เสียงส่วนใหญ่ชาวสวิสโหวตหนุน 'ผู้อพยพรุ่น 3' ได้สัญชาติง่ายขึ้น แม้มีกลุ่มต้านอิสลาม

ประชามติครั้งล่าสุดในสวิตเซอร์แลนด์ เสียงส่วนใหญ่ลงประชามติเห็นด้วยกับรัฐบัญญัติใหม่ที่จะทำให้ผู้อพยพรุ่นที่ 3 ได้รับสัญชาติหรือรับรองสิทธิเป็นพลเมืองได้ง่ายขึ้น แม้ว่าจะมีพรรคการเมืองฝ่ายต่อต้านอ้างใช้วาทกรรมกีดกันชาวมุสลิมพยายามให้ชาวสวิสโหวตไม่เห็นด้วย

14 ก.พ. 2560 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (12 ก.พ.) สวิตเซอร์แลนด์มีการจัดทำประชามติเกี่ยวกับรัฐบัญญัติที่จะทำให้ผู้อพยพรุ่นที่สามในสวิตเซอร์แลนด์ได้รับสัญชาติหรือรับรองสิทธิเป็นพลเมืองได้ง่ายขึ้น ผลปรากฏว่าถึงแม้จะมีการรณรงค์ต่อต้านด้วยแนวคิดความหวาดกลัวผู้อพยพ แต่คนส่วนใหญ่ก็โหวตสนับสนุนรัฐบัญญัติฉบับนี้ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 60.4 (1,499,615 เสียง) ขณะที่มีผู้โหวตไม่เห็นด้วยร้อยละ 39.2 (982,833 เสียง)

สื่ออัลจาซีราระบุว่าในวันก่อนการลงประชามติในประเด็นนี้มีการรณรงค์ของฝ่ายไม่เห็นด้วยที่มีข้อความในเชิงต่อต้านชาวมุสลิมและมีอคติทางศาสนา โดยเฉพาะจากกลุ่มขวาจัดอย่างพรรคการเมืองเอสวีพี (SVP) ที่เน้นอภิปรายในประเด็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและอัตลักษณ์ของชาติ

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาวิจัยของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า ในสวิตเซอร์แลนด์มีประชากรที่จัดเป็นผู้อพยพรุ่นที่ 3 อยู่น้อยกว่า 25,000 คน จากประชากรทั้งหมดราว 8 ล้านคน โดยที่ผู้อพยพรุ่นที่ 3 หมายถึงคนที่มีปู่ย่าตายายอย่างน้อย 1 คนที่เกิดในประเทศหรือมีที่อยู่อาศัยในสวิตเซอร์แลนด์ ในจำนวนนี้มีเกือบร้อยละ 60 เป็นชาวอิตาลี ตามมาด้วยคนแถบคาบสมุทรบอลข่าน (เช่น กรีซ โครเอเชีย ตุรกี)

ถึงแม้ว่าพรรคเอสวีพีจะพยายามต่อต้านรัฐบัญญัติสนับสนุนผู้อพยพรุ่นที่ 3 นี้ด้วยการกล่าวใส่ร้ายอิสลามและอ้างว่าคนมุสลิมจะมาทำให้ "สูญเสียคุณค่าความเป็นสวิตเซอร์แลนด์" แต่โซฟี กุยนาร์ด จากสถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งเบิร์น ก็บอกว่าการอภิปรายในเรื่องบัญญัติเกี่ยวกับการให้สิทธิความเป็นพลเมืองได้ง่ายขึ้นสำหรับผู้อพยพรุ่นที่ 3 นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องศาสนา

พรรคเอสวีพีพยายามรณรงค์ต่อต้านโดยใช้โปสเตอร์รูปผู้หญิงในชุดนิกอบ (ชุดปกคลุมใบหน้าแบบของมุสลิมบางประเทศ) พร้อมคำว่า "ความเป็นพลเมืองที่ไร้การควบคุม" นักการเมืองพรรคเอสวีพีอย่าง ฌอง ลุค แอดดอร์ ก็เรียกร้องให้ผู้คนโหวต "ไม่เห็นด้วย" กับรัฐบัญญัติโดยอ้างว่าผู้อพยพรุ่นที่ 3 ไม่ใช่คนที่มีพื้นเพเป็นชาวยุโรป และอ้างว่าเป็นคนที่มาจากกลุ่มประเทศมุสลิม อย่างไรก็ตามมีคนวิจารณ์การรณรงค์ต่อต้านนี้ว่าเป็นการพยายามหาพวกจากกลุ่มคนที่กังวลว่าจะมีชาวมุสลิมกลายเป็นชาวสวิสมากขึ้น

กุยนาดบอกว่านักการเมืองกระแสหลักในสวิตเซอร์แลนด์และนักข่าววิจารณ์โปสเตอร์นี้ว่าเป็น "การใช้ความรุนแรงต่อชาวมุสลิม"

แม้ว่าจะมีกระแสที่นักการเมืองตะวันตกรวมถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายในเชิงต่อต้านชาวมุสลิมมากขึ้น แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสวิตเซอร์แลนด์ พรรคเอสวีพีเคยเรียกร้องให้ชาวสวิสต่อต้านการสร้างมัสยิดและหออะซานแห่งใหม่ได้สำเร็จในปี 2552 และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพวกเขาก็อ้างศาสนามาใช้ต่อต้านเวลามีประชามติเกี่ยวกับผู้อพยพ

อย่างไรก็ตามสื่อดอยช์ เวเลย์ รายงานว่าฝ่ายโหวตสนับสนุนรัฐบัญญัติเกี่ยวกับผู้อพยพรุ่นที่ 3 เป็นฝ่ายชนะ โดยผ่านข้อกำหนดขั้นต่ำที่ต้องให้เสียงส่วนใหญ่ในเขตปกครองอย่างน้อย 14 เขตในสวิตเซอร์แลนด์โหวตสนับสนุน

 

เรียบเรียงจาก

Swiss referendum on citizenship after anti-Muslim row, Aljazeera, 12-02-2017
http://www.aljazeera.com/news/2017/02/swiss-referendum-citizenship-anti-muslim-row-170212034137048.html

Switzerland backs 'simplified naturalization' for third-generation migrants, DW,  13-02-2017
http://www.dw.com/en/switzerland-backs-simplified-naturalization-for-third-generation-migrants/a-37520901

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Swiss_referendums,_2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท