Skip to main content
sharethis

พยานบุคคลผู้สัมภาษณ์เหยื่อทรมานเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี ให้ปากคำเป็นพยาน ในคดี กอรมน.ร้องทุกข์ดำเนินคดี 3 นักสิทธิฯข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีรายงานสถานการณ์การทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ สมชาย หอมลออ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ 

13 ม.ค. 2560 รายงานข่าวจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา เวลา 14.00 น. ทนายความของ สมชาย หอมลออ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ หรือ 3 นักสิทธิมนุษยชน พร้อมพยานบุคคลและพยานเอกสาร เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี คดีที่ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องจากการเปิดเผยรายงานการทรมานในจังหวัดชายแดนใต้

รายงานข่าวจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่าในวันดังกล่าวมีพยานบุคคลจำนวน 3 คน ซึ่งเป็นทีมงานจากองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานีและเป็นผู้สัมภาษณ์บุคคลที่ให้ข้อมูลว่าถูกกระทำทรมานระหว่างการถูกควบคุมตัว เข้าให้ปากคำเป็นพยานในคดี โดยสรุปความได้ว่า ทั้งสามเป็นผู้สัมภาษณ์และบันทึกตามคำบอกเล่าของบุคคลที่ให้ข้อมูลว่าถูกกระทำทรมานจำนวน 3 คน ที่ปรากฏอยู่ในรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2557-2558  โดยก่อนเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้สัมภาษณ์ได้ผ่านการอบรมการจัดเก็บข้อมูลและการบันทึกข้อมูลเรื่องการร้องเรียนการทรมาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดเก็บข้อมูลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการผ่านเหตุการณ์เลวร้ายเป็นวิทยากรอบรมให้และผู้สัมภาษณ์ทั้งสามเชื่อว่าผู้ให้ข้อมูลเรื่องถูกทรมานพูดความจริง

ในการอบรมฯวิทยากรได้ให้แบบฟอร์มเอกสารในการเก็บบันทึกข้อมูลเพื่อใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  แบบประเมินผลกระทบฯ (Proxy)  เป็นแบบฟอร์มที่จัดทำโดย American Bar Association Rule of Law Initiative (ABAROLI) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมและหลักนิติธรรม   และองค์กร Physician for Human rights ที่ทำงานเรื่องการรักษาเยียวยาผู้มีอาการซึมเศร้ารุนแรงและอาการผิดปกติจากความเครียดหลังได้รับการบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบจากการถูกทรมาน (PTSD)  ทั้งสององค์กร เป็นผู้ออกแบบจัดทำจากมาตรฐานสากลขององค์กรสหประชาชาติที่ชื่อว่า Istanbul Protocol ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับองค์กรทางกฎหมายและแพทย์ที่มีประสบการณ์ด้านการเยียวยาผู้ถูกทรมานอีกหลายองค์กร

ผู้สัมภาษณ์ทั้งสามทำงานกับองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานีมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและลงพื้นที่เก็บข้อมูลข้อเท็จจริงจากผู้ร้องเรียนว่าตนถูกซ้อมทรมาน ตลอดจนการประสานงานให้เกิดการเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกทรมาน โดยองค์กรจะส่งแบบประเมินผลกระทบฯ นั้นให้กับผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ ดำเนินการช่วยเหลือรักษาเยียวยาทางร่างกายและจิตใจ ตลอดจนประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป 

พยานผู้สัมภาษณ์คนหนึ่งได้ให้ถ้อยคำในกรณีที่ตนและเพื่อนกว่า 7 คน เคยควบคุมตัวไป และตนกับเพื่อนอีกหนึ่งคนที่ถูกซ้อมทรมานได้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลปกครอง คดีถึงที่สุดในชั้นศาลปกครองสูงสุดแล้ว โดยศาลเชื่อว่าตนกับเพื่อนถูกเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวซ้อมทรมานจริงจึงพิพากษาให้ตนกับเพื่อนชนะคดี พิพากษาให้หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายหลายแสนบาท

นอกจากนี้ ทนายความผู้ต้องหาทั้งสามได้ยื่นพยานเอกสารกว่า 10 รายการ และขอเพิ่มเติมรายชื่อพยานบุคคลจำนวน 2 คน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยบุคคลทั้งสองมีความสำคัญที่จะสามารถยืนยันข้อเท็จจริงและปัญหาการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนในคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net