[สาระ+ภาพ] เด็กในครอบครัวจนที่สุด 20% ของไทย โอกาสเข้าสู่อุดมศึกษาเพียง 5%

นักวิชาการจาก สสค. ยกผลการสำรวจของยูเนสโกระบุ เด็กไทยในครอบครัวยากจนจบมัธยมต้นเพียง 30-40% เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนที่สุด 20% มีโอกาสเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาเพียง 5%  เด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวยเข้าถึง 100%

ดูภาพขนาดใหญ่ 

งาน สัมมนาระดับนานาชาติเปิดตัวรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจําปี 2559 ในหัวข้อ “การศึกษาเพื่อมนุษย์และโลกของเรา : สร้างสรรค์อนาคตให้ยั่งยืนเพื่อปวงชน” ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับ สํานักงานยูเนสโก(UNESCO) กรุงเทพมหานคร และ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น 

ซึ่งสำนักข่าวอิศรารายงานตอนหนึ่งของเวทีเสวนาว่า ไกรยส ภัทราวาท นักวิชาการจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึงผลการสำรวจของยูเนสโกระบุว่า มีเด็กไทยกว่า 2แสนคนในวัยประถมศึกษาที่ยังอยู่นอกระบบการศึกษา ซึ่งสะท้อนข้อมุลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย เด็กในครอบครัวที่ร่ำรวยที่จบมัธยมต้น 100% เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนมีเพียง 30-40% เท่านั้น เพราะฉะนั้นช่องว่างการจบการศึกษาภาคบังคับของประเทศไทย มากจากปัจจัยเหล่านี้คือ 1. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ 2.ปัจจัยความเป็นเมืองและชนบท เพราะฉะนั้นหากเราต้องการให้ภายใน 15 ปี ข้างหน้า ที่ไทยตั้งเป้าจะสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางและสร้างการศึกษาเพื่อปวงชนให้สำเร็จได้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและช่องว่างของเมืองและชนบทคือโจทย์สำคัญ
 
ไกรยส กล่าวถึงข้อมูลบัญชีรายจ่ายการศึกษาแห่งชาติพบว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนที่สุด 20%  ของประเทศไทย มีโอกาสเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาเพียง 5% หมายความว่า หากเด็กจากทุกๆ ชั้นของรายได้เข้า ป.1 พร้อมกันครอบครัวยากจนมีโอกาสไปถึงระดับอุดมศึกษาเพียง 5% เท่านั้น ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวยเข้าถึงโอกาสศึกษาในระดับที่สูงขึ้นถึง 100%
 
"ถ้าพูดในชัดๆ ในเรื่องบประมาณของสถาบันอุดมศึกษาจำนวน แสนล้านในแต่ละปี แต่เด็กที่ครอบครัวยากจนกว่า 95% ไปไม่ถึงเงินก้อนนั้น ที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงตั้งไว้ให้พวกเขาเข้ามาแสวงหาความเจริญ ความมั่งคั่งให้ครอบครัวแล้วก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางให้ได้" นักวิชาการจากสสค. กล่าว และว่า เรามีความเหลื่อมล้ำตรงนี้มากในแง่การเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่ที่น่าตกใจคือตัวเลข 5% กับ 100%  ต่างกัน 20 เท่า  ถ้าเราตกอยู่ในฟากครอบครัวยากจน 20% ล่างกับจำนวนอีก 20% บนของคนรวย เท่ากับว่า ชีวิตของเด็กไทยคนหนึ่งต่างกันถึง 20 เท่า อันนี้คือความเหลื่อมล้ำที่สอดคล้องการสำรวจของยูเนสโก
 
ไกรยส กล่าวว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของความเหลื่อมล้ำจากการที่ประเทศไทยไม่สามารถจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทุกคนได้นั้นมีมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ร้อยละ 3 ของ GDP หรือเท่ากับค่าเฉลี่ยของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดสิบปีที่ผ่านมาของประเทศไทย เพราะฉะนั้นหมายความว่าประเทศไทยโตต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริงครึ่งหนึ่งมาโดยตลอด เมื่อมองไกลๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีถึงการเป็นประเทศที่ก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ ถ้าเกิดเราต้องสูญเสีย 3% ทุกปี ไปอีก15 ปีข้างหน้า เท่ากับเราต้องชะลอการออกจากกับดักตรงนั้นไปอีกราว 30 ปี แต่ถ้าหากเราสามารถดึง 3% ที่หายไปกลับมาได้ในทุกๆ ปี นับจากนี้ไป อีก 15 ปีข้างหน้าไทยจะสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางพร้อมๆ กับมาเลเซีย
 
ไกรยส กล่าวด้วยว่า ในเมื่อเรามีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรายังต้องก้าวไปอีกถึงหลักประกันทางการศึกษาให้ประเทศไทยสามารถกล้าพูดได้ว่า ไม่มีเด็กคนไหนตกหล่นจากการดูเเลของระบบการศึกษาไทย
 
“ความเหลื่อมล้ำของการศึกษามีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และที่สำคัญเมื่อการศึกษาทั่วถึงทุกคน สังคมแห่งกาเรียนรู้ก็จะเพิ่มขึ้น การพุดคุย การขัดแย้งในสังคมก็จะลดลง เพราะการศึกษามีการกว่าแค่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แค่คือการหล่อหลอมการพัฒนาคนตามแผนพัฒนาของแต่ละประเทศ” ดร.ไกรยส กล่าว
 

รายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกปี 59 

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ รายงานการเปิดเผยถึงรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลกปี 2559 โดย ควาง-โจ คิม ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า ว่า เป็นรายงานประจำปีขององค์การยูเนสโก และเป็นรายงานฉบับแรกของชุดรายงาน 15 ปี เพื่อติดตามดูการจัดการศึกษาของประเทศต่างๆ และประเมินดูว่าโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษาในปี ค.ศ.2030 ที่จะสร้างหลักประกันให้การศึกษามีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน รวมทั้งการส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาตลอดชีวิตมีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร การประเมินนี้เป็นเครื่องมือของยูเนสโก ในการกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกได้พัฒนาปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหาทางด้านการศึกษาของแต่ละประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายในปี ค.ศ.2030 ซึ่งรายงานดังกล่าว ระบุว่า
 
1. ในโลกใบนี้ (190 ประเทศ) ยังมีเด็กและเยาวชนรวม 263 ล้านคน ที่ไม่ได้เข้าโรงเรียน ในจำนวนนี้ 61 ล้านคน ไม่ได้เข้าโรงเรียนระดับประถมศึกษา, 60 ล้านคน ไม่ได้เข้าโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และ 142 ล้านคน ไม่ได้เข้าโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แม้แต่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง (พัฒนาแล้ว) ก็ยังไม่สามารถบรรลุผลให้เยาวชนของตนเองเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาได้ทุกคน
2. ในด้านการศึกษาระบุว่า สิ่งที่นำมาใช้ในห้องเรียน เช่น ตำรา สื่อการเรียนต่าง ๆ รวมทั้งกระบวนการจัดการเรียนการสอน มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพการศึกษา ซึ่งในประเทศที่ยากจนนักเรียน 3 คน ต้องใช้หนังสือร่วมกันเพียง 1 เล่มเท่านั้น ในขณะที่ครูส่วนใหญ่ใช้เวลาในห้องเรียนเพียงร้อยละ 60-65 เท่านั้นในการทุ่มเทให้กับการเรียนการสอน และยังมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องเพศสภาพ ความพิการ และการย้ายถิ่น
3. การวัดผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของโลก ซึ่งวัดเฉพาะการเรียนรู้ทางการอ่านและความรู้ทางคณิตศาสตร์ ก็ยังมีข้อสงสัยในเรื่องเนื้อหาที่จะมาประเมินมาตรฐานของเครื่องมือ และเกณฑ์ที่จะใช้ในการประเมิน อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าการวัดผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวเหมาะสมและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างไร และจะนำผลประเมินที่ได้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร
4. ด้านปฐมวัย มีเพียง 50 ประเทศจาก 190 ประเทศเท่านั้น ที่กำหนดให้ระดับการศึกษาปฐมวัยเป็นการศึกษาภาคบังคับ และในจำนวน 50 ประเทศมี 38 ประเทศที่กำหนดว่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งพบว่าร้อยละ 80 ของเด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาที่สมวัย ซึ่งปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเด็กคือสภาพแวดล้อมที่บ้านโดยเฉพาะบ้านที่มีกิจกรรมทำร่วมกันและบ้านที่มีหนังสือตั้งแต่ 3-10 เล่มขึ้นไป
5. ด้านอาชีวศึกษา มี 140 ประเทศที่มีกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ซึ่งจะมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาชีพในระดับอาชีวศึกษา เพราะจะช่วยให้ผู้เรียน ผู้จัดการศึกษา และนายจ้าง หันมาสนใจกับผลสัมฤทธิ์ และความสามารถทางการปฏิบัติมากกว่าคุณวุฒิ
6. การอุดมศึกษา พบว่ามีคนเรียนอุดมศึกษามากขึ้นเป็น 207 ล้านคนในปี ค.ศ.2015 และผู้ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีปัจจัยสำคัญคือรายได้ของผู้เรียน หรือฐานะทางการเงินของครอบครัว ในส่วนของคุณภาพการอุดมศึกษา วัดกันเพียงการจัดลำดับของมหาวิทยาลัย ซึ่งสนใจเฉพาะการวิจัยมากกว่าคุณภาพการสอนและการเรียนรู้ของผู้เรียน
7. ด้านทักษะการทำงาน พบว่าทักษะการรู้หนังสือทำให้คนได้รับโอกาสการทำงานสูงขึ้นเกือบสองเท่า ในขณะที่ทักษะทาง ICT มีความจำเป็นมากขึ้นที่ผู้เรียนในทุกระดับต้องพัฒนา ทั้งนี้ ยังไม่มีหลักฐานใดที่ระบุว่าต้องพัฒนาทักษะที่เชื่อว่าจำเป็น เช่น ความเพียรพยายาม ความคิดสร้างสรรค์ การควบคุมอารมณ์ หรือทักษะทางสังคม
8. การรู้หนังสือและการคิดคำนวณเป็นเป้าหมายของการพัฒนาการศึกษาโลก โดยมีข้อสังเกตว่า การรู้หนังสือไม่ใช่เป็นเพียงชุดของทักษะขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงทักษะการรู้หนังสือเพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับทักษะการคิดคำนวณ พบว่ามีผู้ใหญ่ที่ยังขาดทักษะการอ่านออกเขียนได้ในระดับที่ใช้งานได้จริง ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิง
9. แม้ว่าแต่ละประเทศจะรับรู้และเห็นชอบว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน และความเป็นพลเมืองโลกมีความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องทำให้คนในประเทศตระหนักรู้ในประเด็นนี้ แต่กลับพบว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่ได้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในหลักสูตร และมีครูเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่รู้และเข้าใจในเรื่องนี้
10. ห้องเรียนที่แออัดและการมีครูไม่เพียงพอยังคงเป็นปัญหาทั่วโลก
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท