อ้าวเฮ้ย! 4 ตัวแทนสื่อชี้ร่าง กม.ถูกแก้จากเดิมเพื่อคุมสื่อ ขอลาออกอนุฯ สปท.

ประยุทธ์ ย้ำการจัดหลักสูตรอบรมสื่อมวลชนเป็นเพียงหลักสูตรอบรมด้านจริยธรรม ไม่ใช่การเข้าควบคุมการทำงานของสื่อแต่อย่างใด ระบุไม่ใช่แค่ปฏิรูปสื่อ แต่ทุกสาขาวิชาชีพควรกำหนดมาตรฐานให้ชัด ถาม กก.จะสั่งการได้อย่างไร ข้าราชการมีแค่ 4 คน

4 ตัวแทนสื่อ ชี้ร่างถูกแก้ จากเดิมไม่มีเนื้อหาคุมสื่อ

1 ก.พ.2560 จักรกฤษณ์ เพิ่มพูล อนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สปท. กล่าวถึงกระแสข่าวตัวแทนสื่อที่เป็นอนุกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ จะยื่นหนังสือลาออกจากอนุกมธ. เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ของสปท.ว่า เป็นเรื่องจริง ตัวแทนสื่อที่อยู่ในคณะอนุกมธ. 4 คนประกอบด้วยตน ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ สุวรรณา สมบัติรักษาสุข และอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ จะยื่นหนังสือลาออกจากอนุกมธ. เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ เดิมร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ศึกษาไว้ และสปท.มาสานต่อ โดยให้คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งอนุกมธ.ได้ศึกษาและรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ใช้เวลาเป็นปี จนตกผลึกเป็นร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา มีเนื้อหาในแง่ส่งเสริมสนับสนุนการทำหน้าที่สื่อ และให้สื่อกำกับดูแลกันเอง ไม่ได้มีเนื้อหาการควบคุมสื่อตามที่เป็นข่าว แต่เมื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน กลับถูกแก้ไขเนื้อหาไปจากเดิม ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระสำคัญ 
 
ทั้งนี้ หลักการสำคัญที่ถูกแก้ไขคือ 1.การให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจออกใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ ซึ่งเคยปรากฏในกฎหมายช่วงเผด็จการ และขัดกับบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติที่รับรองให้สื่อและประชาชนมีสิทธิในการแสดงความเห็น จึงเป็นกฎหมายย้อนยุคไปสู่เผด็จการ 2.องค์ประกอบสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีปลัดกระทรวง 4 กระทรวง ร่วมเป็นกรรมการ ถือว่าบิดเบือนหลักการโดยสิ้นเชิงจากที่เคยเสนอมาตั้งแต่สปช.ที่ให้สื่อมีความเข้มแข็ง แต่กลับกลายเป็นสื่อถูกบังคับควบคุมโดยกฎหมาย ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่า สปท.จะแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ แต่เนื้อหาที่แก้ไขเป็นสาระสำคัญ ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่อนุกมธ.นำเสนอจากที่ไปรับฟังภาคส่วนต่างๆมา การที่สื่อออกมาคัดค้าน ไม่ใช่การปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้คือการปิดหูปิดตาประชาชน สุดท้ายจะไปกระทบกับข้อมูลที่ประชาชนได้รับ อย่างไรก็ตามขณะนี้ต้องให้เกียรติที่ประชุมสปท. ซึ่งควรเปิดใจให้กว้าง รับฟังเสียงคัดค้าน ไม่ใช่ยืนยันจะเดินหน้าอย่างเดียว สิ่งที่ไม่สบายใจคือ มีน้ำเสียงคล้ายๆว่า การปฏิรูปสื่อต้องฟังเสียงรัฐบาลและผู้มีอำนาจด้วย ถือเป็นหลักที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะสื่อไม่สามารถรับใช้อำนาจรัฐได้

ประยุทธ์ย้ำไม่ใช่แค่ปฏิรูปสื่อ แต่ทุกสาขาวิชาชีพควรกำหนดมาตรฐานให้ชัด

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่่ผ่านมา  ที่ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ในเรื่องที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้เดินหน้านำเสนอ การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน อบรมด้านคุณธรรม จริยธรรม รวมไปถึงจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าวว่า การเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย จะต้องเป็นการปฏิรูปอย่างบูรณาการรวมกันทั้งหมด และในส่วนของกิจกรรมดังกล่าวนั้น เป็นเพียงการกำหนดควบคุมมาตรฐานการนำเสนอข่าวด้านจริยธรรมเท่านั้น โดยการขอความร่วมมือให้เข้ามาอบรมควบคุมด้านจริยธรรม และจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าวที่ผิด ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดเป็นปัญหาสังคมได้ แต่ไม่ใช่การเข้าไปควบคุมการนำเสนอเนื้อหาอย่างแน่นอน

"ท่านก็อ้างแต่จรรยาบรรณ แล้วจรรยาบรรณคืออะไร คือการสื่อสารให้ประชาชนมีโอกาสที่จะเลือกรับฟัง ติดตาม และเชื่อถือ ซึ่งต้องมีข้อมูลที่สมดุลกันทั้งสองทาง ไม่ใช่เอียงข้างใดข้างหนึ่งตลอดเวลาอยู่แบบนี้ ทำไม่ได้ มันทำให้ประเทศชาติเกิดความสับสนวุ่นวาย ประชาชนก็ขัดแย้งกัน รัฐบาล ข้าราชการก็ทำงานไม่ได้ นั่นคือปัญหา และที่จะจัดตั้งขึ้นมานั้น สปท.เป็นคนเสนอมา เพราะเขามองเห็นถึงปัญหาว่าเราต้องปฏิรูปทั้งหมด ผมไม่ได้ไปสั่งเขา อีกทั้งเรื่องการปฏิรูปสื่อก็อยู่ใน 11 วาระการปฏิรูปด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปสื่อมวลชน เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในแผนของการปฏิรูป และในทุกสาขาวิชาชีพในประเทศไทย ควรมีการกำหนดมาตรฐานให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างจรรยาบรรณ การอบรมให้มีคุณธรรมและจริยธรรม โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการทำงานขึ้น เพื่อคัดสรรบุคคลที่มีคุณสมบัติทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ จำนวน 13 คน เป็นข้าราชการ 4 คน และพลเรือยสามัญ 8 คน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเป็นการบูรณาการอย่างสอดคล้อง สามารถรับข้อเสนอแนะรวมไปถึงการแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมรับข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อนำมาพิจารณา และเป็นประโยชน์สำหรับการจัดหลักสูตรการอบรมด้านจริยธรรมจรรยาบรรณต่อไป

ถาม กก.จะสั่งการได้อย่างไร ข้าราชการมีแค่ 4 คน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า กรรมการที่ว่าจะสั่งการอย่างไร ในเมื่อทุกคนเป็นตัวแทนของแต่ละฝ่ายอยู่ในกรรมการนี้ ซึ่งกรรมการชุดนี้มีหน้าที่มอบหมายว่าทุกคนจะต้องทำอะไรบ้าง มีการตรวจสอบมาตรฐาน มีการฝึกอบรมให้ความรู้ต่างๆ ซึ่งกรรมการจะเป็นผู้กำหนดมา เพียงแต่ทุกคนต้องไปผ่านมาตรฐานของเขา ไม่ได้คุมว่าไม่ให้นำเสนอข่าว ซึ่งอาชีพอื่นก็ถูกคุมเรื่องวิชาชีพเช่นกัน

"อย่าไปกังวลว่ารัฐบาลไหนหรือรัฐบาลหน้าจะมาควบคุม เพราะท่านมีคนของท่านอยู่ในนั้น และในกรรมการต้องมีมติร่วมว่าจะทำอะไรอย่างไร ซึ่งในส่วนของกรรมการที่มีข้าราชการเพียง 4 คน จะสู้ส่วนอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชที่มีถึง 8 คนได้อย่างไร แต่ไม่ใช่เสนอว่าไม่ต้องมี ดังนั้นองค์กรต่างๆ ก็ต้องปฏิรูปตัวเองทั้งหมดให้เกิดการยอมรับและไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวง ลดปัญหาที่จะเป็นผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และผลกระทบที่จะส่งผลเสียต่อประเทศชาติ อย่าไปหวาดระแวงว่าจะถูกแกล้งปิด รัฐบาลจะสั่งปิด จะไปสั่งได้อย่างไร กรรมการไม่ได้มีมติให้ปิด ถ้าปิดก็ต้องฟ้องร้องกัน มันก็มีวิธีการต่อสู้อยู่แล้ว รัฐไปแทรกแซงไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

ที่มา ไทยโพสต์ คมชัดลึกออนไลน์ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท