Skip to main content
sharethis

อังคณาระบุ การใช้ม.44 และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรณีธรรมกาย กสม. เข้าสังเกตการณ์ ยังไม่มีความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชน เตือนผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ต้องแยกแยะระหว่างการทำผิดกฎหมายที่ต้องดำเนินการ กับความเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นเสรีภาพบริบูรณ์ เจ้าหน้าที่ไม่ควรยุ่งเกี่ยว จับกุมใครไม่ได้เพียงเพราะมีความเชื่อที่ต่างจากเรา

อังคณา นีละไพจิตร

หลังจากรัฐบาลประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อเข้าควบคุมตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย โดยมีการระดมกำลังทหารเข้าคุมพื้นที่ตั้งแต่เมื่อคืน ขณะที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้ประกาศเส้นตาย 10.00 ว่าการเจรจาจะต้องลุล่วงเพื่อเข้าค้นภายในวัด

ทางประชาไทสัมภาษณ์อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เกี่ยวกับกรณีธรรมกาย โดยทางอังคณากล่าวว่า เท่าที่ตามดูตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่เป็นความรุนแรงหรือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้มีปฏิบัติการอะไรที่จะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ์ ณ ตอนนี้

“ตั้งแต่วันแรกที่ทางดีเอสไอจัดกำลังเข้าไป กสม. ก็ได้เข้าไปสังเกตการณ์ แต่เราก็ไม่ได้อยู่ฝ่ายไหน ไม่ได้ไปร่วม ไม่ได้ไปแสดงตนต่อดีเอสไอ เราไม่อยากเข้าไปร่วมอยู่ในความขัดแย้ง แต่มีหน้าที่ที่ต้องเฝ้าระวัง แล้วก็ติดตามสถานการณ์”

อังคณา กล่าวอีกว่า “เมื่อวานก็ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงวัดพระธรรมกายว่า การตัดน้ำตัดไฟทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ซึ่งตรงนี้ กสม. ก็ต้องตรวจสอบต่อไป แล้ววันที่มีการกระทบกระทั่งกันจนมีคนที่บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ที่ไปสังเกตการณ์ก็ได้ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล เนื่องจากผู้ที่บาดเจ็บเป็นผู้หญิง เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปดู แต่ว่าทางโรงพยาบาลก็ยังไม่ได้อนุญาตให้เข้าไปเยี่ยม แต่เราก็สอบถามเป็นระยะต่อเนื่อง ส่วนในพื้นที่เราก็เข้าไปเฝ้าระวังอยู่ตลอด”

ผู้สื่อข่าวประชาไทสอบถามว่า การประกาศใช้มาตรา 44 ในกรณีนี้ถือว่ามีรุนแรงไปหรือไม่ อังคณาตอบว่า

“เราก็ดูว่าตั้งแต่วันแรกที่ประกาศใช้มาตรา 44 ก็ยังไม่เห็นว่าทางรัฐบาลหรือดีเอสไอกระทำการอะไรที่รุนแรงเกินกว่าที่กฎหมายให้ไว้ ส่วนวันนี้ก็ต้องดูต่อว่าจะดำเนินการอย่างไร จะเกินกว่าเหตุหรือไม่ ต้องขอดูก่อน เพราะที่ผ่านมาถึงแม้จะใช้มาตรา 44 แต่ยังไม่พบว่ามีการทำอะไรที่ทำให้เกิดความรุนแรง”

อย่างไรก็ตาม อังคณาอธิบายว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องแยกแยะระหว่างการกระทำผิดกฎหมายของผู้ต้องหากับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ

“ต้องแยกแยะ เนื่องจากว่าเรื่องของศาสนาในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เขียนไว้ว่า เป็นเสรีภาพบริบูรณ์ ใช้คำว่าประชาชนมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาและปฏิบัติตามความเชื่อลัทธิต่างๆ ถือว่าเป็นเสรีภาพที่ทุกคนจะเชื่อในลัทธิอะไรก็ได้ และสามารถปฏิบัติตามความเชื่อนั้น เพราะฉะนั้นในเรื่องความเชื่อของประชาชน เราคงต้องแยกแยะและต้องเคารพในความเชื่อหรือศรัทธาของประชาชน คิดว่าทางเจ้าหน้าที่คงไม่เข้าไปยุ่งในเรื่องความเชื่อ ซึ่งเราไม่สามารถบอกได้เลยว่าความศรัทธาหรือความเชื่อต่อศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นสิ่งผิด อันนี้พูดไม่ได้ เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัว

“แต่ในเรื่องการกระทำผิด หากพบว่าใครก็ตามที่กระทำผิด เจ้าหน้าที่สามารถใช้กฎหมายในการดำเนินการได้อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถไปจับกุมใครเพียงเพราะเขามีความเชื่อที่ต่างจากเรา อันนี้ทำไม่ได้

“ถ้าเราเห็นว่าความเชื่อแบบนี้ไม่ถูก ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิให้ความเห็นว่าที่ถูกควรจะเป็นอย่างไร เป็นต้น แต่ต้องระมัดระวังเพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว เพราะในเรื่องความเชื่อคนเราสามารถเสียสละชีวิตได้เนื่องจากความเชื่อ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก ต้องระมัดระวังและแยกระหว่างสิ่งที่เป็นความผิดทางกฎหมายก็ต้องไม่ละเว้น ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ส่วนในเรื่องความอ่อนไหวเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเคารพกัน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net