Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2560  พิพิธบางลำภู ถนนพระสุเมรุ กรุงเทพฯ มีการจัดงาน “วันผู้ใหญ่แห่งชาติ 2017 แด่ผู้ใหญ่สมัยโลกพัฒนา” โดยกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา พร้อมคำขวัญประจำปี “ผู้ใหญ่สมัยชาติพัฒนา ต้องออกนอกกะลา ชาติไทยเจริญ!”  

ภายในงานมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น เสวนาปัญหาชีวิตประเด็นลูกเป็นตุ๊ด (LGBT), ทอล์คโชว์ว่าด้วยกิจกรรมที่ (ดูเหมือน) ไร้สาระที่ลูกหลานชอบทำ, สอยดาวภาษาวัยรุ่น ลุ้นรับรางวัล “ชุดใหญ่ไฟกระพริบ”, สอนทำภาพสวัสดีวันจันทร์สำหรับส่งใน Line นอกจากนี้ กิจกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ การ ทดลองเป็นลูกหลานด้วยการทำข้อสอบ ONET และ PAT  มีรางวัล อาทิ สมุดสะสมความดี  โดยเป็นข้อสอบที่เคยถูกใช้จริงและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิ้น นักเรียนจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กล่าวถึงที่มาที่ไปของงานว่า ในเมื่อวันเด็กคือวันที่ผู้ใหญ่ลุกขึ้นมาบอกเด็กว่า พื้นที่ของเด็กคือตรงนี้ เด็กดีต้องเป็นแบบนี้ มีธีมเด็กดีแต่ละปี แล้วก็ให้เด็กรู้จักโลกของผู้ใหญ่ ซึ่งมีปืน มีรถถัง มีเก้าอี้นายกฯ ให้เด็กเล่น เราก็คิดกันว่าน่าจะลองทำด้านกลับบ้าง เราจึงคิดจัดงานขึ้นใน สัปดาห์ที่หนึ่งของเดือนสอง (วันเด็ก-สัปดาห์ที่สองของเดือนหนึ่ง) พร้อมทั้งแต่งคำขวัญ และแต่งเพลง “ผู้ใหญ่เอ๋ยผู้ใหญ่ดี”

“เราปฏิบัติการในการนิยามผู้ใหญ่กลับ และเนื่องจากผู้ใหญ่ใช้วันเด็กในการนิยามโลกผู้ใหญ่ให้เด็กรู้ เราทำบ้างเพื่อให้ผู้ใหญ่รู้ว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว” เพนกวิ้นกล่าว

สำหรับเพลงผู้ใหญ่เอ๋ยผู้ใหญ่ดีนั้นได้รับความนิยมอย่างยิ่งในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค เนื้อร้องมีดังนี้

ผู้ใหญ่เอ๋ยผู้ใหญ่ดีต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน (x2)
หนึ่ง! เปิดกว้างศาสนา
สอง! เห็นค่ามนุษย์มั่น
สาม! มีวิจารณญาณ
สี่! วาจานั้นไม่ยัดเยียดเหยียดหยาม
ห้า! ยึดมั่นในเหตุผล
หก! เคารพคนคิดต่าง
เจ็ด! รับฟังเด็กบ้างรับรู้โลกอย่างไม่กีดขวาง
แปด! ego ต้องขจัด
เก้า! ต้องปรับตัวตลอดกาล โลกใหม่กว้างใหญ่ไพศาล ให้เหมาะกับกาล นานาชาติพัฒนา
สิบ! ทำตนให้เป็นประโยชน์ ทำผิดก็ขอโทษอย่าโยนผิดให้ลูกหลาน



สำหรับการเสวนาปัญหาชีวิตประเด็นลูกเป็นตุ๊ด (LGBT) มีผู้ร่วมเสวนา คือ โตมร ศุขปรีชา ผู้เขียน Genderism และ ธันวา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้มีประสบการณ์ตรง มีเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี เป็นผู้ดำเนินรายการ

ผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่ง กล่าวว่า หากคนที่เป็นเพศที่สามเข้าทำงานในอาชีพราชการ หรือตำแหน่งสูง เขาจะถูกคนในสังคมหรือคนทั่วไปมองแบบไม่มั่นใจในตัวบุคคลนั้น

ธันวา กล่าวว่า ปัจจุบันอาชีพอาชีพส่วนใหญ่จะระบุเพศไว้แล้ว ข้อกำจัดเรื่องเพศที่ 3 จะมีสิทธิทำงานเท่าเทียมกับเพศอื่นก็ดูจะมีปัญหาน้อยลง องศ์กรหรือบริษัทนั้นยอมรับว่า เพศที่สามสามารถทำงานร่วมกับบุคคลอื่นได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถ แม้จะยังคงคิดว่าคนเหล่านี้มักใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ  อย่างไรก็ตาม สังคมก็จะตัดสินว่าคนที่ทำงานในระดับสูงควรจะเป็นชายกับหญิง การที่จะให้สังคมยอมรับ บุคคลเหล่าต้องเริ่มค่อยๆ เปลี่ยนตัวเองให้คนในสังคมเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยค่อยเป็นไป แล้วสุดท้ายสังคมจะยอมรับเราเอง

ธันวา กล่าวอีกว่า หากใครที่มีครอบครัวแล้วพบปัญหาลูกเป็นสาวประเภทสองจนรับไม่ได้ อยากให้ลองเปิดใจดูว่าคนแบบนี้ใช้ชีวิตอย่างไร เพราะครอบครัวคือกำลังใจที่ดีที่สุดของลูกที่จะออกไปเจอกับโลกภายนอก ครอบครัวควรลองศึกษาและสังเกต เพราะโลกของคุณก็แบบหนึ่ง โลกของ กระเทย ทอม ตุ๊ด ก็จะมีอีกแบบและการใช้ชีวิตของเขาจะเป็นอีกแบบ ถ้าครอบครัวละทิ้งเขา สิ่งที่ตามมาคือเขาจะอยู่ไม่รอดในสังคม ดังนั้นครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญให้กำลังใจเขาและเข้าใจกับสิ่งที่เขาเป็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net