กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ ยันร่างพ.ร.บ.สื่อฯ ไม่ใช่การเข้าแทรกแซงสื่อ

30 ม.ค. 2560 จากกรณีวานนี้ ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน 30 องค์กร ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริม จริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .. โดยเห็นตรงกันว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาสาระที่เน้นการควบคุมสื่อมวลชน โดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน สวนทางกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเอง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

วันนี้ เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา รายงานว่า พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึง กรณีนี้ว่า การกำหนดให้โครงสร้างคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 13 คน ที่แบ่งเป็นตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาล 4 คน ตัวแทนจากสื่อมวลชน 5 คนและผู้แทนจากบุคคลภายนอก 4 คนนั้น แม้ในคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีตัวแทนจากภาครัฐ แต่มีเพื่อทำงานด้านบริหารงบประมาณและสวัสดิการให้เหมาะสม  ซึ่งไม่ใช่การเข้าแทรกแซงสื่อ เพราะตัวแทนจากสื่อมวลชนยังคงเป็นเสีย­งข้างมากที่สามารถขับเ­คลื่อนการทำงานได้ อีกทั้งในร่าง พ.ร.บ. นี้ ยังได้กำหนดไว้อย่าง­ชัดเจน ว่าประธานคณะกร­รมการสภาวิชาชีพสื่อมว­ลชนแห่งชาติจะต้องมาจา­กสื่อมวลชนเท่านั้น    

พล.อ.อ.คณิต กล่าวด้วยว่า ขอยืนยันว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวไม่มีวาระซ่อนเร้น หรือประโยชน์ทับซ้อน อย่างไรก็ตาม  คาดว่าจะเสนอรายงานและร่างกฎหมายดังกล่าว ต่อวิป สปท.ในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของ ที่ประชุมสปท.  และหากได้รับความเห็นชอบ ก็จะส่งต่อคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อไป

พล.อ.อ.คณิต ยังได้กล่าวถึงที่หลายฝ่ายกังวลเกี่ยวกับใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อว่า ใบประกอบวิชาชีพมีความ­สำคัญเพื่อคัดกรองสื่อ­มวลชนที่จะมาทำหน้าที่­ตามกฎหมาย โดยเบื้องต้นกำหนดให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นผู้พิจารณากำหนดคุณสมบัติผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนผู้ที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอยู่แล้ว อาจไม่ต้องสอบใหม่ เพียงแต่ต้องเข้ารับการอบรมตามหลักเกณฑ์เท่านั้น  อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะต้องผ่านการพิจารณาในหลายขั้นตอน 

องค์กรสื่อยันค้านร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อ หวั่นสื่ออยู่ใต้กำกับอำนาจรัฐ

วันเดียวกัน องค์กรวิชาชีพสื่อแสดงความผิดหวังที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน (สปท.) ยังยืนยันจะเสนอร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... โดยไม่คำนึงถึงความห่วงใยที่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะนำไปสู่การปิดกั้นการตรวจสอบอำนาจรัฐและการลิดรอนเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น

เทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์กรสื่อ 30 องค์กรที่ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พระราชบัญญัติ ดังกล่าวฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา กล่าวยืนยันในวันนี้ (30 มกราคม) ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้มีเป้าหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานจริยธรรมของสื่อดังที่ พล.อ.อ. คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ ได้แถลงในวันนี้

“องค์กรวิชาชีพสื่อขอยืนยันอีกครั้งว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ออกแบบมาเพื่อลิดรอนเสรีภาพของสื่อในการรายงานข่าวสารและตรวจสอบอำนาจรัฐ และเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร” นายเทพชัยกล่าว

เทพชัย กล่าวอีกว่า การที่จะมีปลัดกระทรวงจาก 4 กระทรวงอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่จะจัดตั้งขึ้นภายใต้ร่างกฎหมายฉบับนี้ คือการเอาอำนาจรัฐเข้าไปอยู่ในกลไกที่จะควบคุมและกำกับสื่อ และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการมาดูแลงบประมาณที่จะให้แก่องค์กรวิชาชีพสื่อตามที่คณะกรรมาธิการฯ กล่าวอ้างแต่อย่างใด     
            
“การมีปลัดกระทรวงอยู่ในสภาแห่งนี้ไม่ใช่การถ่วงดุลอย่างที่อ้างอย่างแน่นอน แต่จะเป็นการทำให้สื่อต้องอยู่ใต้การกำกับของตัวแทนอำนาจรัฐ ปลัดกระทรวงคือ ข้าราชการที่ควรถูกสื่อตรวจสอบแต่กฎหมายฉบับนี้กลับทำให้ปลัดกระทรวงมีอำนาจในการกำกับและลงโทษสื่อ” นายเทพชัยกล่าว
           
ส่วนกรณีที่ พล.อ.อ.คณิต ยืนยันว่าสื่อมวลชนจำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และยกตัวอย่างคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างและนักบินที่เป็นอาชีพที่ต้องมีใบอนุญาตนั้น นายเทพชัยชี้แจงว่า สื่อมวลชนเป็นวิชาชีพของการรายงานข่าวสาร แสดงความคิดเห็นและการตรวจสอบอำนาจรัฐและกลุ่มผลประโยชน์แทนสังคม ที่ต้องอาศัยบุคลากรที่มาจากหลากหลายสาขาวิชา โดยไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาในสาขาใดสาขาหนึ่ง จึงไม่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมหรือกำกับของผู้มีอำนาจซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
            
“ที่สำคัญกว่านั้น การรายงานข่าว การแสดงความเห็น และการตรวจสอบ ไม่ควรจะมีใครมากำหนดเป็นมาตรฐานว่าต้องเป็นแนวทางใดแนวทางหนึ่งหรือต้องถูกใจคนที่มีอำนาจเท่านั้นถึงจะถูกต้อง” ประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปกล่าว
             
เทพชัยชี้แจงอีกว่า ตัวแทนขององค์กรสื่อได้พบปะและหารือกับ พล.อ.อ.คณิตและตัวแทนของคณะกรรมาธิการฯ หลายโอกาส แต่ทุกครั้งก็ยืนยันอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับเนื้อของร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะประเด็นการมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่มีอำนาจทางกฎหมายในการลงโทษสื่อและการออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ  และการให้ปลัดกระทรวงเป็นกรรมการของสภาวิชาชีพแห่งนี้โดยตำแหน่ง
          
“ขอยืนยันอีกครั้งว่า องค์กรวิชาชีพสื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกันนอกรอบหรือในระหว่างการชี้แจงอย่างเป็นทางการกับคณะกรรมาธิการฯ และไม่มีใครสมควรเอาไปอ้างว่าเราเห็นด้วยกับเนื้อหาของร่าง พระราชบัญญัตินี้” นายเทพชัยกล่าว
      
เทพชัยกล่าวยืนยันว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กรจะเดินหน้ายกระดับการคัดค้านร่าง พระราชบัญญัติ นี้ ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงอย่างมากต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยจะมีการยื่นจดหมายเปิดผนึกคัดค้านร่างกฎหมายนี้ต่อสมาชิก สปท. ผ่านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.ในวันพฤหัสบดีที่ 2 ก.พ.นี้ เวลา 10.00 น.ที่อาคารรัฐสภา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท