เปิดคำสั่งศาลอุทธรณ์ ไม่ให้ประกัน ‘ไผ่’ หลังถูกขังมาแล้ว 70 วัน

หลังทนายความยื่นขอประกัน 1 วันคำสั่งส่งถึงเรือนจำ ศาลเตรียมอ่านผ่าน VDO เจ้าตัวไม่ยอม วันนี้เบิกตัวมาศาลฟังคำสั่ง ไม่พิจารณาลับ ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น ฟังจบกลับเรือนจำทันที ไม่ทันได้เจอเพื่อน-ปรึกษาทนาย


ภาพจากแฟ้มภาพ

1 มี.ค.2560 เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลจังหวัดขอนแก่น มีคำสั่งเบิกตัวจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน จำเลยในคดีข้อหาตามมาตรา 112 กรณีแชร์รายงานข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บ BBC Thai บนเฟซบุ๊ก มาฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 หลังทนายความจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว (ประกันตัว) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (27 ก.พ.)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลอ่านคำสั่งในห้องพิจารณาที่ 4 ซึ่งครั้งนี้ไม่แขวนป้าย “พิจารณาลับ” เช่นทุกครั้งที่ผ่านมา นาย จักรพงษ์ นรแมนสรวง ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
"พิเคราะห์แล้ว คดีมีอัตราโทษสูงและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ก่อนคดีนี้จำเลยถูกดำเนินคดีอาญาหมายเลขดำที่ 61/2559 ของศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ในความผิดฐานร่วมกันชุมนุมและมั่วสุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้ง 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งตามคำร้องของจำเลยยังรับว่าจำเลยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคงที่ศาลจังหวัดภูเขียวอีกคดีหนึ่งด้วย จำเลยเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวนคดีนี้มาครั้งหนึ่ง แต่จำเลยยังคงมีพฤติกรรมแสดงความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เป็นเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวและต่อต้านกฎหมายบ้านเมือง จนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวน พฤติการณ์ของจำเลยส่อแสดงว่า จำเลยมีแนวโน้มที่จะกระทำซ้ำในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งจะทำความเสียหายต่อรัฐอีก ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณา ยกคำร้อง"

สุทธิเกียรติ คชโส ทนายความจำเลยกล่าวว่า หลังการอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4  จตุภัทร์ได้แถลงต่อศาลว่า การที่ไผ่ไม่ได้ประกันตัว ทำให้ไผ่ไม่ได้ปรึกษาทนายเรื่องคดีทั้งคดีนี้และคดีอื่นๆ
ซึ่งส่งผลให้คดีอื่นล่าช้าไปด้วย นอกจากนั้นเขายังยืนยันว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์ เนื่องจากการพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุด แต่กลับไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเหมือนคดีอื่นๆ การกักขังที่เกิดขึ้นถือเป็นการจำกัดสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลย

"พอศาลกังวลว่าผมจะหลบหนี เราก็ขอให้อาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน และอ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาเป็นนายประกัน เพื่อยืนยันว่าผมจะไม่หนี แต่ผมก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว  แล้วศาลจะให้ผมทำยังไงครับ เราก็สู้ตามกระบวนการทุกอย่างแล้ว" จตุภัทรกล่าว
ทนายความ ได้แถลงต่อศาลเพิ่มเติมถึงเหตุผลในด้านภาระในการศึกษาของจตุภัทร์ และเพื่อการเตรียมพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาคดี แต่ศาลไม่ได้บันทึกหรือนำไปเป็นเหตุในการเปลี่ยนแปลงคำสั่งแต่อย่างใด

หลังจบการพิจารณาคดี  เจ้าหน้าที่ร่วมกับสารวัตรทหารได้พยายามคุมตัวจตุภัทร์กลับไปคุมขังที่เรือนจำทันทีโดยที่ไม่นำมาพักที่ห้องขังชั้นล่างของศาลเพื่อรอการส่งตัวกลับพร้อมกับผู้ต้องขังรายอื่นๆ เช่นทุกครั้ง แต่จตุภัทร์ท้วงติงต่อเจ้าหน้าที่ว่ากาเร่งรัดนำตัวกลับเรือนจำทำให้เขาไม่ได้อ่านเอกสารคำสั่งศาลและไม่มีเวลาได้ปรึกษาคดีกับทนาย

"จะไม่แฟร์กับผมไม่เป็นไร แต่อยากให้แฟร์กับคดีของผมหน่อย" จตุภัทร์กล่าว
ทนายความของเขาตั้งข้อสังเกตว่า โดยปกติการยื่นเรื่องอุทธรณ์คำสั่งศาลขอประกันตัวไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะใช้เวลาในการพิจารณา 2-3 วันจึงจะมีคำสั่งลงมา แต่บังเอิญวันนี้เขาได้ติดต่อถามความคืบหน้าไปที่ศาลในช่วงเช้าพอดีจึงได้ทราบว่ามีคำสั่งให้เบิกตัวจตุภัทร์มาที่ศาลเพื่อฟังคำสั่งตามคำร้องอุทธรณ์ขอประกันตัวผู้ต้องหาในวันนี้เลย  และเพิ่งได้รับทราบว่าคำสั่งของศาลอุทธรณ์นั้นส่งไปถึงจตุภัทร์ที่เรือนจำตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 28 ก.พ.หรือหลังวันยื่นคำร้องเพียง 1 วันเท่านั้น โดยศาลจะขออ่านคำสั่งผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แต่จตุภัทร์ไม่ยินยอม และยืนยันว่าต้องมีการอ่านคำสั่งศาลต่อหน้าจำเลย
นอกจากนั้น ทนายความยังให้ข้อมูลเพิ่มว่า ทางทัณฑสถานบำบัดพิเศษจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นเรือนจำที่คุมขังจตุภทร์ได้มีมาตรการเข้มงวดขึ้น ทำให้การเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังมีความยากลำบากมากขึ้น เช่น จากเดิมที่ผู้เข้าเยี่ยมสามารถเข้าเยี่ยมได้โดยใช้สำเนาบัตรประชาชนของพ่อหรือแม่ของจตุภัทร์ โดยที่พ่อหรือแม่ไม่ต้องมา แต่มีการเปลี่ยนกฎให้พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งต้องเดินทางมาด้วยเท่านั้นเพื่อนนักศึกษาหรือบุคคลอื่นๆ จึงจะเข้าเยี่ยมได้ ขณะที่ทนายเข้าเยี่ยมได้ไม่เกิน 2 คน ในห้องเยี่ยมแคบๆ

หลังถูกส่งตัวกลับเข้าเรือนจำซึ่งวันนี้เป็นวันที่ 70 ที่เขาถูกคุมขัง จตุภัทร์ได้ฝากข้อความผ่านยังเพื่อนที่ตามเข้าไปเยี่ยมมายังภายนอกว่า

"เรื่องความรู้สึก ตอนนี้ผมไม่มีความรู้สึกอะไรแล้ว เพราะการไม่ให้ประกันมันได้กลายเป็นเรื่องปกติแล้ว  ถ้าเปรียบเทียบกับการชกมวย ผมคงแพ้ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นชก แต่ผมก็ยังจะสู้แม้จะรู้ว่าแพ้ เพราะผมคิดว่ามันคือชัยชนะของคนแพ้"

อนึ่ง จตุภัทร์ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวในคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นมาทั้งหมด 6 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดทนายได้ยื่นวางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินสด 700,000 บาท และมีนายประกันที่ลงนามค้ำประกันว่าจำเลยจะไม่หลบหนีจากเหตุผลตามคำสั่งศาลในครั้งที่ผ่านมารวม 4 คน ได้แก่  นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักเขียนและนักวิชาการอิสระ นายวิบูลย์ ภัทรรักษา (บิดา) ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษา และ ดร.เอกพันธ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล และนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ม.อุบลและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท