ชาญชัย ลิขิตจิตถะ อดีตประธานศาลฎีกาและองคมนตรีถึงแก่อสัญกรรม

ชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี 2 รัชกาล อดีต รมว.ยุติธรรมรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และอดีตประธานศาลฎีกาสมัยตุลาการภิวัตน์ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว อายุรวม 71 ปี

(ซ้าย) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ขวา) แฟ้มภาพ/ผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) ปฎิบัติหน้าที่ประธาน ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อัขราทร จุฬารัตน์ ประธาน ศาลปกครองสูงสุด ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา กำลังประชุมหาทางออกแก้วิกฤติการเมือง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 (ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า)

 

18 ม.ค. 2560 ชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรีและอดีตประธานศาลฎีกา ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเวลา 08.30 น. ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อายุรวม 71 ปี ด้วยโรคปัญหาเกี่ยวกับระบบเลือด

ก่อนหน้านี้ชาญชัย เคยดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และกรรมการกฤษฎีกา และหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เคยถูกทาบทามจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุดทาง คปค. ได้ตัดสินใจเลือก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ส่วนชาญชัยถูกเลือกให้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในคณะรัฐมนตรีแทน

เมื่อพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ชาญชัยยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อขอกลับรับราชการเป็นผู้พิพากษาอาวุโส และต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรีในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน  2551 และได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรีในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2559

 

ชาญชัย ลิขิตจิตถะ และบทบาทช่วงตุลาการภิวัตน์

ในช่วงวิกฤตการเมือง หลังจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 และมีผู้สมัครคนเดียวในหลายเขตเลือกตั้งของภาคใต้ ทำให้ต้องกำหนดวันเลือกตั้งเพิ่มเติมในวันที่ 23 เมษายน นั้น

ต่อมาในวันที่ 25 เมษายน 2549 อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด พร้อมด้วยตุลาการศาลปกครองสูงสุด และชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสแก่คณะตุลาการ ทรงชี้แนะให้พิจารณาว่าการที่ต้องมีการเลือกตั้งภายใน 30 วัน หลังยุบสภานั้นถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งทรงแสดงความเห็นว่าการเลือกตั้งโดยมีผู้สมัครพรรคเดียวไม่เป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องข้อเสนอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน และมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยทรงกล่าวว่า "เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้" การปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มิได้ให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจทำอะไรได้ทุกอย่าง และทรงแนะแนวทางให้ฝ่ายตุลาการ คือ ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกันหารือเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ต่อมาในวันที่ 28 เมษายน 2549 ที่อาคารสำนักงานยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา อัขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุด และผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับคณะตุลาการทั้ง 3 ฝ่ายประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการเมือง

ในรายงานของแนวหน้า หลังแล้วเสร็จการประชุม เวลา 12.00 น. จรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกาในขณะนั้นแถลงว่า จากการแลกเปลี่ยนความเห็นข้อกฎหมายในหลายประเด็นแล้ว ทั้ง 3 ศาล มีความเห็นพ้องกันใน 3 ประเด็นว่า 1.แต่ละศาลจะเร่งรัดพิจารณาพิพากษาคดีและดำเนินการในส่วนที่อยู่อำนาจหน้าที่ของแต่ละศาล ให้รวดเร็วทันต่อของความเร่งด่วนในแต่ปัญหาที่เกิดขึ้น

2.การพิจารณาคดีความแต่ละศาล จะต้องใช้และตีความตัวบทกฎหมายเดียวกันนั้นต้องระมัดระวัง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งนี้เพื่อป้องกันความขัดแย้งและสับสนของประชาชน

และ 3.ในการดำเนินการของแต่ละศาลนั้นยังต้องยึดถือหลักความเป็นอิสระของศาล ตามเขตอำนาจแต่ละศาลให้ดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยความสุจริตและยุติธรรม

โดยทั้ง 3 ประเด็นนี้เป็นข้อยุติที่ประธานทั้งสามศาลเห็นพ้องต้องกันอย่างไม่มีข้อแม้ ส่วนรายละเอียดของวิธีดำเนินการต่างๆ จะเป็นเรื่องที่แต่ละศาลจะต้องไปพิจารณาพิพากษาในแต่อรรถคดีที่ขึ้นไปสู่ศาลแต่ละศาล จะนำไปเปิดเผยล่วงหน้าก่อนที่จะมีคดีไปสู่ศาลไม่ได้ ซึ่งคาดว่าประธานทั้ง 3 จะมีการประชุมกันอีก แต่ยังไม่ได้นัดวันเวลากันแต่อย่างใด

เลขานุการประธานศาลฎีกา กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้นำเกือบทุกประเด็นปัญหาของบ้านเมือง อาทิ การจะให้เดินหน้าการเลือกตั้งในวันที่ 29 เมษายนต่อไปหรือไม่ การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน ชอบธรรมด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่มีข้อยุติ ถ้ามีการลงมติของประธานทั้ง 3 ศาล จะถือเป็นการชี้นำการพิจารณาคดี โดยสภาพแล้วทำไม่ได้ ทุกศาลจะต้องดำเนินการให้รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง ทันต่อความจำเป็นเร่งด่วน ของแต่ละเรื่อง แต่จะชะลอหรือไม่ศาลจะเป็นผู้ตอบในคดีที่ค้างศาลอยู่ในเวลานี้แม้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นศาลก็จะพิจารณาที่เป็นอิสระ

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดการพิจารณาวินิจฉัย ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 6 ชี้ว่า การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในประเด็นกำหนดวันเลือกตั้งไม่เป็นธรรม และการจัดคูหาหันหลังให้คณะกรรมการทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ พร้อมมีมติ 9 ต่อ 5 ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ทั้งกระบวนการ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

และหลังจากนั้น กรณีที่ถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น ยื่นฟ้อง กกต. ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภานำมาซึ่งคำพิพากษาให้ กกต.ต้องโทษจำคุก และออกจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 มีการสรรหา กกต.ใหม่ และกำหนดการเลือกตั้งใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 อย่างไรก็ตามมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เกิดขึ้นเสียก่อน ทำให้ไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท