Skip to main content
sharethis

เรื่อง ‘ผัวๆ เมียๆ’ ลดทอนความรุนแรงในครอบครัวให้เป็นเรื่องภายใน ผู้หญิงตกอยู่ในกระบวนการฆ่า ลงเอยด้วยการตอบโต้เพื่อเอาชีวิตรอด นักวิชาการเผยโครงสร้างสังคมหล่อเลี้ยงความรุนแรงในครอบครัวและประณามเหยื่อ สนใจครอบครัวอบอุ่นจนทำให้ผู้หญิงตกอยู่ในวังวนความรุนแรง แนะปรับแก้กฎหมาย พิจารณาบริบท ไม่มองแต่เหตุการณ์เฉพาะหน้า

ก่อนที่แพร (นามสมมติ) จะเปลี่ยนคำนำนามเป็นนักโทษหญิง เธอเคยอยู่กินกับสามี สามีที่บังคับให้เธอหลับนอนด้วย สามีที่ลักหลับเธอขณะที่เธอหลับไหลจากการทำงานอันเหน็ดเหนื่อย และเป็นสามีคนเดียวกับที่ใช้มีดจี้เธอเพื่อให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย เธอเลือกการหนีและเผชิญกับคำพิพากษาจากผู้คนรอบข้าง ก่อนจะติดคุกด้วยคดียาเสพติด

“เรามองว่าตัวเองเป็นคนเลวมาตลอด ทำไมเลวได้ขนาดนี้” คือตราบาปที่สังคมหยิบยื่นให้และเธอก็รับมันมาใส่ตัวโดยไม่บอกปัด เพราะเธอยังมองไม่เห็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กดทับผู้หญิงในสังคมไทย

แพรเป็นตัวอย่างของผู้หญิงที่ต้องเผชิญความรุนแรงในครอบครัว เพียงแต่เธอไม่ได้จบชีวิตในคุกด้วยข้อหาฆาตกรรมสามี นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระที่ทำงานกับผู้ต้องขังหญิงมาอย่างต่อเนื่อง บอกกับประชาไทว่า ผู้หญิงที่ติดคุกเพราะฆาตกรรมสามีของตนมีไม่มากเมื่อเทียบกับคดียาเสพติด ทว่า จำนวนไม่มากนี้กลับสะท้อนหลายสิ่งอย่างที่กระทำกับผู้หญิง

นภาภรณ์ตั้งคำถามว่า เราจะลงโทษทางอาญากับผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงมาเป็นเวลานานและตอบโต้จนอีกฝ่ายเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บอย่างไร

ในกรณีที่ฝ่ายหญิงกำลังถูกทำร้ายและหยิบอาวุธขึ้นมาตอบโต้จนทำให้อีกฝ่ายถึงแก่ชีวิต หากพิสูจน์ได้ ก็อาจเข้าข่ายป้องกันตนเอง อย่างไรก็ตาม ในงานศึกษาของสมชาย ปรีชาศิลปะกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง ‘เพศวิถีในคำพิพากษา’ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การป้องกันตัวของฝ่ายหญิงพบว่า ต้องมีการใช้อาวุธเป็นเครื่องมือ นั่นก็เพราะโดยสรีระร่างกายของผู้หญิงเสียเปรียบฝ่ายชาย จึงยากที่จะป้องกันตัวได้ด้วยมือเปล่า แต่เมื่อมีการใช้อาวุธก็มีแนวโน้มว่าศาลจะตัดสินว่าเป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ เมื่อบวกกับทัศนะที่ว่าการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติธรรมดาด้วยแล้ว การใช้อาวุธของฝ่ายหญิง ไม่ว่าจะทำให้ผู้เป็นสามีเสียชีวิตและบาดเจ็บ ก็ล้วนแต่เกินความสมควรแก่เหตุหรืออาจเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

(อ่านเพิ่มเติมในประเด็นนี้จากรายงาน ‘คุกหญิง: เพราะพวกเธอคือ ‘ผู้หญิงไม่ดี’?’ http://prachatai.com/journal/2016/10/68395)

“แต่จะมีอีกกรณีหนึ่งที่คล้ายกับกรณีของหมอนิ่ม (พญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ อดีตภรรยาและผู้ต้องหาในคดีจ้างวานฆ่าจักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม) ซึ่งการฆ่าไม่ได้เกิดขึ้น ณ จุดที่มีการกระทำรุนแรง แต่เป็นการวางแผน (ไม่ใช่ข้อสรุปของคดี แต่เป็นการอธิบายลักษณะความรุนแรงที่เกิดขึ้น) เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนมากในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เช่น ตอนที่ฝ่ายหญิงลงมือ อีกฝ่ายหลับอยู่หรือกำลังกินข้าว เราเอายาเบื่อใส่อาหาร ถ้าเป็นโทษทางอาญาแบบนี้จะลงโทษประหารชีวิต ซึ่งก็เป็นคดีที่ศาลไม่เชื่อหมอนิ่ม เพราะศาลชั้นต้นพิจารณาว่าหมอนิ่มทำ โทษที่ได้รับคือประหารชีวิต”

นภาภรณ์ตั้งข้อสังเกตที่ชวนตั้งคำถามต่อศาลว่า การที่ศาลนำเหตุแห่งความรุนแรงที่หมอนิ่มได้รับมาใช้เป็นแรงจูงใจให้ก่อคดี แล้วเหตุใดความรุนแรงที่หมอนิ่มได้รับเป็นเวลานานจนกดดันให้ต้องก่ออาชญากรรมตามที่ศาลเชื่อ จึงไม่เป็นเหตุแห่งการลดโทษ

ขณะที่ในต่างประเทศกลับมีวิธีการมองอาชญากรรมลักษณะนี้ด้วยมุมมองที่ต่างไปจากอดีต นภาภรณ์อธิบายว่า กรณีที่ผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงจากสามีหรือบุคคลในครอบครัวจนลงเอยด้วยการก่อคดีฆาตกรรม เราไม่สามารถมองแค่เหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นเกิดเหตุได้ แต่ต้องมองให้เห็นบริบทย้อนหลังทั้งหมด นี่จึงไม่ใช่คดีอาญาปกติ

“มันเป็นกระบวนการฆ่าอย่างหนึ่งที่ผู้หญิงต้องเจอ ขู่บ้าง บังคับบ้าง จนภาวะตรงนี้เหมือนเป็นกระบวนการฆ่าคู่ครองของตนเองโดยน้ำมือสามี ฝ่ายหญิงอาจจะเคยไปฟ้องตำรวจแล้วก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ฟ้องญาติพี่น้อง ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้ตนเองหลุดจากวัฏจักรนี้ แต่ก็ทำไม่ได้เนื่องจากเหตุผลมากมาย เพราะฉะนั้นผู้หญิงจึงตอบโต้”

กรณีผู้หญิงรายหนึ่งใช้มีดแทงฝ่ายชายขณะหลับ เพราะก่อนหน้านั้นฝ่ายชายเอามีดจี้คอและข่มขู่ว่าจะฆ่าฝ่ายหญิงแล้วฆ่าตัวเองตายตาม ซึ่งฝ่ายหญิงรอดมาได้ด้วยการเกลี่ยกล่อม แต่เรื่องราวความรุนแรงที่เธอเผชิญมาต่อเนื่องก็จบลงในคืนนั้นด้วยการลงมีด เพราะเธอกลัวว่าเหตุการณ์ที่เธอถูกกระทำจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และเธออาจไม่โชคดีเช่นครั้งนี้ หรือกรณีของผู้หญิงอีกคนหนึ่งมีอาชีพหาบขนมขาย แบ่งปันเงินส่วนหนึ่งให้แม่ของตน ขณะที่ฝ่ายชายก็ต้องการเงินเช่นกัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือแม่ของฝ่ายหญิงถูกฝ่ายชายด่าทอทุกวี่วันว่าเกาะลูกกิน ผู้หญิงรายนี้จึงตัดสินใจหนีไปอยู่กับแม่ แต่ฝ่ายชายก็ตามไปตบตีเธอต่อหน้าแม่ เธอจึงบอกให้ผู้ชายกลับบ้านและจะตามกลับไปภายหลัง เธอกลับไปจริงพร้อมกับยาฆ่าแมลง และนำไปแอบใส่ในอาหารให้ฝ่ายชาย

“ผู้หญิงมีกระบวนการที่จะสู้เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดหรือป้องกันคนที่เขารัก เพราะฉะนั้นเวลาศาลตัดสินก็จะมองว่าการฆ่าในกรณีลักษณะนี้เป็นคนละเรื่องกับการฆ่าแบบทั่วไป แต่เป็นการฆ่าที่ผู้ฆ่าเป็นเหยื่อมาก่อน ซึ่งทางฝรั่งมองว่าเหมือนเป็นการถูกจับไปเป็นตัวประกันหรือเรียกค่าไถ่ ตัวประกันก็โดนทุกวันๆ ก็ต้องหาทางเอาชีวิตรอด แต่จะสู้ก็สู้ไม่ไหวเพราะผู้ชายตัวใหญ่กว่า ก็ต้องกระทำตอนหลับหรือแอบใส่ยาฆ่าแมลง

“ศาลจึงมองเฉพาะจุดที่เกิดการฆ่าไม่ได้ ต้องดูย้อนกลับไปถึงประวัติผู้ฆ่าซึ่งจริงๆ ก็คือเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว เพราะฉะนั้นการตัดสินจึงแตกต่างจากการฆ่าทั่วๆ ไป แต่ของไทยถือว่าเหมือนกัน คำถามคือถ้าหมอนิ่มถูกตัดสินประหารชีวิตจริง มันยุติธรรมหรือไม่ ถึงศาลจะเชื่อว่าทำจริง แต่เป็นเหตุให้ประหารชีวิตเชียวหรือ ทั้งที่เขาโดนมากระทำรุนแรงมานาน”

“เคยคุยกับผู้หญิงคนหนึ่งในคุกตอนที่ทำงานประเด็นนี้ ถามว่าถ้าย้อนกลับไปจะทำมั้ย เขาบอก ทำ นี่ก็แปลว่ามันถึงที่สุดของกระบวนการแล้ว เขาจึงตัดสินใจทำแบบนี้ นั่นย่อมแปลว่าเราไม่มีกระบวนการช่วยเหลือคนเหล่านี้มาก่อนเลย แล้วคนเหล่านี้ก็ติดคุกแบบโดดเดี่ยว ถูกคนประณาม ต้องเจ็บปวดจากการถูกกระทำความรุนแรง เมื่อตอบโต้ก็เจ็บปวดกับความผิดที่ตนได้รับ นี่เป็นโครงสร้างที่ปล่อยให้ความรุนแรงยืดเยื้อและเป็นโครงสร้างที่ประณามผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ"

ดังนั้น การนิยามคำว่าป้องกันตัวจะต้องขยายความกว้างและเข้าใจบริบทมากกว่านี้ ส่วนการตอบโต้หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรง นภาภรณ์เสนอว่าต้องมองว่าเป็นการต่อสู้ของเหยื่อเพื่อความอยู่รอด ซึ่งถ้าสามารถทำความเข้าใจต่อสาธารณชน มีการปรับแก้กฎหมาย มีการใช้ดุลพินิจที่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ ความรุนแรงในครอบครัวก็จะถูกดูแลอย่างประณีตขึ้น

“ดิฉันคิดว่าเราต้องทบทวนเรื่องเหล่านี้อย่างรอบคอบและนำข้อเท็จจริงมาพูดกัน กฎหมายไทยอาจต้องมีการแก้ไขนิยาม ประการแรกคือนิยามของความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะหญิงต่อชายหรือชายต่อหญิง ว่าเป็นความรุนแรงที่มีความรุนแรงมากกว่า ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Assault Crime และโทษของมันเหมือนกับการฆ่าคนอื่นหรือพยายามฆ่า

“ในต่างประเทศ หากพิสูจน์ได้ว่าฝ่ายที่ถูกฆ่ากระทำอย่างรุนแรงต่อเนื่องกับเหยื่อจนเกือบจะเป็นการฆ่าอยู่แล้ว เรียกได้ว่าผู้หญิงตกอยู่ในกระบวนการฆ่าที่ดำเนินไป การตอบโต้ของผู้หญิงจึงไม่ใช่การเตรียมการมาฆ่าผู้บริสุทธิ์ แต่เป็นฆ่าเพื่อให้ตนเองมีชีวิตรอด ซึ่งเคยมีผู้หญิงบางคนที่ติดคุกเพราะเหตุนี้ แต่เมื่อเรื่องนี้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการศาลใหม่ เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังด้วย แล้วผู้หญิงที่ติดคุกอยู่ได้รับการปล่อยตัว ถามว่ามีความผิดหรือไม่ คิดว่ามี แต่มันไม่ใช่ความผิดเท่ากับการฆ่าทั่วๆ ไป ซึ่งกฎหมายจะต้องแยกแยะกรณีทำนองนี้”

แต่กฎหมายเป็นเพียงเหลี่ยมมุมเดียวของปัญหา สิ่งที่อยู่ใต้พื้นผิวของทัศนคติต่อความรุนแรงในครอบครัวของสังคมไทยที่ทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ดำรงอยู่ เมื่อเรื่อง ‘ผัวๆ เมียๆ’ เป็นเรื่องภายในครอบครัว ความรุนแรงระหว่างผัวเมียเป็นเรื่องปกติ เดี๋ยวก็ดีกัน ในส่วนของตัวผู้หญิงเองเมื่อเผชิญความรุนแรงไม่เพียงแต่ไม่มองว่าตนเองเป็นเหยื่อ แต่กลับยังคิดว่าตนเองก็มีส่วนผิด มองเป็นความอับอายที่ไม่ควรให้คนนอกรับรู้ ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเป็นเรื่องที่สังคมอดทนกับมันได้มากกว่าปกติ ทั้งที่มันเป็นโครงสร้างของความรุนแรง

นภาภรณ์วิพากษ์วิจารณ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ว่าเน้นเรื่องความปรองดองในครอบครัวมากเกินไป ทำให้เมื่อเกิดเหตุขึ้นกระบวนการที่ตามมามักเป็นการไกล่เกลี่ยให้กลับไปอยู่ด้วยกันอย่างในคดีหมอนิ่ม

“เราไม่ควรเอาเป้าหมายของการมีครอบครัวที่อบอุ่นเป็นเป้าหมายของการยุติความรุนแรง เราต้องบอกว่าถ้าอยู่ด้วยกันไม่ได้ก็เลิกกันซะ แต่เรากลับต้องการสร้างครอบครัวที่อยู่ด้วยกัน แม้จะตบตีกันบ้าง ก็ยังดีกว่าเลิกกัน นี่เป็นวิธีคิด เป็นมายาคติ เพราะถ้าความรุนแรงเป็นเหตุแห่งการหย่าร้างได้โดยไม่ยุ่งยากเกินไปหรือไม่ไปไกล่เกลี่ยจนดูเหมือนว่าฝ่ายที่ไม่ยอมเป็นฝ่ายผิด ดิฉันคิดว่ามันจะช่วยได้มาก

“แต่ถ้าปล่อยให้กระบวนการความรุนแรงนี้เดินไป ก็ทำให้ผู้หญิงตอบโต้ด้วยวิธีที่ไม่พึงตอบโต้ สำหรับดิฉันถือว่าไม่พึงทำ แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อทำไปแล้ว เราลงโทษเต็มที่ แต่เราต้องมีวิธีเบี่ยงเบนไม่ให้กระบวนการนี้นำไปสู่การฆ่า ต้องทำ แต่เมื่อมีการฆ่าเกิดขึ้น ผู้ที่เป็นเหยื่อมาก่อนก็ต้องได้รับความเป็นธรรมเช่นกัน”

ประเด็นที่นภาภรณ์กล่าวสร้างความวิตกกังวลให้แก่นักกฎหมายว่า จะเท่ากับให้ใบอนุญาตฆ่าหรือไม่

นภาภรณ์เห็นว่า การที่ผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงสักคนจะลงมือฆ่าสามีไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายดายเช่นที่เข้าใจ เพราะมีผู้หญิงที่ติดคุกจากคดีฆาตกรรมสามีไม่มาก

“เคยคุยกับผู้หญิงคนหนึ่งในคุกตอนที่ทำงานประเด็นนี้ ถามว่าถ้าย้อนกลับไปจะทำมั้ย เขาบอก ทำ นี่ก็แปลว่ามันถึงที่สุดของกระบวนการแล้ว เขาจึงตัดสินใจทำแบบนี้ นั่นย่อมแปลว่าเราไม่มีกระบวนการช่วยเหลือคนเหล่านี้มาก่อนเลย แล้วคนเหล่านี้ก็ติดคุกแบบโดดเดี่ยว ถูกคนประณาม ต้องเจ็บปวดจากการถูกกระทำความรุนแรง เมื่อตอบโต้ก็เจ็บปวดกับความผิดที่ตนได้รับ นี่เป็นโครงสร้างที่ปล่อยให้ความรุนแรงยืดเยื้อและเป็นโครงสร้างที่ประณามผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

“ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้เป็นอันตรายต่อสังคมเลย แต่ที่เขาทำตรงนั้นเพราะถูกบีบให้ทำ อย่างในคดีข่มขืน เราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่การโต้แย้งว่าถ้าปล่อยออกมาเดี๋ยวก็ไปข่มขืนอีก คือยังมีเหตุผลที่พอฟังได้ แต่ในกรณีผู้หญิง ไม่ใช่ว่าเขาจะไปเที่ยวฆ่าคนนั้นคนนี้ มีคดีหนึ่ง ผู้หญิงฆ่าสามีตนเอง แต่ระหว่างประกันตัวและสู้คดี ก็มีผู้ชายอีกคนมาแต่งงานด้วย ไม่ได้กลัวว่าจะโดนฆ่า แต่กลับเห็นใจ ยกขันหมากมาสู่ขอด้วย เพื่อต้องการให้ผู้หญิงเป็นที่ยอมรับของคนในหมู่บ้าน สุดท้ายศาลตัดสินจำคุกผู้หญิง แต่ฝ่ายชายก็คอย คดีแบบนี้ก็มีจริง”

ผู้หญิงคนหนึ่งที่ลงมือสังหารสามีจนพาตัวเองเข้ามาอยู่ในโลกหลังกำแพง การมองเฉพาะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่เราจะประทับตราพวกเธอว่าเป็นฆาตกร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net