Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



สถานการณ์การเมืองในยุโรปเป็นที่น่าจับตามองจากทั้งโลกมาเป็นเวลาหนึ่งแล้ว เนื่องด้วยปัญหาสงครามในซีเรียและวิกฤตผู้ลี้ภัย การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศยุโรปตะวันตก ตลอดจนนโยบายและการจัดการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและแรงงานอพยพในประเทศที่ยอมรับผู้ลี้ภัยตามโควต้าของแต่ละประเทศ และในปี 2017 นี้ จะมีการเลือกตั้งทั่วไปใน 3 ประเทศคือ เนเธอร์แลนด์ วันที่ 15 มีนาคม 2017 ฝรั่งเศสวันที่ 27 เมษายน 2517 และเยอรมนีวันที่ 24 กันยายน 2017

หนึ่งในประเด็นหลักที่เป็นข้อถกเถียงและสร้างความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามกัน (polarization) อย่างเห็นได้ชัดคือ นโยบายรับผู้ลี้ภัยและการควบคุมพลเมืองมุสลิม เช่น เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2016 รัฐสภาเนเธอร์แลนด์ผ่านกฎหมายห้ามการสวมเครื่องแต่งกายที่สะท้อนความเชื่อทางศาสนาอิสลามของผู้หญิงมุสลิมคือ บูร์กา (burqa) และ นิกาบ (niqab) ที่ปกปิดใบหน้าของผู้สวมใส่อย่างมิดชิดในที่สาธารณะ โดยเฉพาะในรถโดยสารสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล และอาคารของหน่วยงานรัฐ

นโยบายนี้ได้รับการเสนอให้ออกเป็นกฎหมายโดยรัฐบาลก่อนหน้าที่มีมาร์ก รุทเทอร์ (Mark Rutte) เป็นนายกรัฐมนตรี ร่วมรัฐบาลผสมกับนักการเมืองต่อต้านอิสลามในสังคมดัตช์อย่าง Geert Wilders หัวหน้าพรรคการเมืองเพื่อเสรีภาพ (Party for Freedom หรือ Partij voor de Vrijheid- PVV ในภาษาดัตช์) 

นโยบายนี้เกิดกระแสถกเถียงอย่างกว้างขวางระหว่างการเข้ามาจำกัดสิทธิของรัฐและความเชื่อและหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันของปัจเจกชน และการแสดงออกทางความเชื่อในทางศาสนา ขณะที่รัฐบาลพยายามที่ปฏิเสธว่าการห้ามการแต่งตัวดังกล่าวไม่ได้มีอคติทางศาสนา เป็นเพียงการสร้างพื้นที่สาธารณะในการสื่อสารร่วมกันที่ทุกคนสามารถที่จะเห็นหน้าค่าตากันได้

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีเพียงสื่อมวลชนกระแสหลักที่ติดตามและรายงานอย่างใกล้ชิด วงการศิลปะและภาพยนตร์ในเนเธอร์แลนด์ก็แสดงออกว่าพวกเขาต้องการสื่อความจริงและเสนอความคิดเห็นผ่านสื่อในเชิงสร้างสรรค์ด้วย

เมื่อปลายปี 2016 ผู้เขียนมีโอกาสดูภาพยนตร์เรื่องแต่ง (fictional) และสารคดีสัญชาติดัตช์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน 3 เรื่องที่เข้าฉายในเวลาไล่เลี่ยกันคือ เรื่อง Layla M. เรื่องราวของชีวิตเด็กสาววัยรุ่นโมร็อกกัน (Moroccan) ที่เข้าไปพัวพันกับขบวนการญิฮาดที่เชื่อมโยงกับขบวนการมุสลิมหัวรุนแรง (Jihadist) โดยที่เธอไม่ตั้งใจ ต่อมาคือสารคดีเรื่อง Miss Kiet’s children (De kinderen van juf Kiet ในภาษาดัตช์) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปรับตัวในสิ่งแวดล้อมใหม่และการเรียนภาษาดัตช์ของเด็กผู้ลี้ภัยจากซีเรียและอิรักจำนวนหนึ่งในชั้นเรียนของครู Kiet หนังเรื่องนี้ยังยืนโรงฉายอยู่ในบางเมืองของเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน และสารคดีเรื่อง Stranger in paradise ที่ใช้เทคนิคผสมผสานระหว่างสารคดีและฉากที่ถูกจัดขึ้น เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความคาดหวังของผู้ลี้ภัยและการรับรู้ (perception) ของคนยุโรปในการรับผู้ลี้ภัย หนังยังเสนอให้เห็นถึงกระบวนการ ขั้นตอน และการตัดสินใจของผู้ที่ทำงานในการรับคนอพยพเข้าประเทศที่มีความลักลั่น

สารคดีสองเรื่องหลังได้รับคัดเลือกให้ฉายในนิทรรศการภาพยนตร์สารคดีนานาชาติของเนเธอร์แลนด์ (International Documentary Film Festival-Amsterdam-IDFA) ที่จัดขึ้นราวกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปีที่กรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ โดยเรื่อง Stranger in paradise ได้รับคัดเลือกให้เป็นภาพยนตร์เปิดเทศกาล และได้รับรางวัล Special Jury Award for Dutch Documentary ในปีที่ผ่านมาด้วย ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าเทศกาลหนังของเนเธอร์แลนด์ก็จงใจเลือกหนังที่มีเนื้อหาเท่าทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะประเด็นผู้ลี้ภัยและการเมืองในยุโรป ผู้กำกับของเทศกาลเองยอมรับว่าต้องการให้เทศกาลเป็นพื้นที่สำหรับสารคดีที่มีเนื้อหาและรูปแบบที่กระตุ้นให้เกิดการโต้แย้ง (controversial) หรือ วิพากษ์วิจารณ์ได้

(ที่มาของภาพ https://www.pathe.nl/film/22413/layla-m, http://www.nu.nl/75461/video/trailer-miss-kiets-children.html และ http://www.screendaily.com/reviews/stranger-in-paradise-idfa-opening-film/5111439.article)

ผู้เขียนมองว่าผู้ผลิตสื่อของเนเธอร์แลนด์ตั้งใจทำหนังและสารคดีขึ้นเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการสร้างสังคมความรู้ที่ไม่ใช่การรับจากสื่อมวลชนแบบทางการเพียงช่องทางเดียว ผู้ผลิตสื่อเหล่านี้มีการตั้งโจทย์หรือประเด็น และสร้างหนังเหมือนนักวิจัยที่มุ่งหาคำตอบด้วยในขณะเดียวกัน แต่จะไม่มีการโยนคำตอบลงมาในสื่อว่าอะไรถูกหรือผิด อันนี้ถือว่าเป็นลักษณะของสังคมการเรียนรู้ของเนเธอร์แลนด์โดยรวมที่ผู้เขียนสังเกตเห็น ที่การเรียนการสอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไม่ได้พยายามหรือจงใจยัดเยียด แต่เป็นการสร้างพื้นที่ให้มีการถกเถียงจากความรู้หรือข้อมูล อยู่บนฐานความคิดว่าผู้รับสื่อต้องเป็นคนตัดสินเอง และไม่เชื่อว่าผู้รับสื่อนั้นไม่มีวิจารณญาณในการตัดสิน

หนังทั้ง 3 เรื่องที่ผู้เขียนนำมาเสนอในที่นี้จึงอยู่บนพื้นฐานของการทำวิจัยอย่างเข้มข้น การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม หรือการกระตุ้นให้สังคมคิด ผ่านการใช้สื่อที่ไม่จำเป็นต้องตามขนบทั้งประเภทเรื่องแต่งหรือสารคดีอย่างตายตัว แต่เรื่องแต่งก็เล่าเรื่องไม่ต่างกับสารคดี ขณะที่สารคดีอาจมีการเขียนบทหรือใช้นักแสดงมาร่วมนำเสนอได้ ดังนั้น กลวิธีการเล่าเรื่องและมุมมองที่ผู้ทำหนังต้องการนำเสนอค่อนข้างเสรี ชวนให้เกิดการถกเถียงทั้งในแง่เนื้อหาและวิธีการ


กระแสกลัว “มุสลิมหัวรุนแรง”

Layla M. กำกับโดย Mijke de Jong ซึ่งร่วมเขียนบทกับ Jan Eilander เป็นหนังที่เล่าถึงชีวิตของเด็กสาวคนหนึ่งในบริบท “การกลัวมุสลิม” และ “การก่อการร้าย” ของฝ่ายรัฐที่มีต่อแนวคิดและขบวนการ “มุสลิมหัวรุนแรง” (radicalized Muslim) หนังแสดงให้เห็นว่าแนวคิดและขบวนการดังกล่าวก่อตัวและผสานกับความกลัวที่ว่าอย่างไรในสังคมดัตช์ ด้วยเหตุนี้ หนังให้ภาพที่รัฐเข้ามาควบคุมการเคลื่อนไหวที่ส่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายที่เชื่อมโยงกับหลักการศาสนา โดยปูพื้นว่าสังคมเริ่มมีความแปลกแยกหรือกีดกันทางเชื้อชาติ (racism) ที่เกี่ยวพันกับศาสนาปะทุขึ้นในหนัง Layla ตัวเอกของเรื่อง มองว่าการแข่งขันฟุตบอลที่เป็นฉากเปิดที่เธอร่วมเป็นกรรมการด้วยนั้นเกิดกรณีที่ไม่เป็นธรรมขึ้น เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติของดัตช์ผิวขาวและชาวอพยพโมร็อกกันผิวสี

Layla เด็กสาววัยรุ่นนักเรียนมัธยมปลาย เป็นทายาทรุ่นที่สองของครอบครัวอพยพชาวโมร็อกกันในอัมสเตอร์ดัม ซึ่งเป็นกลุ่มคนอพยพหลักในการอพยพแรงงานครั้งสำคัญของเนเธอร์แลนด์ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 หลังประเทศเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและความต้องการแรงงานไร้ฝีมือต่างชาติมีความจำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาในการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆหลังถูกทำลายล้างจากสงคราม แรงงานที่อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากคือชาวตุรกี (Turkish) และโมร็อกกัน ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม คนสองกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงลักษณะประชากรในประวัติศาสตร์เนเธอร์แลนด์สมัยใหม่ นำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงอัตลักษณ์ของชาติว่า “ความเป็นดัตช์” (Dutchness) นั้นเป็นอย่างไร ท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรมจากมรดกของอาณานิคมและการย้ายถิ่นขนานใหญ่ (Mass migration) ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของยุโรป

ตรงนี้ปรากฏชัดเมื่อพิจารณาถึงลักษณะประชากรของเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน สำนักงานสถิติแห่งชาติ (Het Centraal Bureau voor de Statistiek-CBS) ระบุว่า ในปี 2016 จำนวนประชากรทั้งหมด 17 ล้านคน มีประชากรที่มีพื้นเพดัตช์ (Dutch background) จำนวน 12,300, 000 คน ส่วนที่เหลือสำนักงานสถิติฯ แบ่งกลุ่มคนที่มีพื้นเพต่างชาติ (foreign background) ออกเป็น 3,750,000 คน และแบ่งเป็นรุ่นแรกและรุ่นที่สอง (first and second generations) โดยในประเภทพื้นเพต่างชาตินี้ ยังแยกออกเป็นคนที่มีพื้นเพจากประเทศตะวันตก (western background) และไม่ได้มาจากประเทศตะวันตก (non-western background) ในกลุ่มที่ไม่ได้มาจากประเทศตะวันตก สถิติแบ่งย่อยอีกเป็นคนที่มาจากโมร็อกโก (Morocco) จากประเทศที่เนเธอร์แลนด์ครอบครองมาก่อน อย่างหมู่เกาะแอนทิลลีส (Antilles) และอารูบา (Aruba) จากสุรินัม (Surinam) ซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของดัตช์ จากตุรกี และจากกลุ่มอื่นๆ (other non-western background) 

นอกเหนือจากกลุ่มที่มีพื้นเพจากตะวันตกและกลุ่มอื่นๆซึ่งมีจำนวนสูงในสองอันดับแรกคือ 2,100,000 คน และ 800,000 คนตามลำดับ ซึ่งสำนักงานสถิติฯไม่ได้บ่งบอกประเทศต้นกำเนิดโดยตรงแล้ว ประชากรที่มีมาจากโมร็อกโกและตุรกีสูงเป็นสองอันดับรองลงมา โดยประชากรพื้นเพโมร็อกกันทั้ง 2 รุ่นมีรวมกันประมาณ 385,000 คน และตุรกีทั้งสองรุ่นรวมกันประมาณ 397,000 คน ทั้งสองกลุ่มคือโมร็อกกันและตุรกีรวมกันแล้วคิดเป็น 4.6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ จำนวนประชากรทั้งสองกลุ่มเพิ่มขึ้นมากหากเทียบกับช่วงทศวรรษ 1960 ที่มีเพียง 200 คน ในปี 1998จำนวนประชากรที่มาจากทั้งสองประเทศเพิ่มเป็น 250,400 คน หรือคิดเป็น 1.6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเนเธอร์แลนด์ทั้งหมด จำนวนประชากรของแรงงานอพยพในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้คนบางส่วนเริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตลักษณ์แบบดัตช์ และการผสมผสานของวัฒนธรรมของผู้อพยพจากประเทศมุสลิมที่เพิ่มความเข้มข้นขึ้น ซึ่งซ้อนทับกับขบวนการมุสลิมหัวรุนแรงที่ก่อตัวขึ้นในสังคม

กระแสการกลัวมุสลิมหัวรุนแรงในเนเธอร์แลนด์เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อราว 2 ทศวรรษก่อน ในปี 1997 Pim Fortuyn กระบอกเสียงคนสำคัญที่มีรสนิยมรักเพศเดียวกัน เขียนหนังสือชื่อ De Islamisering van onze cultuur (The Islamization of our culture) วิจารณ์ศาสนาอิสลามอย่างรุนแรง โดยเฉพาะความเท่าเทียมกันทางเพศ เขาเรียกร้องให้เนเธอร์แลนด์กลับไปตระหนักถึงมรดกความเป็นดัตช์และควรพิจารณาการปิดชายแดนและรับผู้ลี้ภัย ซึ่งขณะนั้นสอดคล้องกับสถานการณ์รับผู้ลี้ภัยจากสงครามในประเทศอดีตยูโกสลาเวีย โดยเฉพาะสงครามบอสเนีย (Bosnia) และโคโซโว (Kosovo) ในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งมีมุสลิมบอสนิแอก (Bosniak) ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองกับชาวเซิร์บ (Serb) ในประเทศบอสเนีย และและมุสลิมเชื้อสายอัลแบเนียนส์ (Albanians) ในโคโซโวที่ถูกปราบปรามโดยรัฐบาลเซอร์เบีย อพยพเข้าอยู่ในประเทศ

ต่อมา Fortuyn ถูกฆาตกรรมในเดือนเมษายน ปี 2002 หลายคนเชื่อว่าฆาตกรรมที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเขามีความคิดอนุรักษ์นิยมมากเกินไปในการต่อต้านมุสลิมและศาสนาอิสลาม อีก 2 ปีถัดมา ในเดือนสิงหาคม 2004 เหตุการณ์ที่สร้างความตกตะลึงอย่างมากในสังคมดัตช์คือการฆาตกรรม Theo van Gogh ผู้ผลิตภาพยนตร์ ซึ่งเป็นหลานของ Van Gogh ศิลปินดัตช์ระดับตำนาน และเป็นเพื่อนสนิทของ Fortuyn ด้วย ระหว่างที่เขาวิ่งออกกำลังกาย หลังจากที่สารคดีความยาว 11 นาที เรื่อง Submission  ตอนที่ 1 ที่เขาผลิตออกอากาศทางโทรทัศน์ สารคดีเรื่องนี้เขียนบทโดย Ayaan Hirsi Ali ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาเนเธอร์แลนด์ สร้างความเดือดดาลให้กับชุมชนมุสลิมในเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์อิสลาม โดยเฉพาะผู้หญิงมุลสิมที่ถูกกดขี่ภายใต้หลักศาสนา

หลังการฆาตกรรมของ Theo van Gogh ไม่นาน Ayaan Hirsi Ali อดีตผู้ลี้ภัยจากประเทศโซมาเลีย อพยพเข้ามาเนเธอร์แลนด์ในปี 1992 ก่อนได้รับสัญชาติดัตช์ในเวลาต่อมา เริ่มกังวลถึงความไม่ปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นกับตัวเธอ เพราะที่ผ่านมาเธอเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิให้กับผู้หญิงมุสลิม และตัวเธอเองก็ประกาศเลิกนับถือศาสนาอิสลามด้วย เธอได้เขียนหนังสือ “กรงขังบริสุทธิ์”  หรือ De Maagdenkooi ในภาษาดัตช์ (The virgin cage) ซึ่งรวมบทความเกี่ยวกับทัศนะของเธอในการสนับสนุนการปลดปล่อยผู้หญิงมุสลิม และเสนอให้ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความสามารถในทางปัญญา (Intellectual ability) แทน จากนั้นเธอเริ่มเคลื่อนไหวในนามนักการเมือง และเสนอให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ทบทวนการพิจารณาโครงการเกี่ยวกับการสนับสนุนโรงเรียนสำหรับมุสลิม ต่อมาเธอเข้าร่วมพรรคการเมืองเสรีนิยม (Liberal Party หรือ  Volkspartij voor Vrijheid and Democratie ในภาษาดัตช์) ที่มี Geert Wilders ร่วมเป็นสมาชิกพรรคอยู่แล้ว ตลอดระยะเวลาของการเคลื่อนไหว เธอถูกข่มขู่เอาชีวิตหลายครั้ง จนเธอต้องเรียกร้องให้รัฐส่งเจ้าหน้าที่มาคุ้มกัน และถึงขึ้นต้องหลบอยู่ในที่ซ่อนในช่วงเวลาหนึ่ง ในที่สุดเธอตัดสินใจขอลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน

Layla จึงเติบโตมากับสถานการณ์ที่ชุมชนมุสลิมในสังคมดัตช์เริ่มถูกตั้งคำถามกับความเป็นอยู่ระหว่างสังคมประชาธิปไตยแบบตะวันตก กับการให้การยอมรับชนกลุ่มน้อยอย่างโมร็อกกันและตุรกีที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่ในหลายประเด็นยังมีความขัดแย้งกันอยู่ระหว่างสองหลักการ ซึ่งสถานการณ์ตรงนี้เน้นให้เห็นถึงลักษณะการย้ายถิ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ที่การเคลื่อนย้ายของผู้คน สินค้า  ทุน และวัฒนธรรมคือการก่อรูปและพัฒนาการของสังคมพหุวัฒนธรรมในหลายสังคม ในหนังเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะที่กล่าวมา จะเห็นว่าครอบครัวของ Layla ค่อนข้างมีฐานะ พ่อของเธอเปิดร้านขายของเก่าหรือสินค้าที่มีลักษณะโมร็อกกัน ธุรกิจของครอบครัวเป็นไปด้วยดีและพ่อของเธอมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าคนดัตช์ เขาเลี้ยงลูกหรือทายาทรุ่นที่แรกให้กลืนกลายกับสังคมดัตช์ เช่นพูดภาษาดัตช์ในบ้าน และทุกคนในครอบครัวเองก็เหมือนจะพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ ยกเว้น Layla ที่ฝักใฝ่หลักหลักศาสนามากกว่าทุกคนในครอบครัว หลังจากเธอเข้าร่วมกับขบวนการเพื่อแสดงออกและปลดปล่อยอิสลาม เช่น ต่อต้านการออกกฎหมายห้ามสวมบูร์กา (burqa ban) และนโยบายการปราบปรามมุสลิมหัวรุนแรงผ่านการประท้วงบนถนนและสื่อออนไลน์ เมื่อพ่อของเธอรู้เรื่องและพยายามตักเตือน เธอประท้วงคนที่บ้านด้วยการสวมนิกาบ จากที่ในชีวิตประจำวันก่อนหน้านั้น เธอสวมฮิญาบ (hijab) เท่านั้น


ที่มาของภาพ: https://www.pathe.nl/film/22413/layla-m

Layla สับสนและเลือกออกจากบ้าน หลังจากแต่งงานตามหลักอิสลามกับหนุ่มมุสลิมที่พบกันในมัสยิด และสานต่อความสัมพันธ์กันทางสื่อออนไลน์ ชีวิตหลังจากนี้ทำให้เธอเข้าไปพัวพันกับขบวนการญีฮาดของมุสลิมหัวรุนแรงที่บริเวณชายแดนเบลเยียมผ่านสามีของเธอ ทั้งสองหลบหนีทันและเดินทางต่อไปยังชายแดนประเทศจอร์แดนที่มีค่ายผู้ลี้ภัยตั้งอยู่ เธอได้รู้จักกับคนที่มีหลากหลายวัตถุประสงค์ในการเดินทางมาที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นหญิงสาวเยอรมันที่ตามสามีมาเพื่อมาช่วยปลดปล่อยมุสลิม ซึ่งก็มีส่วนพัวพันกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง หรือหญิงสาวที่เข้าไปทำงานอาสาสมัครในค่ายผู้ลี้ภัย

Layla สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกับเด็กๆในค่าย แต่สามีเธอไม่พอใจและพยายามกีดกันเธอ รวมถึงการถูกริดรอนเสรีภาพทางเพศ เช่นการที่สามีห้ามไม่ให้เธอออกจากบ้านไปไหนคนเดียว และเมื่อภายหลังเธอพบว่าสามีของเธอเข้าไปพัวพันกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงและมีส่วนร่วมในการก่อการร้ายคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ เธอเริ่มไม่แน่ใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและทางที่เธอเลือกเดิน จึงตัดสินใจเดินทางกลับเนเธอร์แลนด์ หลังจากที่ทะเลาะกับสามีและเขายอมคืนหนังสือเดินทางให้เธอ ฉากจบเธอเดินทางเข้าตัวสนามบินเนเธอร์แลนด์ด้วยสายตาเหม่อลอยและไม่แน่ใจว่าอนาคตข้างจะเป็นอย่างไร หนังกระตุกอารมณ์ด้วยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาคุมตัวเธอด้วยท่าทีรุนแรง ก่อนที่จะตัดฉากมาที่การสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงความเชื่อมโยงของเธอกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง เมื่อเจ้าหน้าที่โชว์ภาพถ่ายของเธอกับสามีบนชั้นดาดฟ้าของบ้านพักที่จอร์แดน ฉากสุดท้ายเป็นใบหน้าของ Layla ที่กำลังจะร้องไห้กับชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับเธอ

ผู้เขียนร้อง “เฮ่อ” อย่างปลงๆเมื่อดูฉากสุดท้าย ชีวิตของเด็กผู้หญิงที่ฉลาด มีความสามารถ และเด็ดเดี่ยวอย่างเธอต้องจบด้วยการเข้าไปอยู่กับดักของการเกลียดกลัวมุสลิมหัวรุนแรง ผนวกเข้ากับการควบคุมและปราบปรามทั้งในทางการเมืองและวัฒนธรรมของรัฐ เช่นกรณีการห้ามสวมนิกาบและบูร์กาในที่สาธารณะ ทั้งที่สื่อรายงานว่ามีเพียง 100-500 คนของผู้หญิงมุสลิมในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่สวมบูร์กาหรือนิกาบ และในเฉพาะบางโอกาส หนังเรื่องนี้ซึ่งเป็นเพียงเรื่องแต่ง แต่สถานการณ์ในหนังทำให้ผู้เขียนรู้สึกเหมือนกำลังดูสารคดีชีวิตที่อิงเหตุการณ์จริง ผู้เขียนได้มีโอกาสถามเพื่อนชาวดัตช์ว่าหนังเรื่องนี้ มีส่วนไหนที่เกินเลยความจริงหรือไม่ เพื่อนบอกว่าไม่มีส่วนไหนมีปัญหา ขณะที่ในชั้นเรียนและในชุมชนมุสลิมที่เธอเข้าร่วมยังจัดฉายหนังเรื่องนี้เพื่อให้มีการพูดคุยกันด้วย

 

หมายเหตุ: ส่วนอ้างอิงอยู่ในตอนท้ายของบทความตอนที่ 2

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net