คณะทำงาน UN ร้องปล่อยตัวนักโทษคดี ม.112 เตือนคุมตัวโดยพลการขัด กม.ระหว่างประเทศ

คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ร้อง จนท.ไทยให้ปล่อยตัว 'พงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง' ที่ถูกควบคุมตัวในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยทันที-อย่างไม่มีเงื่อนไข ปธ.สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล ชี้คดีนี้พุ่งภายใต้รัฐบาลทหารไทย ทำลายภาพลักษณ์อย่างหนัก มีโอกาสกลายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหากทำอย่างเป็นระบบ
 

25 ม.ค. 2560 สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส รายงานว่า ในความเห็นที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2559 คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention - WGAD) ได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว พงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง โดยทันที พร้อมให้ชดเชยค่าเสียหายจากการควบคุมตัวโดยพลการที่กระทำต่อ พงษ์ศักดิ์ คณะทำงานฯ ยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับรูปแบบของการควบคุมตัวโดยพลการในกรณีข้อหาหมิ่นฯ และเตือนว่า “ในบางสถานการณ์ การแพร่กระจายของการจำคุก หรือการจำคุกเชิงระบบ หรือการลิดรอนเสรีภาพอื่นๆอย่างรุนแรง ซึ่งทั้งนี้ได้ละเมิดข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ อาจเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

“จำนวนผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการที่พุ่งสูงขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารไทย ได้ทำลายภาพลักษณ์ระหว่างประเทศของไทยอย่างหนัก หากกระแสนี้ยังดำเนินต่อไป การรณรงค์ที่เกินขอบเขตของรัฐบาลทหารที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มีโอกาสกลายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ดิมิทริส คริสโตปุโลส ประธานสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล FIDH กล่าว
 
วันนี้ FIDH และองค์กรสมาชิกอย่างสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ได้ตอบรับความเห็นของคณะทำงานฯ และเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัว หรือจำคุก ในข้อหาหมิ่นฯตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (lèse-majesté) โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของประเทศไทยกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่สามถึง 15 ปี สำหรับผู้ใดที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 
คณะทำงานฯ ยืนยันในความเห็นของตนว่า การควบคุมตัว พงษ์ศักดิ์ เป็นการกระทำโดยพลการ เพราะได้ขัดแย้งกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 10, 11, และ 19 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 และ 19 ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ข้อบทของกติกา UDHR และ ICCPR ที่กล่าวไว้ รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีเสรีภาพและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
 
ระหว่างพิจารณาคดีโดยลับ วันที่ 7 ส.ค. 2558 พงษ์ศักดิ์ อายุ 49 ปี อดีตมัคคุเทศก์ ได้ถูกศาลทหารกรุงเทพตัดสินจำคุก 60 ปี ข้อหาหมิ่นฯ จากการกระทำผิด 6 กรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุกกรรมละ 10ปี แต่เนื่องจาก พงษ์ศักดิ์ ให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 30 ปี คดีของ พงษ์ศักดิ์ มีอยู่ในรายงานร่วมของ FIDH และ สสส. 36 and counting - Lèse-majesté imprisonment under Thailand’s military junta (อ่าน 36 และที่ต้องนับต่อไป การคุมขังตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพภายใต้รัฐบาลทหารไทย)
 
คณะทำงานฯ พบว่า พงษ์ศักดิ์ ถูกควบคุมตัว “เพียงเพราะใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ” คณะทำงานฯ ยังพบว่าความคิดเห็นของ พงษ์ศักดิ์บนสื่อสังคม (social media) ที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกของพระราชวงศ์ไทยได้อยู่ในขอบเขตของความคิดเห็นและการแสดงออกที่รับรองโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 19 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 คณะทำงานฯกล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยได้ล้มเหลวในการอธิบายว่าข้อจำกัดใดได้นำไปใช้กับกรณีของพงษ์ศักดิ์ ว่าด้วยเรื่องของการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 (3)
 
คณะทำงานฯยังตัดสินอีกว่าสิทธิในการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรมของ พงษ์ศักดิ์ ไม่ได้รับการเคารพ หน่วยงานของสหประชาชาติค้นพบ "การละเมิดอย่างร้ายแรงต่างๆ" ต่อหลักการระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้สิทธิในการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม ประการแรก คณะทำงานฯกล่าวว่าศาลทหารกรุงเทพไม่ได้จัดทำ "ประชาพิจารณ์" ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 (1) ในประการที่สอง คณะทำงานฯได้เน้นความสำคัญว่า ศาลทหารกรุงเทพฯไม่ได้มีมาตรฐานของ "อำนาจศาลที่เป็นอิสระและเป็นกลาง" ตามที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 (1) และประการสุดท้าย คณะทำงานฯได้ให้ข้อสังเกตว่า การที่ไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์เป็นการละเมิดสิทธิของ พงษ์ศักดิ์ ที่จะได้รับการตรวจสอบคำพิพากษาของศาลยุติธรรมลำดับชั้นที่สูงกว่า ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 (5) การพิจารณาคดีของพลเรือนโดยศาลทหารฝ่าฝืนกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งย้ำโดยคณะทำงานฯ เนื่องจากศาลทหารมีอำนาจที่จะพิจารณาคดีของบุคลากรทางทหารสำหรับความผิดวินัยทหารเท่านั้น
 
วันที่ 12 ก.ย. 2559 รัฐบาลทหารไทยหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง 55/2559 เพื่อยกเลิกการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือน อย่างไรก็ดี คำสั่งนี้มีผลเฉพาะกับคดีที่ตัดสินหลังจากวันที่ 12 ก.ย. 2559 ซึ่งไม่รวมกับคดีในอดีต หรือคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ตั้งแต่รัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ 27 คน ถูกศาลทหารตัดสินจำคุกระยะยาว ขณะนี้อย่างน้อย 31 คดีหมิ่นฯยังคงอยู่ภายใต้อำนาจของศาลทหาร
 
คณะทำงานฯเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยให้สอดคล้องกับพันธสัญญาของไทยต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และกล่าวว่า ยินดีที่จะมีโอกาสได้มาเยือนประเทศ ”เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลในกระบวนการนี้”
 
“การแก้ไขมาตรา 112 ที่ไม่ต่อเนื่องของรัฐบาลไทยได้ถูกเปิดเผยโดยหลายหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดว่าการบังคับใช้มาตราดังกล่าวอย่างเมินเฉยนั้นไม่ได้สอดคล้องกับพันธสัญญาของไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รัฐบาลทหารต้องหยุดดำเนินการจับกุมโดยพลการด้วยมาตรา 112 และปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล พร้อมทั้งปล่อยผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธาน สสส.
 
รายงานของ  FIDH ยังระบุด้วยว่า พงษ์ศักดิ์ เป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคนที่สี่ที่ประกาศโดยคณะทำงานฯว่าถูกลิดรอนอิสรภาพโดยพลการ และสามคนที่คณะทำงานฯได้กำหนดว่าถูกลิดรอนอิสรภาพโดยพลการคือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข วันที่ 30 ส.ค. 2554 นักศึกษากิจกรรม ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (แบงค์) วันที่ 19 พ.ย. 2557 และ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง (กอล์ฟ) วันที่ 2 ธ.ค. 2558 คณะทำงานฯ ได้ร้องขอรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวทั้งสามคนและยินยอมการชดเชย
 
ปติวัฒน์ ได้ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2559 หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา และเนื่องในโอกาสเดียวกัน ภรณ์ทิพย์ได้รับการถูกปล่อยตัวจากทัณสฑทานหญิงกลาง กรุงเทพ สมยศ ยังคงถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตามกำหนดโทษจำคุก 10 ปี ด้วยมาตรา 112
 
ภายใต้การปกครองของคสช. จำนวนบุคคลที่ถูกควบคุมตัว และคุมขังด้วยมาตรา 112 ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค. 2557 ได้มีการจับกุมตัวบุคคลอย่างน้อย 90 คน ด้วยมาตรา 112 มี 43 คน ได้ถูกตัดสินจำคุกถึง 30 ปี ณ วันที่ 25 ม.ค. 2560 อย่างน้อย 61 คน กำลังจำคุก หรืออยู่ในระหว่างพิจารณาคดีข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในช่วงรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 บุคคลที่จำคุกจากข้อกล่าวหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีแค่หกคน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท