Skip to main content
sharethis

ประวิตรนำถกปรองดองนัดแรก ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 4 คณะ เตรียมเชิญนักการเมืองพูดคุยแนวทางปรองดอง 14 ก.พ.นี้ พร้อมเปิด 10+1 ประเด็น 'สุเทพ'ยังไม่มีการติดต่อเชิญกปปส. แต่พร้อมร่วมมือ ด้าน 'สุวัจน์' ขอเปิดให้นักการเมืองออกความเห็นปรองดอง

แฟ้มภาพ

9 ก.พ. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองนัดแรก โดยมีกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง วาระสำคัญคือการแต่งตั้งอนุกรรมการ 4 คณะ เพื่อขับเคลื่อนการทำงาน คือ อนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน อนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน อนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน ซึ่งคณะนี้จะจัดทำ MOU (Memerandum Of Undestanding) ให้พรรคการเมืองลงนามข้อตกลง และสุดท้าย อนุกรรมการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีโฆษกกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน  

จากนั้น เป็นการหารือแนวทางและกรอบการทำงาน ซึ่งจะเชิญภาคส่วนต่างๆ เข้าพูดคุยเพื่อสร้างความปรองดอง เบื้องต้นจะทยอยเชิญตัวแทนพรรคการเมือง โดยเรียงลำดับอักษร ก. เป็นกลุ่มแรก เริ่มวันที่ 14 ก.พ. ที่กระทรวงกลาโหม

ดึงนักวิชาการร่วมอนุฯรับฟังความเห็น

โดย พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ภายหลังจากคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 4 คณะ แล้ว คณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ จะเริ่มทำงาน โดยคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล เป็นประธาน จะจัดประชุมกลุ่มย่อย พร้อมเชิญตัวแทนพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองมาให้ข้อเสนอแนะ และรวบรวมส่งข้อมูลให้คณะกรรมการชุดที่ 2 เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะให้ตกผลึก และส่งให้คณะกรรมการชุดที่ 3 ปรับปรุงร่างความเห็น พร้อมกับการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อจัดทำร่าง ความเห็นครั้งสุดท้ายเป็นร่างสัญญาประชาคมเพื่อเสนอให้คณะกรรมการ ป.ย.ป. ต่อไป

ทั้งนี้ ในการเชิญฝ่ายต่างๆ เข้ามาพูดคุยและรับฟังความเห็น จะครอบคลุมทั้ง 10 ประเด็น อาทิ การเมือง, ความเหลื่อมล้ำ, กฎหมาย และข้อเสนอแนะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นต้น โดยจะเริ่มเชิญพรรคการเมือง เรียงตามตัวอักษรมาให้ความเห็นที่กระทรวงกลาโหม ในวันที่ 14 ก.พ. นี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน ยืนยันว่าพร้อมรับฟังความคิดเห็นทุกเรื่องรวมถึงเรื่องนิรโทษกรรมแต่อำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีและขอทุกภาคส่วนเข้าร่วม เพราะกระบวนการสร้างความปรองดองสามัคคี เป็นของประชาชนทุกคน และขอให้เชื่อมั่นไว้ใจคณะทำงาน ว่าเป็นการทำเพื่อประเทศชาติไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
 
นอกจานี้ ที่ประชุมได้เสนอตั้งคณะอนุกรรมการ ขึ้นมา 4 คณะ พร้อมเชิญนักวิชาการเข้าร่วมในคณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการรับฟังความคิดเห็น จำนวน 9 คน คือ ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน, ถวิลวดี บุรีกุล, ผาสุก พงษ์ไพจิตร, นายวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ์, ทองอินทร์ วงศ์โสธร, สุภางค์ จันทวานิช, จุลชีพ ชินวรรโณ, ตระกูล มีชัย, ปาริชาต สถาปิตานนท์ และคณะอนุกรรมการ จัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความความสามัคคีปรองดอง โดยมี สมคิด เลิศไพฑูรย์, นันทวัฒน์ บรมานันท์ เป็นที่ปรึกษา และมีนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ อีก 9 คน คือ ศุภชัย ยาวะประภาษ, ถวิลวดี บุรีกุล, บรรเจิด สิงคะเนติ, จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย, ธนวรรธน์  พลวิชัย, จรัญ มะลูลีม, อมรา พงศาพิชญ์, สุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ และ ปาริชาต สถาปิตานนท์
 

เปิดการบ้าน 10+1 ประเด็น

สำหรับ 10 ประเด็น ที่จะเชิญฝ่ายต่างๆ เข้ามาพูดคุยและรับฟังความเห็นนั้น วาสนา นาน่วม ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Wassana Nanuam ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองที่มีบิ๊กป้อมพลเอกประวิตรเป็นประธานได้ข้อสรุป 10+1 ประเด็น ที่ นักการเมือง กลุ่มการเมือง จะต้องมาแสดงความคิดเห็น กึ่งๆ วิสัยทัศน์ ให้ คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ของกลาโหม ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ปลัดกลาโหม เป็นประธาน ประเด็นหารือเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ประกอบด้วย 
 
1. ด้านการเมือง แนวคิดของท่านในการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทยขณะนี้ ทั้ง ก่อน-ระหว่างและ หลังการเลือกตั้งที่มาถึงนี้
 
2. ด้านความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดิน ทำกินของเกษตรกร การเข้าถึงแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ มักถูกยก มาเป็นประเด็นสร้างความขัดแย้งอย่างกว้างขวาง ท่านมีแนวคิดในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพื่อลด ความขัดแย้งและสร้างความปรองดองในสังคมไทยได้อย่างไร
 
3. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงต่อการขยายไปสู่ความขัดแย้ง ท่านจะมีทางออกหรือวิธีการดำเนินการ ต่อประเด็นความขัดแย้งที่เกิเจากความไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรม การแทรกแซงการบงคับใช้ กฎหมายอย่างไร
 
4 . ด้านสังคมเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข ท่านมีแนวทางเสริมสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ต่อประเด็นความแตกต่างทางสังคมความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรมเศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสขุ อย่างไร
 
5. ด้านสื่อสารมวลชน ท่านมีแนวทางในการไม่ให้สื่อตกเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย่งได้อย่างไร
 
6. ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่านมีแนวทางที่จะทำให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ความขัดแย้งเรื่องพลังงาน การก่อสร้างโรงไฟฟ้า ฯลฯ ไม่ถูกหยิบยกขึ้น มาสร้างความขัดแย้งในสังคมได้ อย่างไร
 
7. ด้านการต่างประเทศ ท่านมีแนวคิดที่จะดำเนินการต่อประเด็นการนำปัญหากิจการภายในประเทศมายกระดับให้เป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งผลกระทบจากการดำเนินการของต่างประเทศ เช่น ปัญหาเขตแดน ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน. ปัญหาเสรีภาพและประชาธิปไตยปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ฯลฯ ที่ส่งผลทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างไร
 
8.ด้านการป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่น ท่านมีแนวคิดอย่างไร ที่จะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่อไม่ให้เป็นสาเหตุนามาซึ่งความ ขัดแย้ง ในสังคมไทย
 
9. ด้านการปฏิรูป ท่านมีข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปอย่างไรเพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดอง
 
10. ด้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ท่านจะมีข้อเสนอแนะให้เกิดการยอมรับและร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไปสู่ ความสำเร็จร่วมกัน หรือไปสู่เป้าหมายร่วมกันอย่างไร
 
ตบท้าย ด้วย คำถามจากคณะกรรมการฯว่า มองปัญหาอย่างไร วิธีการแก้ปัญหา เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและยั่งยืน 

'สุเทพ'ยังไม่มีการติดต่อเชิญกปปส. แต่พร้อมร่วมมือ ป.ย.ป.

ขณะที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่ ป.ย.ป. จะเชิญกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองไปให้ความเห็นเรื่องการสร้างความปรองดองว่า ทาง กปปส. ยังไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานใด ต้องรอให้มีการประสานงานมาก่อน หากได้รับการติดต่อมาก็จะพิจารณาว่าจะส่งบุคคลหรือส่งความเห็นเป็นเอกสารให้ ป.ย.ป.

'สุวัจน์' ขอเปิดให้นักการเมืองออกความเห็นปรองดอง

วันเดียวกัน สุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนา ต่อประเด็นแนวทางการสร้างความปรองดองของรัฐบาล ว่า ตนสนับสนุนและขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลเดินหน้าสร้างความปรองดองให้สำเร็จ เพราะประเด็นของความขัดแย้ง และแตกแยกในสังคมถือเป็นฝันร้ายของคนไทย เพราะมีผลต่อการทำลายความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศเสียโอกาสที่ดี ส่วนประเด็นของการสร้างความปรองดองน้นตนมองว่าต้องให้ภาคการเมืองที่เป็นปัจจัยหลักของปัญหาขัดแย้งเข้าร่วมมือต่อการปรึกษาหรือ และให้ความเห็นตามประสบการณ์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ ป.ย.ป. ได้ความเห็นที่เป็นประโยชน์และนำไปสู่การสรุปเป็นแนวทาง วิธีการปรองดองซึ่งทุกฝ่ายยอมรับ 
 
"วิธีการปรองดองที่จะเกิดความสำเร็จได้จริง คือ ทุกฝ่ายต้องเสียสละ ยอมถอยกันบ้าง เพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าต่อไป ยิ่งพวกเราร่วมมือส่งสัญญาณที่ดี จะทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีกับเศรษฐกิจ ทั้งความเชื่อมั่น การลงทุนต่างๆ และหากสามารถทำเรื่องปรองดองให้สำเร็จก่อนการเลือกตั้ง จะทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบร้อย ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย รวมถึงต่างประเทศด้วย และรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้งจะมีความชอบธรรม ได้รับการยอมรับ สามารถบริหารประเทศให้ประสบความสำเร็จเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนได้" สุวัจน์ กล่าว 
 

เรียบเรียงจาก ช่อง 7 สี  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สำนักข่าว ไอเอ็นเอ็ 1, 2 และ เฟซบุ๊ก Wassana Nanuam

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net