Skip to main content
sharethis

อนุกมธ.สื่อสารมวลชน สปท.ยันสื่อต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ส่วนสภาวิชาชีพสื่อ ปรับสัดส่วนตัวแทนรัฐ เหลือปลัดสำนักนายกฯ-ปลัดก.วัฒนธรรม เพิ่มตัวแทน กสม.และกก.คุ้มครองผู้บริโภค เผยเล็งแก้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ บังคับเจ้าของ นสพ.ต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพ

21 ก.พ. 2560 ความคืบหน้าการพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หลังองค์กรวิชาชีพสื่อหลายแห่งต่างออกมาคัดค้าน  สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธาน กมธ. ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อมวลชน สปท.กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อยังมีความจำเป็น เพื่อกำหนดมาตรฐานของสื่อ โดยจะต้องได้รับการอบรมก่อนออกใบประกอบวิชาชีพ และจดทะเบียนประวัติข้อมูลเอาไว้ ซึ่งสื่อจะได้รับประโยชน์เรื่องของสวัสดิการและการพิจารณาความดีความชอบด้วย นอกจากนี้ ยังปรับปรุงแก้ไขมาตรา 85 เกี่ยวกับการใช้สิทธิมาตรการคุ้มครองผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายสามารถร้องต่อสภาวิชาชีพสื่อได้ และให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาโดยไม่ตัดสิทธิกระบวนการดำเนินคดีทางศาล ทั้งนี้ กรรมาธิการจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) อีกครั้งในวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุม สปท.ต่อไป

พล.ต.ต.พิสิษฐ์  เปาอินทร์ รองประธาน กมธ. สื่อสารมวลชน สปท. ให้สัมภาษณ์ประชาไทเรื่องใบประกอบวิชาชีพว่า ยังคงต้องมี แต่จะมีบทเฉพาะกาลที่ให้คนที่เป็นสื่ออยู่แล้ว จะต้องเข้าระบบใบอนุญาตภายในสองปี ส่วนคนที่เพิ่งเข้ามาทำสื่อจะต้องมีใบอนุญาตทันที ส่วนบทลงโทษคืออะไรนั้น อยู่ระหว่างหารือ

ส่วนสภาวิชาชีพสื่อนั้น พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯได้ข้อสรุปให้ยังคงไว้ 13 คน โดยคงสัดส่วนตัวแทนสื่อ 5 คน และตัวแทนวิชาชีพอื่น 4 คนไว้ และลดสัดส่วนปลัดกระทรวงลง จาก 4 เหลือ 2 คน คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เพราะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับสื่อโดยตรง เช่น จะตรวจสอบได้ว่าสื่อแต่ละประเภทดำเนินการขอใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ รวมถึงให้คำปรึกษาในเรื่องกฎหมายกำกับดูแลสื่อ ขณะที่อีก 2  คน จะมาจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) 1 คนที่ กสม.เป็นผู้เลือก และกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 1 คนที่ กรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นผู้เลือก โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากร่างกฎหมายนี้คุ้มครองทั้งสื่อและผู้บริโภค จึงเลือกสององค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า ขั้นตอนยังมีอีกเยอะ ตอนนี้คงยังไม่ตอบโจทย์สื่อทั้งหมด เมื่อดูตามกรอบเวลาแล้ว ส่วนตัวคิดว่า ร่างนี้คงออกหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ฉะนั้นจึงยังมีเวลาให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดมความเห็น

นอกจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อฯ แล้ว พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ระบุว่า ยังมีการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ด้วย โดยแก้ไขเพิ่มเติม 2 ประเด็นคือ หนึ่ง เพื่อแก้ปัญหากรณีมีผู้จดแจ้งไว้แล้วไม่ได้ทำสื่อ เป็นการสร้างภาระให้เจ้าหน้าที่ จึงเพิ่มมาตรการว่าเมื่อจดแจ้งแล้วต้องพิมพ์ใน 60 วัน ไม่เช่นนั้น จะยกเลิกการจดแจ้ง และ สอง ผู้ที่จะทำหนังสือพิมพ์ เฉพาะเจ้าของ จะต้องเป็นสมาชิกสภาวิาชีพ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อด้วย ไม่เช่นนั้นขาดคุณสมบัติ


วานนี้ มีการประชุมแกนนำองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนร่วมกับสื่อมวลชนอาวุโส โดยมีมติยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ ที่จะให้อำนาจองค์กรใดองค์กรหนึ่งมาลงโทษสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นโทษทางอาญาหรือโทษทางปกครอง เพราะเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งเท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน พร้อมทั้งยืนยันหลักการการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน

นอกจากนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนมีมติร่วมกันให้มีการจัดการประชุมสมัชชาสื่อมวลชนแห่งชาติเพื่อกำหนดท่าทีของผู้ประวิชาชีพสื่อมวลชนทั่วประเทศในเรื่องการปฏิรูปสื่อและยืนยันหลักการกำกับดูแลกันเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net