DDoS: ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงภายใต้บริบทการเมืองยุค คสช.

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

จากปรากฏการณ์การพยายามควบคุมสื่อสังคม (social media) ของรัฐบาลภายใต้การนำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (หัวหน้า คสช.) โดยเฉพาะที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างแพร่หลายในสังคม อย่างการพยายามผลักดันการใช้ ระบบซิงเกิลเกตเวย์” (Single gateway) และล่าสุดการผลักดันกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” (พ.ร.บ.คอมฯ) เพื่อปิดกั้น/ควบคุมเนื้อหาการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ต่อต้านรัฐบาลหรือการทำงานของรัฐบาลหรือสิ่งที่รัฐบาลเห็นว่าขัดต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน(และของชาติ)” ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกต 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรก การแสดงออกผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น (น่าจะ)มี “พลัง” บางอย่างที่ทำให้รัฐบาลจำต้องพยายามเข้ามาควบคุม และประการที่สอง เมื่อรัฐบาลพยายามเข้ามาควบคุมแล้ว ปฏิกิริยาโต้กลับของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์นั้นเป็นไปในทิศทางใด และจากข้อสังเกตดังกล่าวนำมาสู่ความสนใจในการศึกษา ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ผ่านอินเทอร์เน็ต

ในรายงานเชิงวิจัย (research essay) ว่าด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมืองชิ้นนี้ผู้เขียนมุ่งศึกษา “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” ที่เรียกว่า DDoS หรือชื่อเต็มคือ Distributed Denial of Service ภายใต้บริบทสังคมการเมืองไทยยุค คสช. โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน อันประกอบไปด้วย ส่วนแรก ว่าด้วยทฤษฎี “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” ที่ใช้เป็นแว่นในการมองปรากฏการณ์ ส่วนที่สอง ว่าด้วยการวิเคราะห์ปรากฏการณ์โดยการใช้ทฤษฎีดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ส่วนแรก ว่าด้วยทฤษฎีที่ใช้เป็นเครื่องมือในการมองปรากฏการณ์ กล่าวคือ ผู้เขียนเลือกใช้ทฤษฎีว่าด้วย ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” (nonviolent action) ของ Gene Sharp ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในนักทฤษฎีการต่อสู้ด้วยสันติวิธีที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 เขาเสนอว่า “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเป็นวิธีการหนึ่งในบรรดาหลากหลายวิธีการของสันติวิธี ซึ่งเป็นคำกลาง ๆ ที่ใช้เรียกการประท้วง การไม่ให้ความร่วมมือ การแทรกแซง อันเป็นปฏิบัติการที่ผู้กระทำได้ก่อให้เกิดภาวะขัดแย้งโดยการกระทำ หรือปฏิเสธที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยไม่ใช้กำลังทางกายภาพ ดังนั้นในฐานะที่เป็นวิธีการ ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงจึงไม่ใช้ความเฉื่อยชา ไม่ใช่ การไม่กระทำ แต่เป็น การกระทำ ที่ไร้ความรุนแรง”[1] ปฏิบัติการไร้ความรุนแรงนี้ ยืนอยู่บนฐานทฤษฎีอํานาจที่มองความขัดแย้งในฐานะความสัมพันธ์เชิงอํานาจ ซึ่งอำนาจมักจะไม่เท่าเทียมกัน และเชื่อว่าผู้ที่มีอํานาจมากกว่านั้น สามารถธํารงอํานาจอยู่ได้ก็เพียงเพราะผู้อยู่ใต้อํานาจให้ความยินยอม (consent) และให้ความร่วมมือ (cooperation) กล่าวอักนัยหนึ่ง คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลใด ๆ ซึ่งเมื่อขาดไปแล้วรัฐบาลจะดำรงอยู่มิได้คือการยินยอมและการให้ความร่วมมือ ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านอำนาจทางการเมืองของรัฐคือการทำลายแหล่งที่มา(การยินยอม) ของอำนาจดังกล่าว เพื่อเปิดทางไปสู่การขัดขืนไม่เชื่อฟัง จนผู้คนไม่ยินยอมเห็นชอบ (consent withdrawal)[2] อย่างไรก็ดี แม้ทฤษฎีดังกล่าวของ  Sharp จะได้รับการยอมรับและมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการศึกษาสันติวิธี หากแต่ยังคงมีจุดอ่อนให้เกิดการถกเถียงขึ้น เช่นที่ Martinและ Burrowes มองว่า Sharp ละเลยมิติเชิงโครงสร้างของอํานาจ กล่าวคือ นอกจากอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลจะถูกค้ำยันด้วยความยินยอมและความร่วมมือของประชาชนแล้ว ยังมีโครงสร้างและสถาบันอื่น ๆ ที่ค้ำยันอำนาจนั้นไว้ด้วย ดังนั้น การต่อสู้โดยไร้ความรุนแรงใด ๆ จึงจำเป็นต้องเพิกถอนความยินยอมต่อโครงสร้างหรือสถาบันนั้น ๆ ที่ค้ำยันอำนาจทางการเมืองของรัฐไว้อีกต่อหนึ่งด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีนักคิดคนสำคัญอย่าง Michel Foucault ที่เสนอแนวคิดว่าด้วย  “การปกครองชีวญาณ (Governmentality) กล่าวคือ มีที่มาจากการพยายามตอบปัญหาพื้นฐานที่ว่า ทำอย่างไรผู้ปกครองจึงจะสามารถรักษา “อำนาจอธิปไตยของตนไว้ได้” ซึ่งคำตอบของคำถามดังกล่าวคือ รัฐบาลหรือผู้ปกครองต้องมีอำนาจกำกับความคิดและพฤติกรรม ซึ่งเป็น สิ่งที่มองไม่เห็น (visible the invisible) และสิ่งที่มองไม่เห็นนี้เองจะเป็นหลักประกันต่อการดำรงไว้ซึ่งระเบียบอันช่วยในการรักษาอำนาจอธิปไตยของผู้ปกครอง ทั้งนี้เพราะเป็นการเน้นถึงหลักการสำคัญในการที่ทำให้ผู้คนนั้นเป็นผู้ควบคุมตัวเอง (ตกเป็นsubjectของตัวเอง) ซึ่งสามารถทำ(ควบคุม)ได้กับทุก ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นความคิด จิตสำนึก หรือกระทั้งวิญญาณ (soul)[3]  ในแง่นี้สิ่งสำคัญในการสร้างอำนาจกำกับความคิดและพฤติกรรมคือ การให้ความสำคัญกับวิธีการจัดการความจริง (regime of truth) ซึ่งภายใต้ วิธีการจัดการความจริงนี้ ทำให้ผู้คนสามารถแยกแยะได้ว่า “ประโยคความรู้” ใดถูก “ประโยคความรู้” ใดผิด และลักษณะกฎเกณฑ์ทางภาษาที่ผลิต “ประโยคความรู้” ชุดหนึ่งที่จัดกลุ่มผิดกลุ่มถูกไว้ได้นั้น เรียกว่า “ดีสคอร์ส” (discourse)  Foucault เชื่อว่าความพยายามที่จะออกหรือหลุดพ้นจากระเบียบดังกล่าว เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้เพราะ “ความจริง”นั้น ก็เป็นอำนาจอยู่ในตัวอยู่แล้ว สิ่งที่เขาเสนอคือการตัดอำนาจของความจริง (power of truth) ออกจากการครองความเป็นเจ้า (hegemony)[4]

ส่วนที่สอง ว่าด้วยการวิเคราะห์ปรากฏการณ์โดยการใช้ทฤษฎี กล่าวคือ ผู้เขียนสนใจปฏิบัติการ DDoS ที่ถูกใช้ในสังคมการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลคสช. ด้วยเห็นว่าสังคมการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมาใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตในการขับเคลื่อนทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งปฏิบัติการที่เรียกว่า DDoS หรือชื่อเต็มคือ Distributed Denial of Service ก็ถือเป็นปฏิบัติการรูปแบบหนึ่งใน “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” ของ Sharp โดยมีวิธีการคือ การโจมตีเครือข่าย(บนโลกอินเทอร์เน็ต) ที่มีเป้าประสงค์หลักของการโจมตี คือการทำให้เครื่องแม่ข่ายหรือเครื่องที่ให้บริการ (server) ไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ เป็นการมุ่งโจมตีเพื่อทำให้เส้นทางเชื่อมต่อนั้นเต็มหรือเกินขีดความสามารถของเครื่องแม่ข่าย โดยลักษณะสำคัญของ DDoS นั้นไม่ได้มีที่มาจาก จุดเดียว ทว่ามีที่มาพร้อมๆ กันหลายจุด ซึ่งมีลักษณะกระจาย (distributed) ไปทั่วเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งการทำพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมากจากหลายจุดนั่นเองที่ทำให้ผลลัพธ์ร้ายแรงขึ้น[5] หรือกล่าวอีกลักษณะหนึ่งคือ ปฏิบัติการ DDoS จะเริ่มจากการการรณรงค์เชิญชวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปให้ ทำการ “ถาโถม” (flooding) การเยี่ยมชมเว็บไซต์เป้าหมายพร้อม ๆ กันและกระทำซ้ำ ๆ ตลอดเวลาโดย การกดปุ่ม “รีโหลด” (reload) หรือ “รีเฟรช” (refresh) หรือ F5 ที่หน้าเว็บของเว็บไซต์เป้าหมายจนเว็บไซต์ดังกล่าวไม่สามารถทำงานได้ปกติ

สำหรับในกรณีของสังคมการเมืองไทยภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล คสช.ซึ่งมีอาวุธคือมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจอันเด็ดขาด(ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและถือเป็นที่สุด) แก่หัวหน้าคสช. โดยพบว่าในระยะเวลาภายใต้การปกครองของคสช.นั้น มีปรากฏการณ์สำคัญ 2 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ได้แก่ การผลักดันการใช้ ระบบซิงเกิลเกตเวย์” (Single gateway) ช่วงปี พ.ศ.2558 และการผลักดันกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์(พ.ร.บ.คอมฯ) ช่วงปลายปี พ.ศ.2559 ซึ่งจากการพยายามผลักดันทั้งสองกรณีโดยฝ่ายรัฐบาลพบว่า ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และข้อถกเถียงมากมาย เช่น ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สิทธิในการแสดงออกทางการเมือง ไปจนถึงปัญหาทางเทคนิคอย่าง ปัญหาความเร็วของอินเทอร์เน็ตลดลง เป็นต้น โดยการต่อต้านที่เกิดขึ้นก็มีด้วยกันหลายวิธีการตั้งแต่วิธีการในระบบอย่าง การล่ารายชื่อคัดค้านหรือให้ยับยั้งชั่วคราว(ชะลอ)การออกนโยบาย/กฎหมายดังกล่าว ไปจนถึงการเจาะระบบ (Hack) ฐานข้อมูลสำคัญของรัฐบาลเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะป้องกันภัยจากการก่อการร้าย แต่ในที่นี้วิธีการที่จะใช้เป็นกรณีศึกษาคือ ปฏิบัติการDDoS โดยมีแกนนำหลัก ๆ ได้แก่ เพจThailand F5 Cyber Army against Single Gateway และ เพจพลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewallที่ใช้ Facebook เป็นช่องทางการรณรงค์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวหลักทางการเมืองในยุครัฐบาล คสช.อย่าง พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen[6]ด้วย โดยทั้งสามกลุ่มนี้มีลักษณะร่วมกันคือขั้นตอนในการปฏิบัติการ กล่าวคือ มีการรณรงค์ นัดวันที่, เวลา และสถานที่ในการปฏิบัติการชัดเจน ซึ่งสถานที่หลักที่กลุ่มเหล่านี้มุ่งเป้าโจมตีคือ เว็บไซต์ของหน่วยงานราชการสำคัญของไทย เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงICT(กระทรวงดิจิตอลฯในปัจจุบัน) สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ทำเนียบรัฐบาล สำนักนายก  และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นต้น ความแตกต่างของทั้งสามคือ สองกลุ่มแรกนั้น นิยามตนเองว่าเป็น “ผู้ไร้ตัวตน” (anonymous) มีการวางหลักเกณฑ์ว่าห้ามเปิดเผยตัวตนโดยเด็ดขาด[7] ในขณะที่ “กลุ่มพลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen” มีการ “เปิดหน้า” กล่าวคือสมาชิกไม่ได้มีการหลบซ่อนปกปิดแต่อย่างใด สำหรับเหตุการณ์ในการเคลื่อนไหวพบว่าสองกลุ่มแรกเริ่มมีการเคลื่อนไหวตั้งแต่กรณีการผลักดันระบบซิงเกิลเกตเวย์และเรื่อยมาจนกระทั่งการผลักดันพ.ร.บ.คอมฯ แต่ “กลุ่มพลเมืองโต้กลับResistant Citizen” มีการเคลื่อนไหวเฉพาะในกรณีซิงเกิลเกตเวย์เท่านั้น ในกรณีพ.ร.บ.คอมฯ ได้หันมาเลือกใช้การร่วมรณรงค์ลงชื่อคัดค้านในระบบแทน นอกจากนี้ยังพบจุดร่วมอีกประการคือ มีการพยายามประกาศและพยายามแจ้งให้ทุกฝ่ายรับรู้และเตรียมการลดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและธุรกรรมต่างๆ ไว้ล่วงหน้า

 

ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง”: ปฏิบัติการ DDoS ในสังคมการเมืองไทย

จากที่กล่าวในส่วนของทฤษฎีข้างต้นแล้วว่า “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” ของ Gene Sharp เป็นปฏิบัติการที่ผู้กระทำได้ก่อให้เกิดภาวะขัดแย้งโดย การกระทำ หรือ ปฏิเสธที่จะกระทำ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยไม่ใช้กำลังทางกายภาพ ซึ่งปฏิบัติการ DDoS นี้ก็ถือเป็น การกระทำ ที่แสดงออกถึงการปฏิเสธการพยายามเข้ามาควบคุมสื่อสังคมออนไลน์จากฝ่ายรัฐบาล   ปฏิบัติการสันติวิธีของ Sharp นั้น ที่จริงแล้วมีกว่า 198 วิธี โดยแบ่งตามกลไกการทำลายอำนาจออกได้เป็น  3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก การประท้วงและชักจูง กลุ่มที่สอง การถอดถอนความร่วมมือ (non-cooperation) และสุดท้าย วิธีการแทรกแซงแบบไร้ความรุนแรง (non-violent intervention) เช่น “การ Sit-in” ในร้านอาหาร การปิดถนน การสร้างระบบภาษีคู่ขนาน เป็นต้น  ซึ่ง DDoS นั้นสอดคล้องกับหลักการของวิธีการข้อสุดท้าย กล่าวคือ เป็นวิธีการแทรกแซงแบบไร้ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดการรบกวนหรือทำลายโครงสร้างทางการเมือง นโยบาย ระเบียบทางสังคม กระทั่งรากฐานความสัมพันธ์เดิมที่ค้ำยันอำนาจผู้ปกครองหรือรัฐบาล[8] สำหรับปฏิบัติการ DDoS ดังกล่าว เป็นการแทรกแซงที่พยายามเข้าไปรบกวน/กระทั่งทำลายความสามารถในการเข้าถึงและการใช้งานของเว็บไซต์หน่วยงานราชการไทย วิธีการนี้ถูกเรียกอีกอย่างว่าการนั่งประท้วงเสมือน” (virtual sit-in)[9] ด้วยเหตุที่ไปขัดขวางระเบียบปกติ ทำให้ผู้คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการได้  

เมื่อเปรียบเทียบวิธีการประท้วงในสามกลุ่มที่กล่าวมา พบว่าวิธีการแทรกแซงแบบไร้ความรุนแรงนี้ ถือเป็นการท้าทายโดยตรงและรวดเร็วรุนแรงมากกว่าการประท้วงแบบสองกลุ่มแรก ผลคือชัยชนะที่ได้จากวิธีการดังกล่าวนี้จึงมักเกิดขึ้นได้รวดเร็วกว่าด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าวิธีการแทรกแซงนี้ท้าทายตรงเป้ามากกว่า หากแต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับรองว่าจะต้องได้รับชัยชนะอย่าง “ตรงเป้าหมาย” ที่แท้จริงเสมอไป การปฏิบัติการ DDoS ก็เช่นกัน แม้ว่าผลของปฏิบัติการจะทำให้หน้าเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการไทยไม่สามารถใช้งานได้ตามเป้า หากแต่ท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลก็พยายามหาวิถีทางอื่น ๆ ในการเข้ามาควบคุมการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เช่นเดิม (เช่น จากการผลักดันระบบซิงเกิลเกตเวย์มาสู่ร่างพ.ร.บ.คอมฯ) และในทางตรงกันข้ามอาจเกิดการปราบปรามอย่างรุนแรงและรวดเร็วกว่าด้วยเช่นกัน(กรณีความรุนแรงต่อผู้ที่นั่ง “Sit-in” ในร้านอาหาร) โดยส่วนใหญ่การแทรกแซงแบบไร้ความรุนแรงอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยกลไกโอนอ่อนผ่อนตามหรือการบังคับโดยไร้ความรุนแรง ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้ฝ่ายตรงข้ามหันมาเชื่อตาม หากแต่ถ้าได้ผลลัพธ์ดี อาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามเปลี่ยนทัศนะ หรืออย่างน้อยที่สุดก็คลายความมั่นใจในความถูกต้องของตนลงและหันมารับฟังมากขึ้น[10] ซึ่งในกรณี DDoS นั่นผู้เขียนมองว่าผลลัพธ์ที่ได้คือบรรลุแค่เพียงการโอนอ่อนผ่อนตามของรัฐบาลที่ให้มีการชะลอการผลักดันเรื่องดังกล่าวออกไปเสียก่อน ทั้งนี้อาจด้วยผลจากความเดือดร้อนของการไม่สามารถเข้าใช้งานเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการได้เพียงเท่านั้น ผู้เขียนเห็นว่ายังไม่สามารถก้าวข้ามไปถึงขั้นที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเชื่อตามหรือเปลี่ยนทัศนะ ด้วยเหตุที่ที่ผ่านมารัฐบาลไทยยังไม่มีทีท่า(แม้เพียงนิด)ว่าจะรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

 

ประเด็นถกเถียงว่าด้วยปฏิบัติการ DDoS

ประเด็นแรก ว่าด้วยข้อจำกัดของปฏิบัติการ DDoS กล่าวคือ ประการแรก คนทั่วไปมองว่าปฏิบัติการ DDoS นั้นเป็นวิธีการที่ไม่(ค่อยจะ)สันติ และสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทั่วไปที่มีความจำเป็นในการเข้าถึงเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ  ประการที่สอง ด้วยเหตุที่เป็นปฏิบัติการแบบมีแกนนำ (นำโดยเจ้าของเพจ) ดังนั้นเมื่อมีการจับกุมหรือสั่งปิดหน้าเพจขึ้น ปฏิบัติการดังกล่าวก็จำต้องหยุดชะงักลงไป  ประการที่สาม การพยายามสร้างแรงกดดันด้วยปฏิบัติการดังกล่าวอาจยิ่งทำให้รัฐบาลปรับท่าทีให้แข็งกร้าวขึ้นเพื่อรักษาภาพลักษณ์ขึงขังของตัวเอง(โดยเฉพาะรัฐบาลคสช.) ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ สภาวะสุ่มเสี่ยงที่ผู้เข้าร่วมปฏิบัติการไม่สามารถรู้ผลลัพธ์ได้แน่ชัดว่าจะออกมาในทิศทางใด  และประการสุดท้าย ต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่พัฒนาขี้นทุกวัน ๆ นั้น แม้จะถือเป็นข้อดีแก่ปฏิบัติการ แต่ท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลก็มีอำนาจเอกสิทธิ์(เหนือกว่า) กล่าวคือ รัฐบาลเป็นผู้กุมอำนาจเชิงโครงสร้างทางเทคโนโลยี ดังนั้นย่อมได้เปรียบจากเทคโนโลยีที่พัฒนานี้ด้วย โดยเฉพาะมาตรการตอบโต้ในทางเทคนิค ได้แก่ การที่รัฐบาลมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลบางประการในกระบวนการจับกุม เป็นต้น

ประเด็นที่สอง ว่าด้วยจุดแข็งของปฏิบัติการ DDoS กล่าวคือ ประการแรก เป็นปฏิบัติการที่เข้าถึงได้ง่าย ผู้คนทั่วไปที่มีความสามารถในการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตก็สามารถร่วมปฏิบัติการได้ และแทบไม่มีต้นทุนให้ต้องจ่าย โดยเฉพาะต้นทุนทางสังคม ด้วยเหตุที่ทุกคนอยู่ในสภาวะไร้ตัวตน ไม่มีใครเห็นหน้าใคร และแม้รัฐบาลจะพยายามหาตัวผู้กระทำแต่รัฐบาลก็ไม่มีความสามารถพอที่จะจับผู้คนจำนวนมหาศาล(ยกเว้นแกนนำ)ได้  ประการที่สอง มีความสุ่มเสี่ยงน้อยกว่าวิธีการทั่วไปที่ไม่ได้อยู่บนโลกของอินเทอร์เน็ต ด้วยเหตุที่สื่อสังคมออนไลน์ไม่สามารถเอื้อให้เกิดความรุนแรงทางตรงได้อยู่แล้ว ทำให้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องการควบคุมอารมณ์คน ไม่ให้เผลอใช้ความรุนแรงทางกายภาพ

ประเด็นที่สาม ว่าด้วยระดับความสำเร็จและพลังของปฏิบัติการ DDoS กล่าวคือ ในเชิงรูปธรรมนั้นผู้เขียนมองว่าปฏิบัติการดังกล่าวสามารถประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนัก เพียงแค่เริ่มต้นจากการระดมผู้คนแล้วสิ้นสุดที่การที่เว็บไซต์ของหน่วยงานราชการอันเป็นเป้าหมายไม่สามารถใช้งานได้ แต่หากมองให้มากไปกว่าแนวคิดของ Sharp คือมองว่ามีอำนาจที่ครอบงำสังคมอยู่ เช่น วาทกรรมว่าด้วย “ความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงและศีลธรรมอันดี” เมื่อมองในแง่นี้ผู้เขียนเห็นว่าปฏิบัติการดังกล่าวยังไม่สามารถลดการครอบงำของวาทกรรมเหล่านี้ได้มากนัก เพราะผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่ารัฐหรือผู้ปกครองมีสิทธิ/มีอำนาจในการให้ความหมายและกำหนดขอบเขตของวาทกรรมเหล่านี้ พบว่าสังคมการเมืองไทยยังไม่ได้มีการตั้งคำถามกับประเด็นเหล่านี้กันอย่างกว้างขวาง สาเหตุหนึ่งอาจด้วยงื่อนไขทางสังคมที่ประชาชนทั่วไปมีแนวโน้มยอมรับในอำนาจนิยม ดังนั้นผู้เขียนมองว่าการที่ปฏิบัติการนี้สำเร็จในเชิงรูปธรรมได้ อาจเพราะแค่ไปขัดผลประโยชน์บางอย่างของผู้คนในสังคมเท่านั้น เช่น ความหวาดระแวงว่าจะไม่ได้ดูซีรีย์เกาหลี ความกลัวว่าเพจฟุตบอลจะหายไป หรือกลัวว่าอินเทอร์เน็ตจะช้าลง เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากกล่าวอย่างดีที่สุด ปฏิบัติการดังกล่าวไม่ใช่แค่การไม่ใช้ความรุนแรงทางตรง หากแต่เป็นแนวคิดที่ต้องการปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม โดยการเปลี่ยนแปลง/หยุดยั้งกฎหมายอันกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ประเด็นที่สี่ ว่าด้วยคุณสมบัติของอินเทอร์เน็ต กล่าวคือ อินเทอร์เน็ตทำให้ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยเหตุที่คุณสมบัติของอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนสามารถสื่อสารและมีปฏิบัติการทางการเมืองต่อกันได้โดยไม่ต้องเผชิญหน้าซึ่งกันและกัน ผลคือในระหว่างการสื่อสารหรือมีฏิบัติการทางการเมืองไม่พบหนทางที่จะก่อให้เกิดเป็นความรุนแรงทางกายภาพได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นชวนขบคิดต่อคือ แม้ปฏิบัติการทางตรงในอินเทอร์เน็ตจะไม่สามารถเป็นปฏิบัติการที่มีความรุนแรงทางกายภาพได้โดยตัวของมันเอง หากแต่ปฏิบัติการดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดผลที่ตามมาเป็นการกระทำความรุนแรงทางกายภาพในลักษณะใดลักษณะหนึ่งได้เสมอ[11]

ประเด็นสุดท้าย ว่าด้วยระเบียบวินัยของผู้เข้าร่วมปฏิบัติการและการควบคุมจากแกนนำ กล่าวคือ ด้วยความที่ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นปฏิบัติการที่ไม่ใช่แบบ “face to face”  ดังนั้น แม้จะมีข้อดีคือไม่สามารถก่อให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพได้ดังที่ได้กล่าวแล้วในข้างต้น กล่าวคือแกนนำคลายกังวลได้ว่าหากผู้เข้าร่วมปฏิบัติการเกิดโทสะควบคุมตนเองไม่ได้ ก็จะไม่สามารถหยิบอาวุธออกมาฟาดฟันใครต่อใครได้ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะที่ไม่ “face to face” นี่เอง ทำให้แกนนำไม่สามารถควบคุมผู้เข้าร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเกิดปัญหาเช่น มีการพุ่งเป้าโจมตีไปที่หน่วยงานการศึกษาและหน่วยงานสาธารณสุขด้วย จนผู้คนในสังคมออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าอาจเกิดผลกระทบต่อเด็กและผู้ป่วยได้ กลายเป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ของปฏิบัติการที่ดูจะเคลื่อนเข้าใกล้กับ “ความรุนแรง” มากขึ้น แม้ในภายหลังพบว่า ทางแกนนำมีการประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะโจมตีโดยหลีกเลี่ยงหน่วยงานดังกล่าว[12] แต่ท้ายที่สุดแล้ว คำถามสำคัญก็อยู่ที่ว่า แกนนำมีความสารมารถในการควบคุมผู้เข้าร่วมปฏิบัติการได้มากน้อยเพียงใด ในสภาวะที่ไม่มีใครรู้จักใครเลย

กล่าวโดยสรุป ในสังคมยุคโลกาภิวัตน์ที่เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารพัฒนาแบบไร้ขีดจำกัด อินเทอร์เน็ตถูกคาดหวังไว้ว่าจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองและเรียกร้องประชาธิปไตยได้มากขึ้น ซึ่งทำให้ประชาชนผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารกลายเป็นผู้สร้างเนื้อหาการสื่อสารได้เอง กระทั่งสามารถเป็นผู้ปฏิบัติการทางการเมืองได้ ดังเช่น การเข้าร่วมปฏิบัติการไร้ความรุนแรงโดยการใช้วิธี DDoS ที่ได้อภิปรายไว้ข้างต้นในรายงาน  โดยผู้เขียนรู้สึกว่าการศึกษาปฏิบัติการไร้ความรุนแรงนี้เสมือนเป็นกระบวนการสร้างเครื่องเตือนใจว่า เมื่อยามที่สังคมการเมืองต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง ยังคงมีทางเลือก/หนทางสำหรับสังคมอีกมากมายที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง โดยทางเลือกดังกล่าวเหล่านี้รอให้ผู้คนค้นพบ เลือกหยิบใช้ กระทั่งรังสรรค์ต่อยอดความคิด อันจะนำมาสู่ทางออกของปัญหา แทนที่การหยิบอาวุธอันนำมาซึ่งความสูญเสียต่อเนื้อตัวร่างกายของกันและกัน

 

เชิงอรรถ

[1] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และคมสัน หุตะแพทย์(ผู้แปล), อำนาจและยุทธวิธีไร้ความรุนแรง,  (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2529), 96.

[2] จันจิรา สมบัติพูนสิริ, หัวร่อต่ออำนาจ อารมณ์ขันและการประท้วงด้วยสันติวิธี, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2558), 43.

[3] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, การวิเคราะห์ซับเจค (subject) ทฤษฎีที่ใช้ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจของมิเชล ฟูโก, (กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2532), 15.

[4] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, การวิเคราะห์ซับเจค (subject) ทฤษฎีที่ใช้ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจของมิเชล ฟูโก, (กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2532), 54-55.

[6] blognone. “เว็บที่สาม เว็บกอ.รมน.ล่ม.”  สืบค้นเมื่อ มกราคม 2,  2560, https://www.blognone.com/node/73103.

[7] facebook. “พลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall”. สืบค้นเมื่อ มกราคม 2,  2560, https://web.facebook.com/OpSingleGateway/?_rdr.

[8] จันจิรา สมบัติพูนสิริ, หัวร่อต่ออำนาจ อารมณ์ขันและการประท้วงด้วยสันติวิธี, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2558), 44-45.

[9] ชาญชัย ชัยสุขโกศล, Hate speech และข้อมูลที่อันตราย : ทางเลือกวิธีตอบโต้ทางการเมือง, (ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี, มหาวิทยาลัยมหิดล, 2554), 33.

[10] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และคมสัน หุตะแพทย์(ผู้แปล), อำนาจและยุทธวิธีไร้ความรุนแรง,  (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2529), 180-181.

[11] ชาญชัย ชัยสุขโกศล, Hate speech และข้อมูลที่อันตราย : ทางเลือกวิธีตอบโต้ทางการเมือง, (ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี, มหาวิทยาลัยมหิดล, 2554), 51.

[12] facebook. “พลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall”. สืบค้นเมื่อ มกราคม 2,  2560, https://web.facebook.com/OpSingleGateway/?_rdr.

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม “Distributed Denial of Service (DDoS) : ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง (Nonviolent action) ภายใต้บริบทสังคมการเมืองไทยยุคคสช.”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท