จดหมายจากเบอร์ลิน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เพื่อนเอ้ย...ในฐานะคนไกลบ้าน ผมรู้แก่ใจว่า "บ้าน" มีความหมายมากเพียงไร สำหรับผมบ้านไม่ใช่ประเทศไทยแต่เป็นที่ไหนก็ได้ที่มีมีความผูกพันกับผู้คนที่นั่นอย่างลึกซึ้ง นอกจากเชียงใหม่ที่มีครอบครัวและผองเพื่อน ก็ยังมีกรุงเทพ และจังหวัดอุทัยธานีบ้านเกิดของผม หากมีคนถามว่าที่ไหนคือบ้านอีก ผมจะตอบอย่างเต็มปากว่าสามจังหวัดภาคใต้ เพราะผมมีเพื่อนรักมากมายที่นั่น เพื่อนที่เป็นมุสลิม เป็นผู้รักความเป็นธรรม เป็นทั้งนักต่อสู้และผู้สูญเสียจากความรุนแรง ผมรักเพื่อนๆ ไม่ใช่เพราะพวกเขาและเธอเป็นมุสลิมแต่เพราะทุกคนคือเพื่อนที่พวกเราร่วมสร้างสายสัมพันธ์กันมา นี่คือความสัมพันธ์ของมนุษย์ในเชิงสากลที่ผมยึดถือ

วันนี้ผมมีความรู้สึกมากมายจนยากบรรยายกับปฏิกริยาของเพื่อนจำนวนมากที่มีต่อการเตะฟุตบอลของหญิงมุสลิมและที่มากกว่านั้นคือกับความเชื่อที่ว่าผู้จัดสนับสนุนให้มีรักร่วมเพศ เนื่องจากด้านหนึ่งผมสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ขณะที่อีกด้านก็ผูกพันกับเพื่อน ความรู้สึกที่ว่าส่วนหนึ่งมันคงมาจากการแสดงทัศนะอย่างรุนแรงและแทบไม่อยากเชื่อว่าจะมาจากเพื่อนที่คุ้นเคยแทบทุกคน

ผมขอพื้นที่นี้ในการแลกเปลี่ยนฉันท์มิตรดังต่อไปนี้

1. ในฐานะผู้ศึกษาสังคมมลายู ผมเข้าใจในเบื้องต้นว่าหลักการทางศาสนาอิสลามมีความสำคัญในสังคมนี้ ทว่า ศาสนาอิสลามมีบทบาทอย่างเข้มข้นในช่วงสถานการณ์ที่ความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคมของสามจังหวัด ศาสนาอิสลามไม่ใช่ยาฝื่นหากเป็นพลังสำคัญในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของ "โลกนี้" (ดุนยา) ดังนั้น การต่อสู้เพื่อปกป้องศาสนาจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและเป็นความรู้สึกร่วมกัน นักวิชาการหลายคนเรียกขานว่าเป็นชุมชนที่เกาะเกี่ยวกันด้วยความรู้สึกและสายใยที่มีร่วมกัน (community of feeling) กรณีการแสดงความเห็นเรื่องหญิงรักหญิงหรือรักร่วมเพศก็เช่นเดียวกัน นี่คือสิทธิโดยชอบธรรมของเพื่อนมุสลิมที่จะแสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์

แต่เพื่อนเอ๋ย...ผมติดตามการวิพากษ์วิจารณ์หรือปกป้องศาสนาและชุมชนของเพื่อนแล้วรู้สึกเศร้าใจยิ่งนัก แทบไม่มีใครสักคนหยิบสาระสำคัญหรือหลักฐานออกมาพูด ไม่มีการเปิดโอกาสให้กับการตีความ และไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายออกมาเปิดชี้แจง ผมเสียใจเมื่อรู้ว่าหลายคนยังไม่ทันได้ทราบที่มาที่ไปอะไรเลยและยังไม่ทันได้ดูหลักฐานอะไรเลยก็ออกมาประนามกันเสียแล้ว จุดนี้เพื่อนคิดอย่างไรครับ เส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการปกป้องกับการทำลายมันอยู่ที่การสร้างหลักการในการตรวจสอบพิจารณาข้อเท็จจริงก่อนใช่หรือไม่ เพื่อนหลายคนพูดมีหลักการ หลายคนก็พูดเอามันส์ สิ่งสำคัญที่สุดคือ เพื่อนแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ โลกที่ซ้อนทับลงไปพื้นที่ของ "โลกนี้" เพื่อนพยายามจะสร้างคำตัดสินออนไลน์หรือฟัตวาออนไลน์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน บนโลกออนไลน์ โลกที่มนุษย์ทุกคนแสดงบทประหนึ่งเป็นผู้ลิขิตหรือผู้สร้าง ผมอยากถามเพื่อนๆ ว่า โลกออนไลน์นี้ใครสร้างขึ้นมา

หากเพื่อนอธิบายว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้าง เพื่อนยิ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับความคิดเห็นที่หลากหลายและอย่าเพิ่งไปสร้างคำตัดสินล่วงหน้ามากมายโดยปราศจากการแสดงหลักฐานและการตีความ ชุมชนออนไลน์ที่เพื่อนสร้างขึ้นมันเกาะเกี่ยวกันด้วยความรู้สึกประเภทไหนกัน ผมไม่สามารถเข้าใจได้เพียงแค่การปกป้อง แต่ยังสัมผัสได้ถึงการพยายามทำลายและการขับไล่ด้วย เพื่อนลืมไปแล้วหรือไร จะลำบากกันอย่างไร พวกเราก็ผ่านมาด้วยกัน ไฉนเพื่อนจึงสะบั้นสายใยที่พวกเราเพียรสร้างกันมาได้

2. โลกของมลายูมุสลิมในรัฐไทยเป็นสิ่งโลกซ้อนทับกันระหว่างมโนทัศน์ว่าด้วยเรื่องความเป็นพลเมือง แน่นอน นี่คือโลกที่สำนึกของพลเมืองทางศาสนาและพลเมืองของรัฐขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น ยิ่งการสร้างสำนึกพลเมืองของรัฐไทยมีความผิดพลาดและไม่ชอบธรรม สำนึกในพลเมืองทางศาสนาอิสลามจะมีบทบาทอย่างยิ่งในการเรียกร้องและท้าทาย และที่ผ่านมา การสร้างพลเมืองของรัฐไทยก็เป็นปัญหากับสังคมมลายูมุสลิมมาโดยตลอด สำนึกความเป็นมลายูมุสลิมของเพื่อนจึงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

แต่เพื่อนเอ๋ย...ท่ามกลางบททดสอบในสำนึกมลายูมุสลิมนี้เอง สิ่งหนึ่งที่ต้องพึงตระหนักคือพลวัตความเปลี่ยนแปลงภายในสังคมของตนเอง สังคมของมลายูมุสลิมก็มิได้เป็นเหมือนภาพเหมารวม เพื่อนก็รู้ว่าสังคมของเรามีความแตกต่างทางชนชั้นสูง โดยเฉพาะเรื่องเพศก็ยิ่งมีความหลากหลายมิใช่หรือ เรื่องนี้เพื่อนก็รู้ดีเพียงแต่ว่ามันอยู่ในชีวิตประจำวันในตลาด ในโรงเรียน ในบ้าน ในปอเนาะ และในโรงเรียนสอนศาสนาเอกชน เพื่อนก็ยังเคยเล่าให้ผมฟังอยู่มากมาย เหตุที่เพื่อนไม่พอใจเนื่องจากเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะใช่หรือไม่และกระทำอย่างเป็นทางการใช่หรือไม่

ผมสนับสนุนแนวคิดของผู้จัดเพราะเค้ากระทำในพื้นที่สาธารณะและเปิดเผย นี่ไม่ใช่สิ่งที่น่าละอายแต่อย่างไร เท่าที่ผมเข้าใจ ประเด็นสำคัญของของผู้จัดอยู่ที่การเคารพความหลากหลายด้านเพศสภาพและการคำนึงถึงสิทธิความเป็นมนุษย์ของพวกเขาและเธอ นี่คือโลกที่ซ้อนทับกันอยู่ระหว่างโลกทางศาสนาและโลกฆราวาส ตามหลักศาสนาเป็นที่รู้กันว่าเพศมีเพียงสองคือหญิงกับชาย ทว่าตามหลักมนุษยชน คนเราทุกคนควรได้รับการปกป้องและสามารถแสดงสิทธิและรักษาสิทธิความเป็นมนุษย์ของตนเองได้ เมื่อโลกสองใบมันซ้อนทับกัน เราควรให้คนแต่ละคนมีสิทธิที่จะเลือกในการจัดการชีวิตตนเอง อาจมีบางคนเลือกที่จะเป็นหญิงรักหญิงและเป็นมุสลิมที่ดีก็ได้ หากเราเชื่อว่าชีวิตของมนุษย์เป็นผลลิขิตของพระเจ้า การดำเนินชีวิตที่ควบคู่กันไปก็อาจป็นลิขิตประเภทหนึ่ง ไฉนเพื่อนจึงเร่งด่วนตัดสินเส้นทางชีวิตของผู้คน เพื่อนควรยินดีที่ยังมีคนอีกมากมายที่ยังมีความกล้าหาญและดิ้นรนเพื่อรอผลของบทพิสูจน์ดังกล่าว

3. บนโลกที่ซ้อนทับกันระหว่างโลกศาสนาและโลกฆราวาส เพื่อนอย่าบอกเลยว่าเพื่อนยืนบนโลกศาสนาเพียงอย่างเดียว ในการแข่งขันฟุตบอลระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนยังเชียร์บอลไทยเสียงดังลั่น หรือยังเชียร์นักกีฬาทีมชาติไทยในการแข่งขันซีเกมส์ นี่คือโลกสองใบและอาจมีหลายๆใบที่ซ้อนทับกันอยู่

หวนนึกถึงคำตัดสินออนไลน์ของเพื่อนๆ ที่มีต่อประเด็นเรื่องรักร่วมเพศ เพื่อนคงไม่ได้แสดงความเห็นในฐานะมุสลิมเพียงอย่างเดียว แต่ยังในฐานะพ่อ พี่ เพื่อน และน้อง ที่เติบโตมาในสังคมมลายูในรัฐไทยด้วยเช่นกัน นี่คือสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อนจะรู้ได้อย่างไรว่า "ความเป็นชาย" ที่ถูกบ่มเพาะขึ้นมานี้มันมีปัญหาอย่างไรบ้าง เพื่อนจะรู้ได้อย่างไรว่าความเห็นที่เพื่อนแสดงออกไปมาจากศาสนาล้วนๆ ไม่มีเรื่อง "ความเป็นชาย" ในลักษณะของการใช้อำนาจและความชอบธรรมทางอำนาจมาเกี่ยวข้อง เพื่อนมักเล่าให้ผมฟังถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากทหารในพื้นที่และจากอำนาจรัฐทั้งในแง่ของอคติทางเชื้อชาติและกระบวนการกีดกันต่างๆ การกระทำของเพื่อนแทบไม่ต่างอะไรไปจากรัฐที่เพื่อนเคยวิจารณ์และถูกกีดกันเลย นี่คือการเชื่อมประสานกันเพียงไม่กี่ช่องทางระหว่างรัฐไทยกับความเป็นมลายู

เพื่อนเอ๋ย...โลกดุนยาหรือโลกนี้คือสิ่งที่ซ้อนทับกันหลายมากมาย ทั้งอุดมการณ์ ความเชื่อ และศาสนา ผมขอเรียกร้องให้เพื่อนอดทนอดกลั้นต่อเพื่อนด้วยกัน รับฟังความเห็นที่แตกต่างในทางโลกย์บ้าง เพื่อนเองก็มีชีวิตอยู่ร่วมกับเราและเราก็ต้องอยู่ด้วยกันไปอีกนาน นี่คือบทพิสูจน์บางประการของสังคมมลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้เองว่าจะโตขึ้นในลักษณะใด เราจะโตแบบภายในไร้ความหนักแน่นกระนั้นหรือ เราจะเติบโตขึ้นโดยสวมรอยสิ่งที่เราเคยวิพากษ์วิจารณ์มากระนั้นหรือ

4. ถึงเพื่อนจะป่าวประกาศว่านี่คือคำตัดสินทางศาสนา ผมก็จะเคารพ แต่ผมจำต้องบอกด้วยเช่นกันว่าเราต้องอยู่ด้วยกัน เพื่อนก็คือเพื่อน และที่นั่นก็คือบ้านของผมอีกหลังหนึ่ง สิ่งที่เราควรใคร่ครวญให้ดีคือ ปรากฏการณ์นี้บอกกับเราว่าในสังคมหรือรัฐที่เราอยู่นั้นไม่มีกลไกใดเลยที่จะมาไกล่เกลี่ยหรือจัดการกับปัญหาในระดับที่ลึกซึ้งเช่นนี้ เมืองที่ผมมาศึกษาต่อคือเบอร์ลิน เป็นเมืองที่มีมุสลิมอยู่มากมาย แน่นอน ที่นี่ไม่ใช่เมืองต้นแบบที่ดีนักสำหรับการใฝ่ฝันถึงความปรองดองหรือสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่นี่ออกจะเถื่อนเสียด้วยซ้ำไป ทว่าสิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้ด้วยตัวเองโดยปราศจากทฤษฏีใดๆ คือ ความอดทนอดกลั้นหรือ toleration คำนี้นอกจากจะใช้ในแง่ของอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ยังหมายถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาอีกด้วย

เพื่อนรู้หรือไม่ว่าในรถไฟฟ้าที่นี่สามารถเอาหมาขึ้นไปได้ มุสลิมจำนวนมากก็ต้องนั่งโดยสารไปด้วยกัน โดยมีเจ้าของหมาคุมอยู่ไม่ให้เข้าใกล้ แม้กระทั่งหมาไปดมยังโดนดึงกลับ มีคนเบอร์ลินจำนวนน้อยที่เข้าใจเป็นเบื้องต้นว่ามุสลิมไม่สามารถโดนน้ำลายหมาได้ แต่แทบทุกคนจะไม่ยอมให้หมาไปยุ่งกับคนอื่น เพราะถ้าหมากัดคนอื่น ทั้งหมาและเจ้าของต้องถูกลงโทษ การเลี้ยงหมา ทั้งเจ้าของและหมาต้องถูกฝึกอย่างจริงจัง นี่คือระเบียบกติกาทางโลกที่สามารถทำให้มุสลิมในเบอร์ลินมั่นใจในระดับหนึ่งว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องหมาแม้จะนั่งใกล้กันก็ตาม ขอเพิ่มอีกตัวอย่างหนึ่ง เพื่อนทราบหรือไม่ว่ามุสลิมจำนวนไม่น้อยในเบอร์ลินดื่มเบียร์ในพื้นที่สาธารณะ มีมากมายที่เปิดร้านขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แน่นอนคนเหล่านี้ได้รับการตักเตือนจากชุมชนมุสลิม แต่มุสลิมที่ดื่มแอลกอฮอลล์นี้จะถูกจับกุมก็ต่อเมื่อไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นเช่น เมาและอาละวาด

นี่คือกลไกทางโลกที่เคารพสิทธิส่วนบุคคล ตราบใดที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือแนวโน้มที่ไม่ปลอดภัยแก่ผู้อื่น เขาก็รู้กันว่ามุสลิมดื่มเหล้าไม่ได้ตามข้อห้ามแต่การอยู่ร่วมกันมันจำเป็นต้องวางบทกติกาอีกรูปแบบหนึ่ง สตรีมุสลิมจำนวนไม่น้อยในเบอร์ลินก็อาศัยช่องทางนี้ในการคุ้มครองสิทธิของตนเองจากการถูกทำร้ายและความรุนแรงในครอบครัว

เราอยู่ในโลกแบบที่เรียกว่า post - secularism หรือ โลกหลังฆราวาสนิยม มันเป็นเพราะโลกที่เราอยู่มิเคยเป็นโลกแบบฆราวาสเสียทั้งหมดและไม่ได้มีศาสนาเพียงอย่างเดียว ทั้งยังมีหลายๆ ศาสนาและความเชื่อปะปนกันไป การซ้อนทับของโลกหลายใบเช่นนี้มักสร้างความขัดแย้งและความรุนแรงขึ้นได้โดยง่าย กลไกในการจัดการความขัดแย้งนี้จึงมีความสำคัญที่ช่วยในการปะติดปะต่อสังคมไม่ให้มุ่งไปสู่การใช้ความรุนแรงโดยง่าย

ผมพูดมาเสียยืดยาว ทั้งหมดเพียงเพื่อต้องการจะบอกว่าในรัฐที่เราอยู่ร่วมกันนี้มันไม่มีกลไกทั้งในเชิงกฎหมายและกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวเลย เหตุใดเราต้องหันมาห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เราลืมไปแล้วหรือไรว่าเราอยู่ในกะลาใบเดียวกัน ทำไมเราไม่ช่วยกันหงายสิ่งที่มันเคยคว่ำให้ผู้คนเห็นว่าโลกมันกว้างกว่าที่เคยเห็นและเชื่อว่าเป็นอยู่ นี่คือพันธกิจของผองเรามิใช่หรือ และท่ามกลางพันธกิจนี้เราจำเป็นต้องหงายกะลาในใจของตนเองออกมาก่อน เราต้องสร้างกลไกการวิจารณ์ที่จะอยู่ร่วมกัน ทำให้เป็นทางการ มีหลักฐาน มาพูดคุยกัน ให้โอกาสหลายๆ ฝ่ายได้ชี้แจง และตีความในเจตนา กลไกประเภทนี้นี่เองที่เราจำเป็นต้องสร้างมันขึ้น

เพื่อนเอ้ย...ขอบคุณที่อ่านจนจบ ที่ผ่านมาผมพยายามจะไม่เขียนอะไรให้ยืดยาว แต่เพื่อนทุกคนคือคนสำคัญ สำหรับผม บ้านไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของสถานที่ แต่บ้านคือสายสัมพันธ์ที่ผมมีต่อผู้คน หากปราศจากสายสัมพันธ์ ผมคงปราศจากบ้าน ในฐานะคนไกล ผมได้แต่ฝันถึงเพื่อนๆ ว่าจะได้อยู่ในบ้านอย่างปลอดภัยและเห็นเพื่อนสร้างสังคมในอุดมคติ แต่เพื่อนอย่าลืมเราและคนอื่นๆ ที่ต้องการอยู่ร่วมกัน

บ้านคือสิ่งที่เกิดจากจินตนาร่วมของพวกเรา โดยที่ยังมีคนอื่นๆ อีกมากมายในบ้านของเรา

จุ้ย
เบอร์ลิน, เยอรมนี
9 - 02 - 2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท