นักปรัชญาชายขอบ: มนุษย์กับเสรีภาพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จึงศีรษะโขกกำแพงแจ้ง ‘ศาล’
ว่าเจ็บปวดทรมานท่วมท้น
อยุติธรรมย่ำยีความเป็นคน
เป็นใครไม่เหลือทนเป็นคนไหม

- นักปรัชญาชายขอบ -


ภาพจากประชาไท

เมื่ออ่านที่ ฌอง ฌากส์ รุสโซ เขียนว่า “มนุษย์เกิดมาเสรี แต่เขาถูกพันธนาการอยู่ทั่วทุกแห่งหน ผู้เชื่อว่าตนเป็นนายคนอื่นกลับเป็นทาสเสียยิ่งกว่า” ผมไม่แน่ใจว่ามนุษย์เกิดมาเสรีจริงหรือไม่ ถ้า “เสรี” หมายถึง “เลือกได้” ก็แน่นอนว่าไม่มีใครเลือกเกิดได้

แต่เมื่อเกิดมาแล้วมนุษย์มีเสรีไหม ก็ย่อมจะมี เพราะอย่างน้อยเราก็มีประสบการณ์ว่าเราสามารถเลือกกระทำบางอย่างตามเจตจำนงของตนเองได้ แต่เราก็เลือกท่ามกลางพันธนาการทั่วทุกแห่งหนอย่างที่รุสโซว่า

เสรีภาพเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือไม่? นี่เป็นปัญหาพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ถกเถียงกันมากในทางปรัชญา แต่โดยรวมๆ แล้ว ไม่ว่านักปรัชญาที่เชื่อหรือไม่เชื่อว่าเสรีภาพเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ดูเหมือนพวกเขาจะเห็นว่าเสรีภาพเป็น “คุณค่า” (value) ที่พึงปรารถนาอย่างหนึ่งสำหรับมนุษย์ เพราะนักปรัชญาส่วนมากมีความโน้มเอียงที่จะเชื่อว่า เสรีภาพทำให้เรามีความเป็นมนุษย์ หรือทำให้เราสามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย เช่น ถ้าปราศจากเสรีภาพที่จะคิดและแสดงออกตามที่ตนคิด นักปรัชญาก็คงไม่สามารถสร้างความหมายอะไรเกี่ยวกับชีวิตและโลกได้

อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาเสรีภาพมักนำเราไปสู่การสูญเสียอิสรภาพในโลกที่เต็มไปด้วยพันธนาการ ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัด ก็เช่นกรณีการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของ “ไผ่ ดาวดิน” ผมไม่ได้ต้องการนำทฤษฎีมาวิเคราะห์ไผ่ เพราะผมไม่สามารถจะเข้าถึงจิตใจหรือตัวตนของเขาได้จริง แต่ผมก็อยากจะพูดถึงเขาจากความเข้าใจของและความรู้สึกของผม เพราะผมคิดว่าเป็นเรื่องแปลกหากเราซาบซึ้งกับการต่อสู้ของคนอย่างมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์, มหาตมะ คานธี และคนอื่นๆ แต่เราไม่เห็นค่าของคนธรรมดาสามัญที่ต่อสู้ในความหมายเดียวกัน เพียงแต่ต่างบริบท ต่างสถานการณ์กันเท่านั้น

สำหรับผม ไผ่เขายิ่งใหญ่จากสิ่งที่เขาทำโดยไม่ต้องนำไปเปรียบเทียบกับบุคคลที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ แต่ความหมายของสิ่งที่เขาทำมันคือความหมายเดียวกัน นั่นคือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะเมื่อเสรีภาพเป็นคุณค่า เสรีภาพจึงเป็นอุดมคติ เมื่อเป็นอุดมคติจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าพยายามต่อสู้เพื่อให้อุดมคติเป็นจริง จะเป็นจริงได้สมบูรณ์หรือไม่เราไม่ทราบ ทราบแต่เพียงว่าถ้าไม่มีการต่อสู้เพื่อเสรีภาพด้วยวิธีการต่างๆ สังคมมนุษย์ก็คงไม่สามารถผ่านพ้นยุคทาส ยุคศักดินาสวามิภักดิ์เป็นต้นมาถึงทุกวันนี้ได้

การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของไผ่ได้นำเขาไปสู่การสูญเสียอิสรภาพ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเสรีภาพที่จะยืนยันความถูกต้องของเขาสิ้นสุดลง เราลองจินตนาการถึงภาพไผ่ที่ยืนอยู่หน้าบัลลังก์ของผู้พิพากษา ระหว่างไผ่กับผู้พิพากษาใครคือผู้ที่มีเสรีภาพที่จะยืนยันความถูกต้องและความยุติธรรมบนหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายและหลักการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอันเป็นหัวใจของ “หลักนิติรัฐ” ได้มากกว่า?

คำถามดังกล่าว ทำให้เราต้องย้อนกลับไปหาข้อเขียนของรุสโซที่ว่า “ผู้เชื่อว่าตนเป็นนายคนอื่นกลับเป็นทาสเสียยิ่งกว่า” เสรีภาพจึงมีความหมายที่ซับซ้อน ไม่ใช่ว่าเรามีอิสรภาพทางร่างกายเพราะไม่ถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวจ กระทั่งเป็นผู้ถืออำนาจในการตัดสินถูก ผิดกับคนอื่นๆ จะแปลว่าเรามีเสรีภาพเสมอไป

ในความคิดทางปรัชญาศีลธรรมของอิมมานูเอล ค้านท์ เราไม่สามารถจะมีศีลธรรมและกระทำการต่างๆอย่างยุติธรรมได้ ถ้าเราไม่มีเสรีภาพในการใช้เหตุผลตัดสินถูกผิดอย่างปราศจากอิทธิพลครอบงำของอำนาจภายนอก และอารมณ์ความรู้สึกภายใน เช่นความกลัว ความเกลียดชังและอคติอื่นๆ ในแง่นี้เสรีภาพจึงหมายถึง การเผชิญหน้ากับอำนาจครอบงำบังคับโดยตรง เมื่อสยบยอมก็ย่อมไม่สามารถจะมีเสรีภาพได้ และการจะมีเสรีภาพก็จำเป็นต้องขัดขืนต่ออำนาจครอบงำบังคับ แม้กระทั่งความกลัว ความปรารถนา ความต้องการบางอย่างของตัวเอง เสรีภาพจึงมักต้องแลกด้วยการสูญเสีย ความเจ็บปวดขมขื่น กระทั่งอิสรภาพ

แต่ทำไมเราต้องยืนยันเสรีภาพ ก็เพราะเป็นหนทางเดียวที่เราจะสามารถปกป้องความเป็นมนุษย์ของเราเอาไว้ได้ มันไม่ใช่การปกป้องความเป็นมนุษย์ของเราคนเดียว แต่มันคือการยืนยันความเป็นมนุษย์ของทุกคน การรักษาเสรีภาพในการยืนยันความถูกต้องและความยุติธรรมของไผ่ ก็คือการพยายามปกป้องหลักการของส่วนรวมที่คุ้มครองเราทุกคน นั่นคือการปกป้องหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายและหลักสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่ต้องได้รับสิทธิประกันตัวเมื่อถูกดำเนินคดีโดยที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด

โชคไม่ดีที่การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของไผ่เกิดขึ้นในสังคมที่มีการพูดถึงธรรมะ ศีลธรรม ความดี คนดีตลอด 24 ชั่วโมง แต่คุณค่าที่ปลุกฝังกันมากเหล่านั้นก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเสรีภาพ การต่อสู้เพื่อเสรีภาพจึงไม่เคยมีพลังกระตุ้นมโนธรรมสำนึกทางสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งสะท้อนว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่เคยลงหลักปักฐานในประเทศนี้

การต่อสู้เพื่อเสรีภาพจึงเป็นการต่อสู้บนพื้นฐานคุณค่าอื่น ที่ไม่ใช่คุณค่าบนพื้นฐาน “ความเป็นไทย” ทว่าเป็นคุณค่าที่อยู่บนพื้นฐาน “ความเป็นคน” เราจะมีความเป็นคนก็ต่อเมื่อเรามีเสรีภาพที่จะคิดจะทำ จะเลือกในสิ่งที่เราเห็นว่าดีหรือถูกต้องตราบที่ยังเคารพสิทธิคนอื่น และเสรีภาพดังกล่าวจะมีหลักประกันที่แน่นอนก็ต่อเมื่อสังคมเรายึดมั่นใน “หลักนิติรัฐ” ซึ่งหมายถึงหลักการปกครองโดยกฎหมาย

แต่ต้องเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นบนกระบวนการที่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาที่อธิบายได้ว่ามีความยุติธรรม บนพื้นฐานของการเคารพ ปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาค หรือเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นตามอำเภอใจของผู้ปกครอง และตีความ บังคับใช้ตามอำเภอใจของอำนาจใดๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ฉะนั้น สังคมที่ทำลายหลักนิติรัฐ ก็คือสังคมที่มองประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพเป็นตัวอันตราย เป็นสังคมที่พูดถึงแต่ความสุข ความสามัคคี พูดถึงธรรมะ ศีลธรรม ความดี คนดี แต่ไม่เห็นคุณค่าความเป็นคน เมื่อทำลายหลักนิติรัฐก็คือการทำลายหลักประกันเสรีภาพและความเป็นคนของประชาชน คือการทำให้ประชาชนไม่สามารถจะเป็นเสรีชน ไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่พึงจะมี

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท