ประยุทธ์แจงตั้ง กก.ยุทธศาสตร์ปฏิรูป-ปรองดอง ขออย่าสนใจแต่เอาคนคุกออก-คนต่างปท.กลับ

ประยุทธ์ชี้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูป ปรองดอง เพื่อไม่ให้คนไทยทะเลาะกันอีก ขออย่ามัวสนใจแต่จะเอาคนติดคุกออกหรือให้คนที่อยู่ต่างประเทศกลับ 'นพดล' ชี้รัฐบาลควรทำตัวเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเอง
 
10 ม.ค. 2560 เมื่อเวลา 13.45 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึง แนวคิดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองว่า การปฏิรูปหมายคิดใหม่ทำใหม่ วันนี้รัฐบาลทำงานตามแผนงาน บูรณาการ ปฏิรูประบบราชการ และระบบงบประมาณแก้ไขปัญหาครบวงจร เดินหน้าตามนโยบาย การปฏิรูปของรัฐบาลมีความคืบหน้ามาก โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูป ปรองดอง โดยนำงานที่ทำแล้วทั้งหมดมาดูเพื่อสร้างให้เกิดความชัดเจน ส่วนที่ยังทำไม่ได้เนื่องจากติดกฎหมายก็ต้องเร่งรัด หากมีความจำเป็นก็ต้องใช้มาตรา 44 ดำเนินการ นี่คือการปฏิรูประยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2560 เพราะไม่ได้อยู่ถึง 20 ปี แต่จะทำให้เกิดความชัดเจน ให้ทุกอย่างอยู่ในแผนแม่บท นี่คือการส่งต่อให้แก่รัฐบาลใหม่
 
สำหรับการปฏิรูปที่รัฐบาลทำเสร็จแล้ว เช่น การแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือ ไอยูยู ซึ่งต้องเข้าใจว่าเป็นปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข และการแก้ไขปัญหาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งสำนักการบินพลเรือนขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ยังปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม มีกองทุนยุติธรรม ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการออกกฎหมายแล้วกว่า 180 ฉบับ และกำลังพิจารณาอีกประมาณกว่า 200 ฉบับ ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาอีกประมาณ 200 ฉบับ ซึ่งรัฐบาลยังอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยลดขั้นตอนการลงทุน จัดตั้งบริษัท มีพระราชบัญญัติอำนายความสะดวก พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร รวมถึงจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมเพื่อรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งมีจำนวนกว่าแปดล้านเรื่อง และสามารถแก้ไขปัญหาได้แล้วประมาณ 90%
 
ส่วนเรื่องการปรองดอง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขออย่าเข้าใจว่าการปรองดองต้องทำด้วยการพูดคุยกับนักโทษ หรือผู้มีความผิดเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญคือทำอย่างไรเพื่อไม่ให้คนไทยทะเลาะกันอีก ถามว่าที่ผ่านมาทะเลาะกันเพราะสาเหตุใด ทำไมคนไทยถึงปฏิสัมพันธ์กันไม่ได้ เพราะคนอาศัยอยู่บ้านเดียวกันยังคุย หรือดูโทรทัศน์ช่องเดียวกันไม่ได้ อย่ามัวสนใจแต่ว่าจะเอาคนติดคุกออกมา หรือให้คนที่อยู่ต่างประเทศกลับมาหรือไม่
 
“เอาคนที่อยู่ในประเทศวันนี้ก่อน เดือนร้อนมากไหม เทียบกับคนที่อยู่ต่างประเทศใครเดือนร้อนกว่ากัน แล้วเดือดร้อนเพราะอะไร คิดให้เป็น ต้องปฏิรูปทางความคิดด้วย อย่าหาเหตุจนกระทั่งทำอะไรไม่ได้เลย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
อำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีรัฐบาลเตรียมตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง ขับเคลื่อนการปรองดองว่า หากรัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องปรองดองไม่ต้องตั้งกรรมการอะไรให้ยุ่งยาก เพราะถ้าให้ฝ่ายต่างๆมาคุยกัน กลัวว่าจะมานั่งเถียงกันเปล่าๆ ถ้าจะเอาจริงเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 วางหลักการเพื่อให้เกิดการปรองดองได้เลย เช่น การยกเลิกความผิดฝ่ายการเมือง ที่ออกมาก่อความวุ่นวายในช่วงที่ผ่านมา แล้วให้มาเริ่มกันใหม่ และไม่ต้องกลัวว่าหากทำเช่นนี้แล้ว จะมีความผิดตามมาในภายหลัง เพราะในมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ได้คุ้มครองการกระทำต่างๆ ของ คสช.ไว้แล้ว
 
นพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการที่รัฐบาลจะตั้งกรรมการปรองดองว่า ส่วนตัวเห็นว่าการปรองดองในชาติเป็นเรื่องที่ควรทำนานแล้ว แต่ที่ผ่านมายังขาดรูปธรรมที่จับต้องได้ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่อยากเห็นและจะได้ประโยชน์จากความปรองดอง ตนเคยเสนอแนวคิดเรื่องปรองดองซัมมิต โดยให้ผู้มีส่วนได้เสียสำคัญต่างๆ และคู่ขัดแย้งมาร่วมในกระบวนการเปิดอกคุยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อหาแนวทางที่เป็นรูปธรรม แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อรัฐบาลคิดจะเริ่มทำ ก็ขอให้ทำจริง และให้เกิดผลจริง และต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก ถ้าทำจริงและทำถูก คงได้รับการสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ตนมีคำถามฝากถึงรัฐบาลในเรื่องนี้ว่า 1. 1. มีการรัฐประหารไปร่วมสามปีแล้ว ทำไมเพิ่งมาเริ่มทำเรื่องปรองดองทั้งๆ ที่เป็นข้ออ้างในการรัฐประหารในปี 2557 หลายฝ่ายรวมทั้งพรรคเพื่อไทยเรียกร้องเรื่องการปรองดองมาต่อเนื่อง แต่ไม่มีการตอบสนอง รัฐบาลจริงจังแค่ไหนในเรื่องนี้ เพราะเวลาตามโรดแม็ปเหลือน้อยแล้ว
 
นพดล กล่าวต่อว่า 2. รัฐบาลเข้าใจเรื่องปรองดองอย่างไร ทำอย่างไรจะให้คู่ขัดแย้งเข้าใจความหมายของคำว่าปรองดองให้ตรงกัน 3. สาเหตุของความไม่ปรองดองเกิดจากอะไร คนในสังคมเข้าใจตรงกันหรือยัง 4. การที่รัฐบาลจะตั้งกรรมการปรองดองนั้น รัฐบาลควรทำตัวเป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือกรรมการในการสร้างความปรองดองและไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเองใช่หรือไม่ ที่ผ่านมารัฐบาลยึดแนวทางนี้หรือไม่ และ 5. การเลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน การไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน การไม่เคารพกฎหมายหรือหลักนิติธรรม ความแตกแยกทางการเมืองมีอยู่ในสังคมไทยหรือไม่ และจะแก้ปัญหานี้อย่างไรเพื่อให้เกิดความปรองดอง
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท