สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นเสด็จฯ เยือนไทย

หลังเสร็จสิ้นภารกิจเยือนเวียดนาม 6 วัน สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่น เดินทางมาเยือนประเทศไทยในวันอาทิตย์นี้เพื่อถวายพระราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 และจะเสด็จฯ กลับญี่ปุ่นในวันที่ 6 มีนาคม

สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นเสด็จฯ ถึงท่าอากาศยานกองบัญชาการกองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2560 (ที่มา: โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย)

อนึ่งในรายงานของ The Japan Times สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะมีกำหนดเยือนเวียดนามเป็นเวลา 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ โดยระหว่างเยือนเวียดนาม ทรงพบกับชาวเวียดนามและครอบครัว ผู้เป็นภรรยาของทหารญี่ปุ่นแต่ไม่มีโอกาสเดินทางกลับญี่ปุ่นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการพบปะนี้ พระองค์ทรงมุ่งบรรเทาความเจ็บปวดจากเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ทรงเยี่ยมผู้ได้รับผลกระทบจากฝนเหลืองในช่วงสงครามเวียดนามด้วย หลังจากนั้นระหว่างวันที่ 5-6 มีนาคม จะเยือนประเทศไทย

ทั้งนี้การเยือนเวียดนามและไทย นับเป็นการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกของสมเด็จพระจักรพรรดิ นับตั้งแต่ บริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น หรือเอ็นเอชเค เผยแพร่วิดีโอสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะอ่านพระราชดำรัส โดยกล่าวเป็นนัยถึงพระราชประสงค์สละราชบัลลังก์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ปีที่ผ่านมา (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

สำหรับการเยือนประเทศไทย เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 5 มีนาคม สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นเสด็จฯ ถึงท่าอากาศยานกองบัญชาการกองทัพอากาศ โดยเครื่องบินพระที่นั่งเที่ยวบินพิเศษของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนรัฐบาลและภริยา พร้อมด้วยอธิบดีกรมพิธีการทูต นายจิตรพัฒน์ ไกรฤกษ์ รองราชเลขาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ประจำสมเด็จพระจักรพรรดิ นายณรงค์ฤทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ปฏิบัติหน้าที่ประจำพระองค์ ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ

ปฏิบัติหน้าที่ประจำสมเด็จพระจักรพรรดินี พล.ร.อ.ปวิตร รุจิเทศ ราชองครักษ์ พล.อ.ศิวะ ภระมรทัต ราชองครักษ์ พล.อ.อ.อิทธิศักดิ์ ศรีสังข์ ราชองครักษ์ และ พล.ต.ท.อรรถกร ทิพยโสธร นายตำรวจราชสำนักประจำเฝ้าฯ รับเสด็จ

ต่อมาในเวลา 17.00 น. สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น เดินทางไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง โดยสมเด็จพระจักรพรรดิอยู่ในฉลองพระองค์สูทสีดำ ขณะที่สมเด็จพระจักรพรรดินีอยู่ในฉลองพระองค์กิโมโนสีดำ ประทับรถยนต์พระที่นั่งยี่ห้อโรลส์-รอยซ์สีครีม ป้ายทะเบียน ร.ย.ล.4 เสด็จเข้าทางประตูวิเศษไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี โดยมีนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการพระราชวัง และท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขานุการ รอรับเสด็จ และนำเสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางบันไดมุขกระสัน พระที่นั่งพิมานรัตยา ทรงประทับพระเก้าอี้ ทรงสดับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม 1 จบ

ต่อมาในเวลาเวลา 18.45 น. สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งอัมพรสถาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ออกทรงรับสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายของขวัญแด่สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น ณ ห้องเฝ้า จากนั้นสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น ทูลลาเสด็จฯ กลับโรงแรมแมนดารินโอเรียลเต็ล กรุงเทพฯ สถานที่ประทับ ก่อนจะเสด็จฯ กลับประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 6 มีนาคม

 

ครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นแล้ว 28 ปี

ทั้งนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) โดยก่อนหน้านี้เมื่อครั้งเป็นมกุฏราชกุมารอะกิฮิโตะทรงอภิเษกสมรสกับ มิชิโกะ โชดะ บุตรสาวของประธานบริษัทนิชชิน เมื่อ ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) หลังพบกันครั้งแรกที่สนามเทนนิสในเมืองคะรุอิซะวะ เมื่อ ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) จากนั้น เมื่อมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะสืบราชสมบัติเป็นจักรพรรดิ มกุฎราชกุมารีมิชิโกะจึงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ

สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ยังทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์น้ำผู้หนึ่ง โดยทรงศึกษาวิชามีนวิทยา จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยกะคุชุอิน กรุงโตเกียว สำหรับความรับรู้ของชาวไทย เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จมายังประเทศไทย และทรงทูลเกล้าถวายปลานิลจำนวน 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อสวนจิตรลดา โดยปัจจุบันปลานิลกลายเป็นหนึ่งในปลาเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย

 

บทบาทของสมเด็จพระจักรพรรดิ-เยียวยาบาดแผลสงครามโลกครั้งที่ 2

ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ พระองค์ได้รับความชื่นชมจากการที่ในห้วงรัชสมัยของพระองค์ทรงวางระยะห่างของสถาบันสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นให้ออกห่างจากลัทธิชาตินิยมก้าวร้าวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งนี้แม้มีข้อจำกัดในทางรัฐธรรมนูญ แต่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะก็ทรงมีพระราชดำรัสแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อประเทศในเอเชียที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการยึดครองของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทรงเริ่มต้นกล่าวแสดงความเสียใจต่อชาวจีน เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1989 สามเดือนภายหลังจากการสวรรคตของพระราชบิดา คือ สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ

ในโอกาสพบกับสื่อมวลชนในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อ 23 ธันวาคม ค.ศ. 2001 สมเด็จพระจักรพรรดิได้ตอบคำถามสื่อมวลชนต่อเรื่องความตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลี โดยพระองค์กล่าวว่าพระองค์ยังคงรู้สึกถึงความเป็นญาติร่วมกับชาวเกาหลี และทรงอธิบายว่าตามโชกุ นิฮงงิ หรือ พงศาวดารญี่ปุ่น พระมารดา ของจักรพรรดิคัมมุ (ครองราชย์ ค.ศ. 781 ถึง 806) นั้นมีเชื้อสายสืบมาจากกษัตริย์มูรยอง แห่งอาณาจักรแพ็กเจ ของเกาหลี

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2005 สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ได้เสด็จเยือนเกาะไซปัน ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะนอร์ทเทิร์น มาเรียนา ไอส์แลนด์ ดินแดนของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสมรภูมิในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพระองค์ได้แสดงความเคารพและวางพวงมาลาให้กับอนุสรณ์สถานหลายแห่งบนเกาะ โดยไม่เพียงแสดงความเคารพต่อทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิต แต่ยังรวมถึงทหารสหรัฐอเมริกา แรงงานเกาหลี และชาวพื้นเมืองบนเกาะด้วย โดยการเยือนเกาะไซปันถือเป็นการเยือนเป็นครั้งแรกของราชวงศ์ญี่ปุ่น ในพื้นที่สมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกประเทศญี่ปุ่น

โดยการเยือนเกาะไซปันนี้ได้รับการชื่นชมจากประชาชนญี่ปุ่น ในขณะที่ก่อนหน้านี้สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะยังเคยเยือนอนุสรณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โตเกียว ฮิโรชิมา นะงะซะกิ และโอะกินะวะ เมื่อ ค.ศ. 1995

ในรายงานของบีบีซี สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะยังคงหาทางเยียวยาบาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมา โดยเมื่อ ค.ศ. 2015 ในโอกาสครบรอบ 70 ปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 พระองค์ทรงตรัสว่า "เมื่อมองย้อนกลับไปยังอดีต ก็รู้สึกเสียใจร่วมกันต่อสงคราม ข้าพเจ้าขอสวดอ้อนวอนต่อเหตุโศกนาฏกรรมสงครามว่าอย่าให้เกิดขึ้นซ้ำอีก และเคียงข้างไปกับประชาชน ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้ที่เสียชีวิตจากทั้งในสมรภูมิและจากการทำลายล้างของสงคราม"

นอกจากนี้เมื่อเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน สำนักพระราชวังญี่ปุ่น ยังได้ทำการรีมาสเตอร์และเผยแพร่ไฟล์ดิจิทัลของพระสุรเสียงความยาว 4 นาทีเศษ ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ พระราชบิดาในสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ซึ่งทรงมีพระราชดำรัสต่อชาวญี่ปุ่นให้ยอมรับปฏิญญาพอตสดัมของฝ่ายสัมพันธมิตร และให้ทหารญี่ปุ่นยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งพระราชดำรัสดังกล่าวเคยเผยแพร่เมื่อ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 อีกด้วย

ล่าสุดในการเยือนประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2016 สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ได้เยือนอนุสรณ์สถานสงครามโลกครั้งที่ 2 ในกรุงมะนิลา เพื่อวางช่อดอกไม้ไว้อาลัยด้วย

ทั้งนี้แม้ไม่มีการกล่าวพระราชดำรัสต่อสาธารณะในระหว่างพิธี แต่ก่อนหน้านี้ในงานเลี้ยงรับรองของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เบนิกโน อากีโน ที่ 3 หรือ นอยนอย อากีโน เมื่อ 27 มกราคม ค.ศ. 2016 ตอนหนึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิมีพระราชดำรัสว่าญี่ปุ่นไม่อาจลืมความสูญเสียชีวิตครั้งใหญ่ในสงครามเมื่อ 70 ปีก่อน "ในระหว่างสงคราม การสู้รบดุเดือดระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นบนผืนดินฟิลิปปินส์ เป็นผลให้ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากเสียชีวิต และชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากได้รับบาดเจ็บ" สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นรับสั่ง และยังกล่าวว่า "เราชาวญี่ปุ่นต้องไม่ลืม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท