“พื้นที่ปลอดภัย” จังหวัดชายแดนใต้ ในมุมมองนักวิชาการ-ภาคประชาสังคม

 

การพูดคุยสันติภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาระหว่างรัฐไทยที่นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ มาราปาตานี กลุ่มใหม่ที่เป็นการรวมตัวกันของหลายกลุ่มขบวนการที่ต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี นำโดยอาบูฮาฟิส อัลฮากิม อาวัง ยะบะ ซึ่งเกิดขึ้นและมีบทบาท หลังจากการเจรจาในรอบรัฐบาลพลเรือนสมัยของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การเริ่มต้นพูดคุยสันติภาพในวาระ “พื้นที่ปลอดภัย” ระหว่างคู่เจรจา มักมีปรากฏการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตามมาตลอดในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา กระทั่งล่าสุดคือเหตุการณ์กราดยิงรถผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้เด็กนักเรียนเสียชีวิต คำถามอาจเกิดขึ้นได้ว่า การเจรจาในรอบนี้พูดคุยถูกคนหรือไม่ และอื่นๆ อีกมาก ขณะที่หน่วยงานความมั่นคงดูจะไม่ค่อยพอใจกับคำถามลักษณะนี้ และชี้แจงว่าความรุนแรงนั้นไม่เกี่ยวกับการเจรจาแต่อย่างใด หลายกรณีมีการจับคนร้ายได้และพบว่าเป็นความขัดแย้งส่วนตัว ถึงขนาดที่ พล.อ.อักษรา เกิดผล ระบุว่า จะเชิญสื่อที่พยายามเชื่อมโยงในลักษณะดังกล่าวไปทำความเข้าใจเป็นการเฉพาะ

ท่ามกลางความคิดเห็นที่หลากหลาย เราพาไปสำรวจอีกแง่มุมหนึ่ง มุมมองของประชาสังคมและนักวิชาการที่ศึกษาหรือทำงานเกี่ยวพันกับเรื่องพื้นที่ปลอดภัย พวกเขามองเรื่องนี้กันอย่างไร

           

โซรยา จามจุรี : นิยาม “พื้นที่สาธารณะปลอดภัย” ที่ต่างจากบนโต๊ะเจรจา

โซรยา จามจุรี คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAW) และนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า รูปแบบ “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ทั้งสองฝ่ายกำลังพูดคุยกันเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น รูปแบบจะไม่ตรงกับที่คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้เคยเรียกร้องมาก่อนหน้านี้ แบบที่เราเรียกร้อง คือ ให้พื้นที่สาธารณะปลอดภัย เช่น ตลาด ถนนหนทาง โรงเรียน ศาสนสถาน เป็นต้น มีความปลอดภัยจากเหตุรุนแรงและปฏิบัติการทางการทหารของทุกฝ่าย เพราะพื้นที่เหล่านี้ เราเห็นว่าเป็นพื้นที่ของพลเรือน โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิงที่จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหล่านี้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นพื้นที่สาธารณะควรได้รับการยกเว้นจากปฏิบัติการทางทหารและความรุนแรงจากผู้ใช้กำลังอาวุธของทุกฝ่าย

ข้อเสนอ 3 ข้อ ที่คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้เคยยื่นต่อคู่เจรจาทั้งฝ่ายไทย-ฝ่ายมาราปาตานี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 มีดังนี้

1.พื้นที่สาธารณะต้องปลอดภัยจากเหตุรุนแรง และปฏิบัติการทางการทหารของทุกฝ่าย

2.สนับสนุนการพูดคุย และขอให้บรรจุ “พื้นที่สาธารณะปลอดภัย” เป็นวาระบนโต๊ะพูดคุย

3.การขับเคลื่อนงานของผู้หญิงภาคประชาสังคมต้องปลอดภัยและเป็นอิสระ

คณะทำงานวาระผู้หญิงมีข้อเรียกร้องอีกข้อ คือ ให้คู่ขัดแย้งแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยแนวทางการเมืองและใช้สันติวิธี ซึ่งการพูดคุยกันอยู่ในขณะนี้ระหว่างรัฐบาลไทยกับมาราปาตานี  เป็นแนวทางหนึ่งที่สอดคล้องกับหลักการนี้ และทางกลุ่มก็สนับสนุน แม้ว่าขณะนี้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยังไม่มีขบวนการบีอาร์เอ็นเข้าร่วมโต๊ะการพูดคุย ดังนั้นไม่ต้องคุยต่อ เพราะคุยไปก็ไม่มีผล การสรุปแบบนี้คิดว่าก็เร็วเกินไป เราต้องให้เวลา เพราะถือว่าโต๊ะพูดคุยเพิ่งเริ่มต้น นอกจากนั้นก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องท้าทายของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยที่จะทำให้ฝ่ายที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการนี้เกิดความมั่นใจและไว้วางใจว่ากระบวนการพูดคุยจะวางอยู่บนกฎกติกาที่เป็นธรรม และมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ข้อตกลงแบบวิน–วิน โดยไม่ใช้กำลังอาวุธ เช่นนี้แล้วฝ่ายที่ยังไม่เข้าสู่การพูดคุยก็อาจพิจารณาเข้าสู่การพูดคุยก็ได้ในอนาคต ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ โดยเฉพาะประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์มากว่า 12 ปี

อาทิตย์ ทองอินทร์: ความรุนแรงพันอยู่กับ "แรงจูงใจทางการเมือง" จะหยุดความรุนแรงโดยไม่ให้เขาพูดเรื่องการเมืองได้อย่างไร

อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เท่าที่คุยกับหลายๆ คนมีการให้ความเห็นว่าพื้นที่เปิดทางการเมืองเป็นเป้าหมายสุดท้าย เป็นเป้าหมายที่เขา (ผู้ก่อเหตุ) จะไปให้ถึงเหมือนกัน แต่หลายเรื่องมันยังไม่พร้อม มันยังสุ่มเสี่ยง อ่อนไหวที่อาจจะเกิดสิ่งที่พวกเราคาดไม่ถึง

พื้นที่ปลอดภัยที่จะเป็นเครื่องมือหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพมันหลีกเหลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงเรื่อง "พื้นที่ทางการเมือง” ด้วย ในขณะที่พื้นที่ปลอดภัยแบบเจรจากันอย่างนี้ ถ้าดูข้อเสนอถ้าดูว่าเป็นการการต่อรองกัน

สมมติว่า มาราปาตานีอาจได้ในแง่การให้การคุ้มกันในการเป็นคณะทำงานร่วมแล้วเข้าพื้นที่ได้สักคนหนึ่งเพื่อที่จะสื่อสารกับคนในพื้นที่ในกองกำลังของตนเองอย่างตัวต่อตัว แต่ในนามของผู้เห็นต่างกับรัฐไทยเขาได้อะไร เขาได้อะไรจากการรับข้อเสนอพื้นที่ปลอดภัยของรัฐไทย นี่ก็เป็นโจทย์ที่สำคัญ มองในมุมกลับกันของความละเอียดอ่อนต่อทางออกของปัญหา ปาร์ตี้บีก็สุ่มเสี่ยงไม่ใช่หรือที่จะยอมรับพื้นที่ปลอดภัยเสี่ยงในแง่ที่ว่าเป้าหมายทางการเมืองของตนเองมีโอกาสบรรลุได้น้อยลง เฉกเช่นเดียวกันกับการที่รัฐไทยบอกว่าถ้าเปิดพื้นที่ทางการเมือง ตัวเองก็สุ่มเสี่ยง มันก็สมเหตุสมผลในแง่ของคนที่ต่อสู้ว่าทำไมเขาถึงปฏิเสธหรือไม่พร้อมกับข้อเสนอที่เจรจากันแบบนั้น แล้วก็ไม่ได้มีการลงรายละเอียดของการเปิดพื้นที่ทางการเมือง

ในภาพระยะยาวความคืบหน้าของการพูดคุยกันเรื่องพื้นที่ปลอดภัย ตั้งแต่เรื่องพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone ) มาจนถึงทุกวันนี้ เราจะเห็นว่ามันเกิดเหตุในเชิงโต้ตอบมาตลอด และสื่อนัยค่อนข้างชัดว่าเกิดที่ไหนบ้าง รางรถไฟ ตลาดโต้รุ่ง หน้าโรงเรียนอนุบาล ล่าสุดก็ กศน. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กลางตลาด ค่อนข้างชัดว่าเมสเซทเป็นอย่างไร ในแง่นี้เราอาจแกะความหมายได้เหมือนกันว่า การพูดคุยแล้วมีข้อเสนอเรื่อง Safety Zone ในความหมายที่จะทดสอบมาราปาตานี ในทางกลับกันมันคือการทดสอบบีอาร์เอ็นด้วยว่ามีศักยภาพจริงหรือเปล่า ถ้าเราอนุมานว่ามาราปาตานีกับบีอาร์เอ็นไม่ได้อยู่ข้างในซึ่งกันและกันขนาดนั้น รัฐไทยไม่ได้ทดสอบแค่มาราปาตานี รัฐไทยกำลังทดสอบบีอาร์เอ็นด้วย เราเห็นชัดว่าบีอาร์เอ็นก็มีท่าทีที่จะไม่เอา ถ้าเราตั้งสมมติฐานว่าบีอาร์เอ็นเป็นคนก่อเหตุ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่จะยังดึงดันไปต่อหรือในกระบวนท่าแบบนี้ หรือจะคิดใคร่ครวญมากขึ้นว่าทำไมเขาถึงไม่เอาในเรื่องนี้ 

ถามว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเข้าทางรัฐไหม รัฐอาจคิดซีนารีโออยู่ แต่เป็นเพียงความเห็น เราไม่สามารถพูดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ารัฐคิดแบบนี้ มันก็ไม่แฟร์สำหรับรัฐ  แต่ถามว่าใครได้ประโยชน์ ฝ่ายรัฐก็ได้ประโยชน์แน่นอนในแง่ภาพของความเป็นพระเอกขี่ม้าขาวจะเอาสันติภาพมาให้แล้วทำไมคุณยังไม่ยอม แต่ว่าถ้ามองในภาพที่มันลึกก็จะเห็นว่า ความรุนแรงมันพันอยู่กับ "แรงจูงใจทางการเมือง"  แล้วคุณจะหยุดความรุนแรงโดยที่ไม่ให้เขาพูดถึงเรื่องการเมือง มันไม่สมเหตุสมผล คนที่เขาสู้มาก็ต้องหลังชนฝาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการโต้ตอบอาจจะแรงขึ้นด้วยซ้ำ ในความหมายที่ว่ายุทธศาสตร์ใหญ่นั้นการก่อความรุนแรงอาจจะเสียมวลชน แต่มีทางเลือกอื่นไหมในการจะสื่อสาร ในเมื่อพื้นที่ทางการเมืองก็ไม่เปิด มันก็ต้องสื่อสารด้วยความรุนแรงว่าเขาไม่เห็นด้วย เป็นความเสี่ยงที่จะต้องแบกรับถ้าจะเลือกทางเลือกนี้ หลายครั้งเราก็เห็นการเติบโตขึ้นของกลุ่มหลายๆ กลุ่มในพื้นที่อื่นนอกประเทศไทยซึ่งโตด้วยวิธีที่เรารู้สึกว่าไม่น่าจะดึงดูดมวลชน  เช่น วิธีเหี้ยมโหด แต่อาจจะเหี้ยมโหดกับคนที่เป็นอื่น กับกลุ่มอัตลักษณ์อื่น แต่วิธีเหี้ยมโหดมันมีเสน่ห์บางอย่างสำหรับคนที่โกรธแค้น สำหรับคนที่เจ็บปวดและเกลียดชัง เป็นไปได้ว่าการที่คุณบีบแบบนี้มวลชนทั่วไปอาจจะเสีย แต่มวลชนสุดโต่งอาจจะมีมากขึ้น นี่ก็เป็นแนวโน้มอย่างหนึ่ง ถึงตอนนั้นคุณจะดีลด้วยได้ยากมาก

รักชาติ สุวรรณ์: ถ้าเปลี่ยนการต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นสู้ด้วยความคิด จะเอาชนะใจประชาชนในพื้นที่ได้มากกว่า 

รักชาติ สุวรรณ์ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ (B4P) รองประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า หลายคนอาจจะมองว่ามาราปาตานีเป็นตัวปลอม มาราปาตานีเป็นเพียงกลุ่มคนที่ไม่ได้ติดอาวุธซึ่งอาจจะไม่สามารถสั่งการ ไม่สามารถดูแลพื้นที่ได้ ส่วนตัวเชื่อว่าอย่างน้อยเขาคงจะสื่อสารกับกลุ่มของเขาที่อยู่ในพื้นที่ได้แม้อาจจะไม่ทั้งหมด อาจจะสื่อสารเฉพาะอำเภอใดอำเภอหนึ่งหรืออาจจะสื่อสารได้หลายๆ พื้นที่ การที่เขาไปพูดคุยสันติภาพ อย่างน้อยๆ พอเขาไปพูดคุย มันเห็นความคืบหน้าของการพูดคุย พอเห็นความคืบหน้าของการพูดคุยคนในพื้นที่คนที่จับอาวุธคนที่มีอุดมการณ์ส่วนหนึ่งอาจจะล้าด้วยหรือเปล่าไม่รู้ แต่เขาก็คงอยากอยู่แบบสบายๆ เหมือนกัน ส่วนตัวมองว่าถ้าเราสามารถเปลี่ยนการต่อสู้ด้วยอาวุธสู่การต่อสู้ด้วยความคิด มันจะเป็นการเอาชนะใจประชาชนในพื้นที่ได้มากกว่าการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ เพราะคนที่สูญเสียมันเป็นประชาชนคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสองฝ่าย ส่วนในเรื่องพื้นที่ทางการเมืองรัฐเองไม่ควรไปปิดกันทางความคิด กิจกรรมใดๆ ที่นักศึกษาจัดที่เยาวชนจัด กิจกรรมพวกนี้มีความจำเป็นต้องเคลื่อนต่อไป

รุชดา สะเด็ง: ถ้าเลือก “คู่ขัดแย้ง” ที่คุมสถานการณ์จริงไม่ได้ จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยอย่างไร

รุชดา สะเด็ง ผู้อำนวยการ สถาบันปาตานี (PATANI Institute) และอดีตอุปนายก สมาคมผู้หญิงปาตานี (PERWANI) กล่าวว่า ในภาวะสงคราม การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่เครื่องมือเพื่อการยุติสงครามระหว่างคู่ขัดแย้ง แต่เป็นวิธีการที่ดีที่คู่สงครามทั้งสองฝ่ายต้องตระหนักถึงการป้องกันและลดผลกระทบต่อพลเรือน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยต้องไม่ใช่แค่เลือกใครก็ได้มาเป็นคู่ขัดแย้งแล้วกำหนดพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา เพราะพื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่แค่เรื่องของสถานที่ แต่เป็นเรื่องของหลักเกณฑ์ กติกาที่คู่สงครามต้องเคารพเพื่อความปลอดภัย เพื่อมนุษยธรรม เพื่อสิทธิเสรีภาพ ทั้งทางกาย จิตใจ และการแสดงความคิดเห็นและเจตจำนงของพลเรือน แต่วาทกรรม "พื้นที่ปลอดภัย" ในวันนี้ เริ่มต้นด้วยการที่รัฐบาลไทยเลือกที่จะสร้างกติการ่วมกันกับผู้ที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือเพื่อสร้างความปลอดภัยต่อพลเรือนอย่างแท้จริงได้ แล้วการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่แท้จริงจะดำเนินต่อไปได้อย่างไร

หากรัฐบาลไทยมีเป้าประสงค์ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อพลเรือนจริงๆ รัฐบาลก็ต้องทบทวนวิธีคิด วิธีการ และกระบวนการที่ผ่านมาว่าตอบโจทย์จริงๆ หรือไม่ หรือยิ่งสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งและความไม่ปลอดภัยต่อพลเรือนหรือเปล่า แต่หากไม่ใช่เพียงเป้าหมายการสร้างพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ก็น่ากังวลใจที่วาทกรรม "พื้นที่ปลอดภัย" จะถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของฝ่ายตนที่ไม่ใช่พลเรือน

มะยุ เจ๊ะนะ: การพูดคุยที่มีความชอบธรรมนั้น จะต้องสร้างบรรยากาศการแสดงความคิดเห็นจากทุกฝ่าย

มะยุ เจ๊ะนะ รักษาการประธานเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) และรองประธาน มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นสิ่งที่ดีและควรส่งเสริมให้มีการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่การพูดคุยนั้นต้องเกิดจากความพึงพอใจ และการยอมรับจากทุกฝ่าย ที่สำคัญต้องให้เป็นไปตามหลักสากลที่ว่าด้วยเรื่องกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งการพูดคุยที่มีความชอบธรรมนั้น จะต้องสร้างบรรยากาศการแสดงความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และควรให้โอกาสคนในพื้นที่ได้พูดถึงความต้องการของตนเองอย่างแท้จริงด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท