Skip to main content
sharethis
กฏหมายดีอีประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วยุบ 'ซิป้า' เข้าสู่ 'ดีป้า' ด้าน รมว.ดีอี เร่งตั้งสำนักงานใหม่เพื่อสานต่อโครงการไม่ให้สะดุด
 
28 ม.ค. 2560 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า หลังจากที่ พ.ร.บ.พัฒนาดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2560 ที่ผ่านมา ทำให้การจัดตั้ง 2 หน่วยงานใหม่ในกระทรวงดีอี ซึ่งหน่วยงานแรก คือ สำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ 'ดีป้า' สามารถดำเนินการได้ทันที
 
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสำนักงานส่งเสริมแตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้านั้น จะต้องโอนย้ายสำนักงาน พนักงาน รวมถึงทรัพย์สินทั้งหมดมาอยู่ใน ดีป้า และจะต้องเร่งตั้งกรรมการชั่วคราวขึ้นมาดำเนินการก่อน หลังจากนั้น จึงจะทำการแต่งตั้งกรรมการอย่างถาวรตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่การดำเนินงานโครงการต่างๆ ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก โดยเฉพาะการมุ่งเน้นในเรื่องของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีส่วนในการช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0
 
“ตอนนี้ได้แต่งตั้งให้ นางสาววิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล ปลัดกระทรวงดีอี ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการชั่วคราว โดยจะทำหน้าที่รักษาการในช่วงเวลา 180 วัน ก่อนจะมีการคัดเลือกบุคคลมารับตำแหน่งต่อไป เพื่อให้การทำงานในโครงการต่างๆ ดำเนินต่อเนื่องไปได้”
 
แหล่งข่าวจากซิป้า กล่าวว่า ภายหลังที่ พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ประกาศใช้งานไปแล้ว กรรมการซิป้า ต้องหมดวาระ ผู้บริหาร และพนักงานจะกลายเป็นพนักงานชั่วคราวทันที โดยพนักงานที่จะตามไปอยู่ในสำนักใหม่ คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ขึ้นอยู่กับสำนักดังกล่าวจะมีตัวชี้วัดผลงานว่า พนักงานที่ตามไปจะผ่านการประเมินหรือไม่ ดังนั้น จึงยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า จะมีพนักงานตามไปกี่คน หรือประสงค์จะยื่นใบลาออกเท่าไหร่ โดยปัจจุบัน ซิป้ามีพนักงานอยู่จำนวน 116 คน แต่สำนักงานใหม่ต้องมีบุคลากรจำนวน 200 คน เพื่อขับเคลื่อนการทำงาน
 
ทั้งนี้ ในส่วนของกรรมการสำนักงานใหม่นั้น นายพิเชฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี จะเป็นผู้คัดเลือกเอง โดยหลังการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา รัฐมนตรีต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชั่วคราวก่อน เพื่อทำงานภายใน 180 วันดังกล่าว ก่อนที่จะได้คณะกรรมการจริง ซึ่งมีกรรมการโดยตำแหน่ง 2 คน คือ ปลัดกระทรวงดีอี เป็นประธานคณะกรรมการ และมีเลขาธิการจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นสำนักงานใหม่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงดีอี ที่เหลืออีก 4 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีจะเป็นคนเลือกเอง โดยกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่กำกับดูแลในแง่นโยบาย จากเดิมที่ซิป้า มีกรรมการประมาณ 10 คน ทำหน้าที่บริหารงาน ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการกรรมการชุดใหม่จะเป็นผู้คัดเลือกเอง โดยคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้อำนวยการ คือ ต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปี ขณะที่กรรมการต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี
 
อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องคนที่ต้องเตรียมความพร้อมในการไปทำงานร่วมกับสำนักงานใหม่แล้ว โครงการที่เป็นโครงการต่อเนื่อง และงบผูกพันโครงการ ซิป้าจะต้องเตรียมทำแผนงานส่งต่อไปยังสำนักงานใหม่แล้ว คาดว่าจะมีเงินส่งมอบให้สำนักงานใหม่ประมาณ 300 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณปี 2559 ที่เหลืออยู่ประมาณ 30 ล้านบาท จากที่ได้มา 290 ล้านบาท และงบการเงินปีงบประมาณ 2560 ที่ได้รับมาอีก 270 ล้านบาท
 
นอกจากนี้ ยังได้เสนอกรอบงบประมาณปี 2561 สำหรับสำนักงานใหม่ด้วยที่กรอบงบประมาณ 1,077 ล้านบาท เนื่องจากสำนักงานใหม่ต้องทำงานในมิติเศรษฐกิจ และสังคมเพิ่มเติมด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net