Skip to main content
sharethis

7 ก.พ. 60 หลังจากเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2560 ผ่านเพจ หยุดถ่านหินกระบี่เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ระบุว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศเดินหน้าการสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ด้วยการผลักดันผ่านมติ ครม.และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เป็นที่ประจักษ์ว่า รัฐบาลทหารภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ละเลยความถูกต้องที่ควรจะเกิดขึ้นแก่ระบบไฟฟ้าของประเทศ ความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม และชีวิตของประชาชน จึงนัดหมายกันที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 17 ก.พ.นี้เวลา 10.00  น.เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว

ด้านประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และนักเคลื่อนไหวด้านพลังงาน ได้โพสต์สเตตัสบนเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความไม่พอใจต่อเรื่องนี้ว่า "พลเอกประยุทธ์ มีการกลับไปกลับมาเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ตลอดเวลา บ้างสั่งตั้งกรรมการเพื่อให้ศึกษาตามที่ชาวกระบี่เรียกร้อง พอศึกษาเสร็จไม่เอาผลการศึกษามาปฏิบัติ หลังจากนั้นสั่งชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหิน อีกไม่กี่วันแอบมีมติครม.สั่งเดินหน้า"

"ปี 2558 มีการประท้วงรัฐบาลด้วยการอดอาหาร 14 วัน พลเอกประยุทธ์ลงนามสั่งให้มีการตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายเพื่อศึกษาและดำเนินการตามข้อเรียกร้องของชาวกระบี่ ส่วนปี 2559 กรรมการไตรภาคีไม่ยอมให้มีข้อสรุปใดๆ แม้มีการศึกษาว่าจังหวัดกระบี่มีศักยภาพในการทำพลังงานหมุนเวียนได้ 1,700 เมกกะวัตต์ พลเอกประยุทธ์ก็เมินเฉยต่อกรรมการที่ตัวเองตั้งเข้ามา และสำหรับปี 2559 เดือน พ.ย. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินนั่งภาวนาหน้าทำเนียบ ปรากฏว่าพลเอกประยุทธ์สั่งชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถัดมาอีกไม่กี่วันกลับมีมติครม.ให้เดินหน้าโรงไฟฟ้าภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดกระบี่" ประสิทธิ์ชัย เปิดเผยข้อมูลเพิ่ม และแจ้งอีกว่า "๑๗ นี้เจอกันที่ทำเนียบรัฐบาลเวลา ๑๐ โมงเช้า"

ทั้งนี้ วันที่ 24 มกราคม 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบดำเนินโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคใต้ตอนล่าง เพื่อให้เกิดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า วงเงินลงทุน 35,400 ล้านบาท โดยแยกออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 เริ่มตั้งแต่ปี 2559-2563 ความจุ 500 kv ซึ่งสายส่งที่เริ่มตั้งแต่ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา และภูเก็ต ระยะที่ 2 ตั้งแต่ 2563-2566 จัดทำสายส่ง 500 kv และขยายสถานีส่งตั้งแต่จังหวัดสงขลาลงไปจนถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาและจังหวัดกระบี่

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่สถาบันพระปกเกล้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวบรรยายในหัวข้อการเมืองกับการบริหารเศรษฐกิจ ตอนหนึ่งว่า การวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น ยุคนี้เป็นไปได้หรือที่จะมีใครสามารถบอกได้ว่า 20 ปีข้างหน้าประเทศจะเป็นอย่างไร ดังนั้น จะเขียนอะไรลงไปลึกก็คงไม่ได้ ถ้าบอกว่าการเขียนยุทธศาสตร์ 20 ปีไว้ อะไรดีก็ทำอะไรไม่ดีก็ยกเลิกไป อย่างนั้นก็อยากถามว่าจะเขียนไว้ทำไม และปัญหาทางเศรษฐกิจของไทยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่ต่อเนื่องทางนโยบาย รัฐบาลหนึ่งทำแต่รัฐบาลหลังจากนั้นไม่ทำ ดังนั้น การเขียนยุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่มีความหมายเท่ากับสร้างความตระหนักให้ประชาชน สร้างความตื่นตัวทางสังคมเพื่อกดดันให้รัฐบาลต่อๆ ไปต้องทำ หากอยากเขียนยุทธศาสตร์ 20 ปี 1. ควรทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน 2. การตั้งเป้าหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น เด็กไทยต้องสามารถพูดได้อย่างน้อย 2 ภาษา เป็นต้น แต่หากจะเขียนลงรายละเอียดโครงการนั้นโครงการนี้ไม่ได้
       
“อีกไม่กี่วันนายกฯ จะต้องตัดสินใจเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จังหวัดกระบี่ ซึ่งผมพูดตรงๆ ว่า หากท่านตกลงจะสร้าง ถ้าผมเป็นรัฐบาลผมเลิกได้ผมก็จะเลิก เพราะปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นไม่ได้มีความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงานทดแทน ทั้งที่ควรจะเป็นโรงไฟฟ้าปาล์มแทน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว  

ล่าสุด กรณ์ จาติกวณิช โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า พรุ่งนี้ (8 ก.พ.) 10.30 น.อภิสิทธิ์และกรณ์จะแถลงข่าว และ FB Live เสนอนายกฯ เพื่อเปลี่ยนแผน "โรงไฟฟ้าถ่านหิน" เป็นโรง LNG-เทพา/ปาล์มน้ำมัน-กระบี่ แทน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net