ว่าด้วย ‘ชั่วโมงการทำงาน’ ของที่ต่าง ๆ ในโลก

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าประเทศใดคนทำงานมีชั่วโมงทำงานยาวนานสุด ชวนดูเกร็ดเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานของประเทศต่าง ๆ ในโลกจากหลากสถิติหลากข้อมูลอ้างอิง และดูการขยับตัวรอบล่าสุดที่ญี่ปุ่นหลังประเด็นการฆ่าตัวตายจากการทำงานหนักถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง

ในที่ต่าง ๆ ของโลกยังมีชั่วโมงการทำงานที่แตกต่างกัน และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าประเทศใดคนทำงานมีชั่วโมงทำงานยาวนานสุด | ที่มาภาพประกอบ: Raumrot (CC0)

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าประเทศใดคนทำงานมีชั่วโมงทำงานยาวนานสุด (แม้ตัวบ่งชี้จากสถิติที่รวบรวมมาได้ในรายงานชิ้นนี้มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นที่ฮ่องกง แต่กระนั้นในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกหลายที่ในโลกที่ยังไม่มีการเก็บสถิติชั่วโมงการทำงานของคนในประเทศไว้อย่างเป็นระบบ) วันนี้ประชาไทรวบรวมเกร็ดตัวเลขและประเด็นที่เกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานมาให้อ่านกัน

ชั่วโมงการทำงานของประเทศกลุ่ม OECD

ในรายงานข่าว Americans Work Hard, But People In These 15 Countries Work Longer Hours ที่เผยแพร่ใน fortune.com เมื่อปี 2558 ระบุว่าใน กลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จากข้อมูล ณ ปี 2557 พบว่ามีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์เฉลี่ยที่ 30.94 ชั่วโมง ประเทศเม็กซิโกมีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์สูงสุดที่ 42.85 ชั่วโมง เยอรมนีมีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ต่ำที่สุดที่ 26.37 ชั่วโมง ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจก็มีอาทิเช่น เกาหลีใต้ 40.85 ชั่วโมง, สหรัฐอเมริกา 34.40 ชั่วโมง, ญี่ปุ่น 33.25 ชั่วโมง, แคนาดา 32.77 ชั่วโมง, สหราชอาณาจักร 32.25 ชั่วโมง, ออสเตรเลีย 32.00 ชั่วโมง และฝรั่งเศส 28.33 ชั่วโมง

อนึ่งในรายงานข่าวชิ้นนี้ระบุว่าข้อมูลของ OECD แตกต่างจากข้อมูลของ สำนักงานแรงงานและสถิติของสหรัฐฯ (U.S. Bureau of Labor Statistics) เล็กน้อย โดยจากการสำรวจของสำนักงานแรงงานและสถิติของสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค. 2557 ชั่วโมงการทำงานของคนอเมริกันต่อสัปดาห์อยู่ที่ 34.60 ชั่วโมง

เมืองที่มีชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์น้อยและมากที่สุด

ในรายงาน Prices and earnings 2015 Do I earn enough for the life I want? ของธนาคาร UBS ที่เผยแพร่เมื่อปี 2559 โดยรายงานชิ้นนี้ได้สำรวจข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับคนทำงานใน 15 ธุรกิจ ใน 71 เมือง พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนทำงานเอเชียส่วนใหญ่มีชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์มากกว่าชาวตะวันตก (นับเฉพาะวันทำงาน 5 วัน) โดยคนทำงานงานในฮ่องกงทำงานกันหนักมากถึง 50.11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (กรุงเทพฯ อยู่อันดับ 5 มีชั่วโมงทำงานที่ยาวนานถึง 42.13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ส่วนปารีสประเทศฝรั่งเศส ติดอันดับการทำงานน้อยชั่วโมงที่สุดมีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์อยู่ที่ 30.48 ชั่วโมง ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยของชั่วโมงการทำงานของชาวฮ่องกงมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ร้อยละ 38 มากกว่าชาวลอนดอนถึงร้อยละ 50 และมากกว่าชาวปารีสถึงร้อยละ 62 เลยทีเดียว

สัดส่วนคนทำงานมากกว่า 49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ในรายงานข่าว Karoshi: Economic prosperity at a personal cost  ที่เผยแพร่ใน Nikkei Asian Review เมื่อปลายปี 2559 ได้เรียบเรียงข้อมูลจาก ILOSTAT Database (ใช้ข้อมูล ณ ปี 2558 ยกเว้นสิงคโปร์เป็นข้อมูลปี 2557 และสหรัฐอเมริกาข้อมูลปี 2555) ระบุว่าเกาหลีใต้มีสัดส่วนคนทำงานในประเทศที่ทำงานมากกว่า 49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มากที่สุดคือร้อยละ 32.0 นอกจากนี้มีประเทศที่น่าสนใจได้แก่ ฮ่องกง ร้อยละ 30.1, อินโดนีเซีย ร้อยละ 26.3, สิงคโปร์ ร้อยละ 25.0, มาเลเซีย ร้อยละ 21.5 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 20.9, ญี่ปุ่น ร้อยละ 20.8, สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 16.4, สหราชอาณาจักร ร้อยละ 12.3, ฝรั่งเศส ร้อยละ 10.1 และเยอรมนี ร้อยละ 9.6

‘คาโรชิ-ฆ่าตัวตาย’ และความพยายามลดชั่วโมงการทำงานที่ ‘ญี่ปุ่น’

ที่มาภาพประกอบ flickr.com/rickcogley/CC BY-NC-ND 2.0

ปัญหาจากการทำงานหนักของคนญี่ปุ่นมีการพูดในหน้าสื่อทุก ๆ ปี โดยเฉพาะอาการ 'คาโรชิ' (Karochi syndrome) หรืออาการเสียชีวิตจากการทำงานหนัก โดยกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นเปิดเผยว่าในปีงบประมาณ 2557 มีคำร้องขอเรียกเงินชดเชยจากกรณีคาโรชิ (karoshi) พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1,456 ราย กระทรวงแรงงานยอมรับว่ากรณีคาโรชิในสองรูปแบบคือ การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานมากเกินไป และการฆ่าตัวตายจากความเครียดในการทำงานโดยในช่วงปี 2554-2557 ผู้ที่มีอายุ 29 ปีและต่ำกว่า ฆ่าตัวตายจากความเครียดในการทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 ผู้หญิงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นร้อยละ 39

เหตุการณ์ที่สะเทือนสังคมญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่งเกิดเมื่อ มัตซึริ ทากาฮาชิ (Matsuri Takahashi) พนักงานหญิงวัย 24 ปีของบริษัทเดนสึ (Dentsu) บริษัทโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นฆ่าตัวตายเมื่อปี 2558 หลังจากทนทำงานหนักไม่ไหว โดยมีการระบุว่าเธอทำงานล่วงเวลา (OT) มากถึง 105 ชั่วโมงต่อเดือน เหตุการณ์นี้ได้ส่งผลให้ประธานบริษัทเดนสึได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งในปีต่อมา ต่อเหตุการณ์นี้ได้กระตุ้นรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์คนงานเสียชีวิตหรือฆ่าตัวตาย อันเนื่องมาจากการทำงานหนักเกินไปอีก โดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่น ระบุว่าจะเปิดเผยรายชื่อบริษัทที่มีพนักงานเข้าข่ายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในสถานที่ทำงาน หรือมีพนักงานถูกบังคับใช้แรงงานอย่าง ผิดกฎหมายเป็นเวลาหลายชั่วโมงในที่ทำงานมากกว่าหนึ่งแห่งของบริษัท นอกจากนี้รัฐบาลยังพยายามที่จะแก้ปัญหาการใช้แรงงานเกินเวลาโดยที่นายจ้างไม่จ่ายเงินค่าล่วงเวลาให้ โดยกระทรวงแรงงาน เตรียมที่จะออกหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับขอบเขตการทำงานแก่บริษัทต่าง ๆ เพื่อให้ทราบตรงกันว่าตามแนวทางที่ถูกต้องนั้นพนักงานควรทำงานเป็นเวลากี่ชั่วโมง

นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงทยอยออกมาตรการแก้ปัญหาคนทำงานหนักเกินไปมาอย่างต่อเนื่อง เช่น 'Friday Premium' โดยการให้บริษัทต่าง ๆ ให้พนักงานเลิกงานในเวลา 15.00 น.ทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน เพื่อให้พนักงานเหล่านี้พักผ่อน ช้อปปิ้งจับจ่ายใช้สอย หรือไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ผ่อนคลายจากการทำงานซึ่งอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาของญี่ปุ่นได้ด้วย อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานของญี่ปุ่นกล่าวว่าแผนนี้ของรัฐบาลอาจไม่ได้ทำง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นยังยึดติดว่าทุกนาทีของการทำงานมีค่าและมีแรงกดดันให้คนทำงานต้องทำงานเกินเวลาอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้กลุ่มนักสิทธิแรงงานเชื่อว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักมากเกินอาจสูงกว่านี้ เนื่องจากบางกรณีอาจไม่ได้บันทึกว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการทำงานมากไป รวมทั้งรวมทั้งการส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ ให้คนทำงาน 4 วัน หยุดงาน 3 วันต่อสัปดาห์ (อ่านเพิ่มเติม: หลายบริษัทในญี่ปุ่นเริ่มให้คนทำงาน 4 วัน หยุดงาน 3 วันต่อสัปดาห์)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท