Skip to main content
sharethis
เสวนา “กฎหมาย กฎ(ด) สื่อ คุ้มครอง หรือควบคุม” นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนระบุถึงประเด็นเรื่องเงินปีละ 100 ล้านบาท ที่จะสนับสนุนตั้งสภาวิชาชีพฯ ชี้อย่าลืมว่าสื่อก็เป็นปุถุชนและมีความเป็นไปได้ที่จะต้องวิ่งไปเป็นกรรมการ มีเงินมาล่อแบบนี้อาจจะเป็นตัวทำลายสื่อได้
 
4 ก.พ. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดเสวนา “กฎหมาย กฎ(ด) สื่อ คุ้มครอง หรือควบคุม” โดย นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่า กลไกที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เป็นสภาวิชาชีพที่เหมาะสม เพราะสภาวิชาชีพที่ถูกต้อง สังคมต้องมีส่วนร่วม โดยไม่มีอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากบทบาทของสื่อมวลชนกับอำนาจรัฐต้องแยกกัน แต่กลไกที่ปล่อยให้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซง ความเป็นกลางก็จะหายไป เห็นจากสภาวิชาชีพสื่อนี้ถูกออกแบบให้มีกรรมการ 13 คน แต่ 4 คนมีตัวแทนจากปลัดของกระทรวง 4 กระทรวง ซึ่งถือเป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งสูงสุด และหากบ้านเมืองกลับสู่ยุคปกติ ปลัดที่ถูกเลือกมาก็ต้องถูกเลือกมาจากฝ่ายการเมือง เวลาจะถูกตรวจสอบก็คงยากมาก และถือเป็นเรื่องประหลาดมากหากหน่วยงานรัฐถูกตรวจสอบ แต่กรรมการกลับมีตัวแทนรัฐไปตรวจสอบด้วย
 
รศ.จุมพล รอดคำดี อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปประเทส (สปช.) กล่าวว่า หากจะมีการปฏิรูป เราก็ต้องยึดหลักความมีอิสระ เสรีภาพของผู้ทำงานด้านสื่อ และประชาชน โดยการทำงานก็ต้องอยู่ในกรอบจริยธรรม กรอบวิชาชีพของตนเอง ด้วยเหตุผลนี้ จึงเห็นว่าต้องทำให้คนทำงานในวิชาชีพมีความคล่องตัว มีอิสระเสรีภาพ แต่กำกับด้วยความรับผิดชอบ จึงต้องมามองว่าจะทำอย่างไรให้ความรับผิดชอบเกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว โดยหลักการเกิดสภาวิชาชีพสื่อมวลชนฯ ไม่ได้ต้องการเพื่อควบคุม แต่เกิดขึ้นเพื่อช่วยส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพสื่อ ส่วนเรื่องการจดทะเบียน ในสภาปฏิรูปแห่งชาติฯในตอนนั้น แค่ต้องการให้คนทำวิชาชีพมีสังกัดชัดเจน ต้องแสดงตัวได้ว่า เป็นใคร อยู่องค์กรไหน ไม่ใช่ว่ามาแบบลอย ๆ แต่บางคนก็จะบอกว่าพวกนักข่าวอิสระจะทำอย่างไร ก็นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่สภาวิชาชีพฯ จะเป็นคนช่วยดูแลกำกับ แค่มาจดแจ้งมาขออนุญาตเท่านั้น
 
นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกล่าวว่าแม้ขณะนี้จะมีการถอนเรื่องนี้ออกไปก่อน แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะจากข้อมูลที่ได้รับมา ยังมีแนวความคิดทั้งเรื่องอำนาจการออกใบอนุญาต และโครงสร้างคณะกรรมการ โดยคนผลักดันยังยืนยันเดินต่อพอสมควร เพียงแต่เมื่อกระแสสังคมสูงก็อาจนำกลับไปปรับแก้ก่อน และลดทอนบางส่วน โดยในส่วน 4 ปลัดกระทรวงอาจยอมถอน แต่ในเรื่องใบอนุญาตก็ยังเป็นประเด็นหลักที่จะคงไว้ต่อไป เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำมาควบคุมการประกอบวิชาชีพสื่อ อย่างไรก็ตาม องค์กรสื่อจะมีการหารือกันเพื่อรับมือสถานการณ์ต่อไป
 
รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่าประเด็นเรื่องเงินปีละ 100 ล้านบาทที่จะได้รับการสนับสนุนตั้งสภาวิชาชีพฯ จะเป็นตัวทำลายสื่อได้ เพราะถึงเวลานั้น อย่าลืมว่า สื่อก็เป็นปุถุชน และมีความเป็นไปได้ที่จะต้องวิ่งไปเป็นกรรมการ เป็นการล่อเลย เรียกว่าเป็นโครงสร้างที่แข็งกระด้างมาก และอึดอัดว่า คนที่มาร่างกฎหมาย ส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของสื่อเลย นอกจากนี้ การจะมีกฎหมายมาดูแล เราขอแค่ว่า กำหนดว่าคนที่จะมาทำอาชีพสื่อมวลชน ต้องจัดการกันเอง เพราะขณะนี้ก็มีสภาหนังสือพิมพ์ เรามีกฎหมายอันเดียวก็พอว่า ใครก็ตามที่จะเข้ามาทำงานก็ต้องเป็นสมาชิกของสภาองค์กรสื่อโดยองค์กรที่มีอยู่แล้วก็ทำให้เข้มแข็ง และส่งเสริมให้เขามีการกำกับดูแลอย่างชัดเจน ปัจจุบันเรายังไม่มีพลังอำนาจในการดึงทุกองค์กรมาเป็นสมาชิก 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net