นายทรัมป์ กำแพงเบอร์ลินและคลื่นผู้อพยพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

นายมิคาเอล มูลเลอร์ นายกเทศมนตรีของนครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันออกมาเตือนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ว่าอย่าได้สร้างกำแพงตามชายแดนสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกเพื่อป้องกันการหลบหนีเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายเพราะจะสร้างความทุกข์ทรมานให้กับประชาชน เช่นเดียวกับกำแพงเบอร์ลินที่มีตัวตนอยู่ช่วงปี 1960 ถึง ปี 1989  เคยทำเช่นนั้น  คำเตือนเช่นนี้ได้รับการตอกย้ำโดยประธานาธิบดีของอิหร่านซึ่งประชาชนของตนถูกสั่งห้ามเข้าประเทศสหรัฐฯ ชั่วคราวที่แสดงผ่านทวิตเตอร์ในการเปรียบเปรยกำแพงของนายทรัมป์กับกำแพงเบอร์ลิน  หรือก่อนหน้านี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสก่อนจะมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ต่อนโยบายหาเสียงของนายทรัมป์ว่าเขาไม่ใช่ชาวคริสต์ หากเรียกร้องให้มีการเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมายและสัญญาว่าจะสร้างกำแพงระหว่างสหรัฐฯและเม็กซิโก

บุคคลสำคัญโดยเฉพาะ 2 คนแรกดังได้กล่าวมาทำให้ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจว่าเหตุใดจึงใช้กำแพงเบอร์ลินเป็นตัวเปรียบเปรยกับการสร้างกำแพงตามชายแดนของสหรัฐฯและเม็กซิโก ทั้งที่บริบททางการเมืองของสิ่งก่อสร้างทั้ง 2 นั้นแตกต่างกันอย่างยิ่ง สำหรับกำแพงเบอร์ลินนั้นถูกสร้างในช่วงสงครามเย็นโดยรัฐบาลเยอรมันตะวันออกซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ เพื่อปิดกั้นไม่ให้ชาวนครเบอร์ลินตะวันออกและส่วนอื่นๆ ของประเทศซึ่งเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือหลั่งไหลไปสู่เยอรมันตะวันตกที่เป็นทุนนิยม  เป็นที่น่าสนใจว่าเยอรมันตะวันออกไม่ได้รับการรับรองจากสหรัฐฯ กับตะวันตกและประเทศโลกที่ 3 อีกเป็นจำนวนมาก เยอรมันตะวันออกจึงถือได้ว่ามีความเปราะบางทางการเมืองอย่างยิ่ง การปกครองประเทศแบบเผด็จการเช่นเดียวกับการสังหารพลเมืองของตนเพื่อไม่ให้หลบหนีผ่านกำแพงเบอร์ลินซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ยิ่งทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลในการปกครองประเทศลดลงเรื่อยๆ  ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ของเยอรมันตะวันออกหมดอำนาจ ประเทศเยอรมันก็สามารถรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยสามารถกล่าวได้ว่าเยอรมันตะวันออกเข้ารวมเป็นส่วนหนึ่งของตะวันตกเสียมากกว่าเพราะระบอบการปกครองและเศรษฐกิจรวมไปถึงรัฐธรรมนูญเป็นของเยอรมันตะวันตกทั้งสิ้น

ในทางกลับกัน สำหรับสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกนั้นมีความเป็นรัฐชาติกับรูปแบบการเมืองที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลกและถูกต้องชอบธรรมอย่างชัดเจน ที่สำคัญประชาชนก็ไม่ได้มีความผูกพันเป็นประเทศเดียวกันเหมือนกับชาวเยอรมันตะวันออกและตะวันตก แม้จะมีความผูกพันอยู่ก็ได้แก่ชาวเม็กซิโกที่อพยพมาตั้งรกรากในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ   มลรัฐชายแดนกับบ้านเกิดของพวกเขา  แม้ว่าพื้นที่หลายส่วนของสหรัฐฯจะเคยเป็นของเม็กซิโกมาก่อนแต่สหรัฐฯมีความชอบธรรมต่อพื้นที่เหล่านั้นมานานกว่า 100 ปี   การเปรียบเปรยระหว่างกำแพงเบอร์ลินและกำแพงที่นายทรัมป์จะสร้างจึงไม่สมเหตุสมผล  ด้วยสหรัฐฯมีสิทธิในการสร้างกำแพงดังเช่นเรามีสิทธิในการสร้างรั้วกั้นที่ดินของตัวเอง  

นอกจากนี้การตำหนิเฉพาะนายทรัมป์ ในเรื่องการสร้างกำแพงก็ไม่ยุติธรรมอีกเช่นกัน เพราะก่อนหน้านี้สหรัฐฯ พยายามสร้างสิ่งกีดขวางระหว่างชายแดนระหว่างตนกับเม็กซิโกมากว่า 2 ทศวรรษแล้วคือในรูปแบบของรั้ว โดยเริ่มต้นในสมัยของประธานาธิบดีบิล คลินตันเมื่อปี 1994 ซึ่งปัจจุบันมีความยาวกว่า 930 กิโลเมตร  แต่ก็ถือว่าไม่เพียงพอเพราะความยาวของชายแดนของสหรัฐฯกับเม็กซิโกซึ่งมีความยาวกว่า 3 พันกิโลเมตร อันก่อให้เกิดปัญหาสารพัดสำหรับการก่อสร้างรั้ว (ซึ่งนายทรัมป์ต้องพบแน่นอนในอนาคตในการสร้างกำแพงและอาจหนักหนากว่าด้วย) อย่างเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม สิทธิเหนือที่ดินของชาวท้องถิ่นในบริเวณก่อสร้าง ทุนและแรงงานในการสร้าง ฯลฯ

เช่นเดียวกับปัญหาทางการเมืองภายในของสหรัฐฯ เอง แต่ก็มีความพยายามของรัฐบาลอเมริกันภายใต้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (ผู้ถวายการต้อนรับแก่สันตะปาปาองค์ก่อนคือสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16  อย่างอบอุ่น) และพรรครีพับลิกันในการเสริมสร้างรั้วเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายหรือแม้แต่รัฐบาลยุคประธานาธิบดี บารัก โอบามาเองก็ยังดำรงนโยบายเช่นนี้สืบมา ด้วยการลักลอบเข้าประเทศไม่ได้มาจากชาวเม็กซิโกเพียงอย่างเดียวแต่ยังจากชาวอเมริกากลางจำนวนมากซึ่งใช้เม็กซิโกเป็นทางผ่านในการหลบหนีเข้าสหรัฐฯ อันก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ผู้อพยพในปี 2014 นั่นคือคลื่นการหลบหนีเข้าสหรัฐฯ ของผู้หญิงและเด็กจำนวนหลายหมื่นคนจากเอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา และฮอนดูรัส

อย่างไรก็ตามการสร้างรั้วดังกล่าวทำให้ผู้อพยพต้องหลีกเลี่ยงไปยังการเดินทางผ่านทะเลทรายอันกว้างใหญ่แทน เพื่อหลบหนีเข้าสหรัฐฯ ช่วงระหว่างปี 1998 จนถึงปี 2004 มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 1,954 ศพตามชายแดนสหรัฐฯ และเม็กซิโก ในขณะมีผู้เสียชีวิตจากความพยายามในการข้ามกำแพงเบอร์ลินเช่นถูกทางการเยอรมันตะวันออกสังหารเพียงแค่ 139 ศพ ดังนั้นถึงแม้นายทรัมป์จะไม่สร้างกำแพง ปัจจุบันและอนาคตก็จะยังมีผู้เสียชีวิตและทุกข์ทรมานอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังต้องใช้รั้วในการป้องกันการนำเข้ายาเสพติดทางชายแดนตะวันตกเฉียงใต้ โดยกลุ่มค้ายาเสพติดของเม็กซิโก ประมาณการว่ากลุ่มค้ายาเสพติดของเม็กซิโกทำเงินได้มากที่สุดเกือบ 3 หมื่นล้านเหรียญฯ จากการค้ายาในสหรัฐฯ ผสมกับอาชญากรรมด้านอื่นๆ อันเกิดจากคลื่นผู้อพยพซึ่งทำให้คนอเมริกันจำนวนมากวิตกกังวล มีการระแวงถึงขั้นที่ว่าผู้ก่อการร้ายอย่างเช่นกลุ่มไอเอสจะสามารถแทรกซึมเข้ามาในประเทศผ่านชายแดนเม็กซิโก  อีกทั้งรัฐยังต้องใช้งบประมาณอีกเป็นจำนวนมหาศาลในการขับไล่ผู้อพยพที่สร้างปัญหาและมีสถิติอาชญากรรมออกไป จึงทำให้ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยเฉพาะนายทรัมป์สัญญาว่าจะสร้างกำแพงอันมีความมั่นคงและทั่วถึงกว่ารั้วไปตลอดพรมแดน

การปิดกั้นพรมแดนอย่างหนาแน่นอย่างกำแพงของนายทรัมป์อาจไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะแก้ไขปัญหาผู้อพยพ การลักลอบนำเข้ายาเสพติดและอาชญากรรมอื่นๆ ได้อย่างแท้จริง แต่ผลที่เห็นชัดเจนคืออาจช่วยสร้างความนิยมให้กับนายทรัมป์ได้ อย่างน้อยก็ลบคำสบประมาทที่ว่าเขาไม่สามารถทำตามที่สัญญาไว้ตอนหาเสียง สมมติว่าในอนาคต นายทรัมป์สามารถสร้างกำแพงได้เสร็จสมบูรณ์และใช้กลยุทธ์อื่นควบคู่ไปด้วยจนสามารถสกัดกั้นการไหลบ่าของคลื่นอพยพได้  ก็จะทำให้เม็กซิโกและหลายประเทศในอเมริกากลางขาดรายได้จากที่แรงงานเหล่านั้นส่งกลับมายังครอบครัว ซึ่งตามมุมมองของสันตะปาปาเป็นการขัดแย้งกับศีลธรรมที่ปรารถนาให้รัฐเป็นผู้ใจบุญสุนทานคอยช่วยเหลือผู้ยากไร้แม้เป็นชาวต่างชาติ  แต่สำหรับมุมมองของคนอเมริกันจำนวนมากก็คงไม่ต่างจากมุมมองของชาวไทยพุทธต่อแรงงานพม่าหรือชาวโรฮิงญาที่พยายามลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย ศีลธรรมจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าใดนัก

ถ้าโยงไปถึงเรื่องประชาธิปไตยก็ถือได้ว่าซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก  ศีลธรรมตามแบบสันตะปาปานั้นสอดคล้องกับแนวคิดประชาธิปไตยเสรีนิยมที่ยอมรับความหลากหลายของเชื้อชาติและศาสนาจนก้าวล่วงพรมแดนรัฐชาติ แต่ในขณะเดียวกับคนอเมริกันจำนวนมากซึ่งยึดถือประชาธิปไตยที่อิงกับลัทธิชาตินิยมเห็นว่าผู้อพยพอย่างเช่นเม็กซิโกและอเมริกากลางนั้นเข้ามากอบโกยทรัพยากรและแย่งงานของคนอเมริกันเช่นเดียวกับการสร้างปัญหาอื่นๆ

เหล่านี้เป็นสาเหตุว่าทำไมนายทรัมป์จึงได้เรียกร้องให้เม็กซิโกจ่ายค่าก่อสร้างกำแพงเพราะเม็กซิโกได้ประโยชน์จากบรรดาผู้อพยพเหล่านั้นมานาน[1] แม้คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยตระหนักดีว่าบรรพบุรุษของตนก็เป็นผู้อพยพเช่นเดียวกัน แต่พวกเขาก็ภูมิใจว่าตระกูลและตัวเขาเองสามารถถูกดูดกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกันได้ อันแตกต่างจากชาวเม็กซิโกและชาวอเมริกากลางจำนวนมากที่ยังคงยึดติดอยู่กับอัตลักษณ์และผูกพันกับประเทศของตน[2] การที่รัฐไม่ได้ให้สัญชาติรวมไปถึงขับไล่คนเหล่านั้นออกไปย่อมเป็นประชาธิปไตยในอีกมิติหนึ่งที่รัฐในฐานะเป็นองค์กรของประชาชนได้ทำเพื่อประชาชนซึ่งผูกพันและภักดีต่อประเทศนั้นอย่างแท้จริง  แนวคิดเช่นนี้ล้วนมีอิทธิพลต่อการเมืองของสหรัฐฯ ก่อนตัวนายทรัมป์จะเข้ามาในแวดวงดังกล่าวเสียอีก

นอกจากนี้ คำสั่งฝ่ายบริหารของนายทรัมป์ที่ห้ามไม่ให้พลเมืองของประเทศที่ส่วนใหญ่นับถืออิสลามจำนวน 7 ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐฯเป็นเวลา 90 วันและยุติการรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศเป็นเวลา 120 วัน โดยเฉพาะชาวซีเรียนั้นไม่มีเวลาจำกัด อันนำไปสู่การประท้วงของคนอเมริกันหัวเสรีนิยมและชาวโลกจำนวนมหาศาล ยังน่าจะตอกย้ำให้มุมมองต่อการสร้างกำแพงและนโยบายผู้อพยพของนายทรัมป์เกิดความอื้อฉาวยิ่งขึ้นในภายหลัง   นางสาวมาลาลา  ยูซาฟไซ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้บอกว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ปิดประตูต่อหน้าบรรดาเด็กๆ แม่ๆ และพ่อๆ เธอหัวใจแตกสลายที่ว่า อเมริกาหันหลังให้กับประวัติศาสตร์อันน่าภูมิใจในการต้อนรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ประชาชนผู้ซึ่งช่วยสร้างประเทศ ซึ่งพร้อมจะทำงานหนักสำหรับโอกาสดีๆในการใช้ชีวิตใหม่  ความคิดของเธอซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเสรีนิยมในวงการฮอลลีวูดอันผลิตภาพยนตร์ที่มีแนวคิดเช่นนี้จำนวนมากค่อนข้างคลาดเคลื่อนจากความจริง อันทำให้มีคนเข้าใจผิดคิดว่าสหรัฐฯ พร้อมจะรับใครเข้ามาก็ได้

เป็นเรื่องจริงที่ว่าสหรัฐฯ ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมาล้วนแต่มีรากฐานมาจากผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ[3] แต่สหรัฐฯ ได้กลายเป็นรัฐชาติที่มีความชัดเจนในเรื่องการคัดเลือกหรือจัดการกับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยมานานแล้ว  มีสถิติว่าสหรัฐฯ รับผู้อพยพเข้าประเทศปีละ 1 ล้านคน ซึ่งถ้าปราศจากการคัดเลือกก็คงมีคนเข้าหลั่งไหลเข้ามามากกว่านี้ไม่รู้จักกี่เท่า แม้แต่การขอวีซ่าเพื่อเข้าไปยังสหรัฐฯ เพียงชั่วคราว ผู้ขอยังต้องพบกับกรรมวิธีมากมายและซับซ้อนดังที่โน้ส อุดม        แต้พานิชได้เสียดสีในการแสดงเดี่ยวครั้งหนึ่งของเขา  เช่นเดียวกับการรับผู้ลี้ภัยซึ่งตามสถิติของปี 2016 สหรัฐฯ รับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ 84,000 คนโดยมีชาวซีเรียเพียง 12,486 คน ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับเยอรมันซึ่งรับผู้อพยพซีเรียในปีเดียวกันถึง 300,000 คน (ปี 2015 รับไปจำนวนกว่าล้านคน) เพราะแต่เดิมนั้นสหรัฐฯ ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีกระบวนการคัดเลือกผู้ลี้ภัยที่เข้มงวดที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง จึงน่าเป็นปัจจัยให้นายทรัมป์กล้าตัดสินใจสั่งระงับการรับเข้าผู้อพยพชั่วคราว เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอาจเพราะเห็นว่าเป็นจำนวนเล็กน้อย แต่ก็ถูกนักกิจกรรมและพวกหัวเสรีนิยมโจมตีและประท้วงจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการสั่งห้ามการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ของบุคคลที่มีสัญชาติของประเทศต้องห้ามดังที่ได้กล่าวมาด้วย อันถือได้ว่าเป็นความคลุมเครือและความบกพร่องของคำสั่งฝ่ายบริหารที่ส่งผลให้นายทรัมป์เสียคะแนนความนิยมไปอีกมากโดยเฉพาะผลกระทบที่มีกับบุคคลที่ถือ 2 สัญชาติ ผสมกับการเล่นเกมการเมืองของพรรคเดโมแครต

สาเหตุสำคัญที่สหรัฐฯ มีนโยบายเข้มงวดดังกล่าวก็เพราะมันกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่อยู่คู่กับสหรัฐฯ มานานสำหรับโดยเฉพาะพรรครีพับลิกันนั้นมักต่อต้านผู้อพยพเป็นพิเศษ อย่างเช่นในปี 1924 ประธานาธิบดีแคลวิน คูลิดจ์ได้ลงนามในกฎหมายซึ่งยุติคลื่นของผู้อพยพครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา และกฎหมายดังกล่าวใช้ศาสตร์จอมปลอมในการจำกัดการเข้ามาของกลุ่มเชื้อชาติซึ่งรัฐถือว่าด้อยทางสังคมอย่างเช่นคนเชื้อสายอิตาลีและ   ยิวจากยุโรปตะวันออก แม้แต่ประธานาธิบดีที่มาจากพรรคเดโมแครตเอง อย่างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ ไม่ยอมรับผู้อพยพ (หรือผู้ลี้ภัย) ชาวยิวจากยุโรป จนกระทั่งปลายสงคราม ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี โรสเวลต์จึงได้ยอมรับผู้อพยพเหล่านั้นจำนวนแค่ 1 พันคนเข้าประเทศและจำกัดพื้นที่ของพวกเขาให้อยู่แต่ในฐานทัพประจำนครนิวยอร์ก

นอกจากนี้นางสาวมาลาลาซึ่งได้เดินทางเข้าพบและแสดงความชื่นชมนายโอบามาในปี 2013 อาจลืมไปว่านายโอบามาในช่วง 8 ปีที่ดำรงตำแหน่งก็ถือว่าเป็นประธานาธิบดีที่เนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมายมากที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 2.5 ล้านคน มากเสียยิ่งกว่าประธานาธิบดีทุกคนรวมกันในประวัติศาสตร์ (อาจเพราะเธอสนใจแต่ drone หรืออากาศยานไร้คนขับเป็นสำคัญ)  แม้ว่าเขาจะมีหัวเสรีนิยมและมาจากพรรคเดโมแครตก็ตาม  อันสะท้อนให้เห็นว่าความพยายามในการดูดกลืนผู้อพยพต่างชาติเข้ากับสังคมอเมริกันซึ่งมักโอ้อวดตนว่าเป็น Melting Pot หรือสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันของคนต่างเชื้อชาติและต่างวัฒนธรรมก็ประสบกับปัญหามากมายเพราะผู้อพยพจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะจากชายแดนเม็กซิโก มีประวัติอาชญากรรมและเป็นภัยต่อความมั่นคงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การที่นายทรัมป์สัญญาว่าจะเนรเทศผู้อพยพดังกล่าวกว่า        3 ล้านคนก็ไม่ใช่ความแตกต่างที่น่าตกใจเท่าไร หรือไม่น่าจะให้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงตำหนินายทรัมป์ได้ถนัดพระโอษฐ์นัก เพราะก่อนหน้านี้พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์อันดีต่อนายโอบามาจนดูเหมือนว่าได้มองข้ามสถิติเช่นนี้ของรัฐบาลชุดก่อนไป   

สามารถกล่าวได้ว่าทั้งนายกเทศมนตรีนครเบอร์ลิน ประธานาธิบดีอิหร่าน สันตะปาปาหรือแม้แต่นางสาวมาลาลาอาจสนใจข้อมูลในปัจจุบันและภาพพจน์ของนายทรัมป์เสียมากกว่า              


 

เชิงอรรถ

[1] นายทรัมป์อาจตั้งใจลืมไปว่าคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยไม่ว่าระดับชาวบ้าน ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่างๆ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจโดยภาพรวมของสหรัฐฯ ก็ได้ประโยชน์จากแรงงานต่างชาติเหล่านี้ กระนั้นรัฐก็สามารถคัดกรองและลงทะเบียนผู้อพยพได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้อนคนเหล่านั้นเข้ากับระบอบแรงงานในสหรัฐฯ

[2] นายทรัมป์นั้นมีพฤติกรรมอันไม่ถูกต้องที่กล่าวหาว่าชาวเม็กซิโกเป็นนักข่มขืน (rapist) ด้วยผู้อพยพจำนวนมากเป็นคนธรรมดาๆ แต่ต้องการสร้างอนาคตและส่งเงินไปช่วยเหลือครอบครัวของตัวเองที่บ้านเกิด แต่นายทรัมป์เป็นนักการเมืองแบบประชานิยมที่ใช้คำหลอกลวงดังกล่าวในการชักจูงการตัดสินใจของคนอเมริกัน อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาสามารถชนะฮิลลารี คลินตัน (ซึ่งเน้นนโยบายการยอมรับผู้อพยพเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกัน) เป็นเรื่องจริงว่าทรัมป์แพ้คะแนนเสียงจากประชาชนให้กับนางคลินตันไปเกือบ 3 ล้านเสียง แต่หากคำนึงถึงภาพพจน์อันไม่ดีไม่งามของเขาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับประสบการณ์ทางการเมืองซึ่งไม่สามารถเทียบกับนางคลินตันได้เลย ก็ถือได้ว่านายทรัมป์สามารถเรียกคะแนนเสียงไม่ว่าระดับคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral college) และระดับประชาชนได้อย่างมากมายเกินคาด นั่นคือถึง 304 เสียง และ 62,985,105 เสียง ตามลำดับ ซึ่งคงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เลือกนายทรัมป์เพราะคำสัญญาในการสร้างกำแพงบริเวณชายแดนหรือการมีอคติทางเชื้อชาติ (อันไม่สามารถแสดงออกมาอย่างชัดเจนได้เหมือนพวกเสรีนิยม ซึ่งส่งผลต่อโพลสำรวจความนิยมก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว)

[3] ผู้อพยพ (Immigrant)  กับผู้ลี้ภัย (Refugee) มีความแตกต่างกันก็คือผู้อพยพเดินทางไปตั้งรกรากที่ประเทศอื่นด้วยความเต็มใจหรือเลือกเอง ส่วนผู้ลี้ภัยเกิดจากความจำเป็นหรือถูกบังคับด้วยสถานการณ์บางประการเช่นสงคราม สงครามกลางเมือง ทุพภิกขภัย ฯลฯ

 

 

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท