Skip to main content
sharethis

พล.อ.ประวิตร ระบุแนวคิดสร้างปรองดอง ให้นักการเมืองร่วมพูดคุย อยู่กันอย่างสันติ ยืนยันทหารเป็นตัวกลาง ไม่อยากปฏิวัติ อภิสิทธิ์ เผย ปชป.พร้อมร่วมมือปรองดอง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (ที่มาภาพ แฟ้มภาพเว็บไซต์ทำเนียบฯ)

19 ม.ค. 2560 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงแนวคิดการเชิญนักการเมืองมาปรึกษาหารือและมาลงสัตยาบันร่วมกันเพื่อสร้างความปรองดองและยุติความขัดแย้ง ว่า เพราะอยากให้พรรคการเมืองอยู่กันอย่างสันติ

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยระบุว่า อยากให้ทหารลงนามเอ็มโอยูด้วยว่าจะไม่รัฐประหารอีก พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทหารมีความเป็นกลาง ไม่มีความขัดแย้ง เช่นในสมัยของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ทำรัฐประหาร ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง แต่อยากให้บ้านเมืองสงบ ไม่มีใครอยากจะปฏิวัติ
 
“ไม่ต้องไปเซ็นหรอก นอกจากบ้านเมืองไปไม่ได้แล้วและเกิดความขัดแย้งเท่านั้น ทหารจึงจะทำ พรรคเพื่อไทยคงคิดไปเองว่าทหารจะออกมาปฏิวัติ ผมอายุ 70 กว่าแล้ว อยู่มาตั้งแต่เด็ก ยืนยันได้ว่าไม่มีใครอยากปฏิวัติ คือถ้าจะปฏิวัติแล้วไม่มีประชาชนเอาด้วยก็ไม่มีทางทำได้เลย แต่ครั้งนี้ประชาชนเห็นชอบว่าเราจะเข้ามาทำให้เกิดความสงบ และเชื่อว่าทหารส่วนใหญ่คิดแบบนี้ ไม่มีใครที่อยากจะมายึดอำนาจ มามีอำนาจ ไม่เห็นมีอะไรดีเลย ใครอยากมาแทนผมก็มาเลยผมไม่ว่า” พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
ส่วนคำถามจะให้ความั่นใจกับนักการเมืองที่จะมาคุยอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทหารจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย แต่จะทำหน้าที่รวบรวมความคิดเห็นจากพรรคการเมือง เพื่อทำข้อตกลงร่วมกัน ไม่มีระเบียบทางกฏหมายบังคับการคุย ถ้าคุยแล้วจะต้องออกมาเป็นระเบียบกฎหมายหรือพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ค่อยว่ากัน อะไรที่ต้องใช้กฎหมายต้องไปดูและต้องใช้ตามนั้น
 
“หรืออาจจะออกเป็นมาตรา 44 ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ไม่ใช่ทหารอยากทำอะไรก็ทำ ไม่มีบทลงโทษใด ๆ เพราะเราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ บทลงโทษมีอยู่แล้วในกฎหมายทั่วไป และไม่ห่วงหากพรรคการเมืองกลับคำ เพราะทุกฝ่ายรับรู้กันอยู่แล้วในข้อตกลงที่คุยกันร่วมกัน” พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
ส่วนกรณีที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูนิธิมวลมหาประชาชน ระบุว่าจะไม่ลงนามสัตยาบันร่วมด้วย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคต ต้องไปคุยกันเรื่องข้อตกลงก่อน ส่วนจะลงนามหรือไม่ลงนามเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพื่อให้เกิดความปรองดองและเราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มองว่ามีความชัดเจนแล้ว
 

อภิสิทธิ์ เผย ปชป.พร้อมร่วมมือปรองดอง

ขณะที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลตั้งคณะทำงานมาดูเรื่องปรองดอง ว่า การที่จะให้คณะกรรมการชุดนี้เดินสายพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่าย ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ยินดีที่จะให้ข้อมูลและถือว่าการใช้วิธีการแบบนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ความปรองดองเดินหน้าไปได้ แต่สิ่งสำคัญจะต้องพูดคุยให้ครอบคลุมทุกฝ่าย รวมทั้งภาคสังคมและประชาชน อย่ายึดติดแค่พรรคการเมือง โดยต้องสรุปบทเรียนให้ถูกว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นล่าสุดไม่ได้เกิดจากพรรคการเมือง แต่เกิดจากความพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ เพราะหากตั้งโจทย์ผิด ก็ไม่สามารถทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายได้ ดังนั้นจึงไม่ควรยึดติดกับการให้พรรคการเมืองมาลงนามสัตยาบัน เพราะพรรคการเมืองไม่สามารถตอบแทนประชาชนทุกคนได้ แต่อยากให้รัฐบาลและทุกฝ่ายย้อนกลับไปดูว่าที่มีปัญหาขัดแย้งกันไม่ได้เกิดจากผลการเลือกตั้ง
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ที่มาภาพ เพจ Abhisit Vejjajiva)
 
“ผมไม่ทราบว่าเนื้อหาสาระที่อยากให้ตกลงทำสัตยาบันกันเป็นอย่างไร แต่อยากย้ำว่าเรื่องของการลงนามในเอกสาร ไม่ได้เป็นหลักประกัน เพราะคนที่ไปลงนามกล้ายืนยันหรือไม่ว่าประชาชนจะเห็นด้วยเหมือนกับตัวเอง เพราะแม้กระทั่งพรรคการเมืองก็พูดไม่ได้ ผมจึงอยากให้นำเรื่องความขัดแย้งมาพูดกันแบบเปิดใจ และที่เคยขอความเห็นฝ่ายต่าง ๆ มา ก็ควรนำมาสรุป ซึ่งผมก็พร้อมที่จะให้ข้อมูล และอยากให้ความขัดแย้งมันจบเร็ว ๆ เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี แต่อย่าเอามาผูกติดกับการเลือกตั้ง ถ้าหวังว่าพรรคการเมืองอยากเลือกตั้ง แล้วให้มาตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงแล้วจะไม่มีเลือกตั้ง ผมว่ามันก็ไม่จบ ควรว่ากันด้วยเหตุด้วยผล และผมว่าอย่าจับกันเป็นคู่ขัดแย้ง แต่ผมว่าทุกคนที่มีบทบาทในสังคมควรไปรับฟังความเห็นจากเขา” อภิสิทธิ์ กล่าว
 
อภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า อยากให้คนที่ทำงานด้านความปรองดองคำนึงถึงเนื้อหาสาระและให้นำสิ่งที่คณะทำงานชุดเก่า ๆ เคยศึกษาและสรุปออกมา นำมาประกอบการทำงานสร้างความปรองดอง และสิ่งสำคัญขอยืนยันว่าการทำผิดกฎหมายหรือการใช้ความรุนแรงจะต้องมีความรับผิดชอบ โดยควรปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าทำงาน หากจะยกเว้น ก็ควรนิรโทษให้เฉพาะกรณีของประชาชนที่มาชุมนุมแล้วทำผิดกฎหมายพิเศษและทำผิดเพียงเล็กน้อย ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีก็พูดมาตลอดว่าต้องรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย จึงอยากให้ยึดหลักการในส่วนนี้ และอยากให้มองไปข้างหน้าว่าขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมการปลุกระดมและสร้างความขัดแย้ง โดยผ่านวิทยุชุมชน แต่ปัจจุบันมีอินเทอร์เน็ตและมีสังคมออนไลน์ที่จะต้องเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มเติม
 
ที่มา สำนักข่าวไทย 1, 2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net