Skip to main content
sharethis

16 ม.ค. 2560 กลุ่มนักกฎหมาย ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องคืนสิทธิปล่อยตัวระหว่างดำเนินคดีแก่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาโดยทันที เนื่องจากการควบคุมตัวไว้ไม่ชอบด้วยเหตุผลตามหลักการทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ชี้หัวใจของกฎหมายอาญายึดอยู่บนหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะกรณีดังกล่าวกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ และก่อผลกระทบด้านการศึกษาและการประกอบวิชาชีพ แก่ผู้ถูกควบคุมตัวอย่างร้ายแรงและส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อกระบวนยุติธรรมของสังคมโดยรวม โดยการเยียวยาภายหลังจากการพิจารณาคดีของศาลไม่อาจจะคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้อย่างแท้จริง หากพิสูจน์ได้ว่าจตุภัทร์ไม่ใช่ผู้กระทำผิดตามกฎหมาย 

 

เผยแพร่ 16 มกราคม 2560
แถลงการณ์
คืนสิทธิปล่อยตัวระหว่างดำเนินคดีแก่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาโดยทันที
เนื่องจากการควบคุมตัวไว้ไม่ชอบด้วยเหตุผลตามหลักการทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชน

สืบเนื่องจากตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนสัญญาประกันตัว นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากการแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเฟซบุ๊กของสำนักข่าวบีบีซีไทย ในเฟซบุ๊กของตนเอง โดยศาลให้เหตุผลในการเพิกถอนการประกันตัวว่า ยังไม่ยอมลบข้อความที่ถูกกล่าวหา และมีการโพสรูปภาพแสดงท่าทางในเชิงสัญลักษณ์ที่ศาลเห็นว่าเป็นการเย้ยหยันอำนาจรัฐ ซึ่งนับตั้งแต่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์ และฎีกาตามลำดับ แต่ศาลสูงได้ยืนตามคำสั่งของศาลจังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ ทนายความยังได้มีการยื่นขอประกันตัวใหม่ไปแล้วถึง 5 ครั้ง แต่ศาลก็ยังไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์ โดยอ้างว่า ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขัง ครั้งที่ 4 โดยอ้างว่า การสอบสวนพยานบุคคลยังไม่เสร็จสิ้น และศาลขอนแก่นได้อนุมัติฝากขัง เป็นผลให้จตุภัทร์ต้องถูกคุมขังต่อไปอีกจนถึงวันที่ 20 มกราคม 2560 ซึ่งจะทำให้เขาไม่ได้ออกมาสอบวิชาสุดท้าย ที่จะมีการสอบในวันที่ 17 มกราคม 2560 ที่กำลังจะถึงนี้

องค์กรและผู้มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ มีความเห็นต่อการเพิกถอนการประกันตัว และการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์ ดังนี้

1.       การเพิกถอนสัญญาประกันตัวและการยกคำร้องของปล่อยตัวชั่วคราวของจตุภัทร์ ขัดต่อหลักสิทธิที่จะได้รับการดำเนินคดีที่เป็นธรรม โดยเฉพาะหลักการที่ได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวระหว่างดำเนินคดี และสิทธิที่จะสามารถต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ได้รับรองไว้ โดยประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีย่อมมีพันธกรณีที่ต้องเคารพและปฏิบัติตาม[1] และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 4 และฉบับที่เพิ่งผ่านประชามติไป ก็ได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ด้วยเช่นกัน[2]

2.       การควบคุมตัวไว้ระหว่างดำเนินคดี เป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การคุมขังบุคคลระหว่างสอบสวนหรือระหว่างการพิจารณาจึงเป็นวิธีสุดท้าย ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดไว้ชัดแจ้งว่า จะกระทำได้เฉพาะในกรณีที่ไม่มีวิธีการอื่นที่เหมาะสมกว่ามาใช้แล้ว และต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยเหตุผล โดยต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริง ความน่าเชื่อถือของหลักประกัน พฤติกรรมหลบหนี หรือการยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปจะก่อเหตุร้ายอีกหรือไม่เท่านั้น[3] ซึ่งการแสดงความเห็นทางสังคมการเมืองหรือพฤติกรรมเย้ยหยันอำนาจรัฐ ไม่ใช่เหตุตามกฎหมายซึ่งจะใช้ในการควบคุมตัวได้ ด้วยเหตุนี้ ในการพิจารณาว่าจะควบคุมตัวไว้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและเคร่งครัดถึงเหตุจำเป็นในการควบคุมตัวดังกล่าว

3.       บทบาทตุลาการจำเป็นต้องดำรงความเป็นอิสระและเป็นกลาง ไม่ว่าประเทศจะดำรงอยู่ในระบอบการปกครองใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในภาวะที่บ้านเมืองไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย การใช้ดุลพินิจบนฐานข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายย่อมทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่ายังมีองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลเจ้าหน้าที่รัฐ

ดังนั้น องค์กรและผู้มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอให้ศาลทบทวนการใช้ดุลพินิจในการปล่อยตัวชั่วคราว นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อีกครั้งหนึ่ง โดยพิจารณาบนฐานข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายถึงความจำเป็นในการควบคุมตัวนายจตุภัทร์ไว้ในระหว่างการดำเนินคดีอย่างรอบคอบ เพราะหัวใจของกฎหมายอาญายึดอยู่บนหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะกรณีดังกล่าวกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ และก่อผลกระทบด้านการศึกษาและการประกอบวิชาชีพ แก่ผู้ถูกควบคุมตัวอย่างร้ายแรงและส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อกระบวนยุติธรรมของสังคมโดยรวม โดยการเยียวยาภายหลังจากการพิจารณาคดีของศาลไม่อาจจะคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้อย่างแท้จริง หากพิสูจน์ได้ว่าจตุภัทร์ไม่ใช่ผู้กระทำผิดตามกฎหมาย

ด้วยความเคารพในสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
โครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
สมชาย หอมลออ ทนายความ
ไพโรจน์ พลเพชร นักกฎหมาย
ผศ.สุรัสวดี หุ่นพยนต์
สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ
สุรชัย ตรงงาม  ทนายความ
ส.รัตนมณี  พลกล้า ทนายความ
เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ทนายความ
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นักสิทธิมนุษยชน
วัฒนา นาคประดิฐษ์
จุลศักดิ์ แก้วกาญจน์ นักกฎหมาย
คอรีเยาะ  มานุแช   ทนายความ
ณัฐาศิริ  เบิร์กแมน   ทนายความ
ผรัณดา  ปานแก้ว   ทนายความ
อนุชา วินทะไชย นักสิทธิมนุษยชน
ปรีดา ทองชุมนุม ทนายความ
วรวุธ ตามี่ นักพัฒนา
จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความ
จิรารัตน์ มูลศิริ ทนายความ
อัมรินทร์ สายจันทร์  นักกฎหมาย
สัญญา เอียดจงดี ทนายความ
สนธยา โคตรปัญญา  นักกฎหมาย
พนม บุตะเขียว ทนายความ
วีรวัฒน์ อบโอ ทนายความ
กฤษดา ขุนณรงค์  ทนายความ
พิชญุตา ธนพิทชัย นักกฎหมาย
อิศสิยาภรณ์ อินทพันธุ์ นักกฎหมาย
ธัญญารัตน์ เพ็งลาภ นักกฎหมาย
ทิตศาสตร์ สุดแสน นักกฎหมาย
เฉลิมศรี ประเสริฐศรี นักกฎหมาย
มนทนา ดวงประภา ทนายความ
อำพร สังข์ทอง ทนายความ
พิฆเนศ ประวัง นักกฎหมาย
ธีรพล คุ้มทรัพย์ ทนายความ
นรเศรษฐ์ นาหนองตูม นักกฎหมาย
ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร
ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ นักสิทธิมนุษยชน
วราภรณ์  อุทัยรังษี   ทนายความ
คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความ
สุภาภรณ์ มาลัยลอย นักสิทธิมนุษยชน
พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ
ภาวิณี ชุมศรี ทนายความ
เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ทนายความ
นภาพร สงปรางค์ ทนายความ
กรกนก วัฒนภูมิ นักกฎหมาย
ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ นักกฎหมาย
บัณฑิต หอมเกษ นักกฎหมาย
สุนิดา ปิยกุลพานิชย์ นักกฎหมาย
อานนท์ นำภา ทนายความ
ศราวุฒิ ประทุมราช นักกฎหมาย
 

[1]กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 (3)

[2]ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับผ่านประชามติ มาตรา 29

[3] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 มาตรา 108/1

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net