2560 อนาคตแรงงานมืดมน เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น

สัมมนา 'เศรษฐกิจไทยกำลังจะดี แรงงานก็มีอนาคต' ผลปรากฏตรงข้ามทุกข้อ นักวิชาการระบุรัฐต้องปรับตัว เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น การลงทุนชะลอยาว แรงงานพัฒนาศักยภาพไม่ทันโลก รัฐไม่มีมาตรการดูแล แถมเข้าสู่สังคมสูงอายุ ด้าน ‘ศิโรฒน์’  ย้ำการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่กระทบต่อการลงทุน

18 ม.ค. 2560 ที่โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยและมูลนิธิฟรีดริด เอแบร์ท(FES)จัดสัมมนาวิชาการหัวข้อ เศรษฐกิจไทยกำลังจะดี แรงงานก็มีอนาคต โดยมีวิทยากรร่วมสัมมนา 3 คน ได้แก่ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย , รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,ศิโรฒม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ, และ รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศิโรฒม์: ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นประเด็นการเมือง สร้างข้อมูลเท็จโยนภาระให้ผู้ใช้แรงงาน

ศิโรฒม์ กล่าวว่า สถานการณ์ของผู้ใช้แรงงานอยู่ในสถานการณ์ที่แย่มากขึ้นในรอบหลายปี และหลายเรื่องเป็นโจทย์ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สวัสดิการ ค่าแรง และอำนาจการต่อรองในการใช้แรงงาน สองปีที่ผ่านมาแรงงานอยู่ในสภาพที่เผชิญกับแรงกดดันของกลไกตลาดอย่างเสรี 

ศิโรฒม์กล่าวถึงการเลือกตัดสินใจของนักธุรกิจในการลงทุนว่า  โจทย์ที่บอกว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ภาคเอกชนไม่อยากจะมาลงทุนเป็นโจทย์ที่โอเวอร์ แต่จากเวที World Economic Forum ระบุว่า เหตุผลสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้นักธุรกิจไม่ตัดสินใจมาลงทุนในประเทศไทย คือ การรัฐประหาร, การคอร์รัปชัน, ระบบราชการไม่มีประสิทธิภาพ ซับซ้อน เป็นเหตุผลอันดับแรกๆ นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับความไม่มีความรับผิดชอบของแรงงาน อาชญากรรม โครงสร้างพื้นฐานของรัฐไม่ดี การเปลี่ยนนโยบายอย่างสับสน ซึ่งจะเห็นว่า ไม่มีเหตุผลเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ ดังนั้น ค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่โจทย์ใหญ่ในการให้คนไม่อยากมาลงทุนในประเทศไทย

ศิโรฒม์กล่าวต่อไปอีกว่า ในช่วงสองปีหลังรัฐประหารไม่มีการขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำมานาน  โดยมีการสำรวจของหอการค้า ในปี 2558  เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหลังปี 2560 โดยการพูดว่าการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำจะทำให้เศรษฐกิจแย่ลง ซึ่งหากดูในความเป็นจริงจะพบว่า ในสองปีที่ผ่านมาไม่มีการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำเลย แต่เศรษฐกิจก็ตกต่ำลง และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมก็ลดลงอย่างมีปัญหา ซึ่งมีปัจจัยอย่างอื่นที่ส่งผลมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำมาก ในขณะเดียวกันการไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็ทำให้ความเชื่อมั่นในภาค SMEsลดน้อยลงเช่นกัน

“การพูดว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทำให้เศรษฐกิจแย่ลง เป็นการโยนปัญหามาให้ผู้ใช้แรงงาน “ ศิโรฒม์กล่าว

ศิโรฒน์ระบุว่า ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ระบุถึงค่าใช้จ่ายที่แรงงานจำเป็นต้องใช้ในปัจจุบันว่าจะต้องมีอย่างน้อย 361.93 บาท ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 25%  นั้นเป็นค่าอาหารในการดำรงชีวิต หากรวมค่าเดินทางค่าที่อยู่อาศัย ยานพาหนะต่างๆ จะพบได้ว่าแรงงานได้ค่าแรงที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก และต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดมาก แต่เราอยู่ในประเทศที่หน่วยงานรัฐรู้ว่า แรงงานได้ค่าแรงต่ำกว่าความเป็นจริงและทำให้คุณภาพชีวิตลดถอยลงโดยไม่คิดจะแก้ไข

ศิโรฒม์กล่าวเพิ่มว่า หากดูในภาคการเกษตรจะพบว่า ในการดูแลของรัฐบาลปัจจุบัน ภาคการเกษตรก็มีรายได้ต่ำสุดในรอบ 7 ปี  ซึ่งถ้าเอาภาพของแรงงานและการเกษตรมาดูด้วยกันนั้นจะเห็นว่ารัฐไม่ดูแลแรงงานทั้งสองภาคเลย ดูได้จากการการแก้ไขปัญหาราคาข้าวของรัฐบาลปัจจุบันซึ่งใช้เวลานานมากและไม่ได้ผลการดำเนินงานที่ดี 

ศิโรฒม์ระบุถึงโจทย์ที่คนมักตั้งคำถามการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า ถ้าอยากได้ค่าแรงมากขึ้นต้องขยันมากขึ้น ทำงานมากขึ้น ทั้งที่ไม่มีโจทย์นี้กับสายอาชีพอื่นๆ เลย เช่น นักวิชาการ อาจารย์ ซึ่งเงินเดือนขึ้นรายปีอยู่แล้ว การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจ แต่เป็นประเด็นทางการเมือง และการสร้างข้อมูลเท็จ

ศิโรฒม์ทิ้งท้ายว่า ภาครัฐเชื่อว่าแรงงานต้องเป็นไปโดยตลาดเสรี ซึ่งไม่เข้ามาแทรกแซงช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสเลย ในสองสามปีที่ผ่านมาและศิโรฒม์ย้ำว่า สถานการณ์แรงงานไทยยังมืดมน และจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนาน 

ยงยุทธ: เศรษฐกิจเติบโตค่อยเป็นค่อยไป แต่ขีดความสามารถการแข่งขันไทยลดลง

ยงยุทธ กล่าวว่า  เศรษฐกิจในปี 60 ยังคงผันผวน การลงทุนภาคเอกชนยังประสบปัญหาเนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินมาก ภาคอุตสาหกรรมและงานบริการที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง จากกอันดับที่ 32 มาเป็นอับดับที่34 (จากการสำรวจของ Global competitive Index) ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจึงจำเป็นต้องยกระดับแรงงานเพื่อการสร้างการเปลี่ยนผ่านโดยเร็ว ยงยุทธ ยังกล่าวอีกว่า ภาพรวมในปี 60 อุตสาหกรรมยังคงชะลอตัว ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว แต่คาดเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว จาก 3.3% ในปี 59  เป็น 3.5% ในปี 60  และการส่งออกในปี 60 จะขยายตัวกว่า 2.3%  ด้วยปี 60 จะมีเม็ดเงินจากมาตรการของรัฐเข้าสู่ระบบกว่า 3.8 แสนล้านบาท ในส่วนของการท่องเที่ยวในปี60 คาดว่าจะเติบโตขึ้นกว่า 6% แต่ไม่ได้ส่งผลมากนัก เพราะนักท่องเที่ยวของจีนจะลดลงเนื่องจากการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญและเศรษฐกิจของจีนที่ทรงตัว

ยงยุทธระบุว่า ภาคแรงงานของไทยนั้นมีลักษณะผันผวน  โดยมีการเคลื่อนย้ายระหว่างแรงงานภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเป็นไปมาจำนวนมาก เนื่องจากนโยบายภาคเกษตรของรัฐบาล ผู้สูงอายุ นโยบายจำนำข้าว และพืชผลการเกษตร ทำให้แรงงานกลับถิ่นฐานเพื่อทำนามากขึ้น เมื่อรัฐบาลใหม่ไม่มีนโนบายด้านนี้ คนจึงกลับเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งโครงสร้างประชากรของไทยนั้นเปลี่ยนไปจากการที่มีแรงงานในวัยทำงานมากกลายเป็นสังคมของคนชรา ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าสังคมไทยเป็นสังคมของผู้สูงอายุ ดังนั้นกำลังแรงงานในระยะสั้นอาจมีจำนวนมากขึ้นแต่ก็มีแนวโน้มจะลดลงอย่างมากในอนาคต 

ยงยุทธ ได้ให้ข้อเสนอต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมั่นคง ยั่งยืน ว่า ต้องมีกระปฏิรูปประกันสังคม ให้มีความยืดหยุ่น และต้องดูแลแรงงานนอกระบบให้ได้รับการดูแลไม่น้อยไปกว่าแรงงานในระบบ ต้องสนับสนุนให้แรงงานมีประสิทธิภาพในการทำงานอย่างน้องถึงอายุ 60 ปี ควรปฏิรูปกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำให้ เป็นการจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรม เป็นต้น  

กิริยา: โลกหมุนเร็ว วางกรอบนโยบายยาว-บนลงล่าง ไม่ได้ผล

รศ.ดร. กิริยา กล่าวว่า อุตสาหกรรมในปัจจุบันมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลจำนวนมาก ทำให้มีหุ่นยนต์เข้ามาอยู่ในระบบอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อแรงงานในปัจจุบัน  เช่น บริการของ AmaZon Go, Uber,Airbnb ซึ่งมีเสถียรภาพมากกว่าการทำงานของมนุษย์และลดปัญหาเรื่อง Human error ได้อุตสาหกรรม 4.0 จึงเป็นลักษณะของการขายบริการมากกว่าการขายสินค้า ในส่วนของแรงงาน จะมีแต่ผู้รับจ้างอิสระ(freelance) และการจัดการเทคโนโลยีนั้นต้องมีการจัดการอย่างเป็นธรรม เพื่อให้อุตสาหกรรมพัฒนามากขึ้น

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังกล่าวต่อว่า แรงงานต้องปรับตัวในประสิทธิภาพที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้ ควรจะสอนเยาวชนในอนาคตให้ต้องรู้จักปรับตัวและตื่นตัวต่อการเรียนรู้ เผชิญหน้าต่อการเปลี่ยนแปลง  ตลอดเวลา 

กิริยาระบุว่า สำหรับกระทรวงแรงงาน การวางแผนระยะยาวจะเสียเวลาเปล่า เพราะโลกหมุนเร็ว การวางกรอบอย่างยาวนานอาจไม่ได้ผล สภาพเศรษฐกิจหมุนเร็ว และเป็นเศรษฐกิจกิจที่หมุนจากปัจจัยข้างล่างมากกว่าปัจจัยด้านบนอย่างการกำหนดนโยบาย ดังนั้นการบริหารเศรษฐกิจแบบบนลงล่างนั้นอาจจะไม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง

กิริยาทิ้งท้ายว่า หลังจากที่แรงงานเรียนจบแล้ว เข้าสู่ตลาดแรงงาน สิ่งที่กระทรวงแรงงานต้องทำคือ กระทรวงแรงงานต้องรับรองทักษะ ฝีมือ วุฒิการศึกษา เช่น มีการทำข้อสอบมาตรฐานต่างๆ ให้แรงงานมีการฝึกฝนนอกห้องเรียน และ จัดการอบรมอย่างต่อเนื่องให้แรงงาน เพื่อให้แรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท