ประมวลแถลงการณ์หลากองค์กรร้องรัฐปล่อยตัวแกนนำ-ผู้ชุมนุมค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

รวมแถลงการณ์องค์กรสิทธิฯ องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ เรียกร้องรัฐ ปล่อยตัวแกนนำ-ผู้ชุมนุมค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่อย่างไม่มีเงื่อนไข พร้อมขอให้ยุติหรือทบทวนมติการสร้างโรงไฟฟ้า

18 ก.พ. 2560 จากกรณีวานนี้ (17 ก.พ.60) เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และเครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา และ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ นำโดย ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ และ ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร พร้อมด้วยเครือข่ายกว่า 200 คน ตัวบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.) ก่อนที่ กพช. มีมติเดินหน้าก่อนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ ส่งผลให้เครือข่ายดังกล่าว ปักหลักชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าข้ามคืนมาแล้วนั้น

วันนี้ (18 ก.พ.60) แกนนำเครือข่ายดังกล่าว 5 คน ประกอบด้วย ประสิทธิชัย หนูนวล, อัครเดช ฉากจินดา ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร  บรรจง นะแส และ ธัชพงศ์ แกดำ ถูกกุมตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 อยู่ที่ มณฑลทหารบกที่ (11 มทบ.11) ขณะที่ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณ สำนักงาน ก.พ.ร. นั้น ถูกควบคุมตัว 12 คน ไป บก.สปพ. ถนนวิภาวดี ซึ่ง มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ(ผบก.สปพ.) เปิดเผยว่า สำหรับผู้ชุมนุม 12 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวมาที่บก.สปพ. นั้น ถูกควบคุมมาตามคำสั่งของ คสช. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวาย หรือเกิดความเข้าใจผิดเท่านั้น ยืนยันว่าในวันนี้ทั้ง 12 คนไม่ได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาใดๆทั้งสิ้น เป็นเพียงการถูกควบคุมตัวมาเพื่อทำประวัติ พูดคุยและปรับทัศนคติ ก่อนจะให้เดินทางกลับบ้าน โดยไม่มีการควบคุมตัวแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้มีองค์กรสิทธิ องค์กรการพัฒนา ฯลฯ หลายองค์กร เช่น  คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)  สภาองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน ภาคใต้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน องค์กรนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน กลุ่ม At north เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ ภาคีความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์ลุ่มน้ำอิง และภาคีเพื่อการอนุรักษ์แม่น้ำโข ฯลฯ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการจับกุม ปล่อยตัวผู้ชุมนุมอย่างไม่มีเงื่อนไข เคารพสิทธิเสรีภาพ และบางองค์กรเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวด้วย 

แถลงการณ์องค์กรต่างๆ : 

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน เรียกร้องปล่อยตัวแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข

 

คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) :

 

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ : 

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) :
 
 
แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอให้ยุติการคุกคามการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
 
ตามที่ประชาชนผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ได้ชุมนุมเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่บริเวณทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมพื้นที่ นำรถสุขาออกจากพื้นที่ ไม่ให้ประชาชนเข้าออกพื้นที่ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าถึงอาหาร
 
เจ้าหน้าที่ยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้มีคำสั่งยกเลิกการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งศาลนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ระหว่างการรอไต่สวนปรากฎว่าในช่วงเช้าวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560 เจ้าหน้าที่รัฐได้ควบคุมตัวนายประสิทธิชัย หนูนวล ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร นายอัครเดช ฉากจินดา นายบรรจง นะแส และนายธัชพงษ์ แกดำ ไปยังพื้นที่มณฑลทหารบกที่ 11 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 รวมถึงควบคุมตัวผู้ชุมนุมอีก 11 คน ไปที่กองกำกับการสายตรวจ 191 นั้น
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า นอกจากเจ้าหน้าที่จะไม่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ในมาตรา 19 (3) พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งกำหนดให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะรักษาความปลอดภัยหรืออํานวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมในสถานที่ชุมนุม
 
ระหว่างรอศาลแพ่งไต่สวนคำร้องขอให้เลิกการชุมนุม กลับมีการควบคุมผู้ชุมนุมเข้าค่ายทหาร อันเป็นการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 อีกชั้นหนึ่ง การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐจึงเข้าข่ายการคุกคามการใช้เสรีภาพการชุมนุม ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และยังขัดต่อพันธกรณีข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่รับรองเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบไว้ ทั้งยังกระทำการเกินกว่ากฎหมายให้อำนาจในการตัดขาดการเข้าถึงอาหารและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของผู้ชุมนุม
 
นอกจากนี้ ในช่วงประมาณ 2 ชั่วโมงแรกของการควบคุมตัวบุคคลทั้งสามนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งว่าผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวไปไว้ในสถานที่ใดและปฏิเสธการเข้าถึงของทนายความ การควบคุมตัวพลเรือนเข้าไปยังพื้นที่ทหารตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวได้สูงสุดถึง 7 วันโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในลักษณะนี้ เป็นการควบคุมตัวไม่ชอบตาม ข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามอีกด้วย
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องปล่อยตัวผู้ชุมนุมซึ่งถูกควบคุมตัวไปในทันที พร้อมทั้งเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเป็นวิถีทางแห่งประชาธิปไตย
 
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 

แถลงการณ์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ ภาคีความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์ลุ่มน้ำอิง และภาคีเพื่อการอนุรักษ์แม่น้ำโขง “เราจะร่วมสู้ไปด้วยกัน” ขอสนับสนุนการต่อสู้ของพี่น้องเครือข่ายปกป้องอันดามันจากโครงการไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้

18 กุมภาพันธ์ 2560

เรื่อง หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่

จากที่รัฐบาลได้มีมติให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา นับเป็นการทำลายทรัพยากรประเทศชาติอย่างไร้ซึ่งเหตุผล ขาดการฟังเสียงของประชาชน ผลักดันให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการขาดธรรมาภิบาลของรัฐเพิ่มมากขึ้นอันเป็นต้นตอสำคัญของความขัดแย้งทางสังคมดังที่เป็นมา ทั้งที่ประชาชนได้เสนอข้อมูลความจริงอย่างชัดเจนแต่ก็ไม่ได้รับการรับฟังจากภาครัฐกลับยังกล่าวอ้างข้อมูลและความเชื่อเดิมๆอย่างหลับหูหลับตา เช่น การขาดแคลนไฟฟ้า การไม่กระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมของโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงโฆษณาชวนเชื่อเรื่องถ่านหินสะอาด โดยความจริงแล้วโครงการไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ทั้งที่จังหวัดกระบี่และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จะสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ นานาชาติตามอนุสัญญาแรมซ่าไซด์ รวมถึงทรัพยากรชายฝั่งทางทะเล รวมถึงการท่องเที่ยวมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท และสิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการทำลายวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนภาคใต้ ทั้งหมดนี้คือการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และทำลายชาติ บ้านเมือง

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ และภาคีฯ เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลเป็นอันตรายต่อความยั่งยืนของทรัพยากรของชาติและความเป็นธรรมของสังคมไทย
ดังนั้นเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ ภาคีฯ รวมถึงเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ตามรายชื่อแนบท้ายในแถลงการณ์นี้ จึงเรียกร้องให้

1.ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ จังหวัดกระบี่ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

2.ยุติการจับกุม คุกคามสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนผู้เข้าร่วมเรียกร้องคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ และในภาคใต้

เราในนามเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ และภาคีฯ จะร่วมกับประชาชนจังหวัดกระบี่และภาคใต้ในการต่อสู้จนถึงที่สุด

ด้วยความสมานฉันท์
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ และภาคีฯ

รายชื่อแนบท้าย คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่
ลงชื่อในนามองค์กร และ เครือข่าย
1.เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ (คปน)
2.ภาคีความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์ลุ่มน้ำอิง
3.ภาคีเพื่อการอนุรักษ์แม่น้ำโขง
4.สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง (MCI)
5.มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)Thai-Water Partnership
6.สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต 
7.สถาบันอ้อผะหญา (องค์กรสาธารณะประโยชน์) 
8.เครืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง – ล้านนา
9.เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำแจ่มตอนบน ต.แม่นาจร จ.เชียงใหม่ 
10.เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
11.กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
12.กลุ่มตะกอนยม
13.เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)
14.สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)
15.เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
16.โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง
17.เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี
18.เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ สายัณน์ ข้ามหนึ่ง 098-7493424 089-6345667 Kulriver @gmail.com
138/1 หมู่ 4 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200

เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน : 

แถลงการณ์ รัฐบาล:หยุดคุกคามสิทธิของกลุ่มผู้ชุมนุมต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่

 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย  ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2550 และอยู่ในแผน PDP โดยการดำเนินการได้มีการพิจารณาทั้งจากหลักการและเหตุผล การใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงความคุ้มค่าและความปลอดภัย ขณะเดียวกันจากการศึกษาในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมในการสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องชี้แจ้งข้อมูลที่ถูกต้องให้กับกลุ่มบุคคลที่ยังไม่เห็นด้วยต่อการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจถึงปัจจัย หลักการและเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องดำเนินโครงการดังกล่าวในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในอนาคต โดยเฉพาะปัจจุบันภาคใต้มีความต้องการใช้พลังงานสูงสุดกว่าทุกภาคของประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่ เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนในพื้นที่ 

จากกรณีผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.) มีมติสร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.คลองเหนือ จ.กระบี่  เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ทำให้เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ยังคงได้ปักหลักคัดค้านมติดังกล่าว ตลอดทั้งคืนตำรวจได้นำแผงเหล็กมาปิดกั้นทางเข้าออกทำเนียบฯ ไม่อนุญาตให้คน-รถเข้า พร้อมปิดห้องน้ำ  ตลอดจนในช่วงเช้าของวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 60 ชาวบ้านจากด้านนอกพื้นที่ชุมนุมไม่สามารถส่งอาหารให้กับพี่น้องที่ร่วมชุมอยู่ข้างในได้ ในขณะที่ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวแกนนำ 5 คน ได้แก่ 1.นายประสิทธิชัย หนูนวล 2.นายอัครเดช ฉากจินดา 3.ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร4.นายบรรจง นะแส 5.นายชัชพงศ์  แกดำและผู้เข้าร่วมชุมนุมอีก 11คน ขึ้นรถตู้นำตัวออกจากพื้นที่ชุมนุม ซึ่งทำให้เห็นว่าการที่รัฐบาลชุดนี้มักกล่าวอ้างถึงการปรองดองเสมอ แต่พฤติการณ์และการกระทำกลับไม่ใช่การปรองดอง แต่กลับจะสร้างความแตกแยกของสังคม

 ดังนั้นทางเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสานได้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

1.ให้ปล่อยตัวแกนนำและผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากการชุมนุมในครั้งนี้ได้ขออนุญาตการชุมนุมก่อน และกำหนดประเด็นให้ทราบมาก่อนแล้วอย่างชัดเจน

2.ให้ยุติการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้ากระบี่และที่อื่นๆ เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สมบูรณ์และงดงามแห่งหนึ่งของประเทศ ไทย นำมาสู่รายได้จากการท่องเที่ยวมาสู่ชุมชนและประเทศอย่างยั่งยืน

เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน 18 กุมภาพันธ์ 2560

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน

กลุ่ม At North :

หลักจากที่เหตุการณ์ตำรวจจับตัว 5 แกนนำม็อบต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ชุมนุมกันอยู่ที่หน้าทำเนียบ พวกเรากลุ่ม At North ขอออกแถลงการณ์ ดังนี้

“ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งทุกคนมีสิทธิในการเรียกร้องในสิ่งที่จะก่อให้เกิด ผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย  เพราะคนทุกคนมีสิทธิในการกำหนดชีวิตตนเองและทรัพยากรที่มีในพื้นที่ การชุมนุมต่างๆที่เกิดขึ้นประชาชนควรมีเสรีภาพในการแสดงออก  ออกมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมจึงเรียกร้องให้รัฐบาลคืนสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมให้กับประชาชนและรับฟังเหตุผล.”
   
At north 18/02/2560
 
เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลคืนสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมให้กับประชาชนทุกภาคส่วนรวมถึงการรับฟังเหตุผลของประชาชน

 

คำแถลง WeMoveและองค์กรเครือข่ายผู้หญิง คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหิน และคุ้มครองสิทธิชุมชนในการจัดการฐานทรัพยากร

จากการที่เครือข่ายปกป้องอันดามัน ที่ประกอบด้วยประชาชนหลากหลายกลุ่มได้เสนอข้อเท็จจริงและเหตุผลที่คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ อย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และคุณภาพชีวิต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางในชุมชน  อีกทั้งขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและการประชาพิจารณ์ ซึ่งผู้หญิงได้มีบทบาทส่วนร่วมในการคัดค้านด้วยอย่างแข็งขัน แต่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล   และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่   ทำให้ประชาชนหญิง-ชายจำนวนมากไม่เห็นด้วยและออกมาชุมนุมคัดค้าน ที่ทำเนียบรัฐบาล

ในการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล   ประชาชนชุมนุมโดยสงบโดยมีผู้หญิงและเด็กจำนวนมาก แต่รัฐบาลกลับละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยการปิดกั้นการเข้าห้องน้ำ การใช้กำลังปิดล้อมทั้งกลางวันและกลางคืนไม่ให้มีการนำข้าว น้ำ เข้าไปให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม และมีการจับกุมผู้นำการต่อสู้ ๕ คน รวมทั้งผู้ชุมนุม ๑๑ คน ที่เป็นผู้หญิงและเด็กถึง ๘ คน 

แม้รัฐบาลได้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหมด และรับว่าจะมีกระบวนการจัดทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพใหม่ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการทบทวนสาเหตุปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และเป็นบทเรียนในการจัดการเรื่องโครงการต่างๆ ของรัฐต่อไป 

ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) และองค์กรที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้  จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหากรณีโครงการไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นๆ   รวมทั้งการจัดการป้องกันความขัดแย้งในโครงการต่างๆของรัฐและเอกชนที่รัฐอนุญาต  เป็นหลักการดังนี้

๑)       เราขอยืนยัน “ไม่เอาถ่านหิน” ในโครงการโรงไฟฟ้าทั้งมวล เพราะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตอย่างร้ายแรง ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางในชุมชน จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ดังเช่นตัวอย่างผลกระทบและการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมายังไม่เสร็จสิ้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

๒)     ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไม่ว่าพลังงานและด้านอื่นใด ต้องสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงจุดยืนของประเทศไทยไว้แล้ว และรัฐจำเป็นต้องเคารพสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งฉบับปี ๒๕๔๐, ๒๕๕๐ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ เมื่อ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยที่หน้าที่ของรัฐตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติเน้นว่า รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนในชุมชนที่เกี่ยวข้อง  ก่อนดำเนินโครงการ

๓)      ในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ครั้งใหม่และทุกกรณี ต้องยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียทุกขั้นตอน โดยองค์กรที่จัดทำต้องเป็นสถาบันที่เป็นกลาง มีความเป็นอิสระจากผู้เสนอโครงการ มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ มีความหลากหลาย และที่สำคัญต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

๔)      ขอให้รัฐยกเลิกการผูกขาดการผลิตพลังงานทดแทนและหมุนเวียน โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนผลิตได้โดยเสรี

๕)     รัฐต้องเคารพเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานและความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม และต้องไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางราชการสร้างให้เกิดบรรยากาศการเผชิญหน้าในสังคม

ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) และทุกองค์กรตามรายชื่อนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักว่าทิศทางและการพัฒนาใดๆ ต้องยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ตระหนักถึงผลประโยชน์และคุณภาพชีวิตของผู้หญิงและเด็ก และในการตัดสินใจใดๆ ต้องมีบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งหญิงชายอย่างแท้จริง                                                                                                                                                                                                    

๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

๑)      ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)             

๒)     กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี

๓)     สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา        

 ๔)    มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

๕)     เครือข่ายแรงงานสตรีทีม                       

 ๖)     คณะกรรมการสิทธิสตรีและเยาวชน

๗)     มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม      

๘)     สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ(ประเทศไทย)

๙)      กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง        

๑๐)    กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง

๑๑)    เครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

๑๒)   มูลนิธิพิทักษ์สตรีและเด็ก

๑๓)   กลุ่มเพื่อนหญิงอำนาจเจริญ

๑๔)   คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

๑๕)   ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

๑๖)    ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

๑๗)   โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๑๘)   คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๑๙)    ขบวนผู้หญิงตรัง

๒๐)   เครือข่ายองค์กรสตรีสิบสี่จังหวัดภาคใต้

๒๑)   สมาคมส่งเสริมการพัฒนาสตรีและเยาวชนลำปาง

๒๒)  สมาคมสตรีประมงพื้นบ้านภาคใต้

๒๓)  เครือข่ายผู้หญิงใจอาสาเมืองคนดี จ.สุราษฎร์ธานี

๒๔)  เครือข่ายองค์กรสตรีภาคเหนือ    

๒๕)  กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อยอ้อมใหญ่      

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท