Skip to main content
sharethis

มูลนิธิกระจกเงาเผยเด็กหาย 86% สมัครใจหนีออกจากบ้าน จากปมรุนแรงในครอบครัว พบ ด.ญ.มากกว่า ด.ช.เกือบ 3 เท่า มีแนวโน้มถูกชวนไปอยู่กับแฟน-คนที่รู้จักกันในโลกออนไลน์ เสี่ยงมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน ตำรวจกองทะเบียนประวัติอาชญากรเปิดตัวภาพสเกตซ์จำลองอายุเด็กหายรายที่ 6

9 ก.พ. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ที่ร้านอาหาร@วิภา62 (ชลบุรีซีฟู๊ดเดิม) ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา แถลงข่าว สถานการณ์เด็กหายเปิดสถิติเด็กหาย ปี 2559 และทิศทางแนวโน้มปี 2560 เปิดตัวคู่มือฉบับย่อแนวทางการติดตาม เด็กวัยรุ่นสมัครใจหนีออกจากบ้าน พร้อมเปิดภาพสเก็ตซ์จำลองใบหน้าเทียบเท่าอายุปัจจุบัน ของเด็กที่หายไปนาน รายที่ 6 

พบ 86% สมัครใจหนี จากปมรุนแรงในครอบครัว มีแนวโน้มไปอยู่กับแฟนออนไลน์ 

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยสถิติการรับแจ้งเด็กหาย ปี 2559 ว่า มีทั้งสิ้น 424 ราย จำนวนกว่า 86% คือเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน อายุเฉลี่ยระหว่าง 13-15 ปี โดยเด็กหญิงหายออกจากบ้านมากกว่าเด็กชายเกือบ 3 เท่า ทั้งนี้พบเด็กที่หายออกจากบ้านมีปมปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัจจัยในการตัดสินใจหนีออกจากบ้าน โดยเฉพาะครอบครัวที่ลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง ด่าทอ และการห้ามเด็กทำสิ่งต่างๆ โดยไม่อธิบายเหตุผล นอกจากนี้ ยังพบว่า เด็กที่หายออกจากบ้าน มีแนวโน้มถูกชักชวนไปอยู่กับแฟนหรือคนที่รู้จักกันในโลกออนไลน์ และมีความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันหรือป้องกันไม่ถูกวิธี

"ในระยะหลังพบว่าเมื่อเกิดเหตุเด็กวัยรุ่นหายออกจากบ้าน ผู้ปกครองหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มักตัดสินใจประกาศภาพติดตามหาบุตรหลานที่หายไปในสังคมออนไลน์โดยทันที ทั้งที่ในความเป็นจริง ควรใช้กระบวนการสืบสวนเป็นหลักก่อน เพราะเด็กที่หายไปในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการสื่อสารหรือติดต่อกับบุคคลอื่น ตลอดจนอาจมีข้อมูลจากเพื่อนสนิทของเด็ก การประชาสัมพันธ์ภาพเด็กหายในโลกออนไลน์ มีข้อดีที่ข่าวสารกระจายไปได้รวดเร็วแต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นดาบสองคม เพราะภาพและข้อมูลของเด็กจะถูกแชร์ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด แม้ว่าจะพบตัวเด็กหายคนดังกล่าวแล้ว กระทบต่อสิทธิของเด็กในการกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข การประกาศเด็กหายในโลกออนไลน์ จะใช้ในกรณีจำเป็นที่ไม่มีแนวทางการสืบสวน หรือเด็กหายไปนานไม่มีเบาะแส หรือเป็นกรณีลักพาตัวเด็ก ซึ่งคนร้ายอาจพาเด็กเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ" เอกลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติม



เอกลักษณ์ กล่าวอีกว่า มูลนิธิกระจกเงา ได้จัดทำคู่มือฉบับย่อสำหรับผู้ปกครองและตำรวจในการเป็นแนวทางเพื่อติดตามหาเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน โดยควรเริ่มหาเบาะแสจากเพื่อนสนิทของเด็กและการสื่อสารที่เด็กใช้เป็นประจำ โดยสามารถดูคู่มือติดตามหาเด็กสมัครหนีออกจากบ้านได้ที่ www.facebook.com/thaimissing

แสวงหาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ทำงานในรูปแบบทีมสหวิชาชีพ

สำหรับกรณีเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้านนั้น กนกวรรณ เหลืองมงคลเลิศ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จ.มหาสารคาม กล่าวว่า เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า บ้าน อาจไม่ใช่สถานที่ที่เด็กรู้สึกว่าเป็นบ้าน บ้านอาจทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง เราในฐานะคนทำงานด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน เพื่อการช่วยเหลือเด็กได้อย่างทันท่วงที เมื่อพบตัวเด็กแล้วหรือว่าเด็กกลับบ้านมาเอง การทำงานตามกระบวนการคุ้มครองเด็กของบ้านพักเด็กและครอบครัวเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ดังนั้น การทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก เราไม่สามารถตัดสินใจเพียงลำพังได้ ต้องทำงานในรูปแบบทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ครู แพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นและครอบครัว เพื่อน เพื่อร่วมกันวางแผนช่วยเหลือเด็กอย่างเป็นระบบ

กนกวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพบว่ามีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นให้มีการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อไป การสร้างสัมพันธภาพกับเด็ก จะก่อให้เกิดความไว้วางใจ อันจะนำมาซึ่งข้อมูลที่เป็นจริง และในขณะเดียวกันก็ต้องทำงานร่วมกับครอบครัวด้วย เพื่อการสร้างสัมพันธภาพอันดีให้เกิดขึ้นในครอบครัว ป้องกันการหนีออกจากบ้านซ้ำ เพราะการที่เด็กใช้ชีวิตนอกบ้านนั้น เสี่ยงต่อการถูกล่อลวงในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หรือการถูกล่อลวงให้เข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ตามที่ปรากฏเป็นข่าว ดังนั้นเราในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ ย่อมมีวุฒิภาวะมากกว่าเด็กและที่สำคัญเราเคยผ่านการเป็นเด็กมาก่อนแล้วทั้งสิ้น ย่อมเข้าใจในภาวะฮอร์โมนว้าวุ่น ที่มักคิดอะไรง่ายๆ ตัดสินใจรวดเร็ว ไม่นึกถึงผลกระทบในระยะยาวต่อเด็ก ขอให้เรามีสติ "คิดก่อนแชร์ค่ะ"

"สำหรับปัญหาสังคมทุกปัญหามีทางออก ขอให้นึกถึงเรา บ้านพักเด็กและครอบครัว ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ หรือโทรศัพท์ หมายเลขสายด่วน ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง บ้านพักเด็กและครอบครัว ให้บริการอย่างเป็นมิตร ไม่กระทำซ้ำ และรักษาความลับ" กนกวรรณ กล่าว

เปิดที่มาของภาพสเก็ตช์เด็กหายเทียบเท่าอายุปัจจุบัน

พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ ผู้กำกับการ 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร กล่าวว่า ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือว่าเป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทยที่ใช้กระบวนการสร้างภาพสเก็ตช์เด็กหายให้มีอายุเทียบเท่าปัจจุบัน (Age Progression) โดยใช้หลักสากลคือเด็กหายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ยังตามหาไม่พบจะทำการสเก็ตช์ภาพเพิ่มอายุ ทุก 2 ปี ส่วนเด็กหายที่มีอายุเกิน 18 ปี จะทำการ สเก็ตช์ภาพทุก 5 ปี ซึ่งช่วงเวลาเหล่านั้น จะเป็นช่วงเวลาที่ลักษณะใบหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลง

พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนการทำงานได้มีการประสานงานกับมูลนิธิกระจกเงาเพื่อร่วมกันลงพื้นที่ ไปพบกับครอบครัวของเด็กหายเพื่อเก็บข้อมูลภาพถ่ายลักษณะใบหน้าของเด็กหายที่ถ่ายไว้ครั้งสุดท้าย พร้อมรวบรวมภาพถ่ายบุคคลในครอบครัว คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ภาพถ่ายพี่น้องในช่วงเวลาที่มีอายุ วัยเดียวกัน แล้วทำการวิเคราะห์อย่างละเอียด เพื่อให้ได้ภาพสเก็ตซ์ฯ ที่มีความใกล้เคียงกับเด็กหายในช่วงอายุที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด ซึ่งกองทะเบียนประวัติอาชญากรได้ร่วมมือกับมูลนิธิฯ ทำภาพ สเก็ตช์ดังกล่าว มาแล้วจำนวน 6 ภาพ ภาพสเก็ตซ์ รายล่าสุดในวันนี้ คือ เด็กชายเดชาวัต ยาต่อ หรือน้องเจต อายุขณะหาย 12 ปี หายตัวไปจากบ้านที่อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ปัจจุบันน้องเจตอายุ 15 ปีเต็ม จึงได้มีการทำภาพจำลองเพราะใบหน้าของน้องเจตจะเปลี่ยนไป

ข้อแนะนำของตำรวจในการป้องกันเด็กหาย นั้น พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เสนอว่า 1. ผู้ปกครองต้องให้ความรัก ความอบอุ่น ดูแลเด็ก อย่างใกล้ชิดไม่ให้เกิดปัญหาในครอบครัว 2. รับรู้ข้อมูลเด็กอย่างต่อเนื่อง 3. สร้างเครือข่ายผู้ปกครองโดยสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้เร็วที่สุด 4. อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงหรืออยู่ตามลำพัง และ5. ให้คำแนะนำเด็กให้รู้ถึงวิธีการล่อล่วงของคนร้ายฝึกให้เด็กได้มีทักษะการสังเกตจดจำเบื้องต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net