Aarhus 2017 เมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมยุโรป: เดนมาร์ก ความเปิดกว้าง และความหลากหลาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในรอบปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาที่วิกฤตการณ์ทางสังคมเริ่มส่งผลคุกคามความมั่นคงในทวีปยุโรปเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัย เหตุก่อการร้าย รวมไปถึงการตัดสินใจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรอังกฤษที่สั่นคลอนเสถียรภาพต่อการดำรงอยู่ของรัฐสมาชิกอย่างเห็นได้ชัด ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้น โครงการเล็กๆ โครงการหนึ่งของทางสหภาพเพื่อความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ อันมีจุดประสงค์ในการสร้างความกลมเกลียวและยอมรับความแตกต่างหลากหลายในภาคพื้นทวีปนี้ยังคงดำเนินต่อไป European Capital of Culture ประจำปี 2017 นี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นที่เมืองออร์ฮูส (Aarhus) ประเทศเดนมาร์ก และเมืองปาฟอส (Pafos) ประเทศไซปรัส

โครงการ European Capital of Culture ได้รับการริเริ่มมาตั้งแต่ปี 1983 โดยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมแห่งประเทศกรีซ และจัดขึ้นที่กรุงเอเธนส์เป็นที่แรก โครงการนี้จัดตั้งขึ้นโดยมุ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมที่จำเป็นต่อความร่วมมือระหว่างประเทศไม่แพ้ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่มักได้รับความสนใจเป็นอันดับแรกๆ จุดประสงค์หลักของความริเริ่มนี้ไม่เพียงเน้นย้ำความแตกต่างหลากหลายแต่ยังรวมไปถึงความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อเพิ่มพูนความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนแม้อยู่คนละประเทศกัน ในทุกๆ ปี เมืองต่างๆ จากประเทศสมาชิกสหภาพจะสามารถเข้าร่วมการพิจารณาเพื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรม และในเมืองนั้นๆ จะมีการจัดนิทรรศการหรืองานเฉลิมฉลองทางศิลปวัฒนธรรมเกิดขึ้นไปตลอดทั้งปี ในระยะเวลา 32 ปีที่โครงการนี้เริ่มต้นขึ้น มีเมืองกว่า 50 เมืองแล้วที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมของยุโรป(1)


พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Aros และ Concert Hall ประจำเมืองออร์ฮูส

หากพูดถึงประเทศเดนมาร์ก คนส่วนมากคงนึกถึงเพียงโคเปนเฮเกนเป็นจุดหมายหลักของการเยี่ยมเยือน แต่น้อยคนนักที่จะนึกถึงเมืองออร์ฮูส ที่แม้เป็นเมืองใหญ่ลำดับที่สองของประเทศก็ดูเหมือนจะไม่มีความน่าตื่นตาตื่นใจอะไรที่แปลกใหม่ไปจากเมืองหลวงเท่าไรนัก ด้วยขนาดพื้นที่รวมปริมณฑลแล้วยังเล็กกว่าเกาะภูเก็ตและมีพลเมืองเพียงกว่า 3 แสนคน กระนั้น เมืองนี้ก็เริ่มได้รับความสนใจจากนานาชาติในแง่ของการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปีที่ผ่านมา ออร์ฮูสได้รับยกย่องจากเว็บไซต์ท่องเที่ยวของเหล่านักเดินทางอิสระชื่อดังอย่าง Lonely Planet ให้เป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับสองของยุโรป และปีนี้ก็เป็นโอกาสสำคัญที่ออร์ฮูสจะได้โปรโมตตนเองในฐานะเจ้าภาพ European Capital of Culture แห่งใหม่ นับเป็นครั้งที่สองของเดนมาร์กหลังโคเปนเฮเกนได้รับเกียรตินั้นไปตั้งแต่ปี 1996 โดยพิธีเปิดอย่างเป็นทางการจัดขึ้นไปเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเต็มไปด้วยการจัดแสดงแสง สี เสียงอย่างตระการตาทั่วใจกลางเมือง และตลอดทั้งปีจะมีการวางแผนตารางกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ออร์ฮูสเท่านั้น แต่ยังกระจายออกไปตามเมืองต่างๆ ทั่วภาคกลางของประเทศ


การแสดงแสงไฟจากโบสถ์และอาคารว่าการประจำเมือง


การแสดงแสง สี เสียงระหว่างพิธีเปิดอย่างเป็นทางการบนกลุ่มอาคารบริเวณท่าเรือ)

สโลแกนในฐานะเจ้าภาพเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมของออร์ฮูสนั้นคือ Let’s rethink โดยคำบรรยายจากเว็บไซต์ทางการระบุว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมหาศาลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้สร้างความท้าทายใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม การแบ่งแยกทางสังคม วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ อีกมากมาย เราจึงควรหันกลับมาคิดทบทวนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในมุมมองใหม่ๆ ผ่านการสร้างสรรค์ของศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาแก้ไขปัญหาที่มั่นคงในระยะยาวต่อไปในภายภาคหน้า โดยคำสำคัญที่ปรากฏให้เห็นระหว่างพิธีนั้นรวมถึงความยั่งยืน (sustainability) ความหลากหลาย (diversity) ประชาธิปไตย (democracy) และการเปลี่ยนแปลง (change)


นิทรรศการซึ่งจัดแสดงบริเวณอาคารว่าการประจำเมือง
ภายใต้แนวคิด “ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน” หนึ่งในค่านิยมสำคัญของชาวเดนมาร์ก(2)

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและสะท้อนออกมาจากแนวคิดที่กล่าวมาข้างต้น นั่นคือทิศทางการเมืองและสังคมในปัจจุบันของเดนมาร์กนั้นแทบจะไม่สอดคล้องกับภาพการเรียกร้องถึงพัฒนาการทางสังคมและความเปิดกว้างที่แสดงออกมาในงานนี้เลย เดนมาร์กขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่มีความสามารถในการยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์น้อยที่สุดและมีนโยบายการรับผู้ย้ายถิ่นที่เข้มงวดที่สุด กระแสเชิงลบต่อผู้อพยพในเดนมาร์กนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้ในช่วงก่อนหน้าวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2015 ประเทศนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติมาอย่างต่อเนื่องถึงกฎหมายผู้อพยพที่ตึงเครียดและซับซ้อนเกินความจำเป็นอันสะท้อนถึงแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ รวมไปถึงนโยบายการช่วยเหลือผู้อพยพในการปรับตัวนั้นดูจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องด้วยสังคมเดนมาร์กนั้นมีแนวโน้มที่จะปิดกั้นและต่อต้านวัฒนธรรมที่แตกต่าง และเรียกร้องให้ชาวต่างชาติต้องละทิ้งตัวตนเดิมและกลมกลืนตนเองเข้ากับวิถีชีวิตท้องถิ่นอย่างแนบเนียนที่สุดเพื่อรักษา “ความเป็นเดนมาร์ก” เอาไว้

หลังการเลือกตั้งในช่วงกลางปี 2015 พรรคฝ่ายขวาซึ่งมีหนึ่งในนโยบายหลักคือเพิ่มความเข้มงวดในกฎหมายเกี่ยวกับการรับผู้อพยพให้มากกว่าเดิมพลิกกลับขึ้นมากำชัยชนะเหนือพรรคฝ่ายซ้ายรัฐบาลเดิม แสดงให้เห็นถึงความเอนเอียงทางทัศนคติของชาวเดนมาร์กที่เป็นไปในทางต่อต้าน ‘คนนอก’ หนักขึ้น และเพียงไม่กี่เดือนหลังการจัดตั้งรัฐบาล เดนมาร์กก็เข็นนโยบายมุ่งจำกัดจำนวนผู้อพยพและลี้ภัยที่หวังเข้ามาสร้างถิ่นที่อยู่ใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการตัดสวัสดิการทางสังคม การริบทรัพย์สิน การยกเลิกโควต้ารับผู้ลี้ภัยตามคำขอของสหประชาชาติ รวมไปถึงออกกฎเพิ่มเติมให้ชาวต่างชาติซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศแล้วสามารถขอใบอนุญาตพำนักอยู่ถาวรและขอสัญชาติได้ยากยิ่งขึ้น ในปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ที่ต้องการลี้ภัยมายังเดนมาร์กลดลงมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2015 และทางรัฐก็ยังแสดงความจำนงที่จะลดจำนวนผู้อพยพให้น้อยลงไปกว่านี้อีก (3)

กระนั้น หากเดนมาร์กมีความตั้งใจจริงที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงผ่านสื่อกลางทางศิลปวัฒนธรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในรอบปีนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง แม้ภาพลักษณ์ของสังคมเดนมาร์กโดยรวมนั้นดูจะมีความเสรีนิยมสูง และชาวเดนมาร์กเองก็ภาคภูมิใจต่อความเชื่อมั่นในหลักการความเท่าเทียมของตนเองค่อนข้างมาก ทัศนคติต่อชาวต่างชาติโดยเฉพาะผู้ย้ายถิ่นนั้นกลับย้อนแย้งกับแนวคิดดังกล่าวอยู่ไม่น้อยทีเดียว การใช้ชีวิตในเดนมาร์กในฐานะผู้อพยพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในปัจจุบันที่กระแสสังคมในทวีปยุโรปเริ่มจะเอนเอียงไปทางชาตินิยม จนก่อความกังวลถึงความถดถอยของหลักการประชาธิปไตยซึ่งตั้งอยู่บนการเข้าใจและยอมรับความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็น อุดมการณ์ ศาสนา เพศสภาพ ชาติพันธุ์ รวมไปถึงวัฒนธรรม โครงการนี้ถือเป็นช่องทางอันดีที่จะสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเปิดกว้างทางทัศนคติ ว่าความแตกต่างนั้นไม่ได้หมายถึงความขัดแย้งเสมอไป แต่ยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจต่อความเป็นไปของโลกภายนอก ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างความสามารถในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของทุกฝ่ายไม่ว่าจะมีพื้นเพผิดแผกกันไปอย่างไรก็ตาม

 

เชิงอรรถ

 (1) https://ec.europa.eu/programmes/creative-europe/actions/capitals-culture_en

 (2) http://www.aarhus2017.dk/en/calendar/nathan-coley-the-same-for-everyone/10991/
 
(3) http://www.thelocal.dk/20160923/denmarks-asylum-numbers-at-a-five-year-low

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท