สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 12-18 ก.พ. 2560

 
พนักงานการบินไทยขอให้เร่งตรวจสอบจัดซื้อเครื่องบิน
 
พนักงานการบินไทยกว่า 200 คน รวมตัวกันที่บริเวณศูนย์ปฏิบัติการการบินไทย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐตรวจสอบการบริหารของฝ่ายบริหาร คณะกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) ที่ลดอายุการใช้งานของเครื่องบิน จนส่งผลให้เครื่องบินจำนวนมากต้องจอดไว้รอขาย ที่ท่ากาศยานดอนเมืองและอู่ตะเภา โดยเฉพาะในช่วงของการฟื้นฟูองค์กร 2552 ถึง 2554 ได้ร่วมกันลงมติเปลี่ยนแปลงแก้ไขทำให้เครื่องบิน 50 ลำ ถูกปลดระวาง แม้จะมีอายุใช้งาน 6-17 ปี ขณะที่เครื่องบินสามารถใช้งานเฉลี่ยได้นานถึง 20 ปี และได้ขออนุมัติคณะรัฐมนตรี(ครม.) จัดซื้อเครื่องบิน 75 ลำ โดยในล็อตแรกจัดซื้อ 37 ลำใช้งบลงทุนประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยเครื่องบินเหล่านี้ รับมอบเข้าฝูงบิน ปี 2554-2561
 
กลุ่มพนักงานการบินไทย ยังขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบการปรับเปลี่ยนเครื่องบินในปี 2555 ว่าได้มาตรฐานสากลหรือไม่ ตรวจสอบการตั้งบริษัทลูก ทั้งไทยสมายด์และนกแอร์ wingspan และขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจมาตรา 44 จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษ เพื่อตรวจสอบการทุจริตเชิงนโยบายการจัดซื้อ ขอให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบทางบัญชีบริษัทที่กำหนดค่าด้อยสภาพเครื่องบินเกินจริง และเรียกร้องให้คณะกรรมการและฝ่ายบริหาร ที่ร่วมในแผนฟื้นฟู ปี 2552-2554 ลาออกเพื่อแสงดความรับผิดชอบ ซึ่งมีด้วยกัน 2 คน ที่อยู่ในคณะกรรมการชุดปัจจุบัน เพราะทำแผนและนโยบายที่ผิดพลาดเกิดปัญหาการขาดทุนต่อเนื่อง และสร้างหนี้สินผูกพันระยะยาว
 
 
โผล่อีกรายเหยื่อแก๊งปลอมเฟซบุ๊กหลอกไปทำงานนอก-สูญเงิน 5 หมื่น
 
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า มีชาวบ้านใน อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ตกเป็นเหยื่อของขบวนการปลอมเฟซบุ๊ก แอบอ้างเป็นศิลปินนักร้องชื่อดัง แล้วโพสต์ข้อความโฆษณาชวนเชื่อว่า หากใครที่สนใจไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ผ่านขั้นตอนของกระทรวงแรงงาน เพียงจ่ายเงินแค่ 50,000 บาทก็จะสามารถทำเรื่องให้สามารถไปทำงานต่างประเทศ และได้เงินเดือนสูงถึง 80,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีชาวบ้านหลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีที่แก๊งนี้อ้างว่าเป็นบัญชีของนายจ้างชาวนิวซีแลนด์โดยตรง แต่เมื่อโอนเงินไปแล้วไม่สามารถติดต่อได้เลย ขณะนี้พบผู้เสียหายแล้วจากทั่วประเทศกว่า 29 คน
 
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่บ้านเลขที่ 125 ม.13 บ้านดอนงัว ต.หนองบัวฮี อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านของนางญาดาพัทธ กิจนิธีคุณ อายุ 44 ปี หญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการนี้อีกหนึ่งราย
 
นางญาดาพัทธเล่าว่า เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2559 ตนได้หาข้อมูลหางานเพื่อที่จะไปทำงานต่างประเทศ จึงได้เห็นประกาศบนเฟซบุ๊กที่แอบอ้างเป็นนักร้องสาวชื่อดัง ตนก็ได้ดูข้อมูลและติดตามความเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กดังกล่าว ซึ่งมีการโพสต์รูปภาพของคนงานและใบโอนเงินของผู้ที่หลงเชื่อจำนวนมาก จากนั้นได้ติดต่อสอบถามกับ น.ส.ปวีณา อายุ 33 ปี อยู่ ซ.จรัญสนิทวงศ์ 75 แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กทม. ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นทีมงานที่อยู่ในเมืองไทย และได้คุยรายละเอียดต่างๆ จากนั้นตนจึงตกลงที่จะไปทำงาน ซึ่ง น.ส.ปวีณาแจ้งว่าจะต้องโอนเงินไปยังบัญชีของนายมัม เลย์ (mom lay) ชาวนิวซีแลนด์ นายจ้างที่เราจะไปทำงานด้วย จึงโอนเงินผ่านธนาคารกสิกรไทย สาขาพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 19 ธันวาคม 2559 เป็นจำนวน 50,000 บาท
 
จากนั้นจึงได้นัดหมายกับ น.ส.ปวีณา เพื่อไปทำสัญญาและนำเอกสารไปให้ในวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ที่ร้านกาแฟชื่อดังแห่งหนึ่งย่านหมอชิต กทม. ซึ่งตนได้เซ็นเอกสารและได้รับมาเพียง 1 ใบคือ ใบฝากจองตั๋วท่องเที่ยว (สัญญาก่อนบิน) หลังจากนั้นในช่วงเดือนมกราคม 2560 ตนก็เริ่มติดต่อ น.ส.ปวีณาไม่ได้ และก็ได้ปิดเฟซบุ๊กไปแล้ว ซึ่งตนรู้สึกว่าอาจจะถูกหลอก จากนั้นก็พยายามหาข้อมูล จึงทราบว่ามีผู้เสียหายอีกหลายคนที่ถูกหลอกในลักษณะเดียวกัน
 
นางญาดาพัทธกล่าวอีกว่า ตนและกลุ่มผู้ถูกหลอกด้วยกันได้รวมตัวไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งได้มีหมายเรียกให้ไปให้ปากคำครั้งที่ 1 ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ และตนยังได้ไปแจ้งความเอาผิด น.ส.ปวีณา ผู้ที่เป็นคนทำสัญญากับตนไว้ที่สถานีตำรวจภูธรพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เอาไว้แล้ว
 
"ตนอยากให้ตำรวจช่วยติดตามตัวแก๊งนี้มาลงโทษ เนื่องจากมีผู้เสียหายหลายราย และสูญเงินไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งพบหลักฐานใหม่เพิ่มว่า บัญชีธนาคารกสิกรไทยของนายมัม เลย์ ที่เหยื่อได้โอนเงินเข้าไปนั้น เป็นบัญชีเปิดที่สาขาตลาดโรงเกลือ อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งอยากให้มีการอายัดบัญชีนี้ไว้ และตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง และเส้นทางการเงินไปอย่างไรบ้าง เนื่องจากหลักฐานที่ผู้เสียหายมีค่อนข้างชัดเจน" เหยื่อแก๊งหลอกลวงคนหางานกล่าว
 
 
ไทยมีแรงงานนอกระบบสูง อาชีพเกษตรกรรมงานหนักไร้หลักประกัน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบถึง ผลสำรวจแรงงานนอกระบบว่าปี 2559 มีแรงงานทั้งหมด 38.3 ล้านคน มีแรงงานนอกระบบหรือผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานทั้งสิ้น 21.3 ล้านคน หรือ 55.6% ของแรงงานทั้งระบบ ลดลงจากปีก่อนหน้า 100,000 คน ภาคที่มีแรงงานนอกระบบมากที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7.5 ล้านคน ภาคกลาง 4.8 ล้านคน ภาคเหนือ 4.5 ล้านคน ภาคใต้ 3 ล้านคน และกรุงเทพฯ 1.5 ล้านคน
 
สำหรับแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ที่ 13.2 ล้านคน หรือ 61.9% ส่วนที่เหลือเป็นมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา และภาคเกษตรกรรมเป็นภาคที่แรงงานนอกระบบมากที่สุด 54.8% และนอกภาคเกษตร 45.2% โดยค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนยังต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท คือ เฉลี่ย 6,591 บาทต่อเดือน ที่อยู่ในภาคการค้าและบริการ 7,546 บาทต่อเดือน ภาคการผลิต 7,228 บาทต่อเดือน และภาคเกษตรกรรมต่ำสุด 5,129 บาทต่อเดือน และแรงงานนอกระบบทั้ง 21.3 ล้านคน เป็นผู้ที่ประสบปัญหา 5.9 ล้านคน ส่วนใหญ่ประสบปัญหาค่าตอบแทนต่ำ งานหนัก และขาดความต่อเนื่องของงาน ที่ทำงานมี ฝุ่น ละออง ควัน กลิ่น แสงสว่างไม่เพียงพอ และมีความไม่ปลอดภัยในการทำงาน เช่น ได้รับสารเคมีเป็นพิษ เครื่องจักร เครื่องมืออันตราย เป็นต้น
 
ทั้งนี้จากปัญหาแรงงานนอกระบบดังกล่าว จึงมีข้อเสนอต่อ ครม.ว่า ต้องกำหนดนโยบายเพื่อความช่วยเหลือแรงงานนอกระบบดังกล่าวให้ได้รับความคุ้มครองหรือหลักประกันทางสังคม เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระและไม่มีสวัสดิการใดๆ เพื่อให้มีหลักประกันในอนาคต
 
 
แรงงานไทยเข้าเกาหลีผิด ก.ม.กว่า 5 หมื่น จ่อฟัน บ.ทัวร์ หากพบมีเอี่ยว
 
กระทรวงแรงงาน จับมือ ตม.เกาหลี แก้ปัญหาคนไทยลักลอบทำงานผิดกฎหมาย หลังพบตัวเลขสูงถึง 5 หมื่นคน พร้อมดึงบริษัททัวร์ร่วมรับผิดชอบที่พาคนไทยไป แต่กลับไม่ครบตามจำนวน
 
เมื่อวันที่ 14 ก.พ.60 นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงการเดินทางไปร่วมประชุมหารือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สาธารณรัฐเกาหลี ถึงมาตรการป้องกันและลดจำนวนคนหางานไทยลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ ว่า ตม.เกาหลี แจ้งว่าคนหางานไทยที่ลักลอบไปทำงานมีตัวเลขสูงกว่า 50,000 คน ถือว่ามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ
 
ทั้งนี้เนื่องจากการเดินทางไปค่อนข้างสะดวก เพราะเกาหลีเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยการงดเว้นการตรวจลงตราประทับวีซ่า เป็นเวลา 90 วัน เมื่อมีแรงงานผิดกฎหมายมากย่อมส่งผลกระทบต่อโควตาการจัดส่งแรงงานที่ต้องลดลง
 
โดยในที่ประชุมมีมติร่วมกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกัน เช่น รายชื่อคนไทยที่ ตม.เกาหลี ส่งกลับ หรือรายชื่อคนที่อยู่เกินกำหนด ขณะที่ประเทศไทยจะมีการเข้มงวดเรื่องการออกหนังสือเดินทาง และการตรวจเข้มบริษัทนำเที่ยวที่พาคนไทยไป แต่กลับไม่ครบตามจำนวน เพื่อให้ร่วมรับผิดชอบ
 
อย่างไรก็ตามไทยและเกาหลีได้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีกว่า 50,000 คน โดยมีฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล เป็นฝ่ายรับผิดชอบหารือร่วมกับ ตม.เกาหลีใต้ เช่น การขอให้เกาหลีใต้ผ่อนผันให้กลุ่มผิดกฎหมายทำงานก่อน 1 ปี และให้กลับมาสอบภาษาเกาหลีและเดินทางเข้าไปทำงานใหม่อย่างถูกต้องตามระบบ EPS อย่างไรก็ตามการหารือในครั้งนี้มีผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ ตม. และกระทรวงยุติกรรม เข้าร่วมพูดคุยกับ ตม.เกาหลีด้วย
 
 
อปท.ร้องกองทุนรักษาพยาบาลติดลบ 2.6 พันล้าน ถ้าถึงเดือน เม.ย. ต้องยืม สปสช.สำรองจ่ายไปก่อน จี้รัฐบาลแก้ด่วน
 
นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม ผู้แทนเทศบาล บอร์ด สปสช. และประธานคณะอนุกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนรักษาพยาบาลฯ อปท. มีตัวเลขติดลบ 2,600 ล้านบาท ซึ่งยังมีพอจ่ายอยู่ถึงเดือนเมษายนปีนี้ และได้เสนอทางออกให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ของบกลางจากคณะรัฐมนตรีมาอุดหนุนแก้ปัญหาโดยด่วน โดยเบื้องต้นงบปีนี้ที่ต้องบริหารค่ารักษาพยาบาลให้กับพนักงานและลูกจ้าง อปท.อยู่ที่ 9,000 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่ตั้งอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท แต่ถ้าทุกอย่างยังไม่มีทางออกภายในเดือน เม.ย. ก็จะเกิดวิกฤติได้
"ตอนนี้ก็พยายามติดตามสถานการณ์อยู่ว่า จากนี้เมื่อ สปสช.มีมติแล้วว่าให้ทำหนังสือถึงมหาดไทย ก็ได้ประสานกับ มท. และอาจต้องคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจที่อยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี อีกครั้งว่าจะมีมติหรือความเห็นอะไร แต่วันนี้เรายังจัดการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับ อปท.ได้ เพราะเม็ดเงินยังมีอยู่" นายธีรวุฒิกล่าว
 
นายธีรวุฒิกล่าวว่า สาเหตุที่เกิดปัญหาเนื่อง จากกองทุนรักษาพยาบาลฯ อปท.ดังกล่าวซึ่งตั้งเมื่อหลายปีก่อน โดยปีแรกตั้งไว้อยู่ที่ 8,000 ล้านบาท แต่ใช้จริงกว่า 2,000-3,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะ อปท.ยังมีบุคลากรน้อยและเข้าไม่ถึงสวัสดิการ ทั้งนี้ เดิมทีได้ให้ อปท.บริหารเงินและเบิกกันเอง แต่ก็พบปัญหาว่า อปท.ขนาดเล็กไม่มีเงิน ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ สปสช.เป็นผู้บริหารกองทุนรักษาพยาบาลฯ อปท. ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เงินของกองทุนนี้ใช้เงินของ อปท.ซึ่งมาจาก 2 ส่วนคือ รัฐจัดให้กับ อปท.จัดเก็บรายได้เอง แล้วจึงโอนมาให้ สปสช.บริหาร เพื่อแก้ปัญหาความซ้ำซ้อน
 
ทั้งนี้ เมื่อพนักงานและลูกจ้าง อปท.เริ่มรู้สิทธิ์ ตัวเลขการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็สูงขึ้น แต่ยังไม่ถึง 8,000 ล้านบาท มาเริ่มมีปัญหาเมื่อปีที่แล้วที่กองทุนฯ ติดลบอยู่ 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ช่วงดังกล่าวเป็นช่วงปลายปี จึงมีเงินจัดสรรเข้ามา ทำให้เอาไปจ่ายได้ เมื่อคำนวณคร่าวๆ ตอนนี้ตามที่ได้รับเงินจัดสรรถึงเดือนเมษา ยน 2560 จะมีงบขาดปีนี้ 1,600 ล้านบาท รวมปีที่ผ่านมาอีก 1,000 ล้านบาท ก็เป็น 2,600 ล้านบาท ดังที่ได้กล่าวข้างต้น
 
นายธีรวุฒิอีกกล่าวว่า ได้เสนอทางออกในบอร์ด สปสช.ว่า ตามข้อตกลงเดิม หรือเอ็มโอยูที่ทำร่วมกับ สปสช. กำหนดว่า ถ้าเงินของกองทุนฯ เหลือจากการรับจัดสรรของรัฐบาล ก็ให้เก็บเอาไว้บริหารต่อในปีถัดไป แต่ถ้าเงินหมดก็ทำสองส่วนคือ 1.ขอให้ สปสช.สำรองเงินก่อนแล้วก็ไปขอรับจัดสรรเพิ่มในปีถัดไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าให้ สปสช.จ่ายให้ถาวร แต่ก็ยอมรับว่า สปสช.มีภารกิจดูแลสวัสดิการถ้วนหน้าของประชาชน ก็มีภาระสูง และเกรงว่าเงิน สปสช.จะไม่เพียงพอหากต้องสำรองจ่ายให้กับกองทุนรักษาพยาบาลของพนักงานและลูกจ้าง อปท. และก็ยิ่งจะทำให้ สปสช.มีปัญหาได้ 2.ระหว่างที่ให้ สปสช.สำรองจ่าย ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ดำเนินการของบประมาณเพื่อมาจ่ายชดเชย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ยังไม่ถึง เพราะต้อรอเดือนเมษายน แต่ตนเองได้รายงานต่อบอร์ด สปสช.ให้รับรู้ตัวเลขประมาณการที่คาดว่าจะมีปัญหาถ้าเดือนเมษายนยังไม่ได้รับการจัดสรรเพิ่ม เพื่อรายงานกับต้นสังกัดของ อปท. คือกระทรวงมหาดไทย แต่หน่วยงานที่อุดหนุนเงินกลับกลายเป็นสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี ฉะนั้นก็ต้องเร่งให้ มท.คุยกับคณะกรรมการกระจายอำนาจว่าจะเอาอย่างไร จะของบกลางหรือไม่
 
 
สปส.แจง รพ.เอกชนออกจากระบบ "ประกันสังคม" ไม่มาก เผยปี 2560 ออก 2 แห่ง แต่มีเพิ่มเข้าระบบ 3 แห่ง 
 
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีข่าว รพ.เอกชนออกจากระบบประกันสังคมมากขึ้น ว่า ในปี 2560 มีโรงพยาบาลเข้าร่วมในระบบประกันสังคม แบ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ 159 แห่ง และ รพ.เอกชน 80 แห่ง มี รพ.เอกชนแห่งใหม่ จำนวน 3 แห่ง และออกจากระบบ จำนวน 2 แห่ง ซึ่งการให้บริการโรงพยาบาลหลักยังมีเครือข่ายให้บริการอีกจำนวน 3,823 แห่ง การกระจายทุกพื้นที่โดยเฉพาะการให้บริการผู้ประกันตนในเขตกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลเครือข่ายรวม 963 แห่ง
 
"สำหรับสถานพยาบาลเอกชนบางแห่งออกจากระบบประกันสังคมนั้น สามารถกระทำได้โดยในแต่ละปีมีการเข้าออกในระบบประกันสังคมไม่ลดน้อยกว่าปีก่อนๆ แต่อย่างใด และการเข้าระบบประกันสังคมก็มีการดำเนินการทำสัญญาเพื่อเข้าร่วมโครงการทุกปี ยืนยันพร้อมให้บริการผู้ประกันตนตั้งแต่เดือน ม.ค. - ธ.ค. 60 อย่างไรก็ตามในปี 2561 ก็ยังมีโรงพยาบาลเอกชนแจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่ม 2 - 3 แห่ง" นพ.สุรเดช กล่าว
 
นพ.สุรเดช กล่าวว่า กรณีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีการเปลี่ยนเจ้าของหรือปรับเปลี่ยนนโยบายโดยเน้นรับค่าบริการทางการแพทย์เป็นเงินสด หรือต้องการเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูง (Supra) เพื่อรับตัวผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมระบบประกันสังคม และเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ก็เป็นประเด็นปัญหาหนึ่งที่ สปส.พบเพิ่มเติมในปัจจุบัน
 
"ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนสามารถขอเปลี่ยนสถานพยาบาลใหม่ได้ทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนในการใช้บริการทางการแพทย์ ในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือไม่พึงพอใจ และไม่ได้รับความสะดวก เช่น ย้ายที่พัก ย้ายสถานที่ทำงานใหม่ โดยสามารถยื่นเรื่องแบบ สปส. 9-02 พร้อมแนบบัตรรับรองสิทธิฉบับเดิม เพื่อเปลี่ยนสถานพยาบาลใหม่ได้ที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่ จังหวัด สาขาทุกแห่งทั่วประเทศ ได้ตั้งแต่บัดนี้ - 31 มี.ค.60 สำหรับสถานพยาบาลเอกชน 80 แห่งที่เข้าร่วมระบบประกันสังคมได้มีการจำกัดจำนวนผู้ที่ใช้สิทธิไว้ในแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลบางแห่งมีผู้ขอใช้สิทธิเต็มจำนวนแล้ว จึงขอให้ผู้ประกันตนตรวจสอบรายละเอียดว่าโรงพยาบาลใดบ้างที่ยังสามารถใช้สิทธิได้ หรือเต็มแล้ว ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด สาขาที่ท่านสะดวก หรือโทร. 1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th" นพ.สุรเดช กล่าว
 
 
"การบินไทย" ออกหนังสือชี้แจงข้อร้องเรียนพนักงาน หลังหลายประเด็นมีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
 
ตามที่มีกลุ่มพนักงานการบินไทยได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการตรวจสอบปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบใน บริษัท การบินไทยฯ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 โดยได้ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนนั้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้พิจารณาเห็นว่าประเด็นต่างๆ ที่กล่าวอ้างนั้น มีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและความเสียหายโดยตรงกับบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นบริษัทจึงขอให้ข้อเท็จจริงเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
 
1.บริษัท การบินไทยฯ ไม่เคยลดอายุการใช้งานจริงของเครื่องบินในฝูงบินของบริษัทฯ บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า บริษัทฯ ไม่เคยลดอายุการใช้งานจริงของเครื่องบินแต่อย่างใด ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ใช้งานเครื่องบินอย่างคุ้มค่าและคำนึงถึงความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้โดยสารเป็นสำคัญ โดยจะปลดประจำการตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานที่ถูกต้องทางบัญชี รวมทั้งข้อบังคับของหน่วยงานความปลอดภัยระหว่างประเทศเท่านั้น
 
2.บริษัท การบินไทยฯ มิได้ดำเนินการขายหุ้น ระดมทุน กู้เงิน ตามแผนฟื้นฟูฯ ปี 2552 - 2554 เพื่อนำเงินไปซื้อเครื่องบินใหม่ บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า บริษัท การบินไทยฯ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์การระดมทุนต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนและเมื่อได้เงินจากการระดมทุนมาดำเนินการ จะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
 
3.บริษัทฯ มิได้ปรับปรุงเครื่องบินแอร์บัส เอ 340 ที่มีแผนปลดระวางไว้ล่วงหน้าแล้ว บริษัทฯ ขอให้ข้อเท็จจริงว่า กรรมการและผู้บริหารไม่เคยอนุมัติหรือดำเนินการปรับปรุงเก้าอี้ที่นั่งในเครื่องบินแอร์บัส เอ 340 ที่ได้มีแผนปลดประจำการในปี 2555 แต่อย่างใด
 
4.การจัดตั้งบริษัทลูกหลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัท ไทยสมายล์ นกแอร์ และ Wingspan เป็นการดำเนินการตามแผนธุรกิจที่จะนำบริษัทฯ ให้แข่งขันได้ ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้กับใคร บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า บริษัทฯ ได้จัดตั้งสายการบินนกแอร์เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากในช่วงนั้นรัฐบาลมีนโยบายเปิดเสรีการบินภายในประเทศ และการเปิดเสรีการบินของประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีแนวโน้มในการเปิดกว้างมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดมีความรุนแรงมากขึ้น และไม่จำกัดอยู่เฉพาะภายในประเทศ แต่ขยายสู่ธุรกิจการบินระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งแนวโน้มของผู้โดยสารที่หันมานิยมการเดินทางด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ มีปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องและช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิม บริษัทฯ จึงได้จัดตั้งสายการบินนกแอร์ เพื่อเป็น Fighting Brand สำหรับธุรกิจการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศ และระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย และหากไม่ทำบริษัทฯ จะหมดโอกาสในการแข่งขันในตลาดการบินต้นทุนต่ำ ส่วนสายการบินไทยสมายล์นั้น เริ่มจัดตั้งขึ้นในปี 2556 เพื่อเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายให้กับการบินไทย ด้วยเครื่องบินลำตัวแคบและต้นทุนต่ำ ที่เอื้อให้ลูกค้าประจำของการบินไทยอยู่กับการบินไทยได้ในราคาที่ถูกลง ทั้งนี้ เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ โดยเริ่มจากการเป็นหน่วยธุรกิจก่อน หลังจากนั้น จึงได้แยกออกมาตั้งเป็นบริษัท เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน และดำเนินการเป็นสายการบินแบบบริการเต็มรูปแบบ (Full Service) เช่นเดียวกับการบินไทย ราคาไม่แพงและสามารถบริหารต้นทุนได้ง่าย โดยใช้ฐานปฏิบัติการบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อการเชื่อมโยงสนับสนุนการบินไทย สำหรับบริษัท Wingspan ได้ตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 เพื่อแก้ไขปัญหาด้านบุคลากรระดับปฏิบัติการที่ไม่มีทักษะเฉพาะด้านเป็นส่วนใหญ่ และมีอัตราการ เข้า-ออก สูง ทั้งนี้ การปฏิบัติในแนวทางนี้เป็นเช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจหลายแห่งดำเนินการมาก่อนการบินไทย
 
5.บริษัทให้ความสำคัญในการปรับปรุงระเบียบจัดซื้อจัดจ้างและตรวจสอบการทุจริตตลอดมาแม้ไม่มีกรณีโรลส์-รอยซ์ บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญ เรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทฯ อย่างมากตลอดมา เห็นได้จากการปรับปรุงระเบียบพัสดุ มาเป็นระยะๆ โดยล่าสุด ในปี 2555 บริษัทฯ ได้ประกาศใช้ระเบียบพัสดุที่ปรับปรุงใหม่ โดยมีสาระที่สำคัญ คือบริษัทฯ จะไม่มีการจัดซื้อจัดหาผ่านคนกลาง รวมทั้งกำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจกัน ทั้งนี้ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทฯ เป็นไปตามมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีความยุติธรรมและโปร่งใส รวมทั้ง มีการจัดเก็บเอกสารครบถ้วน ตรวจสอบย้อนหลังได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ จะได้ดำเนินการจัดทำสัญญาคุณธรรม (Integrity Pact) สำหรับการจัดหาเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุงกับคู่ค้า เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการให้สินบนกับการจัดซื้อจัดจ้างของการบินไทย นอกจากนั้น ในการจัดทำแผนปฏิรูปบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2557 บริษัทฯ ได้บรรจุเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดหาไว้ในแผนปฏิรูปฯ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทฯ ได้รับการตรวจสอบจากภาครัฐเป็นระยะโดยล่าสุด คณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ที่แต่งตั้งโดย คสช. ได้มอบหมายให้ คณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมี พล.อ.ไชยพร รัตแพทย์ เป็นประธานฯ เข้ามาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของการบินไทย เมื่อกลางปี 2559 และไม่ปรากฏข้อท้วงติงแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อกลางปี 2559 บริษัทฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีกรรมการบริษัทฯ 4 ท่าน ร่วมเป็นกรรมการ โดยมีพล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ เป็นประธานคณะกรรมการฯ และได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
 
6. สตง. เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทฯ ตลอดมา และไม่เคยพบการแต่งบัญชีอย่างที่กล่าวอ้าง บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ได้มีมติแต่งตั้งให้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่ง เป็นผู้สอบบัญชีและรับรองบัญชีของบริษัทฯ มาโดยตลอด ซึ่ง สตง. ได้ปฏิบัติงานตรวจสอบมาตรฐานการสอบบัญชี ไม่เคยพบการแต่งบัญชี หรือปิดบังการลงบัญชีสภาพเครื่องบินที่ผิดปกติแต่อย่างใด
 
7.กรณีการปลดระวางเครื่องบินและการขายเครื่องบินเป็นไปตามมาตรฐานและถือผลประโยชน์ของบริษัทฯเป็นที่ตั้งเสมอมา
 
 
กระทรวงแรงงาน ติดตามการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำของสถานประกอบกิจการ เดือนมกราคม พบผลเป็นที่น่าพอใจ
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ครั้งที่ 2/2560 ว่า ที่ประชุมได้รายงานผลการตรวจติดตามการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำของสถานประกอบกิจการทั่วประเทศ พบว่าส่วนใหญ่การปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมาย โดยจากการตรวจคุ้มครองของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เดือนมกราคม 2560 มีสถานประกอบกิจการผ่านการตรวจ 3,176 แห่ง ลูกจ้างจำนวน 132,036 คน พบว่าปฏิบัติไม่ถูกต้อง 86 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 2.7 และมีลูกจ้างได้รับการปฏิบัติไม่ถูกต้อง 462 คน คิดเป็นร้อยละ 0.3 อีกทั้งยังได้เสนอแผนงานของคณะกรรมการค่าจ้าง แผนอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ที่โดยปกติจะมีการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจังหวัด ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม และในเดือนกรกฎาคมจะนำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบแรกในรอบปีที่จะถึง ซึ่งถือเป็นแผนงานคราวๆ ที่จะได้ดำเนินการต่อไป ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 90 เมื่อประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และให้นายจ้างที่อยู่ในข่ายบังคับของประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปิดประกาศดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผย เพื่อให้ลูกจ้างได้ทราบ ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ และหากนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
อึ้ง!! ผลสำรวจ คนไทยส่วนใหญ่ ไม่กังวลที่อยู่อาศัยหลังวัยเกษียณ
 
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เผยผลสำรวจ พบคนส่วนใหญ่ไม่กังวลที่อยู่อาศัยหลังวัยเกษียณ แม้ 10 กว่าปีข้างหน้า ไทยจะมีผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคน มีเพียง 25% เท่านั้น ที่กังวลจะไม่สามารถจ่ายค่าที่อยู่อาศัยให้ตัวเองในตอนแก่ได้
 
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์สื่อกลางด้านการค้นหาอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ในปี 2573 หรืออีก 10 กว่าปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบก้าวกระโดด โดยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคนจาก 11 ล้านคนในปี 2559 หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 27 ของประชากรทั้งหมด โดยจะมีผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุกๆ 4 คน
 
ทั้งนี้จากการทำผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ระหว่างหาซื้อและผู้ซื้อที่อยู่อาศัย จำนวน 661 คน พบว่า ร้อยละ 25 มีความกังวลว่าจะไม่สามารถจ่ายค่าที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมหลังวัยเกษียณให้แก่ตนเอง นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่า ประชาชนไทยส่วนใหญ่ ไม่มีการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงินหลังวัยเกษียณ และมักมองข้ามความสำคัญของการออมเงิน และการลงทุนเพื่อใช้จ่ายในวัยหลังเกษียณ
 
อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 37 กำลังเริ่มมองหาหรือเคยมองหาสถานที่พักอาศัยที่เหมาะสำหรับผู้สูงวัยหลังเกษียณโดยมีลักษณะที่ตอบโจทย์ความต้องการของธรรมชาติผู้สูงอายุ และมีสถานที่ดูแลผู้สูงวัยใกล้เคียงกับบริเวณที่พักอาศัย ในทางกลับกันผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าประเด็นนี้สำคัญและยังไม่ส่งผลกระทบกับชีวิตพวกเขา ณ ขณะนี้
 
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรง ต่อจำนวนกำลังแรงงานที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประเภทต่างๆ สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์​ซึ่งเน้นความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ได้เริ่มมีการนำลักษณะและแบบบ้านที่ออกแบบเพื่อรองรับความต้องการของสังคมผู้สูงวัย แต่มีเพียงผู้บริโภคกลุ่มเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบกับตนเองและครอบครัวเท่านั้น ที่เริ่มเข้าใจว่าการออกแบบและเลือกที่อยู่อาศัยมีผลกระทบอย่างมาก ต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งหวังว่าผลสำรวจดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องมองเห็นปัญหาปัจจุบันในสังคม เข้าใจถึงความสำคัญของการมีกฎหมายที่เหมาะสมต่อการออกแบบอาคารและที่อยู่อาศัยให้ผู้สูงวัยสามารถอาศัยอยู่ในที่ที่เดิมได้ โดยให้มีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาน้อยที่สุด” นางกมลภัทร กล่าวในที่สุด
 
 
จ๊อบดีบี เผยดัชนีความสุขในการทำงานลูกจ้างไทยติดอันดับสามในอาเซียน โดยเฉพาะพนักงานที่เริ่มทำงานไม่ถึง 1 ปี
 
นางนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัทจ๊อบดีบี ประเทศไทย กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีความสุขในการทำงานของพนักงานไทยในภาพรวม ยังคงมีความสุขในการทำงาน โดยมีดัชนีอยู่ที่ 5.74 กลุ่มพนักงานที่มีความพึงพอใจในการทำงานมากที่สุดคือกลุ่มที่มีอายุงาน 3-5 ปี เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยมีดัชนีความสุขในการทำงานอยู่ในอันดับสาม(ในอาเซียน) โดยได้คะแนนที่ 61 คะแนน รองจาก ฟิลิปปินส์ ที่ได้ 73 คะแนนและอินโดนีเซีย 71 คะแนน จากการสำรวจปัจจัยที่ทำให้มีความสุขพบว่าคนไทยให้ความสำคัญกับ สถานที่ทำงาน ,การเดินทาง ,ชื่อเสียงองค์กร และความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ตามลำดับ
 
“พนักงานที่ให้คะแนนความสุขในการทำงานที่สุดคือพนักงานที่เริ่มทำงานไม่ถึง 1 ปี ตำแหน่งงานที่มีความสุขสูงสุดคือผู้บริหาร ตำแหน่งที่มีความสุขต่ำสุขคือ หัวหน้างาน เพราะมีความเครียดมากที่สุด งานที่มีดัชนีความสุขมากที่สุดคือ งานท่องเที่ยว โรงแรมอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจก่อสร้าง , โรงแรม , อาหารเครื่องดื่ม,บริการจัดเลี้ยง,สถาปัตยกรรม , แพทย์ ,การเงินการธนาคาร” นางนพวรรณ กล่าว
 
ส่วนปัจจัยที่ทำให้พนักงานไม่มีความสุขถึงขั้นลาออกคือ การมีผู้นำองค์กรที่ขาดคุณสมบัติในการสร้างแรงบันดาลใจ,การไม่ได้รับการส่งเสริมให้เติบโตในหน้าที่การงาน และการไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพ อย่างไรก็ดีแม้จะมีความสุขในการทำงาน แต่พนักงานกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 34 มองหาโอกาสที่ดีกว่าและงานใหม่ , ร้อยละ 19 เลือกทำงานในตำแหน่งเดิมตราบเท่าที่ได้ขึ้นเงินเดือนทุกปี,ร้อยละ 8 จะมีความสุขมากกว่านี้ถ้าได้รับการยอมรับในความสามารถ
 
 
กสร.เร่งเอาผิดนายจ้างเมืองชล เหตุเครื่องจักรดึงผม แขนลูกจ้างต่างด้าวบาดเจ็บ
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีลูกจ้างกัมพูชาถูกเครื่องบดพลาสติกดึงผมและแขนเข้าไปในเครื่องทำให้บาดเจ็บว่า สถานประกอบกิจการดังกล่าว จดทะเบียนทางการค้าชื่อ พี พี พลาสติก รีไซเคิล เลขที่ 223/34 หมู่ 4 ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี สถานที่เกิดเหตุไม่มีบ้านเลขที่ หมู่ 5 ซอยยายมูล ตำบลตะเคียนเตี้ย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ประกอบกิจการรีไซเคิลพลาสติก มีลูกจ้างจำนวน 11 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 7 คน เป็นชาวกัมพูชาทั้งหมดและขึ้นทะเบียนต่างด้าวถูกต้องทุกคน ทั้งนี้ เครื่องจักรที่เกิดเหตุมีอุปกรณ์ตะแกรงป้องกันแต่เนื่องจากลูกจ้างก้มลง เก็บของที่ตกแล้วผมและแขนเสื้อเข้าไปในสายพาน จึงถูกสายพานดึงเข้าไปมิได้ถูกเครื่องจักรบดแต่อย่างใด
 
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เร่งเอาผิดนายจ้างโรงงานรีไซเคิลพลาสติก จ.ชลบุรี ตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ พ.ศ. 2554 กรณีเครื่องจักรบดผมและแขนลูกจ้างต่างด้าวบาดเจ็บ
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจสอบด้านความปลอดภัยในการทำงาน พบว่า นายจ้างปฎิบัติไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับ เครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ.2552 ซึ่งนายจ้างจะต้องดูแลให้ลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรสวมใส่เครื่องนุ่งห่มให้เรียบร้อย รัดกุม รวบผมที่ปล่อยยาวเกินสมควรให้อยู่ในลักษณะที่ปลอดภัย โดยถือว่านายจ้างมีความผิดตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ พ.ศ.2554 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน สี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่ง กสร.จะเร่งดำเนินการโดยเร็ว นอกจากนี้ยังได้ประสานให้ประกันสังคมจังหวัดชลบุรีเข้าช่วยเหลือลูกจ้างแล้ว
 
 
"ปลัดแรงงาน" จ่อแก้กฎหมายจัดระเบียบที่พักต่างด้าว คาดเสร็จก่อน พ.ค.นี้ เล็งดึงเอกชนร่วมถกความเห็นก่อนแก้ ก.ม.
 
ที่กระทรวงมหาดไทย ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวว่า การจัดระเบียบที่พักแรงงานต่างด้าว จะมีการแก้ไขพระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. ..... เรื่องความรับผิดชอบของนายจ้างในส่วนของที่พัก และมีการพิจารณาดำเนินการโดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางกระทรวงแรงงานจะร่างพระราชกำหนด และส่งให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา โดยคาดว่าพระราชกำหนดจะเสร็จภายในเดือน พ.ค. ทั้งนี้ทางรมว.มหาดไทยได้สั่งการให้รวบรวมข้อเสนอของแต่ละจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดมีรูปแบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพแตกต่างกัน โดย จ.ระนองจะมีแนวคิดจัดเป็นกลุ่มอาคาร จะดูแลมาตรฐานที่อยู่อาศัยสาธารณสุข การศึกษา ซึ่งจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ จ.สมุทรสาครจะจัดระบบที่พักอาศัยให้ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนด้วย
 
 
กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งเป้าปีนี้ตรวจสอบโรงงาน 1,400 แห่ง พร้อมกำหนดมาตรการเชิงรุกในการป้องกันปัญหาการร้องเรียนโรงงานตั้งแต่ต้นทาง
 
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปี 2560 มีแผนการตรวจสอบโรงงาน 1,400 แห่ง และประมวลผลจัดทำข้อมูลโรงงานร้องเรียนซ้ำซาก นิยามเบื้องต้นคือ โรงงานที่พบการกระทำผิดกฎหมายตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีการสั่งการปรับปรุงแก้ไข ตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบโรงงานที่มีการร้องเรียนซ้ำซาก เพื่อเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน และโรงงานที่อยู่ริมน้ำ เพื่อรักษาคุณภาพแหล่งน้ำ ทั้งนี้กระทรวงได้กำหนดมาตรการเชิงรุกในการป้องกันปัญหาการร้องเรียนโรงงานตั้งแต่ต้นทาง คือตัวโรงงานเอง โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ในการเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมายด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ โดยจัดทำโครงการเสริมสร้างโรงงานที่ดีเพื่อลดปัญหาเรื่องร้องเรียนจากการประกอบกิจการโรงงาน SMEs ในภูมิภาค ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจแล้ว ยังช่วยพัฒนาสถานประกอบการระดับ SMEs โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้อง สอดคล้องกับประเภทและขนาดกิจการ รวมทั้งช่วยสร้างจิตสำนึกและตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม
 
 
กรมการจัดหางานเผย! ปี 2559 แรงงานไทยมีรายได้กว่า 500 ล้านบาท จากการเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนและฟินแลนด์
 
กรมการจัดหางาน เผยปี 2559 มีแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนจำนวน 3,300 คน และในประเทศฟินแลนด์ จำนวน 3,344 คน และมีรายได้เฉลี่ยรวมมากกว่า 500 ล้านบาท
 
กระทรวงแรงงาน โดยนายวรานนท์ ปีติวรรณ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ในปี 2559 มีแรงงานไทย ที่ได้รับอนุญาตเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดน จำนวน 3,300 คน เป็นคนงานเก็บผลไม้ป่า จำนวน 3,142 คน คนงานสนับสนุน (Staff) จำนวน 158 คน เริ่มเดินทางไปทำงานตั้งแต่ วันที่ 17 กรกฎาคม - 5 ตุลาคม 2559 ระยะเวลาการทำงานที่กำหนดในสัญญาจ้างประมาณ 54 – 70 วัน คนงานมีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 111,091 บาท รวมรายได้ของคนงานที่ได้รับหลังหักค่าใช้จ่าย จำนวนทั้งสิ้น 349,046,915 บาท และคนงานที่รับอนุญาตให้เดินทางไปประเทศฟินแลนด์ เพื่อไปเก็บผลไม้ตามหนังสือเชิญของผู้รับซื้อในประเทศฟินแลนด์ เป็นคนงานเก็บผลไม้ป่าจำนวน 3,344 คน เป็นคนงานสนับสนุน (Staff) จำนวน 100 คน เริ่มเดินทางไปทำงานตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม - 8 ตุลาคม 2559 ระยะเวลาการทำงานประมาณ 60 – 78 วัน คนงานมีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 67,146 บาท รวมรายได้ของคนงานที่ได้รับหลังหักค่าใช้จ่ายจำนวนทั้งสิ้น 219,356,770 บาท ซึ่งเมื่อรวมการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าทั้งในประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ แรงงานไทยสามารถนำเงินเข้าประเทศได้สูงถึง 568,403,685 บาท ภายในระยะเวลา ไม่ถึง 3 เดือน
 
สำหรับในปี 2560 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้หารือเพื่อขอให้ทางการสวีเดนและฟินแลนด์ดูแลคนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าในเรื่องของสัญญาจ้าง สภาพการทำงาน/ความเป็นอยู่ และรายได้ โดยเน้นนโยบาย แรงงานไทย จะต้องมีรายได้คุ้มกับค่าใช้จ่ายและได้รับการคุ้มครองที่ดี
 
นายวรานนท์ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท