Skip to main content
sharethis

อนุกรรมาธิการ ปรองดองฯ สปท. ยึดแนวทาง 66/23 ของพล.อ.เปรม และนำผลการศึกษา 9 คณะ มาพิจารณา พร้อมเชิญ ปชป. พท. นปช. และ กปปส. มาให้ข้อมูล-ความเห็น แต่ไม่ส่ง จม.ถึงทักษิณ เหตุไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน

 
23 ม.ค. 2560 สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา รวบรวมความคิดเห็นวิเคราะห์และสังเคราะห์ ประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดองทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงผลการประชุมนัดแรกวันนี้ (23 ม.ค.60) ว่า ได้กำหนดเป้าหมายการทำงาน ที่จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างพรรคและกลุ่มการเมืองยุติลง เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้  เบื้องต้นอนุกรรมาธิการ จะนำนโยบายและมาตรการ 66/23 และ 66/25 ในสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มาเป็นหลัก ซึ่งนโยบายดังกล่าวทำให้สงครามการเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลที่ยืดเยื้อในขณะนั้นยุติลงได้   นอกจากนี้จะคำนึงถึงความสามัคคีและสันติสุข ใช้หลักเมตตา ให้อภัย ยุติความเกลียดชัง ใช้หลักนิติรัฐ แบบที่พล.อ.เปรม เคยปฏิบัติ รวมไปถึงใช้กฎหมายปฏิบัติกับทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน และเชื่อว่า การประกาศนโยบายปรองดองของรัฐบาลจะลดความตึงเครียดสถานการณ์ทางการเมืองลง และจะทำให้การทำงานสำเร็จได้ เพราะรัฐบาลอยู่ในฐานะคนกลางไม่ใช่คู่ขัดแย้ง  และคนไทยก็ต้องการความปรองดองเช่นกัน ซึ่งแนวทางการทำงานของอนุกรรมาธิการฯ จะใช้เอกสารจาก 9 คณะ ที่เคยศึกษาเรื่องความปรองดองมาก่อนมาประกอบการทำงาน และจะเชิญประธานทั้ง 9 คณะ เช่น เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ดิเรก ถึงฝั่ง สถาบันพระปกเกล้า คณิต ณ นคร พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน มาพบปะ เพื่อให้ข้อมูลและตรวจสอบความรอบคอบของผลการศึกษาให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีเจตนาบิดเบือนข้อมูล รวมถึงได้ส่งจดหมายไปยังพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย กลุ่มนปช. และ กปปส.  ขอให้ทำเอกสารความเห็นที่เป็นทางการส่งกลับมาภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งกรอบการทำงานของอนุกรรมาธิการฯ จะใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน ก่อนเสนอสู่ที่ประชุม สปท. โดยมั่นใจ ว่าจะเป็นไปได้ด้วยดี  และทำงานร่วมกับรัฐบาลและ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้
 
ขณะที่ นิกร จำนง อนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยถึงวิธีการว่าจะเป็นการนิรโทษหรือไม่ แต่จะศึกษาจากเอกสารจากที่ 9 คณะเคยศึกษาไว้มาเป็นแนวทางและถอดบทเรียน ซึ่งการศึกษาของอนุกรรมาธิการฯ จะครอบคลุมในส่วนของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ผู้ชุมนุม แต่จะไม่ส่งจดหมายถึง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net