Skip to main content
sharethis

กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นเผยว่าบริษัทร้อยละ 8 เริ่มให้มีวันหยุด 3 วันต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน หลายบริษัทใช้วิธีโปะชั่วโมงทำงาน บางแห่งก็ลดชั่วโมงทำงาน นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ส่วนหลายบริษัทเล็งให้แรงงานฝึกฝนทักษะ หรือมีเวลากลับไปดูแลเด็กและผู้สูงอายุ

ย่านชิบูยาในกรุงโตเกียว ภาพถ่ายปี 2015 (ที่มา: แฟ้มภาพ/IQRemix/Wikipedia)

20 ม.ค. 2560 นิเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่าสถานที่ทำงานของญี่ปุ่นโดยทั่วไปเริ่มมีการให้หยุดงานสัปดาห์ละ 3 วันกันมากขึ้น หลังจากที่กลุ่มคนทำงานเรียกร้องให้มีความสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับที่รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องให้มีการปฏิรูปแรงงาน

กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นสำรวจในปี 2558 พบว่ามีบริษัทร้อยละ 8 ของทั้งหมดที่อนุญาตให้มีวันหยุด 3 วันหรือมากกว่านั้นต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า 10 ปีที่แล้ว นิคเคอิระบุว่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ให้หยุด 2 วันเป็นต้นไปเพื่อให้คนมีเวลาเลี้ยงดูลูกหรือคนชราในบ้านมากขึ้นซึ่งจะเป็นการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในด้านนี้

หนึ่งในบริษัทใหญ่ที่เริ่มให้มีการหยุดงานเพิ่มขึ้นคือ เคเอฟซี โฮลด์ดิง เจแปน โดยในปีงบประมาณที่ 2559 เคเอฟซีญี่ปุ่นปรับลดเวลางานของลูกจ้างลงเหลือ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และให้พนักงานเลือกได้ว่าจะหยุดงานวันใดบ้างเป็นเวลา 3 วันในแต่ละสัปดาห์ โดยที่ทางบริษัทหวังว่าจะทำให้พนักงานยังคงอยู่ทำงานให้บริษัทต่อไป

อีกบริษัทหนึ่งคือฟาสต์ รีเทลลิง ซึ่งรู้จักกันดีในฐานะเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Uniqlo ก็มีโครงการให้หยุดสัปดาห์ละ 3 วันเช่นกัน ในขณะที่บริษัทยะฮู เจแปน ก็วางเป้าหมายจะให้พนักงานสามารถหยุด 3 วันต่อสัปดาห์ได้ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ไม่เพียงแค่ในใจกลางเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ธุรกิจบางส่วนที่อยู่นอกเมืองใหญ่อย่างเช่น สถานปฏิบัติการพยาบาลของอุจิยามะโฮลด์ดิงในจังหวัดฟุกุโอกะก็ขยายโครงการหยุด 3 วันต่อสัปดาห์ตามสถานพยาบาลต่างๆ ของพวกเขารวม 81 แห่ง ให้กับคนงานมากกว่า 2,000 คนในช่วงปลายปีงบประมาณ 2559 แต่ของอุจิยามะจะยังคงนโยบายชั่วโมงทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่าเดิม นั้นหมายความว่าจะมีการทำงาน 10 ชั่วโมง ใน 4 วัน แทนแบบเดิมคือ 8 ชั่วโมง ใน 5 วัน

นิเคอิระบุว่าญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคส่วนการดูแลผู้สูงอายุ จึงมีการพยายามปรับสภาพการทำงานโดยหวังว่าการวางกะทำงานแบบใหม่จะดึงดูดคนสมัครงานมากขึ้นและทำให้คนทำงานเดิมยังคงทำงานกับพวกเขาต่อไป

อีกภาคส่วนหนึ่งคือผู้ผลิตเครื่องมือชื่อบริษัทซาตาเคะ ที่เป็นบริษัทจากฮิโรชิมา จะเริ่มให้พนักงาน 1,200 คนมีวันหยุด 3 วันต่อสัปดาห์ เริ่มจากตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปีนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีแผนการระยะยาวจะลดชั่วโมงทำงานลงเหลือร้อยละ 20 เหลือแค่ทำงาน 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ภายในปี 2561 ด้วยวิธีการตัดการประชุมและงานเอกสารที่ไม่จำเป็นซึ่งถือเป็นความไร้ประสิทธิภาพออกไป ซึ่งการลดชั่วโมงทำงานนี้บริษัทซาตาเคะหวังว่าจะส่งเสริมให้คนมีเวลาฝึกทักษะเพิ่มเติมเช่นการไปเรียนภาษาเพิ่มได้ด้วย

เท็ตสุ วาชิทานิ ศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชูโอกล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีแต่บริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่ให้มีวันหยุด 3 วันต่อสัปดาห์ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีบริษัทที่อยู่นอกเมืองใหม่ใช้ระบบหยุด 3 วันต่อสัปดาห์เพิ่มมากขึ้น โดยถ้าหากทำควบคู่ไปกับการจำกัดให้การไปเพิ่มเวลาทำงานต่อวันน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็จะอาจจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้นด้วย

เรียบเรียงจาก

Japan Inc. moving toward 4-day work week, Nikkei Asian Review, 19-01-2017  http://asia.nikkei.com/Business/Trends/Japan-Inc.-moving-toward-4-day-work-week

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net