ส.นักข่าว ชี้ควรเลี่ยงเสนอภาพยั่วยุให้เกิดความรุนแรง หลังเฟซบุ๊กไลฟ์ลุงฆ่าตัวตายประท้วง ม.44

ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวฯ ชี้ควรหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพข่าวเหตุการณ์อันเป็นการส่งเสริมหรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เสนอภาพข่าวศพของผู้เสียชีวิตที่นำไปสู่ความหวาดเสียว หรือซ้ำเติมความทุกข์โศกต่อญาติของผู้เสียชีวิตอีก

ภาพจาก Bussarin Worasamith เผยแพร่ต่อใน เฟซบุ๊ก 'จริยธรรมวารสารศาสตร์'

27 ก.พ. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก 'จริยธรรมวารสารศาสตร์' เผยแพร่ความคิดเห็นของ บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ในฐานะประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ต่อกรณีการถ่ายทอดสด กรณีฆ่าตัวตายประท้วงการใช้ ม.44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย
 
โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
กรณีชายสูงวัย ประท้วงการใช้อำนาจาตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศควบคุมพื้นที่วัดธรรมกาย ด้วยการผูกคอตายบนเสารับ-ส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ใกล้ตลาดกลางคลองหลวง ตำบลคลองหลวง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2560 การประท้วงดังกล่าว มีสื่อมวลชนถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live โดยมีผู้เข้ามาติดตามชมนับแสน การถ่ายทอดสดดังกล่าว มีเสียงตะโกนยุให้ผู้ประท้วงกระโดดลงมา ควบคู่กับเสียงห้ามปราม ในขณะที่ผู้ใช้สื่อออนไลน์ก็นำเข้าข้อความทำนองเดียวกัน บางรายใช้ถ้อยคำหยาบคายยุส่ง
 
ภาพการผูกคอปลิดชีพตนเอง เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ยากที่จะตัดการออกอากาศได้ทัน จึงเผยแพร่ออกไปให้ผู้ติดตามได้เห็น ซึ่งสังคมย่อมมีวิจารณญาณต่อสื่อที่ถ่ายทอดสดว่า มีเจตนาแอบแฝง โดยคาดหวังเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ 
 
ในวิชาชีพสื่อ มีกรอบและแนวทางในการรายงานข่าวที่อ่อนไหวต่อจริยธรรมไว้อย่างชัดเจน ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ หลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพข่าวเหตุการณ์หรือบุคคลในข่าวอันเป็นการส่งเสริมหรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรง และหลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพข่าวศพของผู้เสียชีวิตที่นำไปสู่ความหวาดเสียว รวมทั้งหลีกเลี่ยงภาพในลักษณะอันเป็นการซ้ำเติมความทุกข์โศกต่อญาติของผู้เสียชีวิตอีกด้วย
 
เหตุการณ์ใกล้เคียงกันนี้ เคยเกิดขึ้นแล้วจากกรณีการรายงานสดเหตุการณ์จับกุมผู้ต้องหาคดีฆ่าอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ที่ไม่เหมาะสม เมื่อ 19 พฤษภาคม 2559 แต่ก็ยังเกิดขึ้นซ้ำอีก อันเท่ากับเป็นการสะท้อนให้สังคมเห็นว่าการกำกับดูแลกันเองเป็นเรื่องที่ยากจะเกิดขึ้นในวิชาชีพสื่อมวลชนไทย 
 
อาชีพสื่อมวลชนส่งผลกระทบสูงต่อสังคมและความรู้สึกนึกคิดของประชาชน แม้ความอยู่รอดของธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธ ‘ความรับผิดชอบ’ ที่จำเป็นต้องมีควบคู่ไปกับ ‘หน้าที่’ 
 
สังคมกำลังจับตาการทำงานของสื่อมวลชน เห็นได้จากแรงตำหนิบนสื่อออนไลน์ ผู้ประกอบธุรกิจสื่อซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายเท่านั้น ที่จะดูแลแก้ไขการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวในสังกัดได้ - โปรดพิจารณา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท