คสช.ใช้ ม.44 ดันปฏิรูปท้องถิ่นแก้ทุจริต สูญงบฯโดยใช่เหตุ - จ่อคุมลงทุนที่มีมูลค่าสูง

พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมออกคำสั่งมาตรา 44 ควบคุมการลงทุนที่มีมูลค่าสูงป้องกันการทุจริต  ออกคำสั่ง ม.44 ขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น แก้ไขปัญหาทุจริตในการสอบและป้องกันการสูญเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ 

 

ที่มาภาพ เว็บไซต์ข่าวทำเนียบฯ

21 ก.พ. 2560 รายงานข่าวจากเว็บข่าวทำเนียบรัฐบาลระบุว่า วันนี้ เมื่อเวลา 15.35 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.องประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เตรียมออกคำสั่งมาตรา 44  ในการเข้ามาควบคุมการลงทุนที่มีมูลค่าสูง เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริต และให้สินบนใต้โต๊ะ เช่นเดียวกับ ข้อกังวลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติสรรพสามิต ฉบับใหม่ที่กำหนดพิกัดภาษีสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ต่างกัน โดยสุรากำหนดพิกัดภาษีอยู่ที่ 1 พันบาท ต่ำกว่าพิกัดภาษีเครื่องดื่มจำพวกไวน์หรือเบียร์ ซึ่งอยู่ที่ 3,000 บาท คิดเป็น 3 เท่า อาจจะกระทบต่อราคาสินค้า ซึ่งขัดกับข้อเสนอของทีดีอาร์ไอ ที่ระบุว่า ทั่วโลกเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามปริมาณดีกรี จนเป็นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐอาจจะไปเรียกรับผลประโยชน์จากส่วนต่างที่เกิดขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าในเรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการให้เกิดความเป็นธรรม พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลังชี้แจงในประเด็นนี้อีกครั้ง 

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 14.20 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานฯ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งได้มีการประชุมก่อนการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุม คสช. ได้มีการพิจารณาหารือเรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานส่วนบุคคลท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล)  ซึ่งพบปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการสอบที่ผ่านมา รวมถึงการออกข้อสอบที่ไม่ได้มาตรฐาน และการดำเนินการสอบดังกล่าวทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะเป็นการแยกสอบตามพื้นที่ที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นดังกล่าวที่มีตำแหน่งว่างก็สามารถดำเนินการเปิดสอบได้ ทำให้มีการสอบหลายพื้นที่และสอบไม่พร้อมกัน ดังนั้น คสช. จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้คณะกรรมการกลางที่แต่ละองค์การส่วนท้องถิ่นมีอยู่แล้ว ซึ่งมีผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นองค์ประกอบ รวมทั้งมีคณะกรรมการโดยตำแหน่งและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมในองค์ประกอบคณะกรรมการกลางดังกล่าวด้วย ทั้งหมด 17 คน เช่น คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยมีคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการ ก.พ. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และอธิบดีกรมการปกครอง เป็นต้น

ทั้งนี้ การออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อให้คณะกรรมการกลางของแต่ละหน่วยงานดังกล่าว ทำหน้าที่ในการออกข้อสอบ โดยใช้ข้อสอบชุดเดียวกันที่ได้มาตรฐาน และให้มีการสอบรวมพร้อมกัน เพื่อให้สามารถตรวจสอบการทุจริตได้ง่ายขึ้น และเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นครบวงจรทั้งเรื่องการทุจริต มาตรฐานข้อสอบ ป้องกันการสูญเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ ตลอดจนแก้ปัญหาเรื่องการปรับย้าย โดยการปรับย้ายขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล มีองค์ประกอบ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) เจ้าตัวสมัครใจต้องการย้าย 2) หน่วยงานต้นสังกัดไม่ขัดข้อง และ 3) หน่วยงานใหม่พร้อมที่จะรับ แต่ที่ผ่านมาปรากฏว่าติดขัดที่หน่วยงานต้นสังกัดไม่ยอมปล่อยตัวถึงแม้หน่วยงานใหม่พร้อมรับและเจ้าตัวประสงค์จะย้าย จึงทำให้เกิดปัญหากรณีมีการเรียกรับสินบนขึ้น เพราะฉะนั้น คำสั่งตามมาตรา 44 หากขาดองค์ประกอบหนึ่งองค์ประกอบใด ใน 3 องค์ประกอบข้างต้น ให้คณะกรรมการกลางของแต่ละหน่วยงานดังกล่าวเป็นผู้พิจารณาให้ปรับย้ายได้เป็นรายกรณี ๆ ไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท