นักสิทธิเพื่อผู้ค้าบริการทางเพศ ชี้รัฐคุมเข้มพัทยา สร้างภาพขยับสถานะแก้ปัญหาค้ามนุษย์

จากกรณีเว็บไซต์มิร์เรอร์ของอังกฤษระบุว่าพัทยาเป็นเมืองหลวงแห่งเซ็กส์ของโลก มีพนักงานบริการทางเพศ 27,000 คน จนทำให้มีคำสั่งตรวจตราและจับกุมพนักงานบริการในพัทยาอย่างเข้มงวดในช่วงนี้

จันทวิภา อภิสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (ส่งเสริมโอกาสผู้หญิง) ) ซึ่งเป็นองค์กรที่เน้นการส่งเสริมโอกาสให้พนักงานบริการทางเพศได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไปในสังคม ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ตัวเลขจริงอาจจะมากกว่าที่ปรากฏในข่าวอีก 10 เท่า โดยคิดเฉลี่ยแต่ละร้าน มีคนทำงานอย่างน้อย 2-5 คน บางแห่งมีกว่า 100 คน อย่างเช่นที่พัฒน์พงศ์คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร มีพนักงานบริการทั้งหมด 4,000-5,000 คน ส่วนพัทยาใหญ่กว่านั้นมาก จำนวนจึงไม่น่าใช่แค่ 27,000 คน แต่ไม่อาจเหมารวมว่าทุกคนขายบริการทางเพศทั้งหมดได้ พนักงานบริการบางคนไม่ขายเซ็กซ์แต่ขายอยางอื่น เช่น การเป็นเพื่อนเที่ยวไปกินข้าว ดูหนัง และไม่ใช่เฉพาะเพศหญิง แต่รวมทั้งเพศชาย หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และโดยเฉพาะที่เป็นปัญหาตอนนี้คือเรื่องแรงงานข้ามชาติ

“ไทยเป็นแหล่งสวรรค์ของแรงงานทั้งหลาย เขามาทำงานไม่ต้องการขายเซ็กส์ แต่เมื่อมีกรอบทางกฎหมาย เขาก็ต้องไปทำงานที่ไม่ใช้ใบอนุญาต เมื่อเขามาแบบผิดกฎหมาย ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจ่ายเงินค่าคุ้มครองให้แก่เจ้าพนักงาน เลยต้องมีกฏหมายการค้ามนุษย์ขึ้นเพื่อคุ้มครองคนเหล่านี้”

จันทวิภา กล่าวเชื่อมโยงไปถึงเรื่องประเด็นการค้ามนุษย์และสาเหตุที่รัฐบาลไทยต้องสร้างผลงานด้วยการจับกุมกลุ่มคนหรือบุคคลที่เข้าข่ายผิดกฎหมายการค้ามนุษย์ โดยเมื่อประมาณปี 2551 ประเทศไทยได้เริ่มใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และเริ่มเป็นพันธมิตรกับอีกหลายประเทศ ทำสัญญาจะให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งแบ่งเป็น แรงงานทาสและแรงงานค้าประเวณี โดยจะต้องทำรายงานประจำปี เรียกว่า TIP Report (Trafficking In Person Report) หรือ รายงานผลความร่วมมือการปราบปรามการค้ามนุษย์ ส่งไปประเมินผลการทำงานต่อรัฐบาลประเทศอเมริกา โดยมีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับ หรือที่เรียกว่า Tier 1, Tier 2, Tier 2 (Watch list) และ Tier 3 ระดับ 3 แย่ ระดับ 2 พอใช้ได้ ระดับ 2 ต้องเฝ้าระวัง และระดับ 1 ยอดเยี่ยม

เธอกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้รับเงินทุนสนับสนุนในด้านนี้จากสหรัฐอเมริกาทุกปี ปีละ 95 ล้านเหรีญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทย 2,800 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2558 ประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 3 จนกระทั่งจับข้าราชการผู้สมรู้ร่วมคิดการค้ามนุษย์ รวมถึงเรื่องการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศที่ตกเป็นเหยื่อการกระทำทารุณ ทำให้ปัจจุบันไทยได้เลื่อนไปอยู่ในระดับ Tier 2  เฝ้าระวัง (watch list) เกือบจะขึ้นไปเป็น Tier 2 แต่ปีนี้แรงงานค้าประเวณียังไม่มีตัวเลขชี้วัดอย่างเป็นรูปธรรมนัก จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลมุ่งเน้นการจับกุมพนักงานบริการที่พัทยาในช่วงนี้

ทั้งนี้ในปี 2558 ประเทศไทยอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด เนื่องจากไทยเป็นต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านการค้ามนุษย์และประเวณี เจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นขบวนการค้ามนุษย์ รวมทั้งการบังคับใช้แรงงานประมง ละเมิดทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายสากล การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing หรือ IUU) ทำให้สหภาพยุโรปทั้ง 28 ชาติแบนอาหารทะเลจากไทย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยไทยถือเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และมีส่วนแบ่งการตลาดอาหารทะเลโลกสูงถึง 8.1% 

อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.manager.co.th/Sport/ViewNews.aspx?NewsID=9590000040776

“รัฐบาลไทยต้องมีหน้าที่แก้ปัญหาในเรื่องนี้ แต่ไม่มีการเริ่มต้นแก้ มีแต่ใช้พวกเหล่านี้เป็นเหยื่อในการจะสร้างพื้นที่ข่าว สร้างสถานการณ์ให้หวือหวา ไม่ว่าจะเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการเลือกตั้งหรือการเมืองใดๆ ใช้ตัวเลขเหล่านี้ให้เกิดความสนใจ แล้วโยงไปเรื่องอื่นที่เขาอยากจะพูด ถึงเวลาหรือยังที่คนรับผิดชอบต้องแก้ปัญหาสักที” จันทวิภากล่าว

เมื่อพูดถึงการทำให้อาชีพพนักงานบริการเป็นอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมาย จันทวิภากล่าวว่า เห็นด้วยกับการทำให้อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกับแรงงานอื่น เพียงแค่การทำให้ถูกกฎหมายอาจไม่เพียงพอ ประเด็นที่หนึ่งเพราะปัญหานี้เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ความเชื่อ รสนิยมทางเพศ ที่มีความหลากหลายและมาตรฐานที่แตกต่าง การมีเซ็กส์ในรถหรูเพื่อแหวนเพชรอาจไม่ผิด แต่การมีเซ็กส์เพื่อแลกเงินกลับผิด ส่วนประเด็นที่สองเป็นเรื่องเนื้อหาของกฎหมาย เช่น ถ้าหากผิดกฏหมายพนักงานบริการอาจจ่ายค่าคุ้มครองให้กับเจ้าหน้าที่แค่ก้อนเดียว แต่เมื่อถูกกฎหมาย อาจจะต้องทำตามอีก 20 ข้อที่กฎหมายระบุ เช่นนี้ก็ไม่ถือเป็นกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกเขา

ท้ายที่สุด จันทวิภาเสนอว่า ตนไม่อาจพูดแทนพนักงานบริการได้ แต่มีแนวทาง เช่น การไปทดลองทำโมเดลในพื้นที่เล็กๆ มีการท่องเที่ยว มีสถานบริการ ให้สังคมรับได้ พนักงานบริการรับได้ ลองปรับกันไป ถ้าสังคมยอมรับได้ น่าจะเป็นโมเดลในการไปต่อยอดที่อื่น เพราะแต่ละที่ก็มีความเชื่อ วิสัยทัศน์ไม่เหมือนกัน อาจต้องปรับไปตามความเชื่อและพฤติกรรมของคนที่ต่างกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท