Skip to main content
sharethis

พูดคุยกับ ‘สุรพศ ทวีศักดิ์’ พ.ร.บ.สงฆ์คือเครื่องมือรัฐเพื่อตอบสนองอุดมการณ์ แก้กฎหมายแค่สกัดสมเด็จช่วงเป็นสังฆราช เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่วางใจมหาเถรฯ เชื่อไม่แก้ปัญหาระยะยาว ย้ำต้องแยกรัฐออกจากศาสนาพร้อมกับกระบวนการสร้างประชาธิปไตย ศาสนาต้องเป็นรองหลักการสากล หยุดเป็นกลไกของอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม

สุรพศ ทวีศักดิ์

อาการยืดเยื้อจบไม่ลงของการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) หรือสมเด็จช่วง แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ ที่ฝ่ายผู้มีอำนาจมองว่าเกี่ยวพันกับวัดธรรมกายถูกสกัดมิให้ขึ้นเป็นประมุขพุทธจักร ซึ่งในที่สุด เรื่องนี้ก็จบลงแบบไทยๆ ด้วยการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดการแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 แบบผ่านรวดเดียว 3 วาระ

ข้อใหญ่ใจความคือการแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้มหาเถรสมาคมเป็นผู้เสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุด กลับไปสู่เนื้อหาเดิมใน พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2505 ที่ให้อำนาจในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็นของพระมหากษัตริย์ แน่นอนว่าเมื่อการณ์ออกมาในรูปนี้ ไม่ว่าใครจะเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไปก็คงยากที่จะมีผู้ใดกล้าทักท้วง เท่ากับว่าปัญหาการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชจบลงโดยปริยาย

แต่เดี๋ยวก่อน…จริงหรือที่ปัญหานี้จบลง หรือเราแค่พักปัญหาไว้ชั่วคราว เลือกที่จะใช้วิถีทางลัด โดยไม่ได้แตะต้องแก่นแกนของปัญหาจริงๆ ไม่ได้ตั้งคำถามอย่างถึงรากถึงโคนหรือเฉลียวใจสักนิดว่า เมื่อศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคล เหตุใดรัฐจึงต้องเข้ามาพัวพันกับปัญหาความเชื่อของปัจเจก ต้องยุ่งยากกับเรื่องว่าใครจะเป็นผู้นำสงฆ์ หรือโดยโครงสร้างของสังคมนี้ รัฐและศาสนาต่างช่วงใช้กันและกันเพื่อรับใช้อุดมการณ์บางชนิด และเป็นอุดมการณ์ที่ค่อนข้างจะไม่เป็นประชาธิปไตยหรืออาจถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยด้วยซ้ำ

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา กล่าวกับประชาไทว่า

“หน้าที่ของ พ.ร.บ.สงฆ์ คือการสถาปนาศาสนจักรของรัฐขึ้นมา ซึ่งก็คือมหาเถรสมาคม เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐ อุดมการณ์รัฐ ภายใต้หน้าที่แบบนี้ทำให้มีการเมืองสงฆ์ระหว่างนิกายมาตลอด ทำให้มีปัญหาระหว่างการเมืองสงฆ์กับการเมืองทางโลกพัวพันกันมาโดยตลอด แล้วก็มีผลต่อการผลิตสร้างความคิดทางศีลธรรมของศาสนาพุทธที่ผูกพันกับเรื่องความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี คือเอาศีลธรรมไปผูกพันกับอำนาจ ตัว พ.ร.บ.สงฆ์ จึงมีอิทธิพลมากกว่าที่เราคิด คนอาจจะมองไม่เห็น แต่ถ้าไม่มี พ.ร.บ.สงฆ์ ก็ไม่มีศาสนจักรของรัฐ พูดง่ายๆ คือ พ.ร.บ.สงฆ์ ทำให้เราเป็น Secular State ไม่ได้”

สืบสาวราวเรื่องกันอย่างลงลึกถึงความพัวพันระหว่างอำนาจรัฐและศาสนจักร พระและการเมือง กฎหมายสงฆ์และประชาธิปไตย ในบทสนทนานี้

การปฏิรูปที่ไม่ได้ตั้งคำถามกับศาสนจักร

กฎหมายสงฆ์ฉบับแรกของไทยมีชื่อว่า พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 เป็นการริเริ่มของคนเพียง 3 คนคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เนื่องจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ต้องการอำนาจในการบังคับบัญชาคณะสงฆ์ เพื่อให้คณะสงฆ์ตอบสนองการปฏิรูปประเทศในยุคนั้น

“แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และรัชกาลที่ 5 ก็รับแนวคิดเรื่องศาสนามาจากรัชกาลที่ 4 คือถ้าพูดในมิติการเข้าสู่สมัยใหม่ ก็เริ่มมาจากรัชกาลที่ 4 ที่แยกนิกาย และมีบางคนวิเคราะห์ว่ารัชกาลที่ 4 น่าจะทราบจากพวกมิชชั่นนารีที่เข้ามาว่ามีการปฏิรูปศาสนาของมาร์ติน ลูเธอร์ รัชกาลที่ 4 ก็ต้องการปฏิรูปบ้าง

“แต่การปฏิรูปนี้ต่างจากในยุโรป มาร์ติน ลูเธอร์ เป็นการปฏิรูปโดยการตั้งคำถามกับอำนาจศาสนจักร อำนาจรัฐ และคลี่คลายไปทำให้ความเชื่อทางศาสนาเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล แต่รัชกาลที่ 4 ปฏิรูปโดยการนำศาสนามาตอบสนองอำนาจรัฐ ตั้งนิกายธรรมยุตขึ้นมา ซึ่งก็เป็นการเมืองระหว่างรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 3 จึงต้องสร้างคณะสงฆ์ที่เป็นฐานของท่านขึ้นมา

“เหตุผลก็คือกลุ่มเดิมประพฤติย่อหย่อนธรรมวินัย ไม่ได้ปฏิบัติตามพุทธวงศ์อย่างแท้จริง ตรรกะคือต้องการรักษาคำสอนที่ถูกต้องในพระไตรปิฎก รักษาวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ จึงตั้งธรรมยุตขึ้น แล้วธรรมยุตก็กลายเป็นนิกายของราชสำนัก การสร้าง พ.ร.บ.สงฆ์ ฉบับแรก มหานิกายก็ไม่มีส่วนร่วม รัชกาลที่ 5 กลายเป็นประมุขของศาสนจักรคล้ายกับอังกฤษ มหาเถรสมาคมในยุคนั้นมีหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือเพื่อเสนอความเห็นให้พระมหากษัตริย์มีพระราชวินิจฉัย ตอนนั้นยังไม่มีสังฆราชตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 จนกระทั่งปลายรัชกาลที่ 5 จึงค่อยมีสังฆราช แต่ก็อยู่ไม่นาน และต่อมาจึงเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ขึ้นเป็นสังฆราชมาถึงรัชกาลที่ 6”

พระสงฆ์-พ.ร.บ.สงฆ์และการเมือง

กฎหมายสงฆ์ได้สถาปนาศาสนจักรของรัฐขึ้น เป็นการพยายามปฏิรูปศาสนาแบบไทยๆ ที่ไปคนละทางกับในยุโรปที่ตั้งคำถามกับศาสนจักร จนหลุดพ้นจากอำนาจศาสนจักร มีความคิดว่าศาสนาเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล และก็ก่อให้เกิดความคิดเสรีนิยมในยุคหลังๆ ต่อมา

“หน้าที่ของ พ.ร.บ.สงฆ์ คือการสถาปนาศาสนจักรของรัฐขึ้นมา ซึ่งก็คือมหาเถรสมาคม เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐ อุดมการณ์รัฐ...แล้วก็มีผลต่อการผลิตสร้างความคิดทางศีลธรรมของศาสนาพุทธที่ผูกพันกับเรื่องความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี คือเอาศีลธรรมไปผูกพันกับอำนาจ ตัว พ.ร.บ.สงฆ์ จึงมีอิทธิพลมากกว่าที่เราคิด"

“เมื่อคุณมีเสรีภาพที่จะตีความ ที่จะเข้าถึงคำสอนของพระเจ้าของตนเองได้ ไม่ต้องผ่านอำนาจศาสนจักร คุณก็มีเสรีภาพที่จะปกครองตนเองได้ แล้วก็มีนักปรัชญาอีกหลายคนตั้งคำถามกับศาสนาตามมาในยุคสว่าง เข้าสู่ยุคสมัยใหม่จนถึงการแยกศาสนาออกจากรัฐ

“แต่ของเราเข้าสู่ยุคใหม่โดยการตั้งศาสนาจักรของรัฐ เมื่อเป็นแบบนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการสงฆ์คือความไม่ยุติธรรมระหว่างนิกาย เช่น พระฝ่ายปกครองของธรรมยุตสามารถปกครองพระฝ่ายมหานิกายได้ แต่พระมหานิกายปกครองธรรมยุตไม่ได้ นี่ก็สองมาตรฐาน ถามว่าพระมหานิกายมีความรู้สึกมั้ย มี รู้ได้อย่างไร จากปี 2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองก็มีคณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาออกมาบอกว่า ในสมัยก่อนก็อึดอัด แต่พูดไม่ได้ ตอนนี้เป็นประชาธิปไตยแล้วจึงออกมาเคลื่อนไหวให้แก้ แต่ก็ใช้เวลานาน กว่าจะได้กฎหมายออกมาก็ปี 2484 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่กระบวนการก่อนหน้านั้นได้รับการสนับสนุนโดยปรีดี พนมยงค์

“ข้อสังเกตของผมก็คือศาสนจักรของรัฐสถาปนาขึ้นในยุครัชกาลที่ 5 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรก็ไม่ได้ตั้งคำถามว่าเราจะต้องเป็น Secular State หรือเปล่า นอกจากไม่ตั้งคำถามแล้ว ทางฝ่ายคณะราษฎรเองก็พยายามดึงศาสนจักรมาสนับสนุนประชาธิปไตย ดึงเข้ามาสู่การเมืองแบบใหม่ คือศาสนาอยู่กับอุดมการณ์แบบเก่าที่สนับสนุนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 พอเปลี่ยนแปลงการปกครองก็จะเอาศาสนามาสนับสนุนประชาธิปไตยอีก เช่น สร้างวัดประชาธิปไตยหรือวัดพระศรีมหาธาตุในปัจจุบัน สร้างปี 2483 ในคำปรารภการสร้างพูดไว้ชัดเจนว่าพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย พระที่ออกมาเรียกร้องให้แก้กฎหมายสงฆ์ให้เป็นประชาธิปไตยก็บอกว่าพุทธศาสนามีความเป็นประชาธิปไตย

“เราจะเห็นว่าปรากฏการณ์หลัง 2475 มีการเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ ก็มาได้ตอนปี 2484 ที่มีการแบ่งเป็น 3 อำนาจ แต่ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ แล้วในแง่ความคิดในการตีความพุทธศาสนาก็ใช้พระปัญญาชน เช่น ท่านพุทธทาสมาตีความสนับสนุนประชาธิปไตย แม้แต่กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็พยายามดึงแนวคิดของพุทธมาสนับสนุนประชาธิปไตย แต่ถ้ามองไปกว้างกว่านั้น แนวคิดแบบนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะไทย พม่า ศรีลังกา ก็เกิดการตีความพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นประชาธิปไตย ในยุคอาณานิคม

“จะเห็นว่า พ.ร.บ.สงฆ์ เกี่ยวข้องกับการเมืองมาตลอด ปี 2505 ที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา พ.ร.บ.สงฆ์ เนื่องจากมีความขัดแย้งกันอยู่ในสภาสงฆ์ สังฆมนตรี และสมาชิกสังฆสภา ธรรมยุตมีมากกว่ามหานิกาย ทั้งที่ธรรมยุตเป็นพระส่วนน้อย กระนั้นก็ตามการเปลี่ยนให้มาเป็นกฎหมายปี 2505 ก็ยังเป็นความต้องการของธรรมยุตมากกว่ามหานิกาย มหานิกายยังไม่อยากเปลี่ยน แต่จอมพลสฤษดิ์อาศัยความขัดแย้งเป็นเงื่อนไขเพราะต้องการให้ประเทศมีความสามัคคี บ้านเมืองสงบ สถาบันสงฆ์ก็ต้องสามัคคีด้วย มีบันทึกว่าจอมพลสฤษดิ์เห็นพระอภิปรายในสภาเหมือนนักการเมืองอภิปราย แล้วรับไม่ได้ เห็นว่าไม่สำรวจ ก็เลยทำให้กลับเป็นแบบเดิม เอามหาเถรสมาคมกลับมา

“แต่ก็มีการเคลื่อนไหวในยุค 14 ตุลา ที่มีพระฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา พระฝ่ายซ้ายไปเดินขบวนกับกรรมกร ชาวนา นักศึกษา แล้วเขาก็พ่วงการเมืองสงฆ์เข้าไปด้วย ตอนนั้นมีเรื่องพระพิมลธรรมที่มีพระมาชุมนุมกันที่ลานอโศกปี 2517 เรียกร้องให้คืนสมณศักดิ์แก่พระพิมลธรรม ขณะเดียวกันกับที่มีการชุมนุมนั้นก็มีข้อเสนอทางการเมืองด้วยคือให้ยกเลิกระบบมหาเถรสมาคม แล้วให้ปรับกฎหมายคล้ายฉบับปี 2484 มีสภาสงฆ์ แต่ขยายไปว่าต้องมีตัวแทนพระสงฆ์แต่ละจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง

“น่าตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายสงฆ์ฉบับแรก พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาพระสังฆราช ตอนปี 2484 ก็ไม่ได้เปลี่ยน พอปี 2505 ก็ยังเป็นพระมหากษัตริย์ แต่มาเปลี่ยนตอนปี 2535 ในช่วงนั้นสมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นสังฆราช ผมเข้าใจว่าน่าจะมีการต่อรองภายในมหาเถรสมาคมที่พยายามจะหาหลักเกณฑ์ที่ทั้งสองนิกายเชื่อว่าจะยุติธรรมระหว่างนิกาย คือให้มหาเถรสมาคมที่มีทั้งธรรมยุตและมหานิกายร่วมกัน และใช้ระบบอาวุโสเข้ามา ในความคิดของมหาเถรสมาคมยังคิดว่าเป็นพระราชอำนาจอยู่เหมือนเดิม แต่อยากมีส่วนในการกำหนดตัวประมุขสงฆ์

“ผมฟันธงว่าสมเด็จช่วงไม่ได้เป็นพระสังฆราช แม้แต่จะเป็นพระในมหานิกายที่จะเป็นสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ ผมก็ยังไม่แน่ใจ ผมคิดว่าแนวโน้มน่าจะเป็นธรรมยุต”

“ข้อสังเกตประการต่อมาของผมคือในยุคที่เป็นเผด็จการ พ.ร.บ.สงฆ์ เกิดได้ง่าย สมบูรณาญาสิทธิราชคุยกัน 3 คนก็เกิดกฎหมายสงฆ์ แต่ยุคประชาธิปไตยใช้เวลาคุยกันตั้งนาน ตั้งแต่ปี 2476-2484 ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้หมายความว่าคณะสงฆ์ไม่มีความพยายามจะแก้ไขโครงสร้างการปกครอง เคยเสนอมาแล้วในสมัยรัฐบาลทักษิณที่ต้องการปรับโครงสร้างมหาเถรสมาคมเป็นมหาคณิสสร ที่จะให้สมเด็จพระราชาคณะทั้งหลายเป็นที่ปรึกษา แล้วให้พระหนุ่มขึ้นมาอยู่ในโครงสร้างการบริหาร แต่ก็แก้ไม่ได้”

เมื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่ไว้วางใจมหาเถรสมาคม

เห็นได้ว่าการท้าทายอำนาจของมหาเถรสมาคมมีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งแบบที่พอจะเรียกได้ว่าก้าวหน้าและแบบย่ำอยู่กับที่ แต่การท้าทายมหาเถรสมาคมในยุคนี้ค่อนข้างแตกต่างออกไป

“การท้าทายมหาเถรสมาคมในยุคนี้เป็นเรื่องที่อำนาจอนุรักษ์นิยมไม่พอใจที่มหาเถรสมาคมสนับสนุนธรรมกาย ไม่จัดการธรรมกาย อำนาจรัฐบาล อำนาจอนุรักษ์นิยม ใช้ข้ออ้างตามกระแสของชนชั้นกลางในเมือง ผมไม่ได้พูดเหมารวมนะ แต่ดูจากกระแสชนชั้นกลางส่วนหนึ่งไม่พอใจทักษิณ มองว่าทักษิณสัมพันธ์กับธรรมกาย มองธรรมกายในมิติของการเมือง แต่ชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งที่เสพศาสนาที่คิดว่าเป็นศาสนาที่ก้าวหน้าและมีเหตุผล เช่นกลุ่มที่อ่านงานของท่านพุทธทาสหรือเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตโต (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) เท่าที่ผมสัมผัสมา กลุ่มนี้จะไม่ชอบธรรมกาย จะมองว่าธรรมกายเป็นสัทธรรมปฏิรูปหรือการสอนที่ไม่ตรงตามพระไตรปิฎก

“ถ้าบอกว่าแก่นแท้คือไม่ตรงตามพระไตรปิฎก มันมีหลายสำนักมากที่สอนไม่ตรงพระไตรปิฎก แต่ผมคิดว่าประเด็นที่ชาวพุทธชนชั้นกลางที่คิดว่าตนก้าวหน้ารับไม่ได้กับธรรมกายอย่างหนึ่งก็คือ คิดว่าธรรมกายบริโภคนิยม เข้ากันได้กับทุนนิยม สอนว่าทำบุญมาก รวยมาก แต่อันนี้ก็เหมือนหลับตาข้างหนึ่ง เพราะวัดต่างๆ ก็ทำเหมือนกัน เพียงแต่ว่าการตลาดไม่ชัดเจน เงินไม่เยอะเท่ากับธรรมกาย

“แต่เราจะเห็นกระแสต้านธรรมกายจากพุทธอิสระ ไพบูลย์ นิติตะวัน และอดีตลูกศิษย์-นพ.มโน เลาหวณิช นอกจากสอนผิดและเรื่องคดีแล้ว เขาก็ยังมองว่าธรรมกายจะเป็นภัยต่อความมั่นคง ถ้าสมเด็จช่วงเป็นสังฆราช พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยก็จะยึดอำนาจรัฐ ธรรมกายก็จะยึดศาสนจักร อันนี้เขาพูดเอง แล้วก็มีความเชื่อทำนองว่าวัดธรรมกายเทคโอเวอร์วัดต่างๆ ปรากฏการณ์ที่ธรรมกายจัดงานระดมบิณฑบาตรล้านรูป ระดมพระจากวัดต่างๆ มาได้มหาศาล จัดบวชทีแสนรูป มันทำให้กลุ่มที่ไม่ชอบธรรมกายกลัว

“เมื่อมหาเถรสมาคมไม่จัดการธรรมกายตามข้อเรียกร้องของเขา ข้อกล่าวหาต่อมาคือมหาเถรสมาคมถูกธรรมกายซื้อแล้ว ด้วยเหตุนี้อำนาจอนุรักษ์นิยมจึงไม่ไว้ใจมหาเถรสมาคม เกิดเรื่องคดีรถหรู เกิดการสกัดไม่ให้ขึ้นเป็นสังฆราช ไม่เห็นมหาเถรสมาคมอยู่ในสายตา ตอนนี้มหาเถรสมาคมถูกใครท้าทาย คำตอบคือถูกอำนาจอนุรักษ์นิยมท้าทาย กรณีนี้ถ้าไม่มีธรรมกายสนับสนุน ทุกอย่างก็เป็นไปตามปกติ ไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสี ธรรมกายไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเสื้อแดงหรือสนับสนุนทักษิณ ไม่ถูกมองว่าสนับสนุนสมเด็จช่วง ผมก็คิดว่าการแต่งตั้งพระสังฆราชก็จะไม่มีปัญหา จะเป็นไปตามที่เป็นมา

“ผมคิดว่าโครงสร้างของมหาเถรสมาคมก็เหมือนกับระบบราชการ คือถ้ามีคำสั่งออกมา ก็จบ มหาเถรสมาคมก็เหมือนกัน เมื่อแก้กฎหมายออกมาแบบนี้ก็จบแล้ว คือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตรย์ มหาเถรสมาคมก็จะเงียบ ส่วนพระโดยทั่วไปอย่างกลุ่มพระเมธีธรรมาจารย์หรือพระบางกลุ่มที่รู้สึกไม่พอใจ ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ประเมินแล้วว่าเอาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งทางโลก ทางสงฆ์ เพราะถ้าบอกว่าเป็นพระราชอำนาจ ในสังคมไทยก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว

“ผมฟันธงว่าสมเด็จช่วงไม่ได้เป็นพระสังฆราช แม้แต่จะเป็นพระในมหานิกายที่จะเป็นสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ ผมก็ยังไม่แน่ใจ ผมคิดว่าแนวโน้มน่าจะเป็นธรรมยุต”

ความสัมพันธ์รัฐ-ศาสนา คำถามที่ไม่เคยถูกถาม

การแก้ พ.ร.บ.สงฆ์ จึงเป็นเพียงคำตอบของอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่ไม่ใช่คำตอบของสังคมไทย ไม่ใช่คำตอบของอนาคตพุทธศาสนา และเป็นการตั้งโจทย์ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ได้ตั้งคำถามกับปัญหาระดับรากฐานที่สุด สังคมไทยเอาปัญหาเฉพาะหน้ามาเป็นปัญหาหลักในเรื่องการเมืองทางโลกและเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา

"เรื่องพระประพฤติไม่ดีหรือใครจะเป็นผู้นำศาสนาก็ไม่ใช่ปัญหาของรัฐสมัยใหม่ ปัญหาของรัฐสมัยใหม่คือการรักษาเสรีภาพ ความเสมอภาคทางศาสนา เป็นกลางทางศาสนา แต่เราเอาเรื่องที่ไม่ใช่ปัญหาของรัฐมาเป็นปัญหาของรัฐ ถามว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น ก็เพราะรัฐต้องการนำศาสนาและศาสนจักรมาเป็นเครื่องมือของตนเอง และศาสนจักรก็ต้องการใช้รัฐด้วย"

“การเมืองทางโลกเราตั้งโจทย์ว่านักการเมืองคอร์รัปชั่นและปัญหาความมั่นคง เราเอาสองเรื่องนี้มาเป็นโจทย์หลักว่าคือปัญหาของบ้านเมืองเรา แล้วเราก็ใช้วิธีรัฐประหารเข้าไปแก้มาตลอด เป็นวิธีคิดที่ว่ามีอำนาจวิเศษเข้ามาแก้ สังคมถูกกำหนดให้เดินตามโจทย์แบบนี้ แต่ว่ายิ่งทำๆ กลับยิ่งไม่เป็นประชาธิปไตย ความเป็นประชาธิปไตยลดลงๆ เพราะโจทย์หลักที่เราต้องตั้งคำถามคือทำอย่างไรเราจะสร้างโครงสร้างการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ก็คือเขียนเขียนรัฐธรรมนูญและวางกติกาที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ทุกสถาบันต้องถูกปฏิรูปให้อยู่ภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตย โจทย์นี้สังคมไม่ได้ตั้งคำถาม อันที่จริงเราไม่มีเสรีภาพที่จะถามด้วย

“ศาสนาก็เหมือนกัน เราเอาปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ปัญหาการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ปัญหาการสอนผิดพระไตรปิฎก ปัญหาพระประพฤติไม่ดี แล้วพระประพฤติไม่ดีก็มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แล้วเรื่องพระประพฤติไม่ดีหรือใครจะเป็นผู้นำศาสนาก็ไม่ใช่ปัญหาของรัฐสมัยใหม่ ปัญหาของรัฐสมัยใหม่คือการรักษาเสรีภาพ ความเสมอภาคทางศาสนา เป็นกลางทางศาสนา แต่ใครจะสอนอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร ไม่ใช่ปัญหาของรัฐ เป็นเรื่องของพระ เรื่องของชาวพุทธแต่ละสายสำนักจะจัดการกันเอง แต่เราเอาเรื่องที่ไม่ใช่ปัญหาของรัฐมาเป็นปัญหาของรัฐ ถามว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น ก็เพราะรัฐต้องการนำศาสนาและศาสนจักรมาเป็นเครื่องมือของตนเอง และศาสนจักรก็ต้องการใช้รัฐด้วย

“ถ้าถามผมว่า ทำไมเราจึงไม่เคยตั้งคำถามระดับรากฐานแบบนี้ ผมคิดว่าถ้าสืบสาวไปจริงๆ มันซับซ้อนนะ ถ้าในตะวันตก เขาเป็น Secular State ได้ ส่วนหนึ่งเพราะศาสนาในโลกตะวันตกไม่ได้เกิดในตะวันตก แต่นำเข้าไปจากที่อื่น และเมื่อนำเข้าไปก็ไปเถียงกับปรัชญาตลอด ภูมิปัญญาของคริสต์ไปปะทะกับปรัชญากรีก แล้วในยุคกลางนักปรัชญาคริสต์ก็เอาปรัชญาของอริสโตเติ้ลมาอธิบาย เมื่อมันมีเชื้อ มีความคิดทางปรัชญาอยู่แล้ว มีคำถามมากมาย หาเหตุผลต่างๆ มาอธิบายศาสนา มันจึงเกิดคนอย่างมาร์ติน ลูเธอร์ หรือคนอื่นๆ ที่ตั้งคำถามกับอำนาจ แล้วก็เกิดการปฏิรูปศาสนาจากข้างใน

“ยุคสว่างก็เกิดปรัชญาขึ้นมาตั้งคำถามกับศาสนาถึงขนาดที่เกิด Secular Morality คือปฏิเสธศีลธรรมแบบศาสนาไปเลย พอเกิดศีลธรรมแบบนี้ขึ้นมาก็เกิดความคิดว่ารัฐสมัยใหม่ต้องเป็นกลางทางคุณค่า ในทัศนะของค้านท์หมายความว่ารัฐมีหน้าที่รักษาสิทธิของปัจเจกบุคคลที่จะมีอิสระในการเลือกคุณค่าให้กับตัวเอง แปลว่าเลือกนับถือศาสนา เลือกปรัชญาชีวิต หรือเลือกหนทางชีวิตของตนเอง โดยที่รัฐไม่ต้องปลูกฝังศาสนาหรือความเชื่อใดในเรื่องศีลธรรม แต่ให้ประชาชนได้เรียนรู้หลากหลายและให้เขาเลือกเอง”

ศาสนาไม่ใช่หลักการสากล

หรือเพราะสังคมไทยไม่เคยมีความขัดแย้งทางศาสนาขนาดใหญ่ ชนิดที่ฆ่ากันตายเป็นเบือดังที่คาทอลิกและโปรเตสแตนท์เข่นฆ่ากัน?

“ก็มีคำอธิบายแบบนี้มากเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าปัจจัยการเปลี่ยนของเขาไม่ใช่แค่เรื่องความรุนแรงอย่างเดียว เพราะส่วนหนึ่งผมคิดว่าคือความคิดปรัชญาที่เปลี่ยนอย่างถึงราก ขนาดปฏิเสธว่าศาสนาไม่ถือเป็นศีลธรรม เป็นความเชื่อเฉพาะ ศีลธรรมต้องอธิบายได้ว่าเป็นหลักการสากล เป็นเหตุเป็นผล เช่น หลักสิทธิมนุษยชนเป็นศีลธรรมสมัยใหม่ หลักการที่เป็นศีลธรรมต้องอธิบายได้ว่ามันเคารพความเสมอภาค เสรีภาพ ความเป็นคนเท่ากัน หลักการนั้นจึงจะเป็นศีลธรรมได้

“ศาสนาก็ต้องตีความตัวเองว่าหลักของตนมีอะไรที่เป็นสากลแบบนั้น อะไรที่ขัดกับหลักสากล ก็ต้องบอกว่าคุณมีสิทธิที่จะเชื่อ แต่ไม่สามารถเอาความเชื่อนั้นมาออกเป็นกฎหมายบังคับหรือใช้อำนาจรัฐในการรักษา ปกป้องความเชื่อของคุณ ของเราไม่รุนแรงเหมือนในยุโรป แต่ของเรากดขี่หรือเปล่า ผมว่าก็กดขี่มาตลอด เรื่องไพร่ ทาส เจ้าขุนมูลนาย คำสอนก็สนับสนุนมาตลอด และเราก็เคยฆ่า เคยขัดแย้งมาในประวัติศาสตร์ แต่ทำไมไม่เปลี่ยน

“ถ้าเปรียบเทียบพุทธด้วยกัน พุทธมหายานที่เข้าไปในจีนก็ไปปะทะกับเต๋า ขงจื๊อ และปรัชญาอื่นๆ ในจีน เข้าไปที่ญี่ปุ่นก็ปะทะกับชินโต พุทธจึงไม่ได้ใหญ่ที่สุด แต่ไปประยุกต์กับปรัชญาที่เสมอกัน เท่ากัน แต่เข้ามาที่นี่ มีแต่ระดับต่ำต้อยกว่าพุทธ ผีถูกทำให้ต่ำกว่าพุทธ พราหมณ์ก็ไม่แข็ง พระกินรวบหมด พระทำหน้าที่ทั้งเป็นพราหมณ์ เป็นผี เป็นพุทธ ยกพุทธไว้เหนือทุกอย่าง ในแง่ภูมิปัญญาของเรา เราไม่ได้ปะทะขัดแย้งกับภูมิปัญญาที่มีความหนักแน่นระดับเดียวกัน แต่พอตะวันตกเข้ามาในยุคปลายรัชกาลที่ 3 ที่ 4 เราก็ปะทะบนพื้นฐานบนที่ว่า เขาไม่ใช่ของเรา เราเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นประชาธิปไตย เป็นนู่นเป็นนี่ที่ดีกว่าเขา

“การที่ศาสนากับรัฐไม่แยกจากกัน เป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยและต่อความงอกงามของพุทธศาสนาในมิติด้านจิตวิญญาณ มิติด้านปัจเจกบุคคล เพราะศาสนจักรเป็นกลไกของอุดมการณ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาตลอดและก็จะเป็นตลอดไปถ้ายังไม่แยกจากรัฐ ในแง่ความคิดทางสังคมของศาสนาก็จะถูกสร้างขึ้นมาไม่พ้นจากกรอบอนุรักษ์นิยม”

“ในตะวันตกถกเถียงกันมากว่า เวลาเราเถียงเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม เรื่องสิทธิ ความยุติธรรม การออกกฎหมาย มันมีนักปรัชญาที่เสนอว่าอย่าเอาความเชื่อศาสนามายุ่งอย่างจอห์น รอลส์ แต่บางฝ่ายก็บอกว่าควรจะเอามา เราจะตัดศาสนาไปไม่ได้ ก็เลยนำไปสู่คำอธิบายของนักปรัชญาบางคนที่บอกว่า เอาศาสนาเข้ามาถกเถียงเรื่องสาธารณะได้ แต่ต้องเอาส่วนที่เป็นหลักการสากลหรือส่วนที่สนับสนุนหลักการสากล ถ้าเป็นฮาเบอร์มาสก็จะพูดชัดว่าหลักการสากลต้องสำคัญกว่า แต่เราก็ไม่ควรจะตัดความเชื่อทางศาสนาออกไปโดยสิ้นเชิง ความเชื่อทางศาสนายังมีประโยชน์ต่อสังคมอยู่ แต่ว่าต้องสำคัญรองลงมาจากหลักการสากล แต่ของเรา เราเอาศาสนามาเหนือประชาธิปไตย เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง”

Secular State

“ดังนั้น พ.ร.บ.สงฆ์ต้องยกเลิกอยู่แล้ว ถ้าจะแยกศาสนาออกจากรัฐ ถ้าจะไปให้สุดจริงๆ ต้องทำให้รัฐไทยเป็น Secular State โดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า รัฐไทยเป็น Secular State เป็นรัฐโลกวิสัย รัฐมีหน้าที่สนับสนุนเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา ให้องค์กรศาสนาต่างๆ เป็นเอกชน อยู่ภายใต้การตรวจสอบทรัพย์สินต่างๆ มีเสรีภาพในการเผยแพร่ศาสนา รัฐจะเข้าไปยุ่งเมื่อทำผิดกฎหมายเท่านั้น แล้วก็ให้สิทธิทางการเมืองกับพระเหมือนกับประชาชนทั่วไป เช่นมีสิทธิเลือกตั้ง แล้วถ้าพระมีรายได้ที่เข้าเกณฑ์เสียภาษีก็ต้องเสียภาษีเหมือนนักบวชในศาสนาอื่นๆ ถ้าจะเก็บภาษีมาบำรุงศาสนาก็อาจจะเก็บแบบเยอรมันก็ได้ คือเก็บจากคนที่นับถือศาสนานั้นๆ คนไม่มีศาสนาก็ไม่ต้องเสีย

“การแยกศาสนาออกจากรัฐต้องพูดพร้อมกับกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในเมืองไทย คุณพูดถึงกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ ถ้าคุณไม่พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสถาบันต่างๆ ในสังคม ว่าจะมีอำนาจแค่ไหน ตรวจสอบได้ยังไง แล้วสถาบันศาสนาควรจะมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหนที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย

“การที่ศาสนากับรัฐไม่แยกจากกัน เป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยและต่อความงอกงามของพุทธศาสนาในมิติด้านจิตวิญญาณ มิติด้านปัจเจกบุคคล เพราะศาสนจักรเป็นกลไกของอุดมการณ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาตลอดและก็จะเป็นตลอดไปถ้ายังไม่แยกจากรัฐ ในแง่ความคิดทางสังคมของศาสนาก็จะถูกสร้างขึ้นมาไม่พ้นจากกรอบอนุรักษ์นิยม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net