์สินโดยรวมยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนเนื่องจากต้องมีการสำรวจหลังน้ำลด อย่างไรก็ตามเนื่องจากน้ำท่วมครั้งนี้มีลักษณะเป็นน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันความเสียหายต่อทรัพย์สินจึงค่อนข้างมากเพราะเตรียมการรับมือไม่ได้ดีนัก มีพื้นที่ได้รับผลกระทบถึง 10 จังหวัด ครอบคลุม 85 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 7 แสนถึงล้านคน เส้นทางคมนาคมในหลายพื้นที่ถูกตัดขาดทำให้ความช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก และ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำโดยด่วน คือ หยุดการสูญเสียชีวิตผู้คนจากน้ำท่วมให้ได้มากที่สุดเนื่องจากการสูญเสียชีวิตจากน้ำท่วมไม่สามารถฟื้นคืนได้แต่ความเสียหายอย่างอื่นสามารถฟื้นฟูและเยียวยาได้ 
 
ดร. อนุสรณ์ ได้กล่าวเสนอให้รัฐเร่งเยียวยาประชาชน เกษตรกร ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่เดือดร้อน เตรียมรับมืออาหารทะเลราคาแพงขึ้น หรือ กุ้งอาจขาดแคลนเนื่องจากบ่อกุ้งได้รับความเสียหายหนักในพื้นที่นครศรีธรรมราช สุราษฎรธานี แนวโน้มราคายางพารา น้ำมันปาล์มปรับตัวสูงขึ้น เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือให้เปล่าจากงบกลางไม่ต่ำกว่า 5,000– 10,000 ล้านบาททันทีมาตรการทางการเงิน (ลดดอกเบี้ย ยืดหนี้ ดอกเบี้ยต่ำกู้เงินเพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูสภาพ) มาตรการภาษีลดภาษีนิติบุคคลสำหรับกิจการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มาตรการใช้จ่ายภาครัฐ อัดฉีดเม็ดเงินหลังน้ำท่วมเพื่อซ่อมแซมสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่ได้รับความเสียหายมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้เป็นการเฉพาะ 
 
ขอให้รัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้เต็มที่ โดยชะลอหรือทบทวนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศไปก่อน เนื่องจากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ไม่มีสัญญาณสงครามใหญ่ใดๆเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนและรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี หากสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฟื้นฟูให้กลับเข้าสู่ภาวะปรกติโดยเร็ว เร่งการลงทุนเพื่อซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เสียหาย ย่อมทำให้ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีพ.ศ. 2560 ยังจะเติบโตในระดับ3.6 – 4.2% ได้ตามที่คณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิตได้คาดการณ์ไว้ช่วงปลายปี พ.ศ. 2559 
 
ส่วนท่าทีในการกีดกันการค้ามากขึ้นตามลำดับของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะสร้างความไม่แน่นอนต่อระบบการค้าเสรีของโลกเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยมากนักและตัวเลขส่งออกในปีนี้น่าจะเป็นบวกและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่อาจเติบโตจากปีที่แล้ว 5-8% แต่ต้องเร่งฟื้นฟูภาคใต้ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญโดยเร็วหลังน้ำลด 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net