Skip to main content
sharethis

ศาลยกคำร้องขอให้ศาลสั่งให้เรือนจำคุมตัวไผ่มาสอบวันพรุ่งนี้ ด้าน รองปลัด ก.ยุติธรรมเผยประสานทางมหา'ลัย สงวนสิทธิในการสอบไว้ให้ ทนายเตรียมยื่นค้านการฝากขังผัด 5 วันที่ 19 มกรา ที่ปรึกษาองค์การแอมเนสตี้ ประเทศไทย และตัวแทนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนชี้ควรให้ ไผ่ ออกมาสอบและสู้คดี 

16 มกราคม 2560 ทนายความของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ต้องหาในคดี 112 จากการแชร์รายงานข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บ BBC Thai เข้ายื่นคำร้องขออนุญาตออกจากเรือนจำเพื่อสอบวิชาคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ตามที่จตุภัทร์มีกำหนดสอบในวันที่ 17-18 มกราคมนี้ ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น โดยเวลาประมาณ 13.00 น. ศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำสั่งไม่อนุญาต ระบุว่าได้เคยมีคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว และให้ฝ่ายผู้ต้องหาทำการติดต่อหารือกับทางเรือนจำ(ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ จ.ขอนแก่น) เอง

โดยที่ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งกับทางทนายความแล้วว่า ไม่สามารถดำเนินการนำตัวผู้ต้องหาออกไปสอบภายนอกเรือนจำได้ เว้นแต่ศาลอนุญาต และการจัดให้ผู้ต้องหาสอบภายในเรือนจำจะต้องนำบุคคลภายนอกและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เข้าไปภายในเรือนจำ ซึ่งอาจไม่สะดวกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ดังนั้นแล้วคำสั่งศาลในวันนี้จึงเป็นการปิดโอกาสการมีโอกาสได้สอบวิชาสุดท้ายของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเพิ่มเติมว่า การยื่นคำร้องฯ ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากครอบครัวและทนายความพยายามดำเนินการเพื่อให้จตุภัทร์ได้ออกมาเตรียมตัวสอบในวิชาดังกล่าว โดยการคัดค้านการฝากขัง 2 ครั้ง และยื่นประกันตัว 4 ครั้ง ซึ่งอ้างเหตุจำเป็นในการเตรียมตัวและไปสอบ แต่ไม่เป็นผล โดยศาลอ้างเหตุผลซ้ำๆ ว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น แม้จตุภัทร์และทนายความจะได้เคยชี้แจงต่อประเด็นดังกล่าวในคำร้องคัดค้านการฝากขัง และคำร้องขอประกันตัวว่า ผู้ต้องหาไม่อาจยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาได้ก่อเหตุอันตรายใดๆ ในคราวที่ได้รับการประกันตัวครั้งก่อน อีกทั้งจตุภัทร์ยังเป็นเพียงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด โดยตำรวจเองก็ยังไม่ได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดี การควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้จะกระทบต่อสิทธิและส่งผลต่ออนาคตทางการศึกษาของผู้ต้องหาอย่างร้ายแรง

แต่ในขณะเดียวกันในวันที่ 14 มกราคม นสพ.คมชัดลึกได้เผยแพร่ข่าวว่า นายธวัชชัย  ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม  ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เป็นห่วงต่อการทำความเข้าใจกับประชาชน กรณี นายจตุรภัทร์  บุญภัทรรักษา หรือ"ไผ่ ดาวดิน"  โดยที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมได้มอบให้กรมคุ้มครองสิทธิเข้าไปดูเรื่องการสอบวิชาคอมพิวเตอร์ และประสานมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย ซึ่งได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ไปพบไผ่เมื่อวันที่ 13 ม.ค. และได้อธิบายว่าเรือนจำยินดีและพร้อมอำนวยความสะดวกให้ทำการสอบได้ที่เรือนจำหากไม่ได้ประกันตัว ขณะเดียวกันก็ได้ประสานทาง ม.ขอนแก่น ซึ่งก็ยินดีที่จะดูแลกรณีของไผ่ให้เต็มที่ถึงไม่ได้รับการประกันตัวและไม่ได้สอบจะด้วยเหตุใดก็แล้วตาม แต่จะยังคงสงวนสิทธิในการสอบให้อยู่ และสามารถมาสอบภายหลังได้ 

นางพริ้ม บุญภัทรรักษา กล่าวหลังจากทราบคำสั่งศาลยกคำร้องให้คุมตัว ไผ่ มาสอบวิชาสุดท้ายว่า หากไม่ได้ก็ขอให้ทางมหาวิทยาลัยเข้าไปจัดการสอบให้ไผ่เป็นกรณีพิเศษในเรือนจำก็ยังดี

ชำนาญ จันทร์เรือง ตัวแทนจาก มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ว่าคดีของจตุภัทร์ว่า ไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลตั้งแต่กระบวนการ แจ้งข้อกลาวหาดำเนินคดี การควบคุมตัว และการถอนการให้ประกันตัว

อดีตประธานองค์กร แอมเนสตี้ ประเทศไทยกล่าวว่า หากรายงานข่าวของ BBC Thai เข้าข่ายว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 จริง รัฐก็ควรจะเอาผิดที่ BBC Thai และในเมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กแชร์ออกไปรวมทั้งหมดสองพันกว่ารายไม่ควรมาเอาความผิดที่จตุภัทร์ เพียงคนเดียว

"การพิจารณาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องไต่สวนจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการ ในขณะนี้ยังไม่สามารถระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ จึงไม่สมควรที่จะต้องมีการกักขังตัวผู้ต้องหา ผมมองว่ามันเป็นการเลือกปฏิบัติ รัฐต้องการใช้ข่มขู่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ผมคิดว่ามันเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเป็นการตัดโอกาสการศึกษา ผมไม่ได้ต้องการกดดันศาลไม่ได้กล่าวหาว่าศาลกินสินบาทคาดสินบน. แต่ต้องการยืนยันว่าการแสดงความคิดเห็นไม่ควรมีใครที่ต้องถูกจับกุมคุมขัง  "

"เราเพียงเสนอว่าไผ่ควรจะได้มีโอกาสประกันตัวออกมาทำการศึกษาต่อและสู้คดี และอยากขอให้ผู้พิพากษาลองคิดดูว่า ถ้าต้องจับตัวผู้ต้องหามากักขังไว้มาระหว่างการสอบสวน อยากเสนอให้ลองควบคุมตัวผู้พิพากษาไว้ระหว่างการพิพากษาบ้างดีไหม" 

ในส่วนของคำร้องและคำสั่งให้ถอนประกัน ไผ่ จตุภัทร์ ชำนาญให้ความเห็นว่า คำร้องของตำรวจและคำสั่งของศาลระบุว่า หลังจากที่ได้ประกันตัวผู้ต้องหาอาจมีการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานและเมื่อผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วได้มีกิจกรรมในลักษณะเย้ยหยันเจ้าหน้าที่และอำนาจรัฐนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกระบุไว้อยู่ในเงื่อนไขของการปล่อยตัวชั่วคราว จึงไม่น่าเป็นเหตุผลในคำร้องขอถอนประกันได้ 

ต่อมา มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน”โดยคำร้องขอออกนอกเรือนจำไปสอบวิชาคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยว่า เรือนจำมีหน้าที่ทำตามคำสั่งศาลในการควบคุมตัวหรือปล่อยตัวผู้ต้องขัง ทั้งนี้มีการประสานมายังกรมราชทัณฑ์ โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในเรื่องของการสอบของนายจตุภัทร์ โดยมีการประสานให้มีการจัดสถานที่ในการสอบ ซึ่งสามารถใช้พื้นที่ในการสอบวิชาคอมพิวเตอร์ เบื้องต้นพร้อมให้มีการใช้ห้องเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ ที่มีคอมพิวเตอร์ กรมราชทัณฑ์ทำหน้าที่่ได้เพียงอำนวยความสะดวกในเรื่องการสอบ และไม่ได้ขัดขวางหรือกีดกัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net