บทบาทของครูในปรัชญาการศึกษาของเซ็นต์ออกัสติน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อเราได้ยินคำว่า “สมัยกลาง” เรามักจะนึกถึงความมืดมิด เนื่องจากเป็นยุคที่เรียกขานกันว่า “ยุคมืด” ซึ่งหมายถึงยุคสมัยที่ศิลปวิทยาการคืบช้า เพราะอิทธิพลของคริสต์ศาสนาแผ่คลุมทั่วยุโรป แต่อันที่จริงแล้วท่ามกลางความมืดนั้นก็มีแสงสว่าง เหมือนดวงดาวส่องสกาวฟากฟ้าราตรี

หากเอ่ยถึงแนวคิดทางการศึกษาของนักคิดยุคกลาง เราก็อาจคิดไปว่าคงเป็นการบังคับกะเกณฑ์ให้อยู่ในร่องในรอย แต่เมื่ออ่านงานของเซ็นต์ออกัสติน ก็จะพบว่า สิ่งที่เราคะนึงคะเนเอาตามความคุ้นเคยนั้น อาจจะไม่จริงเสมอไป ดังที่เรามักจะเชื่อกันว่าคนสมัยกลางเชื่อว่าโลกแบน แต่หากไปอ่านงาน Summa Theologiae ของเซ็นต์อะควีนาสก็จะพบว่า ไม่เป็นความจริง

เราอาจกล่าวได้ว่าเซ็นต์ออกัสตินเป็นนักปรัชญาสมัยกลางคนแรก ยุคกลางกินเวลายาวนานนับพันปี เริ่มจากศตวรรษสุดท้ายของอาณาจักรโรมันไปจนถึงสมัยสงครามศาสนาในยุโรป หรืออาจจะจัดได้คร่าวๆ ว่า เริ่มจากสมัยออกัสตินเรื่อยไปจนถึงเรอเน เดคาร์ตส์ ส่งอิทธิพลกินช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดของยุโรป แต่การแบ่งยุคสมัยก็ชวนปวดเศียรเวียนเกล้า เพราะเอาเข้าจริงๆ ออกัสตินที่เรานับเป็นนักปรัชญาสมัยกลางคนแรกนั้น ก็หาได้เป็นคนสมัยกลาง และไม่ใช่ชาวยุโรป หากแต่เป็นพลเมืองโรมัน เกิดและโตที่แอฟริกาเหนือ และเรียนวาทศิลป์ที่คาร์เธจ ต่อมาหันมานับถือศาสนาคริสต์ และกลายเป็นบิชอปแห่งฮิปโป

หากหันไปพิจารณาอีกด้าน นักปรัชญาที่ไม่ใช่นักปรัชญาสมัยกลางอย่างฟรานซิส เบคอน (1521-1626) โทมัส ฮอบส์ (1588-1679) และเรอเน เดคาร์ตส์ (1596-1650) ก็ล้วนแต่มีชีวิตอยู่ใกล้กับสมัยนักปรัชญาและนักเทววิทยาอย่างเปโดร ดา ฟอนเซกา (1528-99) ฟรานซิสโก ซัวเรส (1548-1617) และจอห์นแห่งเซ็นต์โทมัส (1589-1644) ซึ่งมีเกณฑ์คำสอนและวิธีวิทยาจัดอยู่ในสมัยกลาง แต่กระนั้นเราก็ยังมีเกณฑ์ที่ใช้จำแนกเกณฑ์ คำสอน วิธีวิทยา ว่าแบบใดเป็นวิธีคิดแบบสมัยกลางได้ นั่นคือ ความตึงแย้งระหว่างศรัทธากับเหตุผลนั่นเอง (สนใจเพิ่มเติมโปรดอ่านได้ในคำนำหนังสือ Medieval Philosophy: Essential Reading with Commentary ที่ Gyula Klima เป็นบรรณาธิการ)

ทีนี้ขอให้เรากลับมาที่ประเด็นปรัชญาการศึกษาของเซ็นต์ออกัสติน ในหนังสือ คำสารภาพ (The Confessions) (ซึ่งเป็นหนังสือที่ออสการ์ ไวด์ นักประพันธ์นามอุโฆษชาวไอริชบอกว่า เป็นหนังสือเล่มเดียวของนักคิดศาสนาคริสต์ที่ควรค่าแก่การอ่าน) ออกัสตินได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ ครูควรส่งเสริมให้กำลังใจศิษย์ ไม่เน้นการลงโทษ และมีความพยายามอันเปี่ยมด้วยความรักในอันที่จะนำพาศิษย์ไปสู่ครรลองที่เหมาะควร ใน คำสารภาพ เล่ม 1 ออกัสตินกล่าวถึงประสบการณ์การเรียนภาษากรีก และการเพิ่มพูนความรู้ภาษาละติน ซึ่งเป็นภาษาแม่ของเขาในโรงเรียน เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์อันขมขื่นเพราะต้องถูกบังคับเคี่ยวเข็ญ ต่างจากการเรียนรู้เมื่อวัยเยาว์ที่ไม่มีการลงโทษ ผู้คนก็เล่นมุกตลกกันได้ และท่านมักจะได้เล่นสนุกกับเพื่อนๆ อันที่จริงตัวท่านเองก็ดื่มด่ำกับบทกวีของเวอร์จิลเป็นอันมาก ออกัสตินจึงกล่าวว่า “ความอยากรู้อยากเห็นที่เป็นไปอย่างอิสระย่อมมีพลังในการกระตุ้นการเรียนรู้มากกว่าการบังคับกะเกณฑ์” (Confessions I.xiv.23)

ในหนังสือ De catechizandis rudibus ซึ่งเป็นคำสอนเชิงปฏิบัติด้านศาสนกิจ ออกัสตินเห็นว่าครูมักจะมีช่องว่างระหว่างสิ่งที่อยู่ในใจกับสิ่งที่แสดงออกมา และย้ำว่าพระเจ้าทรงรักผู้ให้ที่เปี่ยมด้วยความรัก ครูผู้สอนควรมีหน้าที่พูดให้กำลังใจศิษย์ ทั้งนี้เพราะคำสอนสามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจผู้เรียนได้ ออกัสตินเห็นว่าครูไม่ควรเปิดโปงความไม่ซื่อสัตย์หรือข้อบกพร่องของศิษย์ แต่ควรทำความเข้าใจสภาวะของผู้เรียนว่าเป็นอย่างไร แล้วสอนไปจนถึงระดับที่ลึกซึ้งกินใจ เพื่อนำไปสู่แนวทางที่ถูกต้อง ดังคำกล่าวของออกัสตินที่ว่า “ได้ยินอาจนำพาให้เชื่อ การเชื่ออาจนำพาความหวัง และความหวังอาจนำพามาซึ่งความรัก” (hearing may believing, believing may hope, and hoping may love) (IV.8)

ยิ่งกว่านั้น ครูไม่ควรพูดราวกับศิษย์ไม่รู้เรื่องอะไร แต่ต้องสำนึกว่าศิษย์รู้เรื่องนั้นแล้ว ครูเพียงแต่เป็นผู้ทำให้ศิษย์จำหรือรำลึกสิ่งที่ตนเคยรู้ได้ ชวนให้นึกถึงแนวคิดเรื่องการรำลึกได้ (recollection) ของเพลโต นอกจากนี้ ออกัสตินเห็นว่าครูต้องนำพาศิษย์ไปสู่เส้นทางแห่งความรัก การเชื่อความสัตย์จริงและคบหากัลยาณมิตรผู้มีปัญญา ออกัสตินเห็นว่าครูต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับศิษย์ จึงจะสามารถทำให้ของที่ว่าดูเก่ากลายเป็นสิ่งใหม่ได้ ผู้เรียนจะต้องสามารถแสดงออกได้โดยปราศจากความกลัว และผู้สอนเองก็ต้องอดทน (สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้จากข้อเขียนของ P.J. Fitzpatrick ใน Fifty Major Thinkers on Education : From Confucius to Dewey)

มองมาที่บ้านเราในปัจจุบัน ครูบาอาจารย์จำนวนไม่น้อยไม่กระมิดกระเมี้ยนที่จะปรามาสว่าเด็กโง่ และคอยแต่จะยัดเยียดความคิดของตนลงไปในสมองผู้เรียน

จนอดรู้สึกไม่ได้ว่าเป็นยุคกลางยิ่งกว่ายุคกลางเสียอีก

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook Kongkrit Traiyawong

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท