ครม.เห็นชอบงบฯรายจ่ายปี 60 เพิ่ม 1.9 แสนล้านบาท

17 ม.ค. 2560 กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มประจำปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 190,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 5  ส่วน ได้แก่ งบประมาณตามแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้เศรษฐกิจภายในประเทศ  วงเงิน 115,000  ล้านบาท แบ่งเป็นตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 80,000  ล้านบาท  กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 20,000 ล้านบาท โดยใช้เงินจากงบกลางปีงบประมาณ 2560 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกกลุ่มจังหวัดของประเทศ ประกอบด้วย 1. กลุ่มเริ่มทำธุรกิจใหม่ แต่มีเงินลงทุนไม่พอ 2.กลุ่มธุรกิจที่ต้องการเงินทุนสำหรับยกเครื่องหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ และ 3.กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพแต่มีปัญหา ซึ่งในอนาคตจะขยายสู่ภาคเอสเอ็มอีเกษตร ท่องเที่ยว และบริการด้วย  โดยคาดว่าโครงสร้างกองทุนฯ จะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และงบกลาง 15,000  ล้านบาท  โดยจะให้กลุ่มจังหวัดเสนอของบ เพื่อพัฒนาจังหวัด 5 ด้าน ประกอบด้วย เพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรม  การค้า และการลงทุน  เพิ่มศักยภาพภาคการเกษตร  ภาคการท่องเที่ยวและบริการ  พัฒนาสังคม  ยกระดับคุณภาพชีวิต  และสิ่งแวดล้อม  และโครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่  เช่น  การศึกษาออกแบบรถไฟสายใหม่ อำเภอดอนสัก เชื่อมรถไฟสายใต้ หรือการพัฒนาเส้นทางรถไฟชุมพรท่าเรือน้ำลึก

หอการค้าประเมินน้ำท่วมยืดเยื้อ เสียหายกว่า 8.5 หมื่นล้าน

วันเดียวกัน วิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบปัญหาอุทกภัยครอบคลุม 12 จังหวัดภาคใต้ จากทั้งหมด 14 จังหวัด จากการสำรวจหอการค้าภาคใต้และรายงานหอการค้าส่วนกลางทราบผลกระทบเสียหาย หากภาวะน้ำท่วมสามารถยุติได้ใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไม่เกิน 15,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.1 ของจีดีพี  อย่างไรก็ตาม หากปัญหายืดเยื้อ 2-3 เดือนข้างหน้าจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า  85,000-120,000  ล้านบาท  หรือร้อยละ 0.5-0.7 ต่อจีดีพี  ความเสียหายจะครอบคลุมพื้นที่การเกษตร  ทั้งยางพารา และปาล์มน้ำมัน  ในส่วนของยางพาราถ้าน้ำท่วมเกิน 20  วัน และปาล์มน้ำมันหากท่วมขังเกินกว่า 1 เดือน ทำให้ต้นยางพาราและปาล์มน้ำมันต้องตาย  โดยพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรทั้ง 2 ชนิด ต้องใช้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวนานนับปี

นอกจากนี้  ยังมีความเสียหายการทำปศุสัตว์ที่โคและกระบือต้องล้มตายจำนวนมาก  ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจากการติดตามส่วนใหญ่กระทบแหล่งท่องเที่ยวทะเลอ่าวไทยมีการยกเลิกการจองห้องพักประมาณร้อยละ 10-20  นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไปเที่ยวฝั่งอันดามันแทนอาจทำให้ผลกระทบไม่มาก หากมีการจัดงานกระตุ้นการท่องเที่ยวจะทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาท่องเที่ยวในพื้นที่ช่วงสงกรานต์นี้
 
ทั้งนี้  ในส่วนของภาคเอกชนต้องขอบคุณรัฐบาลที่มีการจัดมาตรการช่วยเหลือไม่ว่ามาตรการสถาบันการเงินภาครัฐ ธนาคารออมสิน  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)  มาตรการผ่อนชำระบ้านของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)  เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย  รวมถึงการส่งสิ่งของไปช่วยเหลือ

5 มาตรการ เพื่อป้องกันปัญหาซ้ำในอนาคต

อย่างไรก็ตาม รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เสนอด้วยว่า ระยะยาวหอการค้าภาคใต้มีข้อเสนอ 5  มาตรการ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดซ้ำในอนาคต ประกอบด้วย 1.ขอให้บังคับใช้กฎหมายผังเมืองเข้มงวด เพื่อไม่ให้การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างไปกระทบก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังแต่ละพื้นที่  2.เสนอจัดทำผังน้ำและจัดพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำหรือฟลัดเวย์  เช่น พื้นที่แก้มลิง หรือบึงรับน้ำต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านเกษตรได้ด้วย  3.จัดกิจกรรมลดราคาการจัดซื้อสิ่งปลูกสร้างและเครื่องเรือน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย  4.ขอให้ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตด้านการเกษตร  โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกการเกษตรต่าง ๆ ก็ให้มีการปรับไปสู่การเพาะปลูกเพื่อผลการเกษตรที่เป็นเป้าหมายระยะยาว และ 5.ขอให้จัดแคมเปญกระตุ้นท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้อย่างเร่งด่วน
 
ที่มา สำนักข่าวไทย 1, 2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท