Skip to main content
sharethis

เก็บมาเล่าจากวงเสวนาเล็กๆ บรรยากาศสบายๆ แต่คุยเรื่องที่ไม่ค่อยสบายเท่าไหร่นัก เมื่อนักกิจกรรม นักเขียน กวี ร่วมจัดวงเสวนา “จากเพื่อนถึงไผ่ แห่งยุคสมัยชอบทำ-ไม่ชอบธรรม” ด้านนักเรียนกฎหมาย มข. ตั้งคำถาม เราจะยอมรับกระบวนการอยุติธรรมไปถึงเมื่อไหร่

ภาพจาก ธนวัฏ ปรีชาจารย์

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2560 ที่ร้าน The Writer’s Secret ได้มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ จากเพื่อน....ถึงไผ่ (แห่งยุคสมัยชอบทำ-ไม่ชอบธรรม) ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มนักกิจกรรม นักเขียน และกวี ที่รวมตัวกันเฉพาะกิจ โดยในการเสวนาในวันนั้นมีวิทยากรประกอบด้วย ณัฐพงษ์ ภูแก้ว หรือแก้วใส วงสามัญชน , จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ หรือหญิง กลุ่มดาวดิน, กฤษฎางค์ นุตจรัส หรือทนายด่าง โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนาราว 40 คน พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบที่มาสังเกตุการณ์ประมาณ 6 นาย สำหรับในวันนั้นประกอบด้วยวงเสวนา การอ่านบทกวี และการแสดงดนตรีสดจากวงสามัญชน และวงยันหว่าง

กฤษฎางค์ นุตจรั: พรรคการเมืองก็ศิโรราบกันหมดแล้ว มีแต่เด็กพวกนี้ที่ยังสู้อยู่

กฤษฎางค์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวในฐานะที่ตัวเองเป็นคนรุ่นพ่อของไผ่ ดาวดิน(จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) เขาเห็นว่า สิ่งที่พวกเด็กๆ กำลังทำกันอยู่นี้ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก และเป็นการทำงานที่ยากยิ่งกว่าสมัยตนเองยังเป็นนักศึกษา และต้องอาศัยหัวใจที่เข้มแข็งกว่าคนยุคก่อนๆ

“สมัยนี้การต่อสู่เพื่อประชาธิปไตย เป็นอะไรที่สลับซับซ้อนแล้วก็ยาก รุ่นผมมันง่ายตรงที่ว่าจับปืนออกมาปราบกันเลย แล้วก็ออกกฎหมายมาตรงๆ ว่าจะปกครองประเทศต่ออีก 12 ปีอะไรอย่างนั้น แต่ในยุคที่สลับซับซ้อนนี้เผด็จการมีการปรับปรุงตัวเอง พัฒนากลไกในทางต่อสู้  มีการทำงานประสานกันมีคนจำนวนหนึ่งมาเป็นกลไกในการรัฐประหาร และคนอีกกลุ่มหนึ่งก็ออกมาทำรัฐประหาร มันทำให้การต่อสู่ในยุคนี้ลำบาก”

เขากล่าวต่อไปถึง การต่อสู้ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2475 ว่ายังไม่ได้เริ่มต้นลงหลักปักฐานระบอบประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากนัก ผู้คนในแต่ละยุคแต่ละสมัยเป็นเหมือนกับข้อต่อที่กำลังหมุนไป สังคมไทยยังต้องการการเปลี่ยนแปลงอีกมาก แต่ที่ผ่านมาก็ถึงว่าดีขึ้นมาเรื่อย อย่างน้อยในยุคเผด็จการทหารก็ยังสามารถจัดงานแบบนี้ได้ และแม้ว่าผู้มีอำนาจจะสามารถจับกุมคุมขังคนได้ แต่คงจะไม่สามารถใช้วิธีรุนแรงแบบเก่าได้ เพราะโลกกำลังมองเราอยู่

เขาพูดต่อไปถึง กรณีไผ่ซึ่งถึงตอนนี้ก็ติดคุก 50 วันแล้ว เขาเห็นว่า สำหรับชีวิตคนคนหนึ่งที่เป็นนักศึกษา เป็นคนธรรมดา การถูกรังแกขนาดนี้ มันเป็นเรื่องที่ยากลำบากนะ แต่ทุกครั้งที่เขาไปเยี่ยม ก็ยังเห็นว่าไผ่ไม่ได้ท้อถอย

“ผมรู้จักไผ่มาประมาณสองปี รู้จักครั้กแรกที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ผมว่าเขาดีขึ้นจากสองปีที่ผ่านมา เรามาเจอกันอีกครั้งที่ขอนแก่น ผมว่าประสบการณ์สอนเขาเยอะ แล้วเขาเป็นความหวังอันหนึ่งของผม ผมว่าในสังคมไทยโดยเฉพาะสังคมปัจจุบัน ถ้าเราไม่มีเยาวชนคนพวกนี้โอกาสที่ประชาชนจะสู่เพื่อประชาธิปไตย และสังคมที่ดีขึ้นมาก็จะต้องแทบจะอาศัยแค่การรอเวลาให้คนรุ่นพวกนั้นค่อยๆ หมดไปก่อน แต่นี่คือเขาต่อสู้และสร้างเงื่อนไข ที่จะทำให้สังคมดีขึ้น มันต้องยอมรับอย่างนี้ว่า ถ้าไม่มีพวกเขา ไม่ต้องหวังพรรคการเมืองหรือนักการเมือง อย่างที่ใครๆ พูด ถ้าไม่มีเด็กพวกนี้เผด็จการมันจะมากกว่านี้เยอะ เขากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ มีทั้งรัฐธรรมนูญทั้งการเลือกตั้ง และการอยู่ต่อไปอีกกี่ปี  คนที่จะคัดค้านคือเด็กพวกนี้เท่านั้นเอง เขาจึงใช้มาตรา 112 มากำราบเด็กพวกนี้เท่านั้นเอง เพราะเอาเข้าจริงๆ นักการเมืองทุกพรรคก็ศิโรราบกันหมดแล้ว มีแต่เด็กพวกนี้ที่ยังสู้อยู่”

“ผมเข้าใจลูกๆ นะเขาเป็นรุ่นเดียวกับลูกสาวผม ผมคิดว่าจิตใจของพวกเขาเข้มแข็งมากในสังคมปัจจุบัน เขามีทางเลือกเยอะแยะเลยที่จะไปทำงานมีเงินพร้อมใช้ ย้อนกลับไปคำถามที่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับไผ่ ชอบธรรม หรือไม่ชอบธรรม เรื่องนี้พูดสั้นๆก็คงจะรู้ดี และสังคม หรือคนที่นั่งอยู่ในที่นี้ก็คงจะอึดอัดกับสิ่งที่เกิดขึ้น”

ณัฐพงษ์ ภูแก้ว: สิ่งหนึ่งที่ไผ่มีตลอดคือหัวใจที่บริสุทธิ์

ณัฐพงษ์ หรือแก้วใส วงสามัญชน เป็นอีกหนึ่งคนที่เคยร่วมงานกับไผ่ ดาวดิน ในฐานะของเพื่อนนักดนตรีด้วยกัน อีกทั้งเขายังเป็นนักแต่งเพลงร่วมกับ ชูเวช นักดนตรี วงสามัญชนอีกหนึ่งคน บทเพลงที่เขาแต่งจนเป็นที่รับรู้ของคนในสังคมจำนวนหนึ่งยกตัวอย่างเช่น บทเพลงแห่งสามัญชน และเพลงเราคือเพื่อนกัน ซึ่งเรามักจะได้ยินอยู่บ่อยครั้งในเวลาที่มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา หรือคนรุ่นใหม่ที่ออกมาต่อต้านคัดค้านการรัฐประหาร และรณรงค์โหวตโนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชน และบทเพลงล่าสุดที่เขากับชูเวชร่วมกันแต่ง คือ เพลงฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ

เขาเล่าว่า เพลงฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ เขียนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เมื่อปีที่แล้ว(2559) และแต่งขึ้นเพื่อต้องการจะสื่อสารถึงเพื่อนๆ หลายคน ที่ยังอยู่ในคุก และเพื่อนที่ถูกจำกัดอิสรภาพ

“เราคิดถึงเขา แต่เราไม่รู้ว่าจะไปพบไปสื่อสารกับเขาได้อย่างไร ผมเขียนเพลงนี้เอาไว้ล้อกับ เพลงเดือนเพ็ญ หรือเพลงคิดถึงบ้าน มันอารมณ์เดียวกัน เหมือนอยู่อีกที่หนึ่ง คิดถึงแต่ไม่ได้มีโอกาสกลับคืนมา สิ่งหนึ่งที่เราเห็นและสามารถสื่อสารกันได้คือดวงดาว เราอาจจะใช้ดาวแทนการสื่อสารว่าเรายังมีเพื่อนยังคิดถึงกันอยู่ ถ้าเราไม่ตายจากกันวันหนึ่งเราอาจจะได้กลับมาพบกัน ถ้าตีนยังเหยียบอยู่บนดิน ก็คงได้กลับมาเจอกัน พอมาช่วงไผ่ถูกจับ เพื่อนๆ ก็เอาเพลงนี้ไปรณรงค์กรณีของไผ่ แต่จริงเพลงนี้ก็ตั้งใจให้ใช้เป็นตัวแทนในการสื่อสารไปถึงคนทุกคนที่กำลังเผชิญสถานะการณ์คล้ายๆ กัน”

แก้วใส เล่าต่อว่า เขารู้จักไผ่ครั้งแรกตอนไปช่วยชาวบ้านคัดค้านเหมืองแร่โปรแตซที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อหลายปีก่อน ครั้งแรกที่เห็นไผ่เขาเล่าว่า ไผ่อยู่แนวหน้ากับเพื่อน เวลาเผชิญหน้ากับตำรวจ ไผ่จะเดินไปวิดพื้นบ้าง ลุกนั่งหน้าตำรวจ บางทีก็ออกไปเดินทำท่าตลก ดันพื้นแขนเดียว ซึ่งนี้เป็นความประทับใจครั้งแรกที่เขาได้รู้จักกับ ไผ่ ดาวดิน

“พวกดาวดินเห็นเป็นอะไรที่บ้าๆ บอๆ แต่มีมุมน่ารักเล็กๆ หยอกเล่นกันเหมือนวัยรุ่นทั่วไป แต่อย่างไผ่ สิ่งหนึ่งที่มันมีตลอดคือหัวใจที่บริสุทธิ์ แล้วมันเข้มแข็งที่จะยืนยันในสิ่งที่ถูกต้อง คือพวกเรายืนยันในหลักการไม่ต่างกัน และเป็นคนดุดันหัวดื้อ แต่เราก็ไม่ได้ไปตีใคร ไปฆ่าใคร เราก็แค่ยืนยันความคิดความเชื่อของพวกเราเท่านั้น ไผ่ และเพื่อนๆ อีกหลายคนก็เป็นแบบนี้ พวกเราเป็นคนธรรมดา ทุกคนอยากได้อย่างมี ต้องการการเปลี่ยนแปลง อยากได้ชีวิตที่ดีขึ้น อยากเห็นสังคมที่ดีขึ้น แต่สุดท้ายต้องมาเจอกับเรื่องแบบนี้”

จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ: สิ่งที่เกิดกับไผ่คือ ความอยุติธรรม และมันทำให้ตั้งคำถามว่าเราเรียนนิติศาสตร์ไปทำไม

จุฑามาส หรือ หญิง ดาวดิน เธอยังเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และร่วมกับกิจกรรมกับไผ่ ดาวดินมาตั้งแต่เธอเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เธอเล่าว่า ในฐานะที่ไผ่เป็นรุ่นพี่ ไผ่ก็จะเป็นคนที่พาน้องออกไปทำกิจกรรม ไปช่วยบ้าน ลงไปศึกษาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐและทุน และส่วนมากไผ่จะไม่สั่ง ไม่สอนน้องๆ แต่จะทำเห็น บางทีเธอไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ไผ่ทำ ก็บอกกันได้ตรงๆ ไม่ได้จำกัดว่าเป็นรุ่นน้องแล้วพูดอะไรไม่ได้

“การโดนจับเมื่อครั้งก่อนของไผ่ มันก็ยังพอมีหวังกับความยุติธรรมอยู่บ้าง แต่พอมาคดีล่าสุดมันทำให้เราหมดหวังกับกระบวนการ หมดหวังกับบสิ่งที่เราเรียนมา เราเรียนนิติศาสตร์ตั้งแต่ปีหนึ่งจนตอนนี้อยู่ปีสี่ ยิ่งเรียนมากมันยิ่งทำให้คิดว่าเราจะเรียนไปทำไม จะกล้าฝากความหวังกับกระบวนการที่เป็นแบบนี้อยู่หรือเปล่า”

เธอ กล่าวต่อไปว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับไผ่ เป็นความอยุติธรรม และหากอัยการสั่งฟ้องไผ่ขึ้นมาจริงๆ สิ่งที่จะถูกตั้งคำถามก็คือ มาตราฐานความยุติธรรมจะอยู่ที่ไหน ในเมื่อมีคนอีกสองพันกว่าคนแชร์บทความเดียวกัน แต่มีเพียงไผ่คนเดียวที่ถูกดำเนินคดี เธอยังตั้งคำถามสำคัญต่อไปอีกด้วยว่า เรายังยอมรับกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีมาตรฐานแบบนี้ไปจนถึงเมื่อไหร่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net