Skip to main content
sharethis

สื่อนิวยอร์กไทมส์รายงานเรื่องผู้นั่งเทียนเขียนข่าวปลอมในสหรัฐฯ ปลอมจริงจังตั้งแต่พาดหัวข่าวไปถึงภาพถ่าย ข่าวปลอมนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งต่อการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด คนที่ทำเช่นนี้มีสายสัมพันธ์ทางการเมือง เป็นสายลับรัสเซีย หรือแค่ร้อนเงิน? เขามีความรู้สึกผิดหรือไม่ที่โหมกระพือสิ่งที่ปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นมาเอง?

เรื่องเริ่มมาจากช่วงที่กำลังมีศึกหาเสียงเลือกตั้ง จากการสำรวจของโพลล์ โดนัลด์ ทรัมป์ มีคะแนนน้อยกว่าคู่แข่งอย่างฮิลลารี คลินตัน ทำให้เขาพูดในทำนองหาข้ออ้างไว้ก่อนล่วงหน้าว่า "การเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมีการโกง" แต่เขาก็ไม่ได้พูดต่อเติมจินตนาการของผู้สนับสนุนเขาต่อไปว่ามันโกงกันอย่างไร

จนกระทั่งคนที่เสริมต่อจินตนาการที่ว่าเป็นคนเขียนข่าวปลอมคนหนึ่ง ชื่อ คาเมรอน แฮร์ริส ผู้เพิ่งจบวิทยาลัยใหม่ๆ และกำลังร้อนเงิน เขานั่งเทียนเขียนต่อเติมรายละเอียดหรือ "หลักฐานปลอมๆ" ของสิ่งที่ทรัมป์พูดไว้แทนตัวทรัมป์เอง จนกลายเป็นเนื้อความข่าวปลอมที่พาดหัวข่าวว่า "ข่าวด่วน! พบบัตรใช้โกงคะแนนโหวตในโกดังรัฐโอไฮโอ" เขาจงใจใช้ชื่อเมืองในรัฐโอไฮโอตามที่ทรัมป์เคยพูดเน้นย้ำเอาไว้ในมีม (สิ่งที่ดัดแปลง เลียนแบบ ผลิตซ้ำ และแพร่กระจายทางอินเทอร์เน็ต) เกี่ยวกับ "การโกงการเลือกตั้ง"

แฮร์ริส เป็นชายอายุ 23 ปี ในอดีตเคยเล่นเป็นควอเตอร์แบ็คอเมริกันฟุตบอลและหัวหน้าสมาคมนักศึกษาชายของวิทยาลัยให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์ว่า เขามีทฤษฎีหนึ่งอยู่ในหัวตอนที่เขานั่งลงเขียนข่าวปลอม กลุ่มคนที่สนับสนุนทรัมป์มีความไม่เชื่อในสื่ออย่างมาก ทำให้อะไรก็ตามที่คล้อยตามคำพูดของทรัมป์พวกเขาก็จะเชื่อตาม อย่างการที่ทรัมป์ชอบพูดว่า "มีโกงการเลือกตั้ง" ซ้ำๆ คนก็จะเชื่อไปก่อนเลยว่าคลินตันชนะการเลือกตั้งไม่ได้แน่ถ้าไม่โกงการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามแฮร์ริสก็ไม่ใช่คนที่เกี่ยวโยงกับสายลับของรัสเซียแต่อย่างใด เขาเป็นแค่คนที่แอบทำเว็บไซต์ เหตุที่เขายอมให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์ เป็นเพราะมีผู้สื่อข่าวตามรอยจนพบว่าแฮร์ริสเป็นเจ้าของเว็บ ชื่อ  ChristianTimesNewspaper.com ในตอนแรกแฮร์ริสก็ผิดหวังที่ถูกถอดหน้ากากออก เขาอยากสงวนภาพลักษณ์ไว้เพราะอยากสร้างธุรกิจเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาทางการเมือง แต่ในที่สุดเขาก็ยอมเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับงานข่าวปลอมที่เขาทำขึ้นซึ่งทำให้เขาได้ค่าโฆษณาราว 1,000 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง การเป็นคนเผยแพร่ข่าวลวงเช่นนี้ทำให้แฮร์ริสรู้สึกภูมิใจและรู้สึกผิดไปพร้อมๆ กัน แต่เขาก็ยอมพูดถึงงานนั่งเทียนเขียนข่าวปลอมของเขาต่อไป

แฮร์ริสเล่าต่อไปว่าหลังจากนั้นเขาก็คิดแต่งเรื่องต่อว่าจะให้ใครเป็นคนพบบัตรเลือกตั้งโกงของคลินตันดี นั่นทำให้เขาคิดตัวละครในอากาศขึ้นมาเองชื่อแรนดัล ปรินซ์ เขาวางตัวละครให้ปรินซ์เป็นคนงานช่างไฟฟ้าในนครโคลัมบัสของโอไฮโอ ทำให้เขาดูเหมือนคนทั่วไปที่สนับสนุนทรัมป์ มีชื่อที่ดูสูงส่งในระดับหนึ่ง แต่งเรื่องให้เขาเข้าไปด้านหลังโกดังไปเจอหีบใส่บัตรเลือกตั้ง โดยในความเป็นจริงแล้วโกดังที่ว่านี้ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นเลย

แต่แฮร์ริสก็ยังเล่าเรื่องในข่าวปลอมต่อไปว่าสิ่งที่ค้นพบนั้น "เป็นหลักฐานถึงปฏิบัติการขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อทำให้คลินตันชนะในรัฐที่คะแนนเสียงยังแกว่งไปมาระหว่างสองพรรค" นอกจากนี้ยังมีการใส่รูปประกอบที่แค่ค้นหาคำว่า "ballot boxes" (หีบเลือกตั้ง) ในกูเกิลก็เจอแล้วนำมาใส่ไว้ ในความเป็นจริงแล้วรูปที่นำมาใส่เป็นรูปของการเลือกตั้งอังกฤษ ห่างจากรัฐโอไฮโอมาก แต่เขาก็ไม่แยแส กลับเอารูปนั้นมาใส่คำบรรยายใต้ภาพว่า "คุณปรินซ์ ผู้อยู่ในรูปนี้ เปิดเผยสิ่งที่เขาพบเห็น ในขณะที่เจ้าหน้าที่การเลือกตั้งกำลังสืบสวนในเรื่องนี้"

แฮร์ริสยังคงแต่งเรื่องต่อไปว่ามีการพยายามเอาหีบเลือกตั้งปลอมมาสับเปลี่ยนกับหีบจริง และทำเหมือนว่าเว็บไซต์ CTN ของเขาจะรายงานสถานการณ์ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เขาเผยแพร่ข่าวปลอมนี้ออกไปในวันที่ 30 ก.ย. มันก็ลามไปทั่วเว็บต่างๆ ราวกับไฟลามทุ่ง ซึ่งแฮร์ริสคำนวนไว้แล้วว่ามันจะลุกลามเช่นนั้น ข่าวนี้ถูกกระจายในเพจหลายเพจของเฟซบุ๊กที่แฮร์ริสสร้างขึ้นมาเองเพื่อการนี้และมีการโหมกระพือไฟจากความคิดเห็นของคนที่เชื่อปักใจอยู่แล้วว่าคลินตันจะโกงการเลือกตั้ง เลยทำเหมือนว่าข่าวปลอมนี้เป็นสิ่งพิสูจน์ความเชื่อพวกเขา CrowdTangle ซึ่งเป็นบริการติดตามจำนวนผู้ชมเว็บระบุว่ามีผู้แชร์ข่าวนี้รวม 6 ล้านคน

ข่าวปลอมนี้ยังทำให้กรรมการการเลือกตั้งในรัฐโอไฮโอสืบสวนในเรื่องนี้และออกมาบอกว่าไม่เป็นความจริง รวมถึงมีการแถลงข่าวปฏิเสธข่าวปลอมนี้ ซึ่ง จอน อัสเตด เลขาธิการรัฐโอไฮโอถึงขั้นกล่าวถึงเว็บ ChristianTimesNewspaper.com ว่าตัวเขาเองเป็นคริสต์ทำให้เขารู้สึกถูกล่วงเกินเมื่อมีสื่อที่อ้างชื่อชาวคริสต์นำเสนอเรื่องที่เป็นเท็จ

แต่จริงๆ แล้วแฮร์ริสบอกว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความเป็นคริสต์เลย เขาแค่ซื้อชื่อเว็บนี้มาจาก ExpiredDomains.net ด้วยเงิน 5 ดอลลาร์เท่านั้น แต่เขาก็ใช้เวลาเพียง 15 นาทีเพื่อปั้นเมฆแล้วก็รอรับรายได้จำนวนมากหลังจากนั้น แฮร์ริสระบุว่าเขาทำไปเพื่อเงินมากกว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง เขาบอกว่าเขากำลังร้อนเงินเพราะต้องจ่ายค่ากู้ยืมการศึกษา ค่ารถยนต์ และค่าเช่า

แน่นอนว่าเว็บของเขาบางเรื่องก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก แต่บางเรื่องก็ไปได้ดีอย่างเช่นการกุข่าวขึ้นมาว่ามีเหตุระเบิดทำให้เจ้าหน้าที่กรรมการพรรคเดโมแครตเสียชีวิต จนปั่นข่าวลือเรื่องการสมคบคิดสังหารเจ้าหน้าที่เดโมแครตในเวลาต่อมา ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ต่างก็เป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น

แฮร์ริสยังหลอกคนอ่านที่หูเบาต่อไปได้อีกด้วยข่าวปลอมอย่าง "ตำรวจนิวยอร์กกำลังจะฟ้องเครือข่ายค้าประเวณีเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ของ บิล คลินตัน" "ผู้ประท้วงทำร้ายทหารผ่านศึกไร้บ้านเสียชีวิตในฟิลาเดเฟีย" และเรื่อง "ฮิลลารี ฟ้องหย่า" แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริงโดยเว็บ Snopes.com ที่เป็นเว็บท้าพิสูจน์ข่าวลือ แต่พวกข่าวลืออื่นๆ ทั้งหมดนี้ก็ไม่มีข่าวใดเลยที่ทำให้คนเชื่ออย่างล้นหลามเท่าข่าวปลอมเกี่ยวกับหีบเลือกตั้ง

บารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐฯ ถึงขั้นบอกว่าข่าวปลอมพวกนี้เป็นภัยต่อประชาธิปไตย ทำให้คนติดอยู่ในฟองสบู่ของความเชื่อตัวเองโดยไม่สนใจว่าจริงหรือไม่ ขอแค่เข้ากับความคิดเห็นตัวเองก็พอ คำพูดของโอบามาตรงกับแนวคิดการหาประโยชน์ทางธุรกิจชั่วครั้งชั่วคราวของแฮร์ริสพอดี เขาเชื่อว่าผู้คนต้องการให้คนหาหลักฐานมาป้อนเพื่อสนับสนุนความเชื่อตัวเองไม่ว่าหลักฐานนั้นจะน่าเชื่อถือหรือไม่ก็ตาม แฮร์ริสยอมรับว่าผลตอบรับในตอนแรกก็ทำให้เขาประหลาดใจเหมือนกัน มันแทบจะเหมือนการทดลองทางสังคมวิทยา

แฮร์ริสเปิดเผยว่าตัวเขาจริงๆ ในทีแรกให้การสนับสนุนมาร์โค รูบิโอ นักการเมืองรีพับลิกันอีกคนหนึ่งแต่ในที่สุดก็โหวตให้โดนัลด์ ทรัมป์ แฮร์ริสบอกว่าจะยอมทำงานให้คลินตันเหมือนกันถ้าหากมีกำไรดี หลังจากนั้นเขาก็ทำการเปิดประมูลเว็บเป็นวงเงินหลักแสนดอลลาร์เพราะเว็บเขามีอันดับความนิยมที่ดี แต่เขาทำพลาดที่รอไปจนถึงหลังเลือกตั้ง เพราะกูเกิลประกาศว่าจะไม่ลงระบบโฆษณาในเว็บข่าวปลอมอีก เมื่อเว็บของแฮร์ริสขาดโฆษณากลุ่มผู้ประมูลก็มองว่าเว็บของเขาไม่มีมูลค่าอีกต่อไป

สิ่งที่เหลืออยู่สำหรับแฮร์ริสคือรายชื่ออีเมลล์ 24,000 บัญชีที่เขารวบรวมไว้ตอนที่เชิญชวนให้ผู้คนร่วมทำทุกอย่างเพื่อหยุดฮิลลารีไม่ให้ "ขโมยคะแนนเสียงเลือกตั้ง" โดยที่เขายังไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรกับรายชื่ออีเมลล์เหล่านี้ดี

ส่วนเรื่องที่ว่าเขารู้สึกผิดกับการกระจายข่าวปลอมออกไปหรือไม่นั้น แฮร์ริสอ้างว่าธรรมชาติของการเมืองเองก็มีลักษณะการคุยโวเกินจริงบ้าง แล้วก็เป็นเรื่องจริงครึ่งเดียวในตัวมันเองอยู่แล้ว การหาเสียงของใครก็ตามไม่มีอะไรจริงไปทั้งหมด แฮร์ริสยังได้กล่าวอ้างตามคำกล่าวของทรัมป์เมื่อไม่นานมานี้เช่นกันว่าพวกสื่อกระแสหลักต่างหากที่เป็นพวกชอบเสนอ "ข่าวปลอม"

 

เรียบเรียงจาก

From Headline to Photograph, a Fake News Masterpiece, New York Times, 18-01-2017

https://www.nytimes.com/2017/01/18/us/fake-news-hillary-clinton-cameron-harris.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net