พินิจปรองดองฉบับไต้หวัน-มุ่งสืบข้อเท็จจริง-เปิดหน้าประวัติศาสตร์และยอมรับผิด

มาร์ค แฮร์ริสัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาจีนในเวทีโลกของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียเขียนบทความเกี่ยวกับรัฐบาลไต้หวันภายใต้การนำของ 'ไช่ อิงเหวิน' ซึ่งหลังชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งผู้นำไต้หวัน ได้กล้าเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ยุคเผด็จการด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง ขอโทษต่อกลุ่มชนพื้นเมืองที่รัฐบาลเคยกดขี่ และเปิดหน้าประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดให้สังคมเรียนรู้

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ร้องเพลงชาติสาธารณรัฐจีน หรือ ไต้หวัน ร่วมกับนักเรียนชนพื้นเมือง ในวันสาบานตนเป็นประธานาธิบดีเมื่อ 20 พฤษภาคม 2559 (ที่มา: YouTube: Office of the President Republic of China)

ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน แถลงขออภัยต่อชนเผ่าพื้นเมืองเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 (ที่มา: The Star Online) 

9 ก.พ. 2560 ในขณะที่โลกมักจะมองสาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน ในแง่ตัวแปรหนึ่งที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกา-จีน จากกรณีที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โทรศัพท์ต่อสายถึงประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน จนทำให้จีนไม่พอใจ แต่ มาร์ค แฮร์ริสัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาจีนในเวทีโลกของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ก็ชวนมองว่าการตัดสินใจเลือกรัฐบาลจากระบอบประชาธิไตยในไต้หวันส่งผลต่อการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ในประเทศไต้หวันเองอย่างไร โดนเน้นถึงเรื่องเกี่ยวกับกรณีการเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ในอดีตของประเทศตัวเอง จากที่ไต้หวันเคยมีประวัติศาสตรืความรุนแรงทางการเมืองมาก่อน

หลังจากที่เข้าสู่ตำแหน่งไช่อิงเหวินก็ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและการไกล่เกลี่ยปรองดองเพื่อให้มีการพูดถึงประสบการณ์อันขมขื่นของผู้คนในไต้หวันสมัยเผด็จการภายใต้กฎอัยการศึกในปี 2492-2530 โดยที่ไช่อิงเหวินเคยกล่าวไว้ว่ารัฐบาลของเธอมีนดยบายให้ความสำคัญต่อความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional justice)

นอกจากคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ยังดำเนินการในแง่อื่นๆ ที่จะให้ความเป็นธรรมและทำให้สังคมเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงยุคเผด็จการในอดีต เช่นในเดือน ส.ค. 2559 เธอแถลงขอโทษกลุ่มชนพื้นเมืองในไต้หวันอย่างเป็นทางการ จากที่ในอดีตตลอด 400 ปี ที่ผ่านมารัฐยุคต่างๆ ที่ปกครองไต้หวันลิดรอนสิทธิของกลุ่มชนพื้นเมืองไต้หวันมาโดยตลอดทั้งการใช้ทหารรุกรานและบุกยึดที่ดินทำกิน ไช่อิงเหวินจึงขอเป็นตัวแทนขอโทษแทนรัฐบาลที่ผ่านๆ มาของไต้หวัน

แฮร์ริสัน ระบุว่าคำขอโทษของไช่อิงเหวินมีขึ้นหลังจากที่กลุ่มชนพื้นเมืองดำเนินกิจกรรมเพื่อแสดงออกถึงเรื่องนี้มายาวนาน ซึ่งนอกจากคำขอโทษแล้วยังจะมีแผนการก่อตั้งศูนย์ประวัติศาสตร์เพื่อความยุติธรรมต่อกลุ่มชนพื้นเมือง และคณะกรรมการเพื่อความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน 

ในเดือน ส.ค. 2559 ไช่อิงเหวินยังได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินการอสังหาริมทรัพย์อย่างไม่เหมาะสมของพรรคการเมือง ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบสถานะของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคจีนคณะชาติ หรือก๊กมินตั๋ง (KMT) ที่เคยยึดกุมอำนาจในประเทศหลังจากที่ยึดครองไต้หวันที่อยู่ภายใต้การครอบครองของญี่ปุ่นในปี 2488 ได้ ซึ่งพรรค DPP ชูประเด็นนี้เป้นประเด็นหลักมานานแล้วแต่ฝ่าย KMT ก็กล่าวหาว่าพรรค DPP เล่นการเมืองแบบเลือกข้างภายใต้คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและการไกล่เกลี่ยปรองดอง

แต่ไม่เพียงแต่เรื่องการเมืองผ่านคณะกรรมการหรือการกระทำของรัฐบาลนี้เท่านั้น แฮร์ริสันยังชี้ว่ามีกิจกรรมหลายอย่างที่เกิดขึ้นในไต้หวันอย่างศิลปะ การศึกษา พิพิธภัณฑ์ และการพัฒนาเมือง ต่างก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเปิดกว้างในการเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ความไม่เป็นธรรมในยุคเผด็จการ นับตั้งแต่การยกเลิกกฎอัยการศึกเป็นต้นมามีหลายตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นเรื่องพวกนี้ทั้งการสืบสวนหาความจริง การชดเชย การรำลึก และอนุสรณ์เตือนความจำ การเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ในขณะที่ยุคเผด็จการกลายเป็นอดีตไปเรื่อยๆ ทำให้ไต้หวันรวบรวมความเข้มแข็งได้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และในปี 2560 นี้เองจะครบรอบ 30 ปี ที่ไต้วันยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกอันยาวนาน

"สำหรับไต้หวันแล้ว ประวัติศาสตร์หมายถึงการค้นคว้าและขุดคุ้ยสิ่งที่ถูกซุกซ่อนและทำให้เงียบเสียงโดยรัฐ การเขียนประวัติศาสตร์ในไต้หวันเป็นการกระทำแบบประชาธิปไตยที่เผชิญหน้ากับเผด็จการ" แฮร์ริสันระบุในบทความ

แน่นอนว่าการเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์เช่นนี้อาจจะกลายเป็นยาขมสำหรับพรรค KMT และอาจจะเกี่ยวโยงกับอัตลักษณ์ความเป็นชาติของไต้หวันเอง แฮร์ริสันชี้ว่าการทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ของตัวเองของไต้หวันยังมีความเกี่ยวข้องกับมิติระดับนานาชาติด้วย เพราะมีชาวไต้หวันหลายแสนคนอพยพออกนอกประเทศในช่วงยุคสมัยที่มีกฎอัยการศึกซึ่งส่วนใหญ่อพยพไปที่สหรัฐอเมริกา ชาวไต้หวันโพ้นทะเลในรุ่นที่ 2-3 กลายเป็นผู้ที่สะท้อนประวัติศาสตร์ไต้หวันยุคเผด็จการสมัยพ่อแม่และปูย่าของพวกเขาออกมาในรูปแบบผลงานทางวัฒนธรรมและกิจกรรมทางการเมือง

แฮร์ริสันมองว่าการย้อนมองและสะท้อนประวัติศาสตร์ของตัวเองออกมาได้ในยุคที่เป็นประชาธิปไตยจะทำให้ไต้หวันมีความเข้มแข็งมากขึ้นในเวทีโลกและท้าทายอำนาจการกำหนดบทบาทของตัวเองโดยรอดพ้นเงื้อมมือของอำนาจระดับโลกได้

 

เรียบเรียงจาก

How Taiwan’s authoritarian history could affect its current geopolitics, Mark Harrison, East Asia Forum, 07-02-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท